ตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปน : พิพิธภัณฑ์ปราโด หมุดหมายสุดท้ายของสามเหลี่ยมทองคำแห่งศิลปะ (2)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปน : พิพิธภัณฑ์ปราโด
หมุดหมายสุดท้ายของสามเหลี่ยมทองคำแห่งศิลปะ (2)

 

ผลงานไฮไลต์อีกชิ้นที่เราหมายมั่นไปชมในพิพิธภัณฑ์ปราโดก็คือผลงานของ เฮียโรนิมัส บอช จิตรกรชั้นครูคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของศิลปะเนเธอร์แลนด์ยุคเริ่มแรก

ผลงานของเขามักประกอบด้วยภาพวาดเปี่ยมจินตนาการล้ำลึกมหัศจรรย์ ที่นำเสนอเรื่องราวและแนวคิดทางศาสนา ผลงานของเขาถูกคัดลอก ทำซ้ำ และต่อยอดอย่างมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาพวาดขุมนรกสยดสยองราวกับหลุดมาจากฝันร้ายยังไงยังงั้น!

สไตล์อันมืดหม่น น่าขนพองสยองเกล้า แต่เปี่ยมจินตนาการอย่างน่ามหัศจรรย์ของบอช ส่งอิทธิพลอย่างสูงต่องานศิลปะทางตอนเหนือของดัตช์มาตั้งแต่ช่วงปลายยุคศตวรรษที่ 16

บอชได้รับการยกย่องในฐานะจิตรกรผู้เปี่ยมเอกลักษณ์อย่างยากจะหาใครเสมอเหมือน ผู้มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับความปรารถนาและความหวาดกลัวอันสุดหยั่งของมนุษย์

ถึงแม้จะเสียชีวิตไปกว่า 500 ปีแล้ว เฮียโรนิมัส บอช ก็ยังคงเป็นหนึ่งในนักวาดภาพทางศาสนาผู้มีชื่อเสียงโดดเด่น และเป็นหนึ่งในอัจฉริยบุคคลผู้เปี่ยมวิสัยทัศน์ที่สุดคนหนึ่งในโลกศิลปะ

เขามีชื่อเสียงอย่างมากจากภาพวาดอันประณีตละเอียดอ่อน ที่ถ่ายทอดเรื่องราวเชิงสัญลักษณ์ ของตัวละครอันพิสดารพันลึก แต่ก็ดูสมจริง อย่างมนุษย์, สัตว์ และอสูรกาย ที่เริงระบำอยู่ในภูมิทัศน์ระหว่างสวรรค์ โลก และนรกตามเรื่องราวจากพระคัมภีร์ไบเบิล

The Garden of Earthly Delights (1490) โดย เฮียโรนิมัส บอช

ภาพวาดของเขาพรรณนาถึงเรื่องราวในนิทานศีลธรรมปรัมปรา ที่บอกเล่าชะตากรรมอันน่าสยดสยองในวันสิ้นโลก ของเหล่าคนบาปผู้ยอมจำนนต่อความสุขทางโลก และอัตตาอันวิปริตผิดเพี้ยนของตน

เรื่องเล่าอันยิ่งใหญ่ไร้กาลเวลาเหล่านี้ถูกถ่ายทอดลงบนผืนผ้าใบหรือแผ่นไม้ ด้วยชั้นเชิงทักษะอันเลิศล้ำไร้ที่ติ และยังท้าทายให้ผู้ชมตีความสัญลักษณ์อันลึกซึ้งของจิตรกรชั้นครู ผู้เป็นหนึ่งในศิลปินนักคิดเชิงศาสนาอันเปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัวคนแรกๆ ของโลก

ผลงานของเขามักถูกมองว่าเป็นภาพของคำพยากรณ์อันน่าหวาดผวาของการดิ้นรนกระเสือกกระสนในการมีชีวิตของมนุษย์ จนเขาถูกเปรียบให้เป็นราวกับศาสดาพยากรณ์เอกแห่งวงการศิลปะ ผู้นำเสนอเรื่องราวของโลกสมัยใหม่ ก่อนหน้าที่ช่วงเวลานั้นจะมาถึงในอีกหลายชั่วอายุคน

บอชเป็นศิลปินคนแรกที่นำเสนอภาพลักษณ์ของสิ่งมีชีวิตและดินแดนอันไม่เป็นที่รู้จัก ที่พ้นไปจากความเข้าใจของมนุษย์ ตัวละครและเรื่องราวอันพิสดารเหนือจริงของเขาปฏิวัติและสร้างความสั่นสะเทือนอย่างรุนแรงต่อสถานะเดิมๆ ของงานศิลปะแบบแผนประเพณีของดัตช์ ที่ศิลปินในยุคนั้นมักจะวาดภาพความเป็นจริงตามที่เห็นโดยไม่เบี่ยงเบนจากบรรทัดฐานเดิมๆ

ภาพแห่งนรกอันน่าสยดสยองที่ได้รับการกล่าวขานถึงของบอชหลายต่อหลายภาพ เป็นอุปมาของความหวาดกลัวอันยิ่งใหญ่ และแรงปรารถนาอันลึกสุดหยั่ง ทำให้เขากลายเป็นนักสร้างภาพผู้หาตัวจับยาก ในการตีแผ่ความไร้แก่นสาร และความหวาดกลัวของมนุษย์จากความพยายามอย่างไม่มีที่สุดในการเสาะหาสมดุลระหว่างโลกธรรมชาติและโลกแห่งจิตวิญญาณ

The Haywain Triptych (1512 – 1515) โดย เฮียโรนิมัส บอช

บอชยังได้รับการยกให้เป็นศิลปินสมัยใหม่คนแรกๆ ของโลกโดยศิลปินกลุ่มเซอร์เรียลลิสม์จากความกล้าหาญในการวาดภาพที่หลีกห่างจากความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง และความพยายามในการหยิบเอาตัวตนภายในจิตใจอันมืดมิดของมนุษย์ออกมาถ่ายทอดลงบนผืนผ้าใบ

รวมถึงการแสดงออกอย่างรุนแรงของจินตนาการ ความฝัน และการเชื่อมต่อกับจิตไร้สำนึกอย่างอิสระ ทำให้ผลงานของเขาเป็นที่นิยมของชาวเซอร์เรียลลิสม์อย่างมาก

ดวงตาที่สำรวจสิ่งรอบตัวได้อย่างแม่นยำ และความสามารถอันล้นพ้นในการถ่ายทอดรายละเอียดอันประณีตละเอียดลออจนเหลือเชื่อของบอช ดึงดูดให้ผู้ชมอย่างเราหวนกลับไปดูงานของเขารอบแล้วรอบเล่า เพื่อซึมซับรายละเอียดอันพิสดารพันลึกจำนวนมหาศาลในผลงานของเขา

เขามักสร้างผลงานของเขาออกมาในลักษณะของ ภาพวาดฉากประดับแท่นบูชา (Altarpiece), ภาพวาดบานพับ 3 ช่อง (Triptych) ที่มีเรื่องราวต่อเนื่องกันในหลายกรอบ