1984

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
Fido Nesti ผู้เขียนกราฟิกโนเวลเรื่อง 1984 ของ George Orwell สำนักพิมพ์ Houghton Mifflin Harcourt

รับเลือกตั้งกันหน่อยครับ

มีกราฟิกโนเวลเรื่อง 1984 ของ George Orwell ออกใหม่ เขียนโดยนักวาดชาวบราซิล Fido Nesti ปกแข็ง หนา 222 หน้า ของ Houghton Mifflin Harcourt ปี 2021 อ่านกันเหนื่อยแม้ว่าจะเหนื่อยน้อยกว่าอ่านหนังสือต้นฉบับ

กราฟิกโนเวลเล่มนี้ได้รับคำชมมากเพราะถอดต้นฉบับมาได้ครบถ้วน แต่ละกรอบแต่ละหน้าคัดมาอย่างพิถีพิถัน การลงสีใช้สีเทาและสีส้มเป็นหลัก ยิ่งอ่านก็ยิ่งจมดิ่งลงไปกับบ้านเมืองและตัวละคร

เชื่อว่าหลายท่านคุ้นเคยกับเนื้อเรื่อง Nineteen Eighty-Four ของจอร์จ ออร์เวลล์ นี้แล้วด้วยมีแปลไทยมานานแล้ว

อาจจะมีข้อกังขาอยู่บ้างว่ามากเท่าไรที่อ่านจบ และมากเท่าไรที่อ่านจบโดยไม่มีข้อกังขากับช่วงสุดท้าย

ทบทวนสำหรับผู้ไม่เคยอ่านก่อนที่เราจะไปดูกรอบสุดท้ายกัน

หนังสือเล่าเรื่องการปกครองและความเป็นอยู่ของโอชันเนียที่กำลังทำสงครามกับยูเรเซีย อังกฤษเป็นส่วนหนึ่งของโอชันเนีย โอชันเนียเป็นสังคมนิยมแต่อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ มีชื่อเรียกในหนังสือว่า อิงซ็อค (Ingsoc) มีผู้นำที่เรียกกันว่าบิ๊กบราเธอร์ (Big Brother)

ไม่เคยมีใครเห็นบิ๊กบราเธอร์จริงๆ แต่มีรูปขนาดใหญ่ของบิ๊กบราเธอร์อยู่ทุกหนแห่ง ตามถนนหนทาง ตรอกซอกซอย อพาร์ตเมนต์ และบนยอดตึก

ไม่มีใครรู้ว่าบิ๊กบราเธอร์มีจริงหรือเปล่า แต่บิ๊กบราเธอร์เฝ้าดูคุณจากทุกหนแห่งแม้แต่ในห้องพักส่วนตัว

ตอนท้ายๆ เมื่อวินสตันถูกโอไบรอันทรมาน วินสตันถามว่าบิ๊กบราเธอร์มีจริงหรือเปล่า

โอไบรอันตอบว่ามีสิ ทำไมจะไม่มี คุณต่างหากที่ไม่มี ความหมายคือจะสำคัญตรงไหนว่าบิ๊กบราเธอร์มีจริงหรือเปล่า เพราะชาวโอชันเนียทุกคนรู้สึกกันอยู่ตลอดเวลาว่าถูกบิ๊กบราเธอร์เฝ้ามองทุกฝีก้าว

ตัววินสตันแท้ๆ ต่างหากที่มีปัญหาว่ามีจริงหรือเปล่า เพราะไม่มีใครสักคนที่เป็นตัวเองจริงๆ ในระบอบนี้

หนังสือ Nineteen Eighty-Four นี้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันจากคำศัพท์เฉพาะหลายคำ ที่ดีที่สุดคือนิวสปีก (Newspeak) และคิดสองชั้น (Doublethink)

