ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18 - 24 มีนาคม 2559 |
---|---|
คอลัมน์ | วิช่วลคัลเจอร์ |
เผยแพร่ |
สโคน (Scone) เป็นขนมชนิดหนึ่งที่กินกับน้ำชา และว่ากันว่าเป็นของโปรดของชาวอังกฤษ ทำด้วยแป้งสาลี แตกต่างกับเค้กหรือบัน เพราะมีลักษณะกรอบๆ นุ่มๆ และเนื้อร่วน บางครั้งอาจใส่ลูกเกด ผลไม้แห้ง หรือถั่ว
ทุกวันนี้ สโคนกลายเป็นขนมที่หาได้ไม่ยาก แม้ในกรุงเทพฯ ก็พอจะหาได้ตามร้านกาแฟหรือเบเกอรี่บางแห่ง ที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับไลฟ์สไตล์สมัยใหม่
หลายคนบอกว่าเป็นขนมอังกฤษ แต่สำหรับผู้เขียน เพราะได้อ่านการ์ตูนดิสนีย์ฉบับภาษาไทย ตอน “ขนมสโคนถังหนึ่ง” หรือ A Bucket of Scone (ฉบับที่ 18 พ.ศ.2510) จึงเชื่ออย่างฝังใจว่าสโคนเป็นขนมสก๊อต แถมยังหายากมากเพราะทำกันแต่ในสกอตแลนด์
ในตอนนี้ สกรู๊จ แม็กดั๊ก มหาเศรษฐีแห่งเมืองดั๊กเบิร์ก มีอาการคิดถึงบ้านเกิดซึ่งอยู่ในสกอตแลนด์และอยากกินสโคนมาก แต่เนื่องจากธุรกิจรัดตัวทำให้ไม่สามารถเดินทางไปไกลขนาดนั้น สกรู๊จจึงประกาศว่าจะให้เงินสองพันเหรียญแก่ใครก็ตามที่ไปหาขนมชนิดนี้มาให้
ก่อนที่การผจญภัยจะเริ่มต้นขึ้น หรือก่อนที่โดนัลด์ดั๊กจะถูกสั่งให้ขับเรือข้ามมหาสมุทรเพื่อไปตามหาสโคน
ลุงสกรู๊จก็บรรยายถึงความอร่อยของสโคนอย่างฟูมฟาย จนกระทั่งเด็กที่อ่านการ์ตูนดิสนีย์ตอนนี้ต้องน้ำลายสอเมื่อนึกถึง และเชื่อตามหนังสือว่าเป็นขนมชนิดที่หากินง่ายๆ ไม่ได้
“ขนมสโคนถังหนึ่ง” น่าจะเป็นผลงานของ แจ็ก แบรดบิวรี่ หรือ โทนี่ สตรอบล์ แต่ก็เดินตามครรลองของ คาร์ล บาร์กส์ (Carl Barks) ศิลปินดิสนีย์คนสำคัญที่ผลิตงานด้านหนังสือการ์ตูนออกมาในช่วง ค.ศ.1942-1968
บาร์กส์ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้สร้างบุคลิกที่โดดเด่นให้แก่โดนัลด์ดั๊ก รวมทั้งสร้างตัวละครอีกหลายตัวในครอบครัวเป็ด เช่น สกรู๊จ แม็กดั๊ก เศรษฐีขี้เหนียวผู้มีบุคลิกและรายละเอียดมากมาย รวมทั้งกำพืดที่ปรากฏในตอนนี้
ที่สำคัญ ครรลองของบาร์กส์ยังหมายถึงการดำเนินเรื่องแบบ “บานปลาย”
นั่นคือ เริ่มต้นจากจุดเล็กนิดเดียว แต่ขยายไปสู่เหตุการณ์ที่ใหญ่โตและคาดไม่ถึง
ซึ่งจะว่าไปแล้ว ก็คล้ายหนังแนวที่เรียกว่าสกรูว์บอลล์ คอเมดี้ (Screwball comedy) นั่นเอง
ตัวอย่างได้แก่ตอน “The Secret of Atlantis” ซึ่งแม้ผู้อ่านพอจะเดาได้ว่าจะเกี่ยวกับการค้นพบอาณาจักรแอตแลนติส ซึ่งเป็นการผจญภัยขนาดใหญ่ แต่การเริ่มต้นจะเล็กกระจ้อยร่อยและไม่ส่อแววว่าจะเกี่ยวกันเลย
ในตอนนี้ ลุงสกรู๊จอยากจะเนรมิตให้เหรียญสลึง (หรือหนึ่งควอเตอร์) ของตน กลายเป็นของมีราคา เขาจึงกว้านซื้อทุกเหรียญในโลกที่ออกมาเมื่อปี 1916 เก็บไว้เหรียญเดียว แล้วเอาที่เหลือทั้งหมดไปโยนทิ้งทะเล เหรียญสลึงที่เขาเก็บไว้จึงหายากและมีราคาเพิ่มขึ้นมหาศาล
ด้วยความบังเอิญ เหรียญหลุดมือและตกลงไปบนถนน ลุงสกรู๊จต้องวิ่งไล่ตามเหรียญสลึง และนำไปสู่ความโกลาหลทั่วเมือง
ซึ่งในที่สุดก็จบลงด้วยการที่เหรียญนั้นถูกรถบดถนนทับจนแบนและหมดราคาไปทันที เดินเรื่องมาเพียงเท่านี้ หนังสือก็กินเนื้อที่เข้าไปกว่า 13 หน้า
จากนั้น การเดินทางไปสู่แอตแลนติสจึงจะเริ่มต้นขึ้น
