การ์ตูนที่รัก : การ์ตูนไทย ศิลปะและประวัติศาสตร์ / นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

 

การ์ตูนไทย ศิลปะและประวัติศาสตร์

 

ตั้งใจจะเขียนแนะนำหนังสืออ้างอิงต่างประเทศเล่มหนาๆ ที่ใช้ทำงานเขียนการ์ตูนที่รักนี้มายี่สิบกว่าปี สะสมไว้ประมาณเกือบร้อยเล่ม วันนี้มีหนังสือแปลไทยออกมาใหม่

การ์ตูนไทย ศิลปะและประวัติศาสตร์ โดย นิโคลาส เวร์สแตปเปิน (Nicolas Verstappen) เป็นอาจารย์และนักวิชาการด้านการ์ตูน หลักสูตรนานาชาติ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชนิดา อรวัฒนานนท์ แปล สำนักพิมพ์ริเวอร์บุ๊คส์ พฤษภาคม 2564 ซื้อออนไลน์จากสำนักพิมพ์โดยตรงด้วยราคาที่ดีมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับคุณภาพของหนังสือ ปกแข็ง กระดาษ รูปประกอบ ที่สำคัญคือเนื้อหา

เริ่มที่คำนำ ลำพังคำนำก็คุ้มค่าราคาหนังสือแล้ว คำนำยาวพอสมควร ให้ภาพรวมของการ์ตูนไทยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันได้ดีมากที่สุดเล่มหนึ่ง

หลายท่านคงจำหนังสือ ตำนานการ์ตูน พ.ศ.2544 ของ จุลศักดิ์ อมรเวช ได้ เป็นหนังสือดีมากแต่มิได้เขียนด้วยฟอร์แม็ตทางวิชาการทำให้อ้างอิงต่อได้ยาก

ข้อเขียนการ์ตูนที่รักตลอดยี่สิบกว่าปีและที่รวมเล่มได้ 10 เล่มก็ตกที่นั่งแบบเดียวกัน แม้จะมีเนื้อหาทางจิตวิเคราะห์ จิตวิทยา จิตวิทยาพัฒนาการ สังคมวิทยา หรือมานุษยวิทยามาก แต่มิได้เขียนเป็นเอกสารวิชาการ

ต่างจากหนังสือเล่มนี้ซึ่งเขียนขึ้นด้วยนักวิชาการและมีเอกสารอ้างอิงครบถ้วน อันเป็นเรื่องจำเป็นต้องทำอย่างยิ่ง

ย่อหน้าสุดท้ายของคำนำเป็นหัวใจสำคัญ

“ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับการ์ตูนไทยยังคงอยู่ที่การนิยมศิลปะการ์ตูนน้อยเกินไปทั้งของสาธารณชนและนักวิชาการ โดยทั้งสองฝ่ายมักมองว่าการ์ตูนเป็นงานอดิเรกสำหรับเด็กและวัยรุ่นหรือบางครั้งเป็นความบันเทิงยอดนิยม น้อยครั้งที่จะถูกมองว่าสำคัญในตัวมันเอง

ขีดเส้นใต้ประโยคสุดท้าย “น้อยครั้งที่จะถูกมองว่าสำคัญในตัวมันเอง”

ตัวมันเองสำคัญอย่างไร พลิกกลับไปอ่านประวัติผู้เขียนที่คำโปรยปกในจะพบคำตอบ “วิจัยการ์ตูนในฐานะที่เป็นภาษาของอาการที่เกี่ยวข้องกับบาดแผลทางจิตใจอีกด้วย” ซึ่งเป็นงานที่การ์ตูนที่รักพยายามทำเสมอมา

ชวนให้นึกถึงครั้งแรกที่เขียนบทความการ์ตูนที่รัก หนึ่งในแรงบันดาลใจคือได้อ่านบทวิจารณ์ การผจญภัยของแต๋งแต๋ง (The Adventures of Tintin) บนอินเตอร์เน็ตที่มีต่อนักเขียนคือ แอร์เช่ ซึ่งเป็นชาวเบลเยียมเช่นเดียวกับผู้แต่งหนังสือเล่มนี้

