การ์ตูนที่รัก : The Croods : A New Age / นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

 

The Croods : A New Age

 

หนังการ์ตูน The Croods ภาคแรกปี 2013 สนุกมาก ขำกลิ้ง สาระเพียบ

สาระที่ได้มากที่สุดคือเรื่องวัยรุ่นที่เติบใหญ่ ปีกกล้าขาแข็ง แล้วไปจากถ้ำ คือบ้านของมนุษย์ยุคหิน

พอมาถึงภาคต่อ The Croods : A New Age ไม่สนุกเท่า เนื้อหาไม่มาก สาระไม่มาก ออกแนวเฮฮาวินาศสันตะโรเสียมาก

แต่ถ้าชอบดูภาพการ์ตูนสมัยใหม่สวยๆ ก็ใช้ได้เลย งานของดรีมเวิร์กส์ไม่เป็นรองใคร

หนังภาค 2 มีโครงสร้างของหนังที่เห็นได้ง่ายๆ อยู่ 3 เรื่อง

เรื่องที่หนึ่ง ซ้ำรอยภาคแรก เล่าเรื่องวัยรุ่นที่ผ่านพ้นกลายเป็นวัยผู้ใหญ่ตอนต้นที่ต้องการแยกออกไปสร้างครอบครัวใหม่

เรื่องที่สอง เล่าเรื่องความแตกต่างระหว่างรุ่นหรือวัย หากใช้ภาษาปัจจุบันก็คือความแตกต่างระหว่างเจเนอเรชั่น

เรื่องที่สามคือเรื่องความกลัวคนแปลกหน้าหรือคนต่างด้าว ดังที่เรียกว่า xenophobia

ทั้งสามเรื่องมิได้เพียงเกิดในยุคหินอย่างที่เห็นในหนัง แต่กำลังเกิดที่บ้านเราวันนี้ด้วย

มิได้ว่าบ้านเราเป็นยุคหิน และว่าที่จริงเชื่อได้ว่ามนุษย์ยุคหินมิได้มีประเด็นอย่างที่เห็นจริงๆ หรอก พวกเขาอาจจะเป็นแบบที่อี๊ปพูดไว้ตอนหนึ่งว่า “รอดตายอยู่กลางแจ้งได้นานเท่านี้ก็แปลกแล้ว” แค่นั้น ประเด็นที่เราเห็นในหนังเกิดจากผู้สร้างหนังใช้กรอบความคิดของมนุษย์ในศตวรรษที่ 20 ไปครอบตัวละครยุคโบราณ เป็นสิ่งที่เราทำกันเป็นประจำเวลาสร้างหนังพีเรียดหรือหนังย้อนยุค

หรือว่าบ้านเราอยู่ในยุคหิน

 

เรื่องที่ 1 เมื่อเป็นผู้ใหญ่

ตอนนี้ อี๊ป ลูกสาววัยรุ่นร่างบึ้กแบบมนุษย์ถ้ำโตเต็มวัยถึงวัยเจริญพันธุ์เต็มพิกัดแล้ว เธอพบหนุ่มที่ราบลุ่มยุคใหม่ชื่อกายซึ่งออกเดินทางตามหา “อรุณรุ่ง” มาทั้งชีวิตตั้งแต่ต้นเรื่อง (เป็นมุขนำเรื่องที่เข้าท่าทีเดียว พวกเราหลายคนวันนี้ก็กำลังเดินตามหาอรุณรุ่งกันมานานแสนนานแต่ไม่พบสักที)

อี๊ปมนุษย์ถ้ำพบกายมนุษย์ที่ราบลุ่ม สองคนหวานแหววได้ทั้งวันทั้งคืนเป็นที่ขัดหูขัดตาพ่อมนุษย์ถ้ำ กรั๊ก (ให้เสียงโดยนิโคลัส เคจ ยิ่งมันเข้าไปใหญ่) กรั๊กเป็นพวกมนุษย์ถ้ำแท้ๆ มีค่านิยมเรื่องครอบครัวใหญ่ต้องอยู่ด้วยกัน ล่าด้วยกันกินด้วยกันและนอนด้วยกันเป็นก้อนกลมแน่นปึ้ก (เพื่อสะดวกต่อการช่วยกันป้องกันสัตว์ร้ายยามค่ำคืน)