คำแรกน่าจะล้อเลียนนิวสวีกซึ่งเป็นสำนักข่าวที่ซื่อตรง แต่นิวสปีกของรัฐเผด็จการเบ็ดเสร็จทำตรงข้าม วิธีการก็น่าทึ่งมากนั่นคือการสร้างภาษาใหม่ พาทีใหม่ ทำพจนานุกรมใหม่ที่มีจำนวนคำศัพท์ลดลงเรื่อยๆ จนกระทั่งสุดท้ายแล้วคำศัพท์หลายๆ คำจะหายไป เมื่อคำศัพท์หายไปความคิดเรื่องนั้นก็หายไปด้วย ตัวอย่างที่ดีคือคำว่า “เลือกตั้ง”

คำที่สองยิ่งสนุกใหญ่ ดับเบิลติ๊งก์หรือคิดสองชั้น เป็นอีกวิธีหนึ่งในการล้างสมองและควบคุมประชาชนให้คิดนอกกรอบไม่ได้อีกเลย ตัวอย่างคลาสสิคคือคำขวัญบนยอดตึกที่ว่า

สงครามคือสันติภาพ เสรีภาพคือความเป็นทาส อวิชชาคือกำลัง

War is Peace, Freedom is Slavery, Ignorance is Strength

สามประโยคนี้มิได้ถูกประดิษฐ์ขึ้นหรูๆ แต่มีคำอธิบายโดยละเอียดปรากฏในหนังสือตอนท้ายๆ อีกเช่นกัน ข้อที่น่าชมเชยมากคือเชื่อได้ว่าแต่ละคนที่อ่านคำอธิบายแล้วก็อดที่จะคิดสองชั้นไปกับคำอธิบายมิได้และเผลอๆ ก็จะเห็นจริงตามไปด้วย อย่างเบาะๆ ก็สักหนึ่งชั้นครึ่ง

เช่น เพราะสงครามระหว่างมหาอำนาจที่คานกันอยู่นี้มิใช่หรือจึงทำให้เกิดสันติภาพ เพราะทุกคนคิดเหมือนๆ กันหมดและต้องทำอะไรเหมือนๆ กันหมดมิใช่หรือจึงมีเสรีภาพทำอะไรได้ทุกอย่าง เพราะไม่ต้องรู้อะไรเลยมิใช่หรือรัฐจึงเขียนประวัติศาสตร์ใหม่เพื่อความเข้มแข็งของชาติได้เรื่อยๆ

ยิ่งการเลือกตั้งหายไปจากบ้านเมืองนานเท่าไร ความคิดความอ่านและภาษาพาทีของประชาชนก็จะแคบลงเรื่อยๆ จริงๆ

วินสตันตัวเอกของเรื่องทำงานที่กระทรวงความจริง ทำหน้าที่แก้ไขข่าวหรือนัยหนึ่งแก้ไขประวัติศาสตร์ให้เป็นไปตามที่รัฐต้องการ ตัวอย่างเช่น สงครามที่กำลังดำเนินไประหว่างโอชันเนียกับยูเรเซียเป็นเรื่องจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ ด้วยเจ้าหน้าที่ทำงานด้านนี้มีหลายคนหลายโต๊ะมากมายเสียจนเจ้าหน้าที่เองก็ไม่รู้ เรื่องการทำงานของวินสตันนี้เป็นตัวอย่างตอนหนึ่งที่กราฟิกโนเวลเขียนภาพได้ชัดเจนกว่าตอนอ่านหนังสือต้นฉบับ

อีกตอนหนึ่งคือภาพเหตุการณ์ความเกลียดสองนาที รัฐเผด็จการสร้างศัตรูร่วมของชาติขึ้นมาคนหนึ่งและจัดพิธีการสาปแช่งบุคคลนั้นในที่สาธารณะอย่างเป็นงานเป็นการ

ว่ากันว่าศัตรูร่วมของชาติเขียนเอกสารต้องห้ามอะไรบางอย่างที่เรียกว่าเดอะบุ๊ก (the Book) ขึ้นมา ความปรากฏในภายหลังอีกว่าวินสตันซึ่งได้อ่านเดอะบุ๊กมาแล้วก็เริ่มไม่มั่นใจว่าใครเขียนเอกสารชิ้นนี้กันแน่ จะเห็นว่าหนังสือ Nineteen Eighty-Four นี้กระทบการเมืองของบางประเทศวันนี้ได้อย่างง่ายๆ

