การ์ตูนที่รัก : ดาบพิฆาตอสูร ศึกรถไฟสู่นิรันดร์ / นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

 

 

ดาบพิฆาตอสูร

ศึกรถไฟสู่นิรันดร์

 

สัปดาห์ที่แล้วเล่าเรื่อง BERSERK ฉบับหนังการ์ตูน ไม่สามารถเทียบเคียงฉบับมังงะถมดำดุเดือดอย่างไร สัปดาห์นี้ชวนดูดาบพิฆาตอสูร ฉบับหนังการ์ตูนสองชั่วโมง

ชื่อภาษาอังกฤษคือ Demon Slayer : Kimetsu no Yaiba the Movie : Mugen Train หรือ Demon Slayer : Mugen Train กำกับฯ โดย Haruo Sotozaki

หลายเว็บจัดให้อยู่ในประเภทดาร์กแฟนตาซี แต่เราพบว่าหนังไม่ดาร์กเลย นอกจากจะไม่มืดทึมแล้วยังสว่างสดใสเกือบตลอดทั้งเรื่อง

แม้แต่ฉากในขบวนรถไฟหรือฉากในถ้ำแห่งความฝันของอิโนสุเกะก็แจ่มชัดมาก

ความแจ่มชัดเกิดจากการใช้สีสดใส ระบายสีเรียบสองมิติไม่มีชัดลึก แล้วตัดเส้นสีดำชัดทุกพื้นที่ จะว่าไปเป็นเทคนิคที่ใช้กับการ์ตูนเด็กเล็ก เช่น The Powerpuff Girls ซึ่งมิเพียงตัดเส้นดำชัดแต่ตัดหนาอีกต่างหาก

ข้อแตกต่างคือเรื่องนั้นตัดเส้นดำด้วยความหนาของเส้นคงที่ แต่สำหรับดาบพิฆาตอสูรเรื่องนี้ความหนาของเส้นตัดไม่คงที่ บางส่วนหนา บางส่วนบาง หาความแน่นอนมิได้

ความหนาบางไม่สม่ำเสมอสร้างความพลิ้วไหว

 

ธีมของเรื่องคือความฝัน ทำได้ดีที่ใช้ฉากจมน้ำแทนการฝันแบบดำดิ่งโงหัวไม่ขึ้น เรื่องนี้เป็นประสบการณ์ร่วมของนักฝันกลางคืนทุกคน หลายท่าน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เวลาฝันจะรู้สึกว่าตนเองฝันนานมากและดำดิ่งลงไปเรื่อยๆ แม้ตื่นขึ้นมาได้ชั่วครู่ก็ดำดิ่งลงไปอีก

ดียิ่งขึ้นไปอีกเมื่อใช้ทันจิโร่อีกคนหนึ่งมาปรากฏตัวเป็นเงาในน้ำ และตามลงไปถึงใต้น้ำเพื่อเตือนให้ทันจิโร่ในฝันตื่นจากความฝัน ซ้อน “ฝันซ้อนฝัน” ลงไปอีกเพื่อให้ทันจิโร่ใช้ดาบเชือดคอตัวเองครั้งที่สอง เป็นอิโนสุเกะมาห้ามไว้ทัน มิเช่นนั้นเด็กๆ ได้ดูฉากคนเชือดคอตัวเองอีกฉากหนึ่งแน่ๆ หลังจากเห็นไปแล้วเต็มๆ หนึ่งฉาก กับภาพขาว-ดำอีกหลายรอบ

สีสว่างจ้าทำให้เสื้อลายหมากรุกของทันจิโร่สดใสทั้งเรื่อง ดูจบต้องกดออนไลน์ซื้อมาใส่เสียที

โทนสีเหลืองแดงเป็นของเรนโงคุ โทนสีน้ำตาลเทาเป็นของอิโนสุเกะ โทนสีเขียวเป็นของทันจิโร่ โทนสีดำเทาเป็นของอสูร

ที่น่าสนใจคือโทนสีของซินเน็ตสึ ซินเน็ตสึควรครอบครองโทนสีเหลือง แต่เพราะเรนโงคุยึดเอาสีเหลืองไปเสียแล้ว ซินเน็ตสึติดอยู่ในโลกสีชมพูพร้อมกับเนซึโกะไปเสีย ฉากที่เขาให้เนซึโกะขี่หลังกระโดดข้ามลำน้ำน่าจะสร้างรอยยิ้มให้ผู้ชมได้มากมาย

คนแก่ดูยังยิ้มเลยครับ

 

ถัดจากแสงสีเรามาดูการเคลื่อนไหว

เรื่องนี้อ่านมังงะมาโดยตลอดมิได้ดูหนังทีวีเลย ได้ยินมาว่าฉากต่อสู้ตระการตานักและหลายฉากรุนแรงเกินกว่าที่ควรจะให้เด็กดู

นี่เป็นครั้งแรกที่ได้ดูดาบพิฆาตอสูรจากแผ่นบลูเรย์คุณภาพดี รู้สึกว่ามิได้ตระการตามากเท่าที่คาดหวัง

ความรุนแรงมิได้น่ากลัวมากตามที่คาดการณ์

แต่ใช่ครับ รุนแรงอยู่

ฉากแรกคือเรนโงคุลุกขึ้นบีบคอเด็กหญิงที่คิดจู่โจมจิตใต้สำนึก ฉากนี้รวดเร็ว เฉียบขาด ทรงพลัง น่าเป็นห่วงว่าพี่ชายบ้านไหนจะลุกขึ้นบีบคอน้องสาวสักวัน