กรั๊กจึงไม่ยินยอมให้สองหนุ่ม-สาวแยกครอบครัวโดยง่าย

ผู้สูงอายุวันนี้หลายคนยังทำตัวเหมือนกรั๊ก นั่นคือก้าวก่ายวัยรุ่นหรือหนุ่ม-สาววัยผู้ใหญ่ตอนต้นไปเรื่อยๆ แม้กระทั่งเมื่อเด็กๆ อายุ 30-40 ปีเป็นผู้ใหญ่จนไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้วพ่อ-แม่บางบ้านก็ไม่ปล่อย

เด็กๆ (ซึ่งอายุ 30-40 ปีวันนี้) กลายมาเป็นผู้ป่วยของผมหลายคนเพราะเหตุนี้

การถูกรัดรึงและขาดเสรีภาพที่จะเป็นตัวของตัวเองในบ้านของตัวเองเป็นสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษชนิดหนึ่ง

เลื่อนจากครอบครัวออกมาที่ระดับบ้านเมือง ผู้สูงอายุรุ่นอะนาล็อกวันนี้ไม่ลุกจากเก้าอี้บริหารจำนวนมาก แล้วให้คนรุ่นใหม่อายุ 20-40 ปีซึ่งเติบโตมากับโลกดิจิตอลกับดิสรัปชั่นได้เข้าไปทำงานแทน นำมาซึ่งความเจ็บป่วยของสังคมเช่นเดียวกัน

 

เรื่องที่ 2 ความต่างรุ่น

วันนี้ปู่-ย่า-ตา-ยายเป็นรุ่น X หลายบ้านยังมีเบบี้บูมเมอร์หลงเหลืออยู่ ซึ่งอายุมากกว่ามากแล้วและอยู่มานานเกินไปจริงๆ หัวใจแข็งแรงกว่าสมองเพราะได้ยาสมัยใหม่ที่ดีกว่าสมัยก่อนมาก แต่สมองเป็นส่วนที่จะเสื่อมลงตามสังขารและไม่มียาอะไรที่อวดว่าช่วยได้จริง

วันนี้พ่อ-แม่หลายบ้านเป็นรุ่น X และอีกหลายบ้านเป็นรุ่น Y คือรุ่นมิลเลนเนียม ผ่านช่วงวัยรุ่นยุคซิมซิตี้ออฟไลน์และไฮไฟว์ พวกเขามีลูกเป็นรุ่น Z ซึ่งมีความคิดอ่านกว้างไกลไปตามเวิลด์ไวด์เว็บที่ขยายตัวและออกไปอยู่บนท้องถนนวันนี้ กับเด็กรุ่นอัลฟ่าที่ออกจากครรภ์มารดามาพบไอแพด ไอจี และไวไฟทั่วโลกตั้งแต่นาทีแรก

ความแตกต่างระหว่างรุ่นหมายถึงความแตกต่างของก้อนสมองและรอยหยักในกะโหลกศีรษะด้วย

พูดเช่นนี้มิได้แปลว่ารุ่นไหนฉลาดกว่ารุ่นไหน เด็กๆ ก็มิได้ฉลาดกว่าผู้ใหญ่ แต่สมองนั้นเติบโตขึ้นมาในบริบทและสภาพแวดล้อมที่ต่างกันมากเกินไปจริงๆ

มนุษย์ถ้ำอย่างกรั๊กและมนุษย์ที่ราบอย่างกายอาจจะใช้เวลาเป็นแสนปีที่จะแยกตัวกันได้ชัดเจน

