พิพิธภัณฑ์ปราโด หมุดหมายสุดท้ายของสามเหลี่ยมทองคำแห่งศิลปะ (จบ)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปน : พิพิธภัณฑ์ปราโด
หมุดหมายสุดท้ายของสามเหลี่ยมทองคำแห่งศิลปะ (จบ)

 

ในพิพิธภัณฑ์ปราโดยังมีผลงานชิ้นเอกอีกชุดหนึ่ง ที่ถือเป็นผลงานไฮไลต์ที่สุดของ ฟรานซิสโก โกยา อย่างภาพวาดชุด Black Paintings (Pinturas Negras) (1819-1823) ชุดภาพวาด 14 ภาพ ที่โกยาวาดขึ้นในช่วงบั้นปลายชีวิต ในช่วงราวปี 1819-1823

โกยานำเสนอเนื้อหาอันรุนแรง มืดมน หลอนหลอก ที่สะท้อนความหวาดกลัวต่อความวิกลจริตของตนเอง และมุมมองอันสิ้นหวังที่มีต่อมนุษยชาติอย่างทรงพลัง

โดยในช่วงวัยชรา โกยาผู้มีอาการหูหนวกสนิทจากอาการป่วย และต้องประสบกับความทุกข์ทรมานจากการรักษา

Judith and Holofernes (1819-1823) ภาพวาดในชุด Black Paintings โดย ฟรานซิสโก โกยา

ประสบการณ์นี้ทำให้เขาตั้งคำถามอย่างจริงจังเกี่ยวกับความตายของตัวเอง เขาปลีกตัวจากสายตาของสาธารณชน หลีกลี้ไปใช้ชีวิตอย่างโดดเดียวที่บ้านในกรุงมาดริด ที่มีชื่อว่า Quinta del Sordo หรือ House of the Deaf Man (บ้านของชายหูหนวก) ที่ตั้งชื่อตามเจ้าของเดิมที่หูหนวก (บังเอิญว่าโกยาเองก็หูหนวกด้วยเหมือนกัน)

ในช่วงปี 1819-1823 ท่ามกลางห้วงขณะของความป่วยไข้และสิ้นหวังกับสังคมรอบข้างโดยสิ้นเชิง โกยาวาดภาพสีน้ำมันจำนวน 14 ภาพ ลงบนผนังปูนปลาสเตอร์ของบ้านโดยตรง โดยไม่ได้ตั้งใจนำออกแสดงต่อสาธารณชนแต่อย่างใด ไม่มีใครรู้ว่าโกยาวาดภาพเหล่านี้ขึ้นมาด้วยความคิดหรือความหมายอะไร เขาไม่ได้เขียนถึงผลงานเหล่านี้ในบันทึกหรือจดหมายที่ไหน และไม่ได้ตั้งชื่อผลงานเหล่านี้ด้วยซ้ำ

โกยาตั้งใจวาดภาพเหล่านี้ให้เป็นงานส่วนตัวของเขาอย่างแท้จริง

La Leocadia (1819-1823) ภาพวาดในชุด Black Paintings โดย ฟรานซิสโก โกยา

ภาพวาดชุดนี้มีเนื้อหามุ่งเน้นในการแสดงอารมณ์หวาดผวา, ความหวาดกลัว, ความชั่วร้าย, อัปลักษณ์ และความวิปลาส วิปริตผิดเพี้ยนที่ซ่อนอยู่ภายในจิตใจมนุษย์

ผลงานที่ถูกเรียกขานว่า Black Paintings ชุดนี้ ได้รับการตั้งชื่อในภายหลังโดยนักประวัติศาสตร์ศิลปะ และได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพวาดที่สะท้อนความเสื่อมโทรมทั้งทางร่างกายและจิตใจของโกยา และแสดงออกถึงความหวาดกลัวในส่วนลึกที่สุด และฝันร้ายอันมืดมนหดหู่ที่สุดในใจของเขาออกมาได้อย่างทรงพลังยิ่ง

