ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 2 - 8 มิถุนายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
เมื่อพูดถึงคำว่า “Spirit” ความหมายในแง่หนึ่งของคำนี้คือ “จิตใจ” ส่วนความหมายในอีกแง่หนึ่งคือ “วิญญาณ ภูตผี”
ซึ่งลักษณะทั้งสองแง่มุมนั้นปรากฏอยู่ในผลงานของนิทรรศการ The Sleeping Spirit โดย ปรีชา รักซ้อน ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยจากจังหวัดสุพรรณบุรี ผู้จบการศึกษาจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ในฐานะจิตรกรฝีมือเจนจัด ที่ทำงานหลากหลายแนวทาง ทั้งแนวทางการวาดภาพที่เน้นความฉับไวของฝีแปรงอันอิสระเลื่อนไหล ไม่ยึดติดกับความเป็นจริงอย่างเคร่งครัด หากแต่เต็มเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก หรือแนวทางการวาดภาพอันสนุกสนานสดใส ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการ์ตูนมังงะของญี่ปุ่นและการ์ตูนคอมมิกของตะวันตก และแนวทางการวาดภาพอันโฉบเฉี่ยวเปี่ยมสไตล์ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากงานแฟชั่น
หรือแม้แต่แนวทางการวาดภาพแบบเหมือนจริงอันเจนจัด ช่ำชอง ตามแบบแผนของศิลปินจากรั้วศิลปากร แนวทางแบบหลังนี่เอง ที่ปรากฏอยู่ในนิทรรศการครั้งนี้
สิ่งที่ถูกนำเสนอเป็นแกนหลักอันโดดเด่นในผลงานชุดนี้ของปรีชาก็คือ ผืนผ้าที่ห่มคลุมวัตถุข้าวของในบ้านอย่าง เก้าอี้โซฟา, ม้านั่ง หรือแม้แต่ร่างกายมนุษย์ ผืนผ้าที่ว่านี้ประดับด้วยลวดลายใบหน้ามนุษย์หน้าตาเกรี้ยวกราดจำนวนมาก จนดูราวกับถูกสิงสู่โดยเหล่าบรรดาสัมภเวสี วิญญาณ ภูตผี ก็ไม่ปาน
ในขณะเดียวกัน เมื่อพินิจพิจารณาให้ดีๆ ลวดลายใบหน้าบนผืนผ้าเหล่านี้ก็คือหน้าของศิลปินเจ้าของผลงานอย่างปรีชานั่นเอง
ในแง่หนึ่ง ใบหน้าเหล่านี้อาจเป็นตัวแทนของภูตผี วิญญาณ แบบเดียวกับศิลปะวิญญาณนิยม (Spiritualist art) ที่ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องราวของวิญญาณ ภูตผี และโลกหลังความตาย ซึ่งบังเอิญเชื่อมโยงกับบริบทของพื้นที่แสดงงานอย่างน่าสนใจ ในทางกลับกัน ภาพวาดวิญญาณ ภูตผีที่ไม่อาจหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าเหล่านี้ ก็อาจเป็นสัญลักษณ์แทนจิตใจหรือความรู้สึกนึกคิดของปรีชา ที่ไม่อาจหลุดพ้นจากการติดกับในวังวนของสภาวะบางอย่าง
ทั้งภาระหน้าที่ของครอบครัว ในฐานะทายาทกิจการโรงสีข้าวในจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ถูกสื่อผ่านภาพวาด Ode to my Family (2020) ที่แสดงภาพชายวัยกลางคนผู้เป็นพ่อของปรีชาถือผืนผ้าดังกล่าว ราวกับกำลังหอบหิ้วคราบสังขารของลูกชายผู้เอาใจออกห่างจากธุรกิจของครอบครัวไปสู่วิชาชีพที่ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงอย่างการเป็นคนทำงานศิลปะ ท่ามกลางฉากของโรงสีข้าวเก่าโทรม รกร้าง เขรอะขระด้วยฝุ่นละอองและหยากไย่ ราวกับจะแสดงให้เห็นถึงลมหายใจรวยรินของกิจการ
หรือในภาพวาด Credle Song (2020) ที่แสดงภาพของกลุ่มคนที่ดูเหมือนเป็นลูกจ้างแรงงานในโรงสี กำลังใช้ผืนผ้าที่ถูกสิงสู่ด้วยใบหน้ามนุษย์ต่างเปลโยนชายหนุ่มที่ถูกคลุมหัวด้วยผ้าให้ลอยขึ้นไปกลางอากาศ ท่ามกลางภูมิทัศน์อันเวิ้งว้างของลานตากข้าว
น่าสังเกตว่าผ้าคลุมหัวและผ้านุ่งของชายผู้นี้ก็เป็นผ้าที่ถูกสิงสู่ด้วยใบหน้ามนุษย์เช่นเดียวกัน
ผลงานชิ้นนี้ของปรีชาได้แรงบันดาลใจจากภาพวาด The Straw Manikin (1791-1792) ของศิลปินเอกชาวสเปน ฟรานซิสโก โกยา (Francisco Goya) ที่วิพากษ์วิจารณ์ความโง่เง่าขลาดเขลาของชนชั้นปกครองของสเปน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหล่าชนชั้นนำเพศชายที่วางอำนาจเขื่องโข แต่ท้ายที่สุดกลับถูกควบคุมและชักจูงโดยสตรีผู้อยู่เบื้องหลัง
ไม่ต่างอะไรกับหุ่นฟางรูปกษัตริย์หรือขุนนางของสเปนที่ถูกเหล่าบรรดานางสนมและนางในขึงเปลผ้าโยนเล่นขึ้นไปบนอากาศ
เช่นเดียวกับชายหนุ่มในภาพ Credle Song ที่ดูน่าจะเป็นปรีชา ผู้เป็นนายจ้าง ที่ถูกเหล่าบรรดาลูกจ้างแรงงานโยนขึ้นไปกลางอากาศ นายจ้างในภาพที่ดูเหมือนเป็นผู้ควบคุมกุมชะตาชีวิตของแรงงานที่อยู่เบื้องล่างให้มีงานมีการทำดำรงชีวิตเลี้ยงปากท้องได้
แต่ในทางกลับกัน แรงงานเหล่านี้เองก็เป็นกำลังสำคัญที่โอบอุ้มคุ้มชูให้นายจ้างมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีกิจการที่มั่นคงแข็งแรงเช่นเดียวกัน หากขาดไร้ซึ่งมือของแรงงานเหล่านี้โยนให้ขึ้นไปบนที่สูงและคอยรองรับไว้ นายจ้างก็อาจร่วงหล่นลงมากองกับพื้นดิน (หรือไม่เคยโงหัวขึ้นมาตั้งแต่แรก) ก็เป็นได้
ไม่ต่างอะไรกับสถานการณ์ที่กิจการโรงสีข้าวของครอบครัวปรีชาต้องปิดตัวลง เพราะแรงงานพลัดถิ่นเหล่านี้ต่างลาออกเพื่อกลับไปยังบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง
สิ่งที่น่าสนใจอีกประการในงานชุดนี้ก็คือ ผืนผ้าลวดลายใบหน้ามนุษย์ในผลงานชุดนี้ ปรีชาได้แรงบันดาลใจมาจากผ้าจีวรพระสงฆ์ ที่เป็นสัญลักษณ์แทนวาทกรรมแห่งอำนาจของความเชื่อ ความศรัทธา และความศักดิ์สิทธิ์ ที่เมื่อถูกนำไปห่มคลุมใครก็ตาม ก็จะทำให้คนผู้นั้นถูกอุปโลกน์ว่าเป็นคนดี มีศีลธรรม น่าเคารพบูชา ไม่ว่าเขาจะมีเนื้อแท้หรือพฤติการณ์เยี่ยงนั้นหรือไม่ก็ตาม
ในทางกลับกัน รากเหง้าแต่เดิมของผ้าจีวรในสมัยพุทธกาล อันมีที่มาจากผ้าบังสุกุลหรือผ้าห่อศพ ก็เป็นการย้ำเตือนให้รำลึกถึงความตาย อันเป็นสัจธรรมของชีวิต เช่นเดียวกับความรู้สึกสยองขวัญในความเป็นภูตผีและวิญญาณที่ปรากฏในผลงานชุดนี้ ที่ไม่ต่างอะไรกับ มรณานุสติในงานศิลปะ หรือ Memento mori ซึ่งย้ำเตือนให้เราระลึกถึงความตายอันไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้นั่นเอง
สภาวะการติดกับยังถูกสะท้อนผ่านการทำงานวาดภาพเหมือนจริงแบบ Theatrical Painting หรือการวาดภาพในเชิงละครเวที ที่ขับเน้นแสงเงาจัดจ้าน รายละเอียดคมชัดจากฝีแปรงอันชำนิชำนาญ องค์ประกอบอันลงตัวตามตำรา และวิธีคิดในการทำงานตามแบบแผน อันเป็นผลพวงของระบบการศึกษาแบบอคาเดมี (Academy of art) มรดกตกทอดจากศิลปะในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) และยุคบาโร้ก (Baroque) หรือกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะของยุโรป สู่สถาบันศิลปะชั้นนำของเมืองไทย จนกลายเป็นรูปแบบยอดนิยมที่เหล่าศิลปินในสถาบันชั้นนำแห่งนี้ หรือสถาบันอื่นๆ ที่ได้รับมรดกแบบเดียวกันยึดมั่นถือมั่นมาอย่างยาวนาน ในฐานะกุญแจสู่ความสำเร็จในวงการศิลปะ จนกลายเป็นขนบธรรมเนียม เป็นวังวนแห่งวงจรอำนาจที่ควบคุม กำหนด และชี้ชะตาผู้คนในวงการศิลปะไทยอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในยุคสมัยหนึ่ง
ในฐานะศิษย์เก่าของสถาบัน ปรีชาก็เป็นหนึ่งในศิลปินที่ติดกับดักในวังวนที่ว่านี้ ดังจะเห็นได้จากผลงานในนิทรรศการที่อบอวลกลิ่นอายการทำงานตามขนบนิยมอย่างเต็มเปี่ยม แต่ในขณะเดียวกันก็มีบางผลงานที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามดิ้นรนหลุดพ้นจากวังวนที่ว่า
ดังเช่นผลงาน Sunday evening (2020) ที่เรามองเห็นความพยายามในการหลีกหนีจากสูตรสำเร็จเดิมๆ ของเขา
จะว่าไป ผลงานชุดนี้ไม่ต่างอะไรกับความพยายามตื่นจากฝันร้ายในยามหลับใหลอันยาวนาน ดังเช่นชื่อเต็มของนิทรรศการครั้งนี้อย่าง “Before I’m here, The Sleeping Spirit” ที่ผลลัพธ์ของการตื่นทางจิตวิญญาณของเขาปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดในนิทรรศการ I’m here (2022-2023) ที่ปรีชาสามารถก้าวพ้นจากวงจรของการทำงานตามขนบและสูตรสำเร็จแบบเดิมๆ ไปสู่การทำงานในแนวทางใหม่ โดยไม่ได้วางตัวเองในฐานะศิลปินที่เก่งกาจและเปี่ยมล้นด้วยอัตตา หากแต่เป็นชายหนุ่มผู้หวนกลับไปสำรวจรากเหง้าตัวตนของตัวเองอีกครั้ง ด้วยการเปลี่ยนโรงสีข้าวของครอบครัวให้กลายเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะ และวาดภาพบนผนังโรงสี แทนที่จะเป็นผืนผ้าใบ
“ตั้งแต่เรียนจบมา ผมก็ทำงานในลักษณะนี้ตลอด เพราะผมหลงใหลในการวาดภาพร่างกายมนุษย์ และการวางองค์ประกอบภาพแบบโบราณ ซึ่งกลายเป็นแม่แบบของนักศึกษาที่ทำงานจิตรกรรมส่วนใหญ่ในบ้านเรา มีเพียงไม่กี่คนที่สามารถหลุดออกมาจากกรอบนี้ได้ แต่ในความรู้สึกของผม นี่เป็นแค่วิธีการเรียนในรูปแบบหนึ่ง ซึ่งผมตั้งคำถามว่า ไม่มีวิธีการเรียนที่เป็นตัวเลือกแบบอื่นๆ เลยหรือ?”
“หรือแม้แต่ความเชื่อว่าเราจะต้องวาดภาพลงบนผืนผ้าใบเท่านั้น จะด้วยเหตุผลทางทุนนิยมหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่พอถึงจุดหนึ่ง ผมรู้สึกว่าเราต้องก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้ไปให้ได้ จนออกมาเป็นงานในนิทรรศการ I’m here อย่างที่เห็น สำหรับผม การสร้างสรรค์งานศิลปะควรเปิดโอกาสให้เราไปสู่พื้นที่ใหม่ๆ ตลอดเวลา ไม่ต่างอะไรกับการดิ้นรนเพื่อที่จะเกิดใหม่ หรือมองเห็นหนทางใหม่ๆ เพราะผมไม่สามารถหยุดตัวเองอยู่ที่เดิม หรือทำอะไรแบบเดิมไปตลอดได้”
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ผลงานในนิทรรศการ The Sleeping Spirit ครั้งนี้ ก็มีความโดดเด่นในฐานะหนึ่งในหมุดหมายสำคัญบนเส้นทางการทำงานศิลปะของศิลปินอย่าง ปรีชา รักซ้อน
เพราะท้ายที่สุด การแหกกรอบจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าหากไม่มีกรอบอยู่ตั้งแต่แรก หรือถ้าหากเราไม่เคยหลับใหลมาก่อน แล้วเราจะลืมตาตื่นขึ้นได้อย่างไร จริงไหมครับท่านผู้อ่าน?
นิทรรศการ The Sleeping Spirit โดย ปรีชา รักซ้อน
จัดแสดง ณ หอศิลป์ BNC Creatives (The Ghost House) RCA ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม-22 กรกฎาคม พ.ศ.2566
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือนัดหมายเข้าชมงาน โทร. 09-2609-2666
อีเมล [email protected]
Line OA : BNCCREATIVES •
อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022