Tales of the Night

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

https://youtu.be/ZoZGOtCzGLc

มาถึงการ์ตูนเรื่องที่สามของนักสร้างหนังการ์ตูนฝรั่งเศส Michel Ocelot ปี 2011 Tales of the Night

เรื่องนี้สร้างเป็น silhouette animation คือเป็นภาพเงาดำของตัวการ์ตูนบนฉากหลังสองมิติสีสวยงาม ดูตอนแรกคิดว่าจะน่าเบื่อ ครั้นดูไปเรื่อยๆ ก็อดทึ่งมิได้ว่าลำพังเพียงเงาสีดำที่หมุนรอบแกนตั้งได้เท่านั้น จะสร้างความน่าสนใจและให้ความรู้สึกถึงภาพเคลื่อนไหวได้ดีเพียงนี้

หนังใช้วิธีให้เด็กหนุ่มหนึ่งคน เด็กสาวหนึ่งคน และชายวัยกลางคนที่ดูเหมือนมีประสบการณ์ด้านละครเวทีมากกว่านั่งคุยกันในโรงละครเล็กๆ แห่งหนึ่ง

พวกเขาสามคนปรึกษากันถึงละครที่จะเล่น จากนั้นออกแบบเครื่องแต่งกายของตัวพระตัวนางโดยใช้คอมพิวเตอร์เข้าช่วย

และเป็นดังที่เขียนไว้ นั่นคือลำพังเงาดำทรงกระบอกเป็นตัวตั้ง เราสามารถเติมเงาของหมวก ปกเสื้อ เสื้อ กางเกง กระโปรง ถุงเท้า รองเท้า ทำให้เกิดตัวละครหลากหลายจากเทพนิทานนานาชาติ

นิทานเรื่องแรกเกิดในยุโรปกลาง เล่าเรื่องพี่สาวน้องสาวที่รักชายหนุ่มคนเดียวกัน ชายหนุ่มหมายหมั้นกับพี่สาวด้วยเข้าใจผิดว่าคนพี่เป็นผู้ช่วยชีวิตตนเองเอาไว้ แต่ที่แท้เป็นคนน้อง

ชายหนุ่มบอกความลับของตนเองให้แก่พี่สาว นั่นคือตนเองจะกลายร่างเป็นหมาป่าในคืนพระจันทร์เต็มดวง พี่สาวจึงขโมยสายสร้อยที่หมาป่าต้องสวมเพื่อคืนร่างไปทิ้งในบ่อน้ำ ทำให้เจ้าชายกลายเป็นหมาป่าตลอดไป

แต่รักแท้ของน้องสาวที่มีต่อเจ้าชายสามารถเอาชนะทุกสิ่ง

นิทานเรื่องที่สองเกิดขึ้นบนเกาะแห่งหนึ่งในแคริบเบียน ชายหนุ่มอารมณ์ดีชื่อทีเจท่องเที่ยวไปบนเกาะสวยงาม เขาพลัดหลงเข้าไปในอุโมงค์ใต้ดินที่ทอดลงไปสู่พิภพมรณะ

ที่พิภพมรณะเขาต้องผ่านด่านสัตว์ยักษ์สามตัว คือผึ้ง พังพอน และกิ้งก่าที่หิวโซ เพราะหิวจึงอารมณ์ไม่ดี อารมณ์ไม่ดีจึงตัวใหญ่

ทีเจไม่ต้องการเอาชนะสัตว์ยักษ์ทั้งสามด้วยของวิเศษที่ผู้เฒ่ามรณะตนหนึ่งยื่นให้ ทีเจเอาชนะใจสัตว์ยักษ์ทั้งสามแล้วเดินทางต่อไปพบพระราชา

พระราชาให้ทีเจแก้ปัญหาที่หนึ่ง หากทำไม่ได้ต้องถูกสับเป็นชิ้นๆ โจทย์ปัญหาคือ องค์หญิงเล็กทำเต่าทองคำหายไป 12 ตัว ขอทีเจไปหาเต่าทองคำกลับมาให้ได้ก่อนอาทิตย์ตกดิน พังพอนอาสาทีเจไปตามหาเต่าทุกตัวมาได้