ในราวปี 1874 หรือ 50 ปี หลังจากที่โกยาเสียชีวิต ภาพวาดเหล่านี้จึงถูกเลาะออกมาจากกำแพงลงมาติดบนผืนผ้าใบ โดย บารอน เอมิลล์ โบมอน เดลอนเจอร์ (Baron Frédéric Émile d’Erlanger) นายธนาคารและกงสุลชาวเยอรมัน ผู้ซื้อบ้านหลังนี้เอาไว้

หลายภาพเกิดความชำรุดเสียหายจากการถูกเลาะออกจากกำแพง ทำให้มีรายละเอียดที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จนนักประวัติศาสตร์ศิลปะบางคนกล่าวว่า สิ่งที่เหลืออยู่คือความพยายามอย่างยิ่งยวดในการเก็บรักษาสำเนาหยาบๆ ของสิ่งที่โกยาเคยวาดเอาไว้ ทั้งผลกระทบจากกาลเวลา และความเสียหายในการโยกย้ายภาพบนปูนปลาสเตอร์ไปติดลงบนนผืนผ้าใบ ทำให้ภาพวาดส่วนใหญ่ได้รับความเสียหาย สูญเสียสีสันและรายละเอียดสำคัญไปอย่างมาก

แต่ถึงกระนั้น ภาพวาดชุดนี้ก็ยังเป็นผลงานที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกศิลปะอยู่ดี

Witches’ Sabbath (1819-1823) ภาพวาดในชุด Black Paintings โดย ฟรานซิสโก โกยา

ในบรรดาภาพวาดทั้งหมด ผลงานที่กระแทกใจเราอย่างมากคือภาพวาด El Gran Cabrón/Aquelarre หรือ Witches’ Sabbath (1819–1823) (พิธีชุมนุมของแม่มด) ภาพวาดของแม่มดที่เข้าร่วมพิธีชุมนุมเพื่อบูชาจอมปีศาจซึ่งอยู่ในรูปของแพะดำกำลังร่ายมนต์ต่อหน้ากลุ่มผู้หญิงที่น่าจะเป็นกลุ่มแม่มด จอมปีศาจในภาพปรากฏเป็นแค่เงาดำทะมึน ให้ความรู้สึกลี้ลับ ฝีแปรงอันหยาบกระด้างรุนแรง และแสงเงาอันจัดจ้าน สร้างความรู้สึกอันน่าสยดสยองให้ตัวละครแม่มดผู้มีรูปลักษณ์อันน่าพรั่นพรึงในภาพ

เดิมทีภาพนี้มีความยาวกว่าในปัจจุบัน แต่เสียหายจากการเคลื่อนย้ายภาพจากผนังลงไปติดบนผืนผ้าใบ

ถึงแม้จะไม่มีใครรู้ถึงความหมายและเนื้อหาของภาพ แต่นักประวัติศาสตร์ศิลปะก็สันนิษฐานว่าโกยาวาดภาพนี้ขึ้นเพื่อเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การสอบสวนทรมานและการสังหารผู้หญิงในการล่าแม่มดของหน่วยงานศาสนา ในช่วงฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ของสเปน ที่ศาสนจักรและราชวงศ์ใช้อำนาจกดขี่ไล่ล่าผู้คนโดยเฉพาะผู้หญิงอย่างโหดเหี้ยมทารุณ

Saturn Devouring His Son (1819-1823) ภาพวาดในชุด Black Paintings โดย ฟรานซิสโก โกยา

แต่ภาพวาดที่โดดเด่นโดนใจและเป็นภาพที่เราใฝ่ฝันว่าจะได้มาชมของจริงด้วยตาตัวเองมากที่สุดก็คือภาพวาด Saturno devorando a su hijo หรือ Saturn Devouring His Son (1819-1823) (แซเทิร์นกัดกินบุตรชายของตัวเอง)

ภาพวาดชิ้นสำคัญอันสุดสยดสยองของโกยา ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากตำนานเทพปกรณัมกรีกโบราณ ของเทพไททันส์ ‘โครโนส’ (หรือเรียกในภาษาโรมันว่า ‘แซเทิร์น’) ผู้หวาดกลัวว่าบุตรของตนจะเติบโตขึ้นมาปล้นชิงราชบัลลังก์แห่งสรวงสวรรค์ตามคำทำนาย เขาจึงจับลูกๆ ของตนมากินทั้งเป็น!