กระทรวงแห่งความจริง (Ministry of Truth) มีชื่อย่อว่ามินิทรู (Mini-Tru) แปลตรงตัวว่าความจริงที่น้อยนิด เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของนิวสปีกและคิดสองชั้น นอกจากมินิทรูยังมีอีกสามกระทรวงคือมินิแพกซ์ มินิเพลนตี้ และมินิลัฟ สันติภาพอันน้อยนิด ความมั่งคั่งกันน้อยนิด กับความรักอันน้อยนิด กระทรวงสุดท้ายเป็นประเด็นสำคัญนั่นคือรัฐมีกฎหมายห้ามคนรักกัน ยิ่งไปกว่านั้นลูกๆ ก็ห้ามรักพ่อแม่ นอกจากห้ามรักแล้วยังมีหน้าที่คอยสอดส่องพฤติกรรมของพ่อแม่ให้แก่รัฐด้วย

ข้อนี้ตรงข้ามกับบ้านเราที่พ่อแม่มักคอยสอดส่องความคิดทางการเมืองของลูกๆ เสียมากกว่า

วินสตันมีห้องส่วนตัวที่มีโทรภาพเหมือนประชาชนทุกๆ คนในโอชันเนีย โทรภาพที่เหมือนจอขนาดใหญ่นี้ถ่ายทอดข่าวที่รัฐมอบให้ในขณะเดียวกันก็ไม่มีใครบอกได้ว่านั่นเป็นกล้องวงจรปิดด้วยหรือเปล่า กล่าวคือ บิ๊กบราเธอร์กำลังมองคุณอยู่แม้แต่ในห้องนอน

แต่ห้องของวินสตันมีมุมอับที่หลบพ้นจอภาพขนาดใหญ่ที่คลุมเกือบทั้งห้องนั้นได้ เขาจึงเริ่มเขียนไดอารีซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย

มากกว่านี้คือเขาได้พบจูเลียซึ่งมีความคิดขบถตรงกันและรักกัน มีสัมพันธ์กันด้วยความรักซึ่งผิดกฎหมายซ้ำสองเข้าไปอีกเพราะเพศสัมพันธ์ต้องเป็นไปเพื่อรับใช้รัฐเท่านั้น

ภาคแรกให้คนอ่านได้เห็นสภาพทั่วไปของรัฐเผด็จการอย่างน่าทึ่ง

หนังสือเข้าสู่ภาคสองเล่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างวินสตันกับจูเลียและข้อค้นพบใหม่ๆ ของทั้งสอง

ต่อด้วยภาคสามเมื่อคนรักทั้งสองถูกจับได้แล้วนำตัวไปคุมขัง ในภาคสามซึ่งแม้จะไม่ยาวเท่าสองภาคแรกแต่เป็นส่วนที่อ่านยาก เหตุเพราะมีการเผยคำอธิบายซับซ้อนมากมายและคนอ่านมักจะเหนื่อยมากแล้วกว่าจะดิ้นรนมาได้ถึงจุดนี้

ภาคสามเป็นส่วนสำคัญที่กราฟิกโนเวลทำได้ชัดเจน ตอนที่อ่านต้นฉบับจำได้ว่าไม่เข้าใจนักว่าคนรักกันจะหักหลังกันได้อย่างไรเพราะรักแท้ย่อมไม่แพ้เผด็จการ

แต่เป็นว่าบทสนทนาระหว่างโอไบรอันซึ่งสั่งทรมานวินสตันอย่างสาหัสสากรรจ์ในตอนจบนี้นอกจากจะดีมากมายแล้วยังนำไปสู่การทรมานขั้นสุดท้ายที่น่าสะพรึงกลัวเป็นที่สุด โดยเฉพาะเมื่อถ่ายทอดจากตัวหนังสือเป็นภาพวาด

ขอให้ดูภาพประกอบในขั้นตอนสุดท้ายนี้อาจจะช่วยให้เข้าใจได้มากขึ้นว่าเพราะอะไรวินสตันและจูเลียจึงหักหลังกันและกันจนได้ •

 

 

การ์ตูนที่รัก | นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์