โจทย์ปัญหาที่สองคือ องค์หญิงเล็กทำโคตรเพชรหายไปในทะเล พระราชาขอทีเจตามหามาให้ได้ก่อนอาทิตย์ตกดินมิเช่นนั้นจะถูกสับเป็นชิ้นๆ กิ้งก่าอาสาทีเจไปหาโคตรเพชรคืนมาให้

โจทย์ปัญหาที่สามคือ พระราชามีธิดาสามคน คนไหนคือเจ้าหญิงสวยไม่รู้ (Beauty Not Knowing) ผึ้งน้อยซึ่งบัดนี้หายหิวแล้วตัวเล็กลงอาสาบินไปเกาะเจ้าหญิงสวยไม่รู้ตัวจริงให้

เมื่อทีเจแก้ปริศนาได้ครบสามข้อ พระราชาจะยกเจ้าหญิงสวยไม่รู้พร้อมอาณาจักรมรณะให้กึ่งหนึ่งแต่ทีเจไม่รับ แล้วเดินผิวปากอย่างอารมณ์ดีออกจากวังพระราชานั้น

มีนิทานทั้งหมด 6 เรื่องจาก 6 ประเทศ สนุกทุกเรื่องมากบ้างน้อยบ้าง หนังประสบความสำเร็จล้นหลามในฝรั่งเศส และเด็กๆ ชอบมาก

เมื่อมีคนไปถามมิเชลซึ่งทำทุกหน้าที่ในการสร้างหนังทุกเรื่องคือ เขียนเรื่อง เขียนบท กำกับเรื่อง กำกับศิลป์ และถ่ายภาพ คำถามว่าตั้งใจสร้างการ์ตูนให้เด็กดูโดยเฉพาะหรือ

มิเชลตอบว่าเขาไม่เคยสร้างหนังการ์ตูนให้เด็กดู ที่ผ่านมาก็ตั้งใจสร้างให้ผู้ใหญ่ดู แต่คงเป็นเพราะเด็กไม่รู้สึกว่าทำกับพวกเขาเหมือนเด็ก หนังให้เกียรติพวกเขาเหมือนผู้ใหญ่ เด็กๆ จึงชอบเป็นพิเศษ

ตอนที่มิเชลนำไปฉายโชว์ที่เบอร์ลิน ฉายด้วยระบบสามมิติ ทำให้ได้ภาพเงาดำของตัวละครลอยพ้นฉากหลังขึ้นมา เข้าใจว่าน่าจะเหมือนหนังตะลุงที่มีฉากหลังเป็นสี่สีสวยสดวิจิตรตระการตา

ในขณะที่มิเชลกล่าวว่า เขามิได้สร้างหนังให้เด็กดูเพราะเคารพความเป็นผู้ใหญ่ในตัวเด็ก แต่เทคนิคที่เข้าใช้สอดคล้องกับพัฒนาการด้านการรับรู้มิติของเด็กเล็กอย่างมาก

เด็กเล็กเกิดมาเห็นตัวเองเป็นศูนย์กลาง (self-centered) โลกไม่มีมิติ เขาเป็นส่วนหนึ่งของแม่ (autistic) ก่อนที่จะเป็นสองชีวิตที่ไม่สามารถแยกจากกัน (symbiotic) และมองโลกเป็นหนึ่งมิติซึ่งเราลืมไปแล้วว่าหน้าตาเป็นอย่างไรก่อนที่จะเป็นภาพสองมิติที่เรารู้จัก

เด็กเล็กจะอยู่ที่โลกสองมิติสักพักเพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับอวกาศและเวลา (space&time) แล้วจึงมองเห็นโลกเป็นสามมิติอีกที