ที่น่าสนใจก็คือมีการค้นพบว่ารายละเอียดของภาพบางส่วนได้เสียหายไปมาก และส่วนที่เสียหายไปนั้น เดิมทีมีหลักฐานว่าเป็นส่วนล่างของภาพที่เป็นรูปอวัยวะเพศชายที่กำลังแข็งตัว (พูดง่ายๆ ว่า “จู๋โด่” อยู่นั่นแหละ) ซึ่งแปลว่าเทพแซตเทิร์นหรือโครโนสในภาพนั้นเกิดอารมณ์ทางเพศในขณะที่กำลังฆ่าและกินลูกตัวเองอยู่!

ซึ่งพ้องกับทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (ที่ถือกำเนิดในภายหลัง) ว่า “พ่อ” ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิด ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ทำลายด้วยเช่นกัน

A Pilgrimage to San Isidro (1819-1823) ภาพวาดในชุด Black Paintings โดย ฟรานซิสโก โกยา
Atropos (1819-1823) ภาพวาดในชุด Black Paintings โดย ฟรานซิสโก โกยา

มีข้อมูลเพิ่มเติมว่า ช่วงที่วาดภาพนี้โกยาป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (น่าจะเป็นโรคซิฟิลิส) ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ลูกที่เกิดมามีปัญหาทางสุขภาพและเสียชีวิตไปหลายคน ภาพวาดนี้เลยเหมือนเป็นการแสดงความรู้สึกเสมือนว่าเขากินลูกตัวเองจากความป่วยไข้ของเขานั่นเอง

Pilgrimage to the Fountain of San Isidro (1819-1823) ภาพวาดในชุด Black Paintings โดย ฟรานซิสโก โกยา
Asmodea (1819-1823) ภาพวาดในชุด Black Paintings โดย ฟรานซิสโก โกยา

นอกจากศิลปินเอกระดับตำนานของโลกเพศชายแล้ว ในในพิพิธภัณฑ์ปราโดยังมีผลงานของศิลปินเพศหญิงที่โดดเด่นไม่น้อยหน้าไปกว่ากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานของศิลปินหญิงชาวอิตาเลียนแห่งยุคบาโร้กอย่าง าร์ทิมีเซีย เจนทิเลสกี (Artemisia Gentileschi) ผู้มักวาดภาพเรื่องราวในพระคัมภีร์ไบเบิล และตำนานเทพปกรณัมกรีกโบราณ ที่ขับเน้นตัวละครเอกหญิงให้โดดเด่นเป็นสง่า

ผลงานของเธอมักจะเล่นกับการตัดกันระหว่างแสงสว่างกับความมืดอย่างจัดจ้าน ซึ่งได้รับอิทธิพลอย่างมากจากศิลปินชั้นครูในยุคบาโร้กที่เธอเคยฝากตัวเป็นลูกศิษย์อย่าง คาราวัจโจ

Two Old Men (1819-1823) ภาพวาดในชุด Black Paintings โดย ฟรานซิสโก โกยา

เธอยังเป็นผู้หญิงไม่กี่คนในยุคนั้น ที่กล้าขึ้นศาลฟ้องร้องผู้ชายที่ข่มขืนเธอในวัย 18 ปี ซึ่งเป็นศิลปินที่พ่อของเธอจ้างมาทำงานและสอนเธอวาดภาพ

หลังจากผ่านการพิจารณาคดี, การตรวจสอบทางสูตินรีเวชอันเจ็บปวดและน่าอับอาย และการทรมานตัวเธอ เพื่อพิสูจน์หลักฐานในการถูกข่มขืนต่อหน้าผู้พิพากษา รวมถึงการประณามหยามเหยียดจากชายที่ข่มขืนเธอ ในที่สุดเธอก็ชนะคดี

