ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 พฤษภาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
ตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปน : พิพิธภัณฑ์ปราโด
หมุดหมายสุดท้ายของสามเหลี่ยมทองคำแห่งศิลปะ (3)
พิพิธภัณฑ์ปราโด ยังเป็นแหล่งรวมผลงานชิ้นเอกของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ชาวสเปน ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปินคนสำคัญที่สุดของสเปนในช่วงปลายยุคศตวรรษที่ 18 และต้นศตวรรษที่ 19 อย่าง ฟรานซิสโก โกยา จำนวนมากมายหลายชิ้น
ซึ่งแต่ละชิ้นก็ถือเป็นผลงานระดับไฮไลต์ที่คนรักศิลปะทั่วโลกต่างหมายปองที่จะเดินทางมาชมให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต ซึ่งก็รวมถึงคณะทัวร์ศิลปะอย่างพวกเราด้วยนั่นแหละนะ
เริ่มต้นด้วยผลงานอันสุดแสนจะเย้ายวนอย่าง The Naked Maja (1797-1800) ภาพวาดเปลือยที่ถือเป็นภาพวาดภาพแรกๆ ในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ที่นำเสนอ “ขนในที่ลับ” ของนางแบบในภาพอย่างชัดเจน โดยไม่แสดงนัยยะในแง่ลบหรือด้อยค่าตัวละครในภาพ (ว่าเป็นโสเภณีหรือนางโลม)
ตัวละครในภาพยังเป็นภาพของบุคคลผู้มีตัวตนอยู่จริง ไม่ใช่เทพธิดาหรือนางไม้ในเทวตำนานแต่อย่างใด ซึ่งผิดขนบการวาดภาพเปลือยในยุคสมัยนั้นอย่างมาก
นางแบบในภาพยังเปลือยกายอย่างเปิดเผยจะแจ้ง แถมยังจ้องมองมาที่ผู้ชมอย่างท้าทาย ไร้ความเขินอายแม้แต่น้อย จนเป็นที่อื้อฉาวกล่าวขานในยุคสมัยนั้นอย่างมาก
และผลงานที่มิดชิดเรียบร้อยกว่าอย่าง The Clothed Maja (1800-1807) ภาพวาดนางแบบคนเดิมที่โพสท่าแบบเดียวกันแทบจะไม่ผิดเพี้ยน ต่างกันตรงที่ภาพนี้เธอสวมเสื้อผ้าเต็มยศ

เชื่อกันว่านางแบบในภาพวาดนี้คือ เปปิตา ตูโด (Pepita Tudó) ภรรยาน้อยของ มานูเอล โกดอย (Manuel Godoy) เจ้าชายและนายกรัฐมนตรีของราชอาณาจักรสเปนในปี 1797 ซึ่งโกดอยเป็นผู้ว่าจ้างโกยาให้วาดภาพนี้ขึ้นมาเป็นของสะสมลับเฉพาะส่วนตัวของเขา
แต่บ้างก็ว่ากันว่านางแบบในภาพนี้คือ มาเรีย กาเยตานา เด ซิลวา (María Cayetana de Silva) หรือ ดัชเชสที่ 13 แห่งอัลบา สตรีสูงศักดิ์ผู้มีข่าวลือว่าแอบมีความสัมพันธ์ลับๆ กับโกยา หลังจากที่เขาถูกว่าจ้างให้วาดภาพเหมือนของเธอหลายต่อหลายภาพ
หลักฐานของความสัมพันธ์ที่ว่านี้มาจากจดหมายส่วนตัวที่โกยาเขียนถึงมาเรียที่มีข้อความว่า “ตอนนี้ฉันรู้แล้วว่าการมีชีวิตอยู่นั้นเป็นอย่างไร”
หรือภาพวาดของมาเรียอย่าง Portrait of the Duchess of Alba ที่โกยาวาดภาพเธอสวมแหวนสองวง บนแหวนวงหนึ่งสลักว่า “โกยา” ส่วนอีกวงสลักว่า “อัลบา” ในขณะที่มือของเธอชี้ลงไปบนพื้นดินที่มีคำว่า “Only Goya” (มีเพียงโกยาเท่านั้น) เขียนอยู่ โรแมนติกอะไรขนาดนั้น!
ภาพวาดสองภาพนี้มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตกในฐานะภาพวาดที่นำเสนอภาพของนางแบบในร่างเปลือยและสวมใส่เสื้อผ้าเต็มยศ ในฉากหลังและท่วงท่าเดียวกันราวกับเป็นภาพต่อเนื่องกัน (แต่วาดเสร็จห่างกัน 7 ปี) ซึ่งเป็นลักษณะการวาดภาพที่เรียกว่า Pendant painting หรือภาพวาดต่อเนื่อง
ก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมีใครนำเสนอภาพวาดต่อเนื่องระหว่างนางแบบเปลือยกับนางแบบสวมเสื้อผ้ามาก่อน
ซึ่งการใช้รูปแบบการทำงานที่มักใช้ในภาพวาดทางศาสนามาวาดภาพในลักษณะนี้ ถือได้ว่าเป็นอะไรที่ท้าทายในยุคสมัยนั้นอย่างมาก
การนำเสนอภาพต่อเนื่องระหว่างภาพเปลือยและภาพสวมเสื้อผ้าเต็มยศในลักษณะนี้ปรากฏขึ้นอีกครั้งในยุคสมัยปัจจุบัน กับผลงานภาพถ่าย Sie Kommen (Here They Come), Paris (Dressed and Naked) (1981) อันลือลั่นของ เฮลมุต (Helmut Newton) ช่างภาพแฟชั่นผู้ยิ่งใหญ่และทรงอิทธิพลในอีกร้อยกว่าปีให้หลังนั่นเอง
(ส่วนจะเป็นภาพยังไงไปก็ไปหาดูกันเอาเองก็แล้วกันนะ!)