ท่านที่เคยไปเบลเยียมและบรัสเซลส์คงรู้สึกได้ว่าบางขณะเราเดินอยู่ในวัฒนธรรมการ์ตูน ผมไปพิพิธภัณฑ์การ์ตูนสองแห่ง แห่งหนึ่งอยู่กลางเมือง อีกแห่งหนึ่งคือพิพิธภัณฑ์ของแอร์เช่ และแต๋งแต๋งเองอยู่นอกเมือง เป็นประสบการณ์ที่ลืมไม่ลง มิใช่เพียงเพราะรู้ซึ้งถึงความหมายของการ์ตูน แต่ได้พบต้นฉบับของ การ์ตูนวีรธรรม หลายเรื่องที่ตนเองค้นหาในประเทศไทยมาทั้งชีวิต เป็นประสบการณ์ “ตามหาการ์ตูน” ที่มีความหมายต่อชีวิตเป็นอันมาก

เมื่อผ่านหน้าคำนำและนิยมไปจะพบแผนภูมิไทม์ไลน์ของ 100 ปีประวัติศาสตร์และศิลปะการ์ตูนไทย ย่อมต้องมีนิตยสารวีรธรรมอยู่ในแผนภูมินี้ ประเด็นคือการ์ตูนวีรธรรมมีความสำคัญในตัวมันเองและการ์ตูนวีรธรรมเป็นภาษาของอาการที่เกี่ยวข้องกับบาดแผลทางจิตใจ เราจะทำให้สังคมไทยเข้าใจสองประเด็นนี้ได้อย่างไร

ผมไม่ทราบว่าการใช้ภาษาไทยของหนังสือเล่มนี้เป็นฝีมือของผู้เขียน ผู้แปล หรือบรรณาธิการ ยกตัวอย่าง “ตัวมันเอง” มีความหมายแตกต่างจาก “ตัวของมันเอง”

หากหนังสือเล่มนี้เลือกใช้คำว่า ตัวของมันเอง คือเป็น body ของ it สองส่วนนี้คือ body และ it แยกจากกัน พลันที่เลือกใช้คำว่า ตัวมันเอง ควรหมายถึง self คือตัวตนของการ์ตูน นี่คือความหมายของความเข้าใจที่ว่าการ์ตูนมีตัวตนของมันเอง เป็นยูนิตที่มีชีวิตด้วยตัวเอง

และสำคัญมากที่วงการวิชาการไทยจะได้วิพากษ์การ์ตูนไทยในแง่ประวัติศาสตร์การเมือง

 

ผมเคยเขียนถึงแอร์เช่ที่นี่นานมาแล้วว่า เขาถูกวิพากษ์เรื่องคิดอะไรช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ผมมิได้วิพากษ์เอง เป็นการแปลแล้วถ่ายทอดมาเพื่อให้นักอ่านไทยเห็นว่าวัฒนธรรมการวิจารณ์การ์ตูนของต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งของฝรั่งเศสและเบลเยียมดุเดือดเพียงไร

ผมเคยเขียนถึงหนังสือเล่มที่ 2 ของแต๋งแต๋งคือ ผจญภัยในคองโก หากท่านมีหนังสือฉบับดั้งเดิมจะพบว่าแต๋งแต๋งเจาะหนังแรดแล้วระเบิดแรดทิ้งทั้งตัว รวมทั้งบทสนทนาที่เข้าข่ายเหยียดผิวในปัจจุบัน

หนังสือเล่มที่สองนี้ถูกเขียนขึ้นใหม่ในภายหลัง แรดไม่ตายและบทสนทนาบางถ้อยคำถูกเปลี่ยนแปลงไป

จะเห็นว่าที่สำคัญกว่าจิตวิทยาคือการเมือง และ “อาการที่เกี่ยวข้องกับบาดแผลทางจิตใจ”