ในตอนขนมสโคนถังหนึ่ง หลังออกเรือ โดนัลด์ต้องเจอกับโจรสลัดบีเกิ้ล ก็ยังเดาไม่ได้ว่าเรื่องจะไปทางไหน ตามท้องเรื่อง นอกจากจะถูกจับเป็นเชลยแล้ว โดนัลด์ยังถูกใช้เป็น “หน้าฉาก” ของเหล่าจอมโจร ในการปล้นเรือลำอื่นๆ
นอกจากนั้น กระทั่งหลังจากที่เขาหนีออกมา เดินทางไปถึงสกอตแลนด์ และพบร้านขนมแล้ว ผู้อ่านจึงพบว่าเรื่องเพิ่งจะเริ่มต้น
ในตอนจบ สูตรทำสโคนหรือ recipe ซึ่งเจ้าของปกปิดไว้ กลายเป็นปมสำคัญ
หลังจากกลับมาดั๊กเบิร์กแล้ว โดนัลด์ดั๊กยังต้องหาทางได้สูตรทำขนมชนิดนี้มา จึงจะทำขนมให้ลุงสกรู๊จกินได้สำเร็จ
นอกจากจะทำให้เด็กๆ มีแฟนตาซีเกี่ยวกับสโคนแล้ว การ์ตูนยังมีมุขอีกมุข นั่นคือเล่นกับชื่อของขนม ซึ่งเป็นคำที่ออกเสียงได้หลายแบบ เช่น ในภาษาอเมริกันเรียกสโคน แต่ในภาษาอังกฤษ เรียกทั้งสโคนและสคอน
บางคนบอกว่าถ้าเรียกสโคน จะเป็นสำเนียงของภาคใต้และชนชั้นกลางในอังกฤษ
แต่ถ้าเรียกสคอน จะเป็นสำเนียงของภาคเหนือและชนชั้นล่างมากกว่า
แม้แต่คนที่ใช้ภาษานี้ก็อาจจะสับสนกับการออกเสียงสองแบบ ในกลอนบทหนึ่ง ชี้ว่าชื่อนี้สามารถบอกที่มาและฐานะทางชนชั้นของผู้พูด :
I asked the maid in dulcet tone?
To order me a buttered scone;?
The silly girl has been and gone?
And ordered me a buttered scone.
มุขนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่ตอนต้นเรื่อง โดนัลด์ดั๊กและหลานๆ แอบได้ยินลุงสกรู๊จเรียก แต่นึกว่าพูดถึงก้อนหิน (stone) เป็ดสี่ตัวจึงวิ่งออกไปขนหินมาให้ถังหนึ่ง และในเวลาต่อมา หินถังนี้ยังได้ทำให้โดนัลด์ดั๊กต้องยอมออกเดินทางไปหาขนมชนิดนี้ ทั้งๆ ที่ไม่อยากไป
บางคนบอกว่า ถ้าสโคนเป็นภาษาสก๊อต ก็น่าจะอ่านว่าสคูน เพราะเป็นชื่ออดีตเมืองหลวง
ยิ่งไปกว่านั้น การเอาไปเล่นกับคำว่าสโตน ยังทำให้นึกถึงคำว่า Stone of Scone (อ่านว่า สโตนออฟสคูน) อันหมายถึงหินศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเคยตั้งอยู่ที่เมืองสคูน
หินสคูน ซึ่งมีรูปร่างเหมือนกล่องสี่เหลี่ยม (ขนาด 26 x 16.75 x 10.5 นิ้ว หนักราว 336 ปอนด์ ด้านบนมีจารึกรูปกางเขน และห่วงเหล็กสองอัน) มีความศักดิ์สิทธิ์เพราะเชื่อกันว่าเป็นหินที่ปักดาบของกษัตริย์อูเธอร์ในตำนานพระเจ้าอาเธอร์
สคูนมีความเกี่ยวข้องกับการสืบราชสมบัติมาแต่โบราณ นั่นคือเป็น “หินรองบัลลังก์” ที่ใช้ในพิธีขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์สก๊อต
และต่อมา เมื่อสกอตแลนด์ตกเป็นของอังกฤษ หินก้อนนี้ก็ถูกนำมาตั้งไว้ที่วิหารเวสต์มินสเตอร์และใช้ในพระราชพิธี เช่นในปี ค.ศ.1953 สำหรับการขึ้นครองราชย์ของเอลิซาเบ็ธที่ 2 หรือกษัตริย์องค์ปัจจุบัน
ต่อมา กลายเป็นสัญลักษณ์ของชาติหรือการแยกตัวออกจากอังกฤษ เมื่อหกสิบปีที่แล้ว หินก้อนนี้เคยถูกชาวสก๊อตขโมยกลับคืนมา หลังจากนั้น รัฐบาลอังกฤษนำกลับมาได้ และเพิ่งจะมีการคืนให้สกอตแลนด์อย่างเป็นทางการเมื่อปี ค.ศ.1996 นี้เอง
ดังนั้น การเอาชื่อมาเล่นกับคำว่าสโตน จึงทำให้ขนมชนิดนี้มีความเป็นสก๊อตมากขึ้นไปอีก
โดนัลด์ดั๊กตอนนี้ นอกจากสนุกสนานแล้ว ยังทำให้สโคนมีเสน่ห์ชวนกิน อีกทั้งให้ความรู้ในแง่ชาติกำเนิดของขนมชนิดนี้
และถ้าจะสั่งมากิน ก็สอนด้วยว่าอย่าลืมเรียกชื่อให้ถูก
ไม่งั้นฟันจะหักนะครับ