การ์ตูนที่รัก : อลิซในแดนมหัศจรรย์ / นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

 

 

อลิซในแดนมหัศจรรย์

 

หนังการ์ตูนดิสนีย์เรื่องนี้ชื่อ Alice in Wonderland หรือ อลิซในแดนมหัศจรรย์ สร้างจากหนังสือสองเล่มของลูอิส คาร์รอลล์ (Lewis Carroll 1832-1898) คือ Alice’s Adventures in Wonderland และภาคต่อ Through the Looking-Glass

ลูอิส คาร์รอลล์ เป็นนามปากกาของ Charles Dodgson หนังสือ Alice’s Adventures in Wonderland ตีพิมพ์ปี 1865 และ Alice Through the Looking-Glass ปี 1872 เล่มแรกอายุมากกว่า 150 ปีแล้ว ส่วนเล่มสองจะครบ 150 ปีในปีหน้า

ดิสนีย์สร้างการ์ตูนสั้น Alice’s Wonderland มาก่อนแล้วเมื่อปี 1923 เล่าเรื่องเด็กหญิงท่องไปในโรงถ่ายหนังการ์ตูน เป็นงานทดลองผสานคนแสดงจริงกับแอนิเมชั่น

ต่อมาสร้างหนังสั้นมิกกี้เมาส์ Thru the Mirror ในปี 1936 มิกกี้อ่านหนังสือ Through the Looking-Glass แล้วหลับไป เขาฝันผ่านกระจกบานหนึ่งเข้าไปในโลกที่สิ่งไม่มีชีวิตมีชีวิต ได้พบราชินีโพแดง และได้ดวลกับราชาโพแดง จากนั้นใช้ปากกาสู้กับกองทัพไพ่แล้วใช้พัดลมเป่าไพ่ทั้งกองทัพกระเจิงไป

ถัดมายังมีโดนัลด์ดั๊กรับบทของอลิซในหนังสั้นปี 1959 เรื่อง Donald in Mathmagic Land

แม้ว่าดิสนีย์จะสร้างอลิซหลายครั้ง แต่โครงการอลิซในแดนมหัศจรรย์ฉบับสมบูรณ์ถูกเลื่อนเรื่อยมา เหตุหนึ่งเพราะแฟนตาซีมากไป

อีกเหตุหนึ่งคือดิสนีย์นับตัวละครในหนังสือด้วยตนเองแล้วพบว่ามีตัวละครประมาณ 80 ตัว การใส่ตัวละครทั้งหมดนี้ในหนังการ์ตูนความยาว 75 นาทีเท่ากับได้บทคนละไม่ถึงหนึ่งนาที งานเขียนบทจึงใช้เวลานานมาก

ตัวละครสำคัญในหนังสือที่ถูกตัดออกไปคือเต่ากำมะลอ Mock Turtle และ กระปัน Gryphon (สำนวนแปลอาษา ขอจิตต์เมตต์) แล้วรวบราชินีจากหนังสือทั้งสองเล่มเข้าเป็นคนเดียวกัน

จากนั้นสร้างตัวละครใหม่คือลูกบิดประตูพูดได้ขึ้นมาสนทนากับอลิซในตอนต้นเรื่องเพื่อทดแทนบทพรรณนายืดยาวในช่วงแรกๆ ของหนังสือ

ดิสนีย์พยายามจะคงงานเขียนของ John Tenniel ซึ่งวาดอลิซให้แก่ลูอิส คาร์รอลล์ แต่ด้วยงานแอนิเมชั่นเป็นสื่อที่ใช้การเปลี่ยนมุมมองรอบตัวการ์ตูนและการเคลื่อนไหวเป็นการสื่อความหมาย ภาพลายเส้นที่ลงรายละเอียดแบบของเทนนิลจึงไม่สะดวกใช้

ตัวละครสำคัญคืออลิซเองดิสนีย์ทำให้เด็กลง น่ารักขึ้นและใส่ชุดที่มิใช่สตรีวิกตอเรียแท้ๆ ส่วนหนึ่งเพื่อความสดใส แต่อีกเหตุผลหนึ่งคือเพื่อความคล่องตัวในการวาด

 

ดิสนีย์ถูกนักวิจารณ์อังกฤษสับตั้งแต่ต้น จนกระทั่งหนังออกฉายในปี 1951 จึงได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์อังกฤษเกินความคาดหมาย แต่ได้รับคำวิจารณ์แง่ลบจากฝั่งอเมริกาเองซึ่งดิสนีย์ยอมรับว่าหนังน่าจะยากเกินกว่าจะเข้าถึง ตัวเขาเองก็ไม่ชอบหนังอลิซนี้เท่าใดนัก

อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงทศวรรษที่ 1960-1970 หนังการ์ตูนเรื่องนี้ได้รับคำชื่นชมและความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จากวัฒนธรรม psychedelic ในอเมริกาเอง หนอนสูบยากลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของหนังและหนังถูกยกไปเปรียบเทียบกับหนังสือของอัลดัส ฮักซเล่ย์ ผู้เขียน Brave New World เลยทีเดียว

อลิซออกฉายทีหลังสโนว์ไวต์และซินเดอเรลลาทำให้ถูกเปรียบเทียบได้มาก โดยเฉพาะเรื่องหลังซึ่งออกฉายห่างกันเพียงปีเดียว

อลิซที่ควรเป็นวัยทีนในหนังสือถูกทำให้เด็กลงไปอีกในหนังแต่เธอมีทีท่าเด็ดเดี่ยวและโต้กลับมากกว่าเจ้าหญิงดิสนีย์สองคนแรก เธอไม่พาสซีฟ