พลังที่บีบคอนั้นมั่นคง แข็งแกร่ง เด็ดเดี่ยว ที่สำคัญคือไม่ยอมปล่อย ผู้กำกับฯ แช่ภาพนี้นานมาก

ฉากทันจิโร่เชือดคอตัวเองเลือดสีแดงสาด แล้วยังฉายซ้ำด้วยภาพนิ่งขาว-ดำอีกหลายครั้งดังกล่าว คนหลายคนเวลาถูกผีอำจะมีประสบการณ์ยันตัวเองหรือใช้ทุกวิถีทางที่จะตื่นจากความฝัน เวลาถูกผีกดทับเราอาจจะเห็นอสูรยืนที่ปลายเตียง ทันจิโร่ตกอยู่ในสภาพแบบเดียวกัน เขาใช้วิธีเชือดคอตัวเอง

เป็นห่วงที่เหลือเป็นฉากฟาดฟันดาษดื่น มีให้เห็นในทีวีทุกเรื่อง ทุกวัน ทุกประเทศ เชื่อว่าเด็กทั้งโลกถูกทำให้เคยชิน (desensitized) ไปหมดแล้ว ไม่เหลืออะไรให้ห่วง ฮาฮา

 

เรื่องเด็กชาย-หญิงสี่คนลอบเข้าไปในจิตใต้สำนึกของทันจิโร่ ซินเน็ตสึ อิโนสุเกะ และเรนโงคุเพื่อจะกรีดขอบของจิตใต้สำนึกแล้วก้าวออกไปที่เขตความฝัน เป็นโครงสร้างของจิตวิเคราะห์ที่แบ่งจิตใจออกเป็นส่วนๆ คือจิตใต้สำนึกพื้นที่หนึ่ง (unconscious) ความฝันพื้นที่หนึ่ง (dream) และอะไรที่เรียกว่าแก่นของจิตใจอีกพื้นที่หนึ่ง แต่จิตวิเคราะห์มิได้บอกว่ามันจะเป็นก้อนๆ อย่างที่เห็นในหนัง

แก่นของจิตใจในหนังคืออะไรไม่รู้ อาจจะเป็นอีโก้ (ego) แต่เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจิตใต้สำนึกและความฝันเป็นไปตามนั้น

อย่างสั้นๆ คือจิตใต้สำนึกจะทำงานในเวลาที่เราฝัน เราไม่สามารถจะทำโรแมนติกหรือลุกขึ้นฆ่าใครในชีวิตจริง เราทำทั้งสองอย่างได้ในความฝัน ชัดบ้างไม่ชัดบ้าง ส่วนใหญ่จะทำไปในรูปสัญลักษณ์มากกว่าที่จะฝันตรงไปตรงมาแบบที่เห็นในการ์ตูน

นักจิตวิเคราะห์และหมอดูจึงมีงานทำไง

กระบวนท่าต่างๆ ที่ดูดุเดือดและดำมืดในมังงะถูกทำให้สว่างในหนังเรื่องนี้ ชดเชยด้วยแสงกะพริบและเสียงกระตุก เด็กที่เป็นโรคลมบ้าหมูอาจจะต้องวัดดวงกันนิดหน่อย ได้ยินว่าเด็กๆ ชอบฉากต่อสู้เหล่านี้ในหนังทีวีมาก สปีดไลน์ในหนังสือการ์ตูนที่ดีทำหน้าที่อะนิเมต (animate) รูปวาดได้ดีเท่าๆ กัน

 

หนังยาวมาก เกือบสองชั่วโมงเต็มๆ ความยาวนั้นเหมือนจะถูกตัดครึ่งเป็นสององก์ง่ายๆ องก์แรกเป็นการต่อสู้บนรถไฟ องก์หลังเป็นการดวลระหว่างเรนโงคุกับอสูรข้างขึ้น ทันจิโร่ที่บาดเจ็บถอยไปรำพึงอยู่ข้างๆ

บทรำพึงคืออะไรที่ดูประหลาดมากสำหรับหนังที่ทำรายได้ถล่มทลายบอกซ์ออฟฟิศและทำสถิติหลายสถิติทั้งที่ออกฉายช่วงโควิด หากนั่งจับเวลาว่าระหว่างบทรำพึงของตัวละครต่างๆ กับบทสนทนาระหว่างตัวละครต่างๆ รวมกันแล้วแบบไหนมากกว่ากัน น่าสนใจไม่น้อยว่าแล้วที่จริงแบบไหนมากกว่ากัน

หนังใช้บทรำพึงมาก หลายครั้งเหมือนกำลังนั่งอ่านมังงะที่มีสีบนจอมากกว่ารู้สึกว่ากำลังดูแอนิเมชั่น ตัวละครทุกคนมีบทรำพึงยาวนานว่าตัวเองกำลังคิดอะไร แล้วจะทำอะไรเพราะอะไร จะว่าไปนี่เป็นกลวิธีที่ต่ำกว่ามาตรฐานในการสร้างหนังทั่วไป หนังส่วนใหญ่ใช้บทสนทนาและพฤติกรรมในการบรรยายจิตใจและความคิดคำนึงของตัวละคร

เรารู้เบื้องหลังของเรนโงคุและทันจิโร่ไม่เพียงเพราะด้วยภาพ แต่ด้วยเสียงรำพึงเหล่านี้ด้วย

ฉากไคลแมกซ์คือฉากที่ทันจิโร่ตะโกนใส่ป่าที่ใกล้สว่างในนาทีสุดท้าย เสียงตะโกนสุดพลัง ดังก้องป่าอย่างยืดยาว ทั้งดุด่าอสูร ต่อว่าโชคชะตา และระบายความอัดอั้นตันใจเป็นชุดๆ ฉากนี้น่าประทับใจ

สุดๆ