แต่คนรุ่น Z และอัลฟ่าวันนี้พวกเขาแยกตัวออกจากพ่อ-แม่และปู่-ย่า ตา-ยายรวดเร็วมาก

เราไม่สามารถสมานความแตกต่างนี้ได้เลยถ้าผู้ใหญ่ไม่อ่อนลงและเปิดใจรับฟัง

ถ้าจะสู้กันจนตาย คนอย่างอี๊ปและกายก็พร้อมจะตายจริงๆ พวกเขาไม่เห็นความจำเป็นต้องอดทนนอนกอดกันเป็นก้อนกลมกับกรั๊กอีกแล้ว

 

เรื่องที่ 3 ความต่างด้าว

กรั๊กและครอบครัวเดินทางไปพบครอบครัวเบ็ตเตอร์แมน (Betterman) ให้ออกเสียงเน้นที่คำว่าเบ็ตเตอร์ ชื่อก็บอกแล้วว่าดีกว่า

พ่อของพวกเบ็ตเตอร์แมนชื่อฟิล เขารังสรรค์ที่ราบลุ่มแห่งหนึ่งเป็นสรวงสวรรค์ สีสันสดใส ของกินมากมาย ชีวีเป็นสุข มีเครื่องอำนวยความสะดวกครบครัน (เรื่องของเบ็ตเตอร์แมนนี้ชวนให้ระลึกถึงมนุษย์หินฟลิ้นต์สโตนอยู่ไม่น้อย แต่งเติมด้วยประดิษฐกรรมใหม่ๆ ที่ครอบครัวฟลิ้นต์สโตนไม่รู้จักคือ “วินโดวส์” ซึ่งมีศักยภาพทำให้ลูกชายของกรั๊กติดงอมแงม)

เบ็ตเตอร์แมนทำเป็นต้อนรับคนต่างด้าวอย่างครอบครัวครู้ด แต่ที่แท้เขาไม่ต้อนรับ ความไม่ชอบและไม่ต้อนรับความต่างด้าวนี้เป็นปฏิกิริยาทั่วไปของคนทุกชาติทุกภาษาเป็นธรรมดา เกิดได้โดยไม่จำเป็นต้องมีเหตุผลรองรับ ไม่ชอบคือไม่ชอบ

ถ้าจะมีเหตุผลรองรับก็เป็นเหตุผลที่เราปั้นมันขึ้นมาเองเพื่อยังความสบายใจแก่ตนเองว่าเราเป็นคนมีเหตุผลเท่านั้นเอง

คนไทยแต่ก่อนไม่ชอบเจ๊ก เจ๊กวันนี้ซึ่งมีการศึกษาและเปลี่ยนนามสกุลแล้วไม่ชอบชาวเขา ชาวเขาวันนี้ซึ่งมีการศึกษาและเปลี่ยนนามสกุลแล้วไม่ชอบคนเมือง เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นและวนไปทั้งในพื้นที่ของประเทศเดียวกันและข้ามพื้นที่

ส่วนที่ข้ามพื้นที่เป็นประเด็นสุดท้ายของในหนัง พวกเบ็ตเตอร์แมนสร้างกำแพงสูงไว้รอบสวรรค์เหมือนจะป้องกัน “ไททัน” มิให้บุกเข้ามา พวกเขาเตรียมของสังเวยไททันเอาไว้ด้วยแล้วสร้างพิธีกรรมกับข้อห้าม (taboo) ประจำเผ่าพันธุ์เอาไว้เลย นั่นคือห้ามกินกล้วย

เรื่องเป็นไปตามที่กรั๊กพูดกับฟิลว่า “พวกแกก็สร้างถ้ำขังตัวเองเหมือนพวกเรา”

หนังการ์ตูนจบแฮปปี้แน่ๆ อยู่แล้ว แต่ทั้งสามเรื่องที่การ์ตูนเล่าให้เราฟังเป็นเรื่องวนเวียนที่จบยาก