เธอแอ็กทีฟมากกว่าที่ทุกคนคาดหมาย

 

อย่างไรก็ตาม ดิสนีย์มิได้หลงลืมความเป็นวิกตอเรียนของอลิซจึงได้ใส่บทของพี่สาวผู้เรียบร้อยและเคร่งครัดเข้ามาในตอนต้นและตอนจบของหนัง

ลูอิส คาร์รอลล์ เป็นคนอังกฤษ ยุควิกตอเรีย เป็นผู้ชายมีฐานะ มีสถานะ มีการศึกษาสูง เป็นนักคณิตศาสตร์ และเป็นนักตรรกวิทยา เป็นอาจารย์ที่วิทยาลัยไครสต์เชิร์ช ออกซ์ฟอร์ด มีบิดาเป็นพระ ส่วนตนเองบวชเป็นอุบาสกโดยมิได้บวชเป็นพระเพราะติดอ่าง ด้วยจุดอ้างอิงที่เขาเป็น อยู่ มี เราจะเข้าใจอลิซง่ายขึ้นมาก

อลิซเป็นลูกผู้ดีมีสกุล ช่วงแรกๆ อลิซเดี๋ยวยืดเดี๋ยวหด เมื่อยืดก็ติดขัดคับห้อง เมื่อหดก็ทำอะไรมิได้ นี่คือสตรียุควิกตอเรียที่อยู่ใต้ระเบียบเคร่งครัดไม่สามารถออกนอกกรอบได้

กรอบคืออะไร ลูอิสบรรยายโลกที่อลิซมองเห็นจากสายตาของอลิซหลายครั้ง เท้าที่ห่างไกลออกไป โต๊ะที่อยู่สูงเกินเอื้อม รูเล็กๆ ที่ไม่นำไปสู่ที่ไหน นอกเหนือจากมุมมองที่จำกัดของอลิซแล้ว ทุกข์ของสตรียุควิกตอเรียนั้นใหญ่เท่าทะเลน้ำตาของเธอ

อลิซมิได้เป็นตัวของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงแรก บ้างว่าเรื่องที่อลิซเข้าไปในโพรงกระต่ายเป็นความฝัน แต่ในความฝันที่ซึ่งคนเราควรทำอะไรก็ได้ อลิซทำมิได้อยู่ดี เธอถูกใครต่อใครปั่นหัวและโยนไปมาอยู่เสมอๆ ในตอนแรกๆ

นอกจากนี้ เรายังได้เห็นแง่มุมทางคณิตศาสตร์และตรรกะบ่อยครั้ง

“ข้างหนึ่งทำให้เจ้าสูงขึ้น อีกข้างหนึ่งทำให้เจ้าเตี้ยลง” หนอนว่า

“ข้างหนึ่งของอะไร อีกข้างหนึ่งของอะไร” อลิซงง

“เห็ดไงล่ะ” ว่าแล้วหนอนก็จากไป

แต่เพราะจานเห็ดเป็นวงกลม อลิซเอื้อมสุดแขนอ้อมจานเห็ดแล้วใช้มือหักเห็ดออกมาทั้งสองมือ แต่ว่ามือไหนล่ะที่จะสูงขึ้น มือไหนล่ะที่จะเตี้ยลง จะเห็นว่าลูอิสมีคำถามทางตรรกะและคณิตศาสตร์แฝงอยู่เล็กๆ น้อยๆ เสมอ

เป็นหนังสือที่ magic ตีคู่ขนานกับ logic

สตรีไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองคือเรื่องที่อลิซเป็น ยิ่งไปกว่านั้นหากให้สตรีครองเมืองจะเป็นความเสียหายมากมาย เพราะขึ้นชื่อว่าผู้หญิงย่อมมีอารมณ์แปรปรวน ไม่คงเส้นคงวา ซึ่งนอกจากจะเห็นได้จากทะเลน้ำตาของอลิซแล้ว เราจะได้เห็นจากพฤติกรรมของราชินี

ราชินีไพ่โพแดงหรือ Queen of Hearts ของดิสนีย์อาจจะชวนให้สับสนกับราชินีหมากรุกแดงหรือ Red Queen ใน Through the Looking-Glass เพราะราชินีโพแดงของดิสนีย์จะพูดประโยคที่ราชินีแดงพูดถึง 2 ครั้งคือ All ways are my ways ทุกหนทางเป็นของฉัน

คำพูดที่ถูกต้องของราชินีแดงในหนังสือคือ All the ways about here belong to ME ซึ่งมีความหมายที่สองว่าตัวควีนบนกระดานหมากรุกเดินได้ทุกทิศทางด้วย

ราชินีโพแดงเป็นไพ่ เปิดตัวด้วยฉากสั่งตัดหัวไพ่สามคนที่ทาสีกุหลาบขาวเป็นกุหลาบแดง การเปิดตัวเช่นนี้ย่อมถูกตีความว่าราชินีโพแดงเป็น House of Lancaster ซึ่งทำสงครามกับ House of York อย่างดุเดือดในสงครามดอกกุหลาบของอังกฤษ

ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับดิสนีย์ได้จากหนังสือ Encyclopedia of Walt Disney’s Animated Characters ของ John Grant ปี 1998

อลิซในแดนมหัศจรรย์สร้างเป็นหนังยากทุกครั้ง ดีที่สุดคืออ่านหนังสือครับ วันนี้หนังสือทั้งสองเล่มมีสำนวนแปลของจิระนันท์ พิตรปรีชา ฟรีฟอร์มสำนักพิมพ์