ดังนั้น เมื่อท่านอ่านไทม์ไลน์สองหน้าคู่นี้ท่านจะพบชื่อนักเขียนที่เป็นขั้วตรงข้าม คนหนึ่งขึ้นเวทีเป่านกหวีด อีกคนหนึ่งเขียนการ์ตูนต่อต้านรัฐบาลปัจจุบันสม่ำเสมอ ทั้งสองท่านเป็นตัวตนของการ์ตูนไทยที่เราปฏิเสธหรือเมินเฉยมิได้ไม่ว่าท่านจะอยู่ฝ่ายใดและอยากฆ่าอีกฝ่ายมากเพียงใดก็ตาม

หากท่านเข้าใจแต๋งแต๋งท่านจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้น

จะว่าไปนี่เป็นโชคดีของวงการการ์ตูนไทยที่ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้เข้ามาประเทศไทยสองปีหลังรัฐประหาร พ.ศ.2557

ในหนังสืออ้างอิงภาษาอังกฤษร้อยเล่มที่ผมสะสมไว้ เป็นหนังสืออ้างอิงเรื่องแอร์เช่และแต๋งแต๋งประมาณสิบเล่ม ปกแข็งหนาหนักทุกๆ เล่ม เมื่อนึกย้อนหลังก็อดแปลกใจว่าผมซื้อทั้งหมดนั้นแบกกลับบ้านมาได้อย่างไรทั้งๆ ที่มิได้เชี่ยวชาญแต๋งแต๋งถึงระดับเป็น Tintinologists

และถ้ามานั่งนับข้อเขียนเรื่องแต๋งแต๋งในการ์ตูนที่รักยี่สิบกว่าปี เป็นไปได้ว่าจำนวนข้อเขียนเกี่ยวกับแต๋งแต๋งน่าจะมากที่สุดและมากกว่าดราก้อนบอลหรือแบทแมน การ์ตูนอีกสองเรื่องที่ผมหลงใหลเป็นส่วนตัว ซึ่งมีประเด็นจิตวิทยา สังคม และการเมืองที่น่าสนใจมากเช่นกัน

แต๋งแต๋ง ดราก้อนบอล และแบทแมน ทั้งสามเรื่องมีชีวิตของ “ตัวมันเอง”

เขียนมาตั้งนานแล้วการ์ตูนไทยอยู่ที่ไหนในใจของผม คำตอบคือเยอะมากในอดีต แล้วน้อยลงในปัจจุบัน หากใครทราบอายุที่แท้ของผมก็จะเดาได้ว่าเติบโตมากับ ตุ๊กตา และกลุ่มนักเขียนการ์ตูนของ ชัยพฤกษ์ รวมทั้งงานของทวี วิษณุกร ประเด็นคือการ์ตูนไทยที่ได้อ่านหล่อหลอมเราเป็นเราขึ้นมา เมื่อมาถึงยุคการ์ตูนแนวหรือที่ผู้เขียนใช้คำว่าการ์ตูนทางเลือก ที่ประทับใจคือ he-she-it และ สะอาด ปัญหาของนักเขียนการ์ตูนไทยคือเราไม่มีเสรีภาพมากพอที่จะเขียน เขียนมากกว่านี้อาจจะติดคุกได้

เรายังมิได้เข้าสู่ตัวเนื้อหาของหนังสือเลย ลำพังชื่นชมปกในด้านหน้า รูปปกใน และคำโปรยปกในก็หมดเวลาไปมาก พลิกไปดูปกหลังและก่อนหน้านั้นจะพบด้วยความชื่นชมว่าเป็นหนังสือประวัติการ์ตูนไทยที่มีรายการอ้างอิง รายการอ้างอิงทุกบท ที่มาของรูปภาพ และดัชนีค้นคำ ครบถ้วนตามมาตรฐานงานวิชาการที่พึงมี

สุดยอดมากคือรูปลายเส้นนักเขียนการ์ตูนไทย 40 คนที่ปกในด้านหลัง จะเป็นรูปเขียนที่หาค่ามิได้ในเวลาต่อไป

ที่ปกหลัง นอกเหนือจากคำนิยมสั้นๆ แล้ว ข้อความสำคัญคือ 288 หน้า 370 ภาพประกอบ

ถ้าจะให้เขียนวิพากษ์หนังสือเล่มนี้ทั้งเล่ม คงได้ตีกินคอลัมน์การ์ตูนที่รักไปได้อีกหลายเดือนเลยทีเดียว