การ์ตูนที่รัก : Soul / นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

Soul

หนังดังแห่งยุคสมัยเปิดเรื่องนักเปียโนผิวสีดีอกดีใจจะได้เล่นดนตรีในคลับคู่กับนักเป่าแจ๊ซสตรีที่มีชื่อเสียง เขาเพิ่งได้รับข้อเสนอบรรจุเป็นครูดนตรีโรงเรียนประถมก่อนหน้านั้นไม่กี่ชั่วโมงยังไม่ดีใจเนื้อเต้นมากเท่านี้

ขณะดีใจสุดๆ อยู่นั้นเอง ตายเฉย แผล็บเดียว เสี้ยววินาที วิญญาณลอยออกจากร่าง

กำลังนั่งดูกับลูกจะว่าอย่างไร?

จะว่าไปเราไม่มีคำตอบสำเร็จรูปกับเรื่องแบบนี้จริงๆ หรอกครับ คำตอบขึ้นอยู่กับอายุ การใช้ภาษา และความผูกพันของเรากับเด็กเป็นสำคัญ ดังนั้น จะใช้คำพูดว่าอย่างไรแต่ละท่านคงจะต้องคิดเอาเอง

อย่างไรก็ตาม เรามีหลักการพื้นฐาน 2 ข้อ

ข้อแรกสำคัญที่สุด เราพูดความจริงเสมอ ไม่หลบหลีกไปจนถึงโกหก แต่จะพูดว่าอะไรค่อยๆ คิดอีกที หลักการพูดความจริงเสมอนี้ใช้กับทุกเรื่องที่เราไม่อยากจะพูด ที่พบบ่อยคือพ่อ-แม่จะหย่ากัน พ่อติดคุก แม่จะมีคนใหม่ ลูกมิใช่ลูกที่แท้ แม่เป็นมะเร็ง ไปจนถึงเราเป็นบ้านที่สอง

หลักการข้อที่สองคือ ความรู้เรื่องเด็กเข้าใจความตายอย่างไร

ตำราจิตเวชศาสตร์เขียนว่าเด็กๆ จะเข้าใจความตายตามที่เป็นจริงเมื่ออายุประมาณ 10 ขวบ นั่นคือความตายเป็นเรื่องหลีกเลี่ยงมิได้ มีสาเหตุ ไม่หวนกลับ และเป็นที่สิ้นสุด

เอาภาษาอังกฤษไปจะได้ดูขลัง inevitable, causality, irreversible และ finality

เมื่อเรามีความรู้สองข้อนี้แล้วก็มองหน้าลูกดีๆ ก่อนจะอธิบาย

ตัวเอกของเรื่องชื่อโจ การ์ดเนอร์ ให้เสียงโดยเจมี ฟอกซ์ ระวังสปอยล์ เขาตกท่อตาย เขาจะไม่หวนกลับมาที่โลกอีก และเมื่อตายแล้วเป็นที่สิ้นสุด

เวลาพูดกับลูกเราพูดแบบนี้เลยก็ได้เพื่อเขาจะได้งง แต่ความงงมิใช่ประเด็นนี่ครับ ประเด็นคือเขารับรู้ว่าเราไม่หลบเลี่ยง เราพูดได้ โจต้องตายแน่สักวัน วันนี้เขาตกท่อตาย

“โจยังไม่ตายนี่ ขึ้นสายพานไปสวรรค์นั่นไง” และ “โจกำลังหาทางกลับมาโลกนั่นไง”

เราก็จะบอกลูกว่าไม่รู้แฮะ เรามาดูกันต่อไปก่อนดีมั้ย อีกอย่างหนังมิได้บอกว่าที่เห็นคือสวรรค์ และที่อยู่คือนรก หนังเรื่องนี้ใช้คำศัพท์น่าสนใจหลายคำ บางคำก็เป็นคำศัพท์เฉพาะ ที่ที่วิญญาณต่างๆ ยืนบนสายพานกำลังเคลื่อนไปหาเป็นแสงสว่างวงใหญ่ หนังเรียกว่า the Great Beyond

เป็นหนังร่วมทุนสร้างระหว่างดิสนีย์และพิกซาร์เหมือนเดิม แต่เป็นครั้งแรกที่พิกซาร์ใช้ตัวเอกเป็นผิวสี ดิสนีย์เคยใช้มาก่อนแล้วหลายเรื่อง

ช่วงแรกของหนังออกจะยุ่งๆ เล็กน้อย พอเข้าใจได้ว่าที่เห็นเป็นตัวเด้งดึ๋งสีขาวฟ้าอ่อนๆ นั้นคือวิญญาณ หรือ soul วิญญาณของโจกำลังพยายามหาหนทางกลับไปรวมกับร่างกายคือ body ลำพังคำศัพท์ soul ก็เป็นปัญหามากว่าหมายถึงอะไร ที่น่าสนใจอีกข้อหนึ่งคือวิญญาณ (สมมุติว่าเราจะแปลว่าวิญญาณ) ของคนทุกคนที่เห็นในหนังมีสีใสๆ เหมือนกันหมด

หรือว่าความเท่าเทียมจะเป็นสัมบูรณ์หลังความตาย จะใหญ่ หรือรวย หรือผิวสีอะไร มาจากไหน ที่แท้ความตายคือความเท่าเทียม

อย่างไรก็ตาม จากวันนี้ไปไม่แน่นัก ว่าความตายเป็นความเท่าเทียมจริง คนที่มีเงินมากกว่าสามารถซื้อสุขภาพหรือพันธุกรรมเพื่อยืดความตายได้แล้ว

เมื่อดูหนังต่อไปอีกสักพักเราจะพบว่าหนังเปลี่ยนโฟกัสมาพูดเรื่องบุคลิกภาพและทางที่จะไปของชีวิตคือ personality และ determinism ซึ่งเป็นคำศัพท์ที่แปลยากทั้งสองคำ