Fight with Cudgels (1819-1823) ภาพวาดในชุด Black Paintings โดย ฟรานซิสโก โกยา

ถึงแม้ว่าผู้ต้องหาที่ข่มขืนเธอจะติดคุกและถูกเนรเทศไม่ถึงปี ก่อนที่จะถูกว่าจ้างให้กลับมาทำงานกับพ่อของเธออีกในภายหลังก็ตามที

ความโหดเหี้ยมรุนแรงที่กระทำต่อเพศชายที่ปรากฏในภาพวาดของเธอ จึงเปรียบเสมือนการแสดงการแก้แค้นในสิ่งที่เพศชายกระทำกับเธอ และเป็นการแสดงออกถึงพลังของเพศหญิงในการไม่สยบยอมต่อการกดขี่นั่นเอง

The Birth of Saint John the Baptist (1635) โดย อาร์ทิมีเซีย เจนทิเลสกี

เจนทิเลสกีเป็นศิลปินหญิงหัวก้าวหน้าผู้เปี่ยมสีสันที่สุดในยุคบาโร้ก และเป็นหนึ่งในผู้หญิงไม่กี่คนที่สามารถทำลายกรอบข้อจำกัดในยุคนั้น ด้วยการเอาชนะความเหลื่อมล้ำและค่านิยมอันคับแคบที่มีต่อเพศหญิงในวงการศิลปะ และประสบความสำเร็จในฐานะจิตรกรชั้นนำแห่งยุคสมัย

การได้ชมสุดยอดผลงานชิ้นเอกของศิลปินเอกระดับตำนานในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกเหล่านี้ นับเป็นการปิดฉากการตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปน ได้อย่างงดงาม และเป็นความประทับใจที่ไม่มีวันจางหายไปจากความทรงจำ เราสัญญาว่าจะกลับมาเยือนที่นี่อีกครั้งให้ได้

“Hasta Luego España” จนกว่าจะพบกันใหม่นะ ประเทศสเปน

Two Old Ones Eating Soup (1819-1823) ภาพวาดในชุด Black Paintings โดย ฟรานซิสโก โกยา
The Colossus (1808-1812) ภาพวาดยักษ์ โดย ฟรานซิสโก โกยา

พิพิธภัณฑ์ปราโด ตั้งอยู่บนถนน Paseo del Prado ใกล้กับสถานีรถไฟอโตชาและสถานีรถไฟใต้ดิน Banco de España (Bank of Spain) ในกรุงมาดริด ประเทศสเปน

เปิดทำการวันจันทร์-เสาร์ เวลา 10:00-20:00 น. วันอาทิตย์เปิดทำการเวลา 10.00-19.00 น. วันที่ 6 มกราคม, 24, 31 ธันวาคม เปิดทำการเวลา 10.00-14.00 น.

หยุดทำการทุกวันที่ 1 มกราคม, 1 พฤษภาคม และ 25 ธันวาคม

สนนราคาค่าเข้าชม บุคคลทั่วไป 15 ยูโร, ผู้สูงอายุกว่า 65 ปี 7.50 ยูโร, เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี, นักเรียนนักศึกษาอายุ 18-25 ปี, ผู้พิการ, ผู้ว่างงาน เข้าชมฟรี

บุคคลทั่วไปสามารถเข้าชมฟรีในวันจันทร์-เสาร์ เวลา 18.00-20:00 น. วันอาทิตย์และวันหยุด เวลา 17.00-19:00 น.

ดูรายละเอียดการเข้าชมเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://rb.gy/pwhrk

The Dog (1819-1823) ภาพวาดในชุด Black Paintings โดย ฟรานซิสโก โกยา
Men Reading (1819-1823) ภาพวาดในชุด Black Paintings โดย ฟรานซิสโก โกยา
Man Mocked by Two Women (1819-1823) ภาพวาดในชุด Black Paintings โดย ฟรานซิสโก โกยา

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์