การ์ตูนที่รัก : Pierre ว่าด้วยการกลืนกิน / นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

 

 Pierre ว่าด้วยการกลืนกิน

 

นิทานประกอบภาพสำหรับเด็กเรื่อง Pierre นี้ เป็นงานเขียนปี 1962 ของ Maurice Sendak (1928-2012) ผู้เขียน Where the Wild Things Are ซึ่งเป็นนิทานประกอบภาพสำหรับเด็กคลาสสิคตลอดกาล

มีการนำนิทาน 3 เรื่องของมอริสมาทำเป็นอะนิเมชั่นเมื่อปี 1973 ได้แก่ The Nutshell Library (1962), Where the Wild Things Are (1963) และ In the Night Kitchen (1970) กำกับฯ โดย Gene Deitch (1924 – 2020) ดนตรีโดย Peter Schickele (1935-) ฉบับที่ผมซื้อมาดูเป็นเวอร์ชั่นปี 1975 อำนวยการสร้างโดย Sheldon Riss กำกับฯ โดย Maurice Sendak ดนตรีและขับร้องโดย Carole King

เฉพาะเรื่อง The Nutshell Library ซึ่งจะใช้ชื่อ The Nutshell Kids ในการ์ตูนสั้นชุดนี้มี 4 เรื่อง คือ Alligators All Around, One Was Johnny, Chicken Soup With Rice และ Pierre ที่จะเล่าถึงในวันนี้

สามเรื่องแรกเป็นบทเพลงร้องพยัญชนะ A-Z , จำนวนนับ และชื่อเดือนสิบสองเดือน สนุกดี

สำหรับเรื่องปิแยร์นี้มีชื่อเต็มตามฉบับหนังสือว่า Pierre : A Cautionary Tale in Five Chapters and a Prologue มีจำหน่ายแยกเฉพาะต่างหาก หาซื้อได้ตามร้านหนังสือต่างประเทศ

ผลงานทั้งหมดที่เล่ามาถือเป็นงานคลาสสิคของมอริส เซนแดค แม้กระทั่ง A-Z, จำนวนนับ และชื่อเดือนสิบสองเดือนก็ยังน่าดูไม่น้อย

กล่าวเฉพาะ Where the Wild Things Are ถือว่าเป็นเรื่องต้องมีประจำบ้านเลยทีเดียว เป็นนิทานที่ถูกนำไปทำละครเวทีหลายครั้งและสร้างเป็นหนังใหญ่เมื่อปี 2009 กำกับฯ โดย Spike Jonze ได้รับคำชมมากมาย

 

เรื่องปิแยร์นี้เป็นบทเพลงร้องตามข้อความในหนังสือ ไพเราะทีเดียว ความยาว 5 นาที

การ์ตูนที่รักหยิบเรื่องปิแยร์มาเล่าสู่กันฟังเป็นการนำร่องก่อนที่จะไปถึงประเด็นสุดท้ายของ Attack on Titan ที่เขียนค้างไว้คือเรื่องกินเนื้อคน หรือ cannibalism ซึ่งเป็นจิตวิเคราะห์ที่โบราณ (archaic) มากที่สุดเรื่องหนึ่ง

ขึ้นชื่อว่าจิตวิเคราะห์แล้วก็จะมีรากมาจากวัยเด็กเสมอ ประมาณไม่เกินอายุ 5 ขวบ บางเรื่องเริ่มมาตั้งแต่เกิด บางเรื่องมาล่าหน่อยหลังอายุ 3 ขวบ กินเนื้อคนมีรากมาจากช่วงอายุ 6-12 เดือน

เป็นเรื่องที่เข้าใจยาก จึงจะพยายามเขียนด้วยการกลับไปเริ่มต้นที่เด็กชายปิแยร์นี้ก่อน

 

เด็กชายปิแยร์เป็นเด็กดื้อ หน้าตาบอกบุญไม่รับ แม่เข้ามาสวัสดีตอนเช้า คุยด้วยดีๆ ชวนไปกินข้าว เขาตอบซ้ำอยู่คำเดียวว่า หนูไม่สน – I don’t care

เมื่อพ่อเข้ามาพูดดีๆ ด้วย โอนอ่อนตามเขา เอาใจทุกอย่าง แม้แต่กลับหัวพูดกับเขาซึ่งตีลังกาอยู่บนเก้าอี้ ปิแยร์พูดคำเดียว หนูไม่สน – I don’t care

พ่อ-แม่พยายามชวนเขาออกบ้านไปด้วยกัน สารพัดจะพูดหว่านล้อมด้วยดีๆ เขาตอบกลับว่าหนูไม่สน หนูไม่สน หนูไม่สน สุดท้ายพ่อ-แม่หมดใจเดินออกบ้านไป