วิญญาณของโจไม่สามารถ “กระโดด” ลงมาที่โลกมนุษย์ได้โดยง่ายถ้าขาดสิ่งที่เรียกว่าบุคลิกภาพ (เรียกว่าบุคลิกภาพไปก่อนนะครับ)

จะเห็นได้จากฉากที่เขาพยายามทุกวิถีทางในการขี้โกงกฎของสวรรค์ (เรียกว่าสวรรค์ไปก่อนนะครับ) เขาจึงต้องตามหาคู่หูที่มีสิ่งที่เรียกว่า สปาร์ก (spark) เสียก่อน

แปลง่ายๆ ว่า เกิดมาแล้วจะเป็นอะไร ทำงานอะไร เก่งด้านไหนประมาณนี้

วิญญาณที่มีสปาร์กจึงจะกระโดดลงไปเกิดใหม่ได้ แต่โจไม่ต้องการเกิดใหม่ เขาแค่ต้องการสปาร์กปลอมๆ ลงไปรวมร่างกับร่างกาย เขารู้แล้ว เขาอยากเล่นดนตรีแจ๊ซ

หนังอาจจะแปลสปาร์กว่าประกาย แต่หลังจากนี้จะมีคำศัพท์ตามมาอีกหลายคำ เช่น จุดประสงค์ (purpose) หรือแรงบันดาลใจ (inspiration)

หนังพากย์ภาษาอังกฤษปรากฏคำศัพท์ the zone ขึ้นมาในขั้นตอนนี้ คำนี้เป็นคำศัพท์เฉพาะหมายถึง “บริเวณ” ที่คนคนหนึ่งหลงใหล เมื่อหลงใหลแล้วพลังงานทางจิตจะหลั่งไหลทุ่มเทลงมาที่พื้นที่นี้มากมาย เหมือนที่โจหลงใหลในแจ๊ซ แต่มิได้อยากเป็นครูประจำการ

ในขณะที่วิญญาณหมายเลข 22 ไม่หลงใหลอะไรเลย

โจเลือกจับคู่กับหมายเลข 22 หมายเลข 22 นี้ไม่ยอมถูกใจอะไรง่ายๆ มาเป็นพันปีจึงยังไม่มีสปาร์กจริงๆ เสียที โจชวน 22 โกงขั้นตอนกลับสู่โลกด้วยกัน วิญญาณสองดวง (ถ้าจะใช้คำว่าดวง) ขอความช่วยเหลือจากตัวละครที่ชื่อกู๊ดวินด์ ใช้เรือสำเภาสวรรค์เป็นยานพาหนะพาพวกเขาผ่านทางลัดลงมาที่โลกมนุษย์ แต่เกิดเหตุผิดพลาด โจไปอยู่ในร่างแมว และ 22 ไปอยู่ในร่างโจ แมวพูดไม่ได้ แต่โจพูดได้ด้วยเสียงของ 22 ซึ่งน่าจะเป็นสตรี (ถ้าวิญญาณจะมีเพศอ่ะนะ)

ยังไม่ถึงกลางเรื่องดี หนังละเมิดกฎความตายที่เพิ่งบอกลูกไปหยกๆ ดูเหมือนโจจะหวนกลับ (reversible) ได้แล้วบางส่วน แต่หนังยังไม่จบ ช่างเป็นหนังที่ดูเหนื่อยถ้าคิดมาก และเหนื่อยยิ่งขึ้นเมื่อต้องมาเขียนโดยระมัดระวังการใช้คำศัพท์

ถึงตอนนี้มีตัวละครอีกหลายคนผ่านเข้ามาเพื่อช่วยให้โจ หมายเลข 22 และคนดูเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า determinism มากขึ้น คำนี้จะแปลว่าเป้าหมายของชีวิตก็ไม่ถูกนัก จะแปลว่าทิศทางก็ไม่ตรงเสียทีเดียว โดยรวมๆ หมายถึงเส้นทางที่เราตั้งใจไป

หลังจากใช้ชีวิตอยู่ “ข้างบน” มาเป็นพันปี หมายเลข 22 ติดใจความเรียบง่ายของชีวิตบนโลก พิซซ่า เศษแอปเปิล ขนม รถไฟฟ้า ความเบื่อหน่ายของชีวิต ความกักขฬะของมนุษย์ ฯลฯ เธอบอกว่าเธอพบสปาร์กแล้ว โจว่าไม่ใช่ ที่เธอพบเห็นเป็นชีวิตธรรมดาๆ ยังไม่ใช่วัตถุประสงค์

ทำไมชีวิตธรรมดา (ordinary life) จะเป็นวัตถุประสงค์มิได้

ความข้อนี้สำคัญ โจในร่างแมวไปพบแม่ในนาทีก่อนหนังจบ เขาเผชิญแม่ด้วยเรื่องราวคล้ายกัน แม่ต้องการให้เขาบรรจุเป็นครูประจำการ สอนดนตรี มีเงินเดือน มีบำนาญ มีความมั่นคง โจพยายามสื่อสารผ่านหมายเลข 22 ไปที่แม่ว่าเขาไม่คิดว่านั่นคือชีวิต เขามีชีวิตเป็นดนตรี

“แล้วถ้าผมตายวันนี้ก่อนที่จะได้ทำสิ่งที่ตนเองรัก แม่คิดว่าวิญญาณของผมจะเป็นอย่างไร” คือคำถามที่โจถามแม่ในนาทีสุดท้าย

ตอบยากนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมปากกัดตีนถีบอย่างนิวยอร์กที่เห็นในหนัง และบ้านเมืองของเรา