หนังสือนิทานประกอบภาพสำหรับเด็กที่เขียนภาพแบนราบเป็นสองมิติจึงไม่มีปัญหากับเด็กเล็ก ในขณะที่ผู้ใหญ่จะรู้สึกฉงนว่าสวยก็ไม่สวย ทำไมเด็กๆ ชอบ

แต่สำหรับ Tales of the Night มีเนื้อเรื่องและเนื้อหาที่เหมาะสำหรับเด็ก แม้ว่าแทบทุกเรื่องจะอิงเทพนิยายของชนชาติต่างๆ ซึ่งดูมืดหม่น แต่ก็เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความรักและความรักชนะทุกสิ่ง

เรื่องที่สามเกิดขึ้นในชนเผ่าแอซเท็ก อาณาจักรทองคำและพิธีบูชายัญ วันหนึ่งมีนักเดินทางผ่านมา เขาล้มเลิกพิธีบูชายัญอันป่าเถื่อน แต่พิธีบูชายัญเป็นเสาหลักค้ำจุนอารยธรรมแห่งนี้ เมื่อเสาหลักล้มลงอารยธรรมก็ล่มสลายด้วย

เรื่องที่สามให้ข้อคิดที่ร่วมสมัย วัฒนธรรมหนึ่งหรืออารยธรรมหนึ่งดำรงอยู่ได้ด้วยเสาหลักบางอย่าง

หลายครั้งเสาหลักนั้นเป็นพิธีกรรมที่ไม่เข้าตาคนภายนอก ถ้าคนภายนอกผลีผลามเข้าไปโค่นมันลงมักนำพาซึ่งความสูญเสียครั้งใหญ่

เรื่องเล็กๆ อย่างเด็กติดเกมก็ใช้วิธีคิดเดียวกัน เกมเป็นเสาหลักชีวิตของเด็กบางคน จะด้วยเหตุใดก็ตามเกมเป็นชีวิตทั้งหมด

หากพ่อแม่หรือเราใจร้อนกระชากเกมของเขาออกทันควัน เขาปลิดชีวิตตนเองได้เช่นกัน

เรื่องที่สี่ก็สนุก เล่าเรื่องเด็กชายแอฟริกันที่ไม่สนใจอะไรนอกจากตีกลอง เป็นที่เอือมระอาของผู้คน เด็กชายใฝ่ฝันอยากได้กลองวิเศษที่ทำให้เขาเป็นที่หนึ่ง เขาตีกลองวิเศษขจัดศัตรูของเผ่าได้สำเร็จ แต่แล้ววันหนึ่งกลองวิเศษหายไป ก่อนที่เขาจะพบว่าความวิเศษมิได้อยู่ที่กลอง แต่อยู่ที่ตัวเขาเอง เป็นนิทานสอนเด็กที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง

เรื่องที่ห้าหลักแหลม มาจากทิเบต พระราชาสองคนแข่งกันล่อลวงให้เด็กชายคนหนึ่งที่ไม่เคยโกหกมาก่อนเลยโกหก ที่แท้เด็กคนหนึ่งหรือคนเราโกหกเพื่ออะไร เรื่องนี้ดีมาก ไม่เล่า ต้องดูเอง

เรื่องที่หกกลับมาที่ยุโรปสมัยกลางเหมือนเรื่องแรก เป็นนิทานผจญภัยเจ้าชาย เจ้าหญิง พ่อมด แม่มด ปิศาจ และมังกรตามแบบฉบับ แต่ดูทีไรก็สนุกทุกที รวมทั้งครั้งนี้แม้ว่าจะเป็นหนังตะลุงฝรั่ง

จาก Kirikou and the Sorceress ผ่าน Azur&Asmar the Princes” Quest มาจนถึงเรื่องนี้ Tales of the Night การ์ตูนที่รักได้แนะนำหนังการ์ตูนฝรั่งเศสของ Michel Ocelot ที่ดีมากทั้งเนื้อเรื่อง เนื้อหา และเทคโนโลยีที่ใช้ผลิต เป็นการ์ตูนของโลกอีก 3 เรื่องที่น่าดู