ตามมาด้วยผลงานอันสุดแสนจะสั่นสะเทือนอารมณ์จนทำให้เมื่อเราได้ไปเห็นเต็มสองตาก็ถึงกับตื่นตะลึง ลมหายใจขาดห้วง อย่างภาพวาด The Third of May 1808 (1814)
ผลงานชิ้นเอกของโกยาที่แสดงออกถึงความทารุณโหดร้ายของสงคราม ด้วยการนำเสนอเหตุการณ์อันสะเทือนอารมณ์ในการสังหารหมู่ประชาชนโดยเหล่าทหารจากกองทัพของนโปเลียน ที่บุกเข้าโจมตีสเปนในปี 1808 ระหว่างสงครามคาบสมุทร (Peninsular War)
โกยาเปลี่ยนขนบในการนำเสนอจุดเด่นของตัวละครในภาพวาดภาพนี้ที่มักอยู่ตรงกลางภาพมาอยู่ทางด้านซ้ายของภาพ โดยให้ผู้ชมมองตรงไปยังใบหน้าของเหยื่อผู้กำลังจะถูกสังหารหมู่ที่กำลังตื่นตระหนกและหวาดหวั่นกับความตายที่กำลังคุกคาม โดยเหล่าทหารผู้รุกรานผู้มองไม่เห็นใบหน้าชัดเจน
เขาถ่ายทอดห้วงขณะอันน่าสะเทือนใจ ด้วยแสงเงาที่ตัดกันอย่างเข้มข้นรุนแรง ในจุดที่สว่างไสวที่สุดเป็นภาพของชายหนุ่มที่ยืนอยู่ท่ามกลางฝูงชนผู้หวาดกลัว สายตาจ้องมองไปยังเหล่าศัตรูที่กำลังเล็งปืนหมายเอาชีวิตพวกเขา สองมือชูขึ้นเหนือหัวคล้ายกับยอมจำนน แต่ในขณะเดียวกันเขาก็มีท่าทางราวกับพระเยซูกำลังถูกตรึงกางเขน
บนมือขวาของเขายังปรากฏร่องรอยที่ดูคล้ายกับรอยแผลศักดิ์สิทธิ์ (Stigmata) ซึ่งดูเหมือนกับว่าโกยาเปรียบภาพการสังหารหมู่ครั้งนี้กับการพลีชีพเพื่อไถ่บาปให้มวลมนุษย์ของพระเยซูก็ไม่ปาน
ภาพวาดของโกยาภาพนี้ แหวกขนบของภาพวาดแบบประเพณีทางศาสนาและภาพวาดสงครามตามแบบแผนอย่างสิ้นเชิง
ผลงานชิ้นนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในภาพวาดแห่งยุคสมัยใหม่ภาพแรก และเป็นผลงานศิลปะที่เรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติในทุกแง่มุมของการวาดภาพเลยก็ว่าได้
ภาพวาดภาพนี้ส่งอิทธิพลต่อศิลปินรุ่นหลังมากมาย อย่างเช่น ภาพวาด Massacre in Korea (1951) ของ ปาโบล ปิกัสโซ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาพวาดต่อต้านสงครามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาอย่าง Guernica (1937)
รวมถึงส่งอิทธิพลต่อภาพวาดชุด The Execution of Emperor Maximilian (1867-1869) ของจิตรกรชาวฝรั่งเศสแห่งกระแสเคลื่อนไหว อิมเพรสชั่นนิสม์ อย่าง เอดูอาร์ มาเนต์ (Édouard Manet) อีกด้วย

พิพิธภัณฑ์ปราโด ตั้งอยู่บนถนน Paseo del Prado ใกล้กับสถานีรถไฟอโตชาและสถานีรถไฟใต้ดิน Banco de España (Bank of Spain) ในกรุงมาดริด ประเทศสเปน
เปิดทำการวันจันทร์-เสาร์ เวลา 10:00-20:00 น. วันอาทิตย์เปิดทำการเวลา 10.00-19.00 น. วันที่ 6 มกราคม, 24, 31 ธันวาคม เปิดทำการเวลา 10.00-14.00 น.
หยุดทำการทุกวันที่ 1 มกราคม, 1 พฤษภาคม และ 25 ธันวาคม
สนนราคาค่าเข้าชม บุคคลทั่วไป 15 ยูโร, ผู้สูงอายุกว่า 65 ปี 7.50 ยูโร, เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี, นักเรียนนักศึกษาอายุ 18-25 ปี, ผู้พิการ, ผู้ว่างงาน เข้าชมฟรี
บุคคลทั่วไปสามารถเข้าชมฟรีในวันจันทร์-เสาร์ เวลา 18.00-20:00 น. วันอาทิตย์และวันหยุด เวลา 17.00-19:00 น.
ดูรายละเอียดการเข้าชมเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://rb.gy/pwhrk
อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022