ปิแยร์อยู่ในบ้าน เจอสิงโตตัวหนึ่ง สิงโตจะพูดอะไรหรือจะทำอะไร เขายังคงตอบคำเดิม หนูไม่สน – I don’t care จนกระทั่งสิงโตบอกว่าจะกินเขาละนะ เขาก็ยังตอบว่า หนูไม่สน – I don’t care อยู่ดี

สิงโตกินปิแยร์ไปทั้งตัว

เมื่อพ่อ-แม่กลับมาบ้าน พบสิงโตนอนท้องอืดไม่สบายตัวอยู่บนเตียงของปิแยร์ พ่อ-แม่ถามว่าเป็นอย่างไรบ้างด้วยความห่วงใย สิงโตตอบว่า ข้าไม่สน – I don’t care

พ่อ-แม่พาสิงโตไปหาหมอ หมอจับหางสิงโตขึ้นเขย่าๆ เด็กชายปิแยร์ก็ร่วงออกมาจากปาก เขางัวเงีย ยิ้ม ลุกขึ้นขยี้ผมตัวเอง แล้วพูดว่า หนูแคร์ – I care

จบ

 

เรื่องสิงโตกินปิแยร์นี้มิใช่กรณี cannibalism ในความหมายที่ว่าคนกินเนื้อคนหรือสัตว์สปีชีส์หนึ่งกินสปีชีส์เดียวกันเอง (ซึ่งพบได้ในธรรมชาติ) เป็นเพียงกรณีสัตว์กินเนื้อกินเด็กชาย คือ carnivores ซึ่งมี 2 ลักษณะคือกัดกินเป็นคำๆ หรือสวาปามหมดทั้งตัว

สิงโตสวาปามกลืนกินเด็กชายปิแยร์หมดทั้งตัว คำศัพท์จิตวิเคราะห์เรียกว่า incorporate หรือ incorparation เป็นกลไกป้องกันตัวทางจิต (defense mental mechanism) ซึ่งอยู่ในจิตใต้สำนึก (unconscious) เวลาคนเราพบอะไรที่ไม่ชอบและอยากกำจัดทิ้ง ที่ทำได้คือสวาปามมันเข้าไปในตัวเราให้หมด

เหมือนขำขันที่เล่าว่า ทำไมกินปลาเยอะจัง คำตอบว่าเกลียดมัน ขำขันหรือ humor เป็นกลไกป้องกันตัวทางจิตเช่นเดียวกัน

ในกรณีนี้สิงโตท่าจะรำคาญกิริยาและคำพูดของปิแยร์มาก ขนาดเป็นเจ้าป่ายังหมดความสามารถที่จะทำให้เด็กชายเกรงกลัวได้ เมื่อหมดปัญญาจึงกลืนกินให้เกลี้ยงไปเลย

คนเราใช้ incorporation หรือการสวาปามนี้เป็นครั้งแรกระหว่างอายุ 6-12 เดือน คือตอนที่ฟันขึ้น ตอนนั้นแม่แสนดีที่ให้นมโดยไม่มีเงื่อนไขเริ่มมีเงื่อนไข ไม่ค่อยจะว่างเรื่องหนึ่ง ทารกตัวหนักอุ้มกินนมนานไม่ไหวเรื่องหนึ่ง ทารกฟันขึ้นมันเขี้ยวขบกัดหัวนมเจ็บเป็นเรื่องใหญ่ แม่บางคนเริ่มบิดหัวนมออก บางคนตีทารกเพราะเจ็บแล้วลืมตัว บัดนี้แม่ใจดีกลายเป็นแม่ใจร้ายไปเสียแล้ว (good mother&bad mother)

จิตวิเคราะห์ โดยเมลานี ไคลน์ (Melanie Klein 1882 -1960) เรียกระยะนี้ว่า oral- sadistic phase บัดนี้แม่มิใช่แม่คนเดิม น่ากลัว แต่เอาชนะไม่ได้ รักมากอีกต่างหาก อย่ากระนั้นเลยสวาปามแม่เข้ามาเลยจะดีกว่า

เหมือนขำขันที่เล่าว่า ทำไมกินปลาไม่เคี้ยวเลย คำตอบว่ารักมัน ขำขันหรือ humor เป็นกลไกป้องกันตัวทางจิตเช่นเดียวกัน

การสวาปามทางจิตวิเคราะห์มิใช่ได้เนื้อหรือโปรตีนมา แต่เป็นการนำเข้าอัตลักษณ์ (identity) และคุณค่า (value) ด้วย เหมือนที่สิงโตกลืนกินปิแยร์ ไม่เพียงกำจัดปิแยร์ได้ แต่ได้ “ปิแยร์” ไปด้วย เมื่อพ่อ-แม่ถาม สิงโตตอบทันที หนูไม่สน – I don’t care อย่างที่ปิแยร์เคยทำ

ในหนังการ์ตูนสั้น 5 นาทีเรื่องนี้ ใช้เสียงนักร้องหญิงร้องเพลง จึงน่าสนใจว่าหากสร้างเป็นหนังจริงๆ ที่มีบทพูด สิงโตควรพูดด้วยเสียงอะไร เสียงเด็กชายหรือเสียงเจ้าป่า

 

ถึงวันนี้ พวกเราใช้ incorporation หรือการสวาปามน้อยลง เพราะมีกลไกทางจิตอื่นๆ ที่มีสุขภาวะ (healthy) มากกว่าให้เลือกใช้อีกหลายอัน การกลืนกินหรือสวาปามทั้งหมด (all) ค่อยๆ เลือนหายไป หากใครยังใช้อยู่ก็จะมีโอกาสเกิดพยาธิสภาพทางจิตได้มาก เป็นรายละเอียดอีกเรื่องหนึ่ง

เมื่อสิงโตกลืนปิแยร์ลงไป เกิดอะไรขึ้นภายในร่างกายสิงโต และเพราะอะไรปิแยร์กลับออกมาเป็นคนละคน คำอธิบายทางจิตวิทยามีง่ายๆ คือปิแยร์ได้รับบทเรียนถูกสิงโตสั่งสอน ส่วนเรื่องสิงโตท้องอืดเป็นมุขขำธรรมดาๆ

แต่ถ้าเราใช้จิตวิเคราะห์ดูต่อไป ปิแยร์ได้สลายร่างเดิมเรียบร้อยแล้วเมื่อเข้าไปในท้องสิงโต (disintegration) แล้วเกิดใหม่ (resurrection) เมื่อกลับออกมา

เพื่อเข้าใจส่วนนี้ชวนไปดูภาพเขียนของ Luca Signorelli – Resurrection of the Flesh 1499-1502 ที่ Orvieto Cathedral ในอิตาลีที่แสดงให้เห็นการสลายร่างและเกิดใหม่ของมนุษย์ และอ้างถึงคำพูดของนักบุญเปาโลในพระคริสตธรรมใหม่ ดังนี้

“นี่แน่ะ ข้าพเจ้ามีความล้ำลึกที่จะบอกกับพวกท่าน คือเราจะไม่ล่วงหลับหมดทุกคน แต่จะถูกเปลี่ยนใหม่ทุกคน ในชั่วขณะเดียว ในพริบตาเดียว เมื่อเป่าแตรครั้งสุดท้าย เพราะว่าจะมีการเป่าแตร และพวกที่ตายแล้วจะถูกทำให้เป็นขึ้นโดยปราศจากความเสื่อมสลาย แล้วเราจะถูกเปลี่ยนใหม่เพราะว่าสิ่งที่เสื่อมสลายได้นี้ต้องสวมด้วยสิ่งที่เสื่อมสลายไม่ได้ และสภาพที่ต้องตายนี้ต้องสวมด้วยสภาพที่ไม่ตาย เมื่อสิ่งที่เสื่อมสลายได้นี้สวมด้วยสิ่งที่เสื่อมสลายไม่ได้ และสภาพที่ต้องตายนี้สวมด้วยสภาพที่ไม่ตาย เมื่อนั้นพระวจนะที่เขียนไว้จะสำเร็จว่า “ความตายก็ถูกกลืนเข้าในชัยชนะแล้ว”

1 โครินธ์ 15:51-54 THSV11

https://www.bible.com/174/1co.15.51-54.thsv11

 

เมื่อปิแยร์ออกจากท้องสิงโต เขาเปลี่ยนไป มิใช่เด็กคนเก่า คนเก่าเห็นตนเองเป็นศูนย์กลาง ไม่สนใจคนอื่น ไม่เห็นคนอื่นในสายตา พอพัฒนาการข้ามขั้นตอนนี้ไปได้ เด็กทุกคนจึงเสมือนเกิดใหม่ เป็นคนใหม่ที่รู้จัก “แคร์”

แคร์ เป็นจริยธรรม (moral) ดังที่มอริส เซนแดค เขียนไว้ตอนท้ายของนิทานและเนื้อร้องว่า

The Moral of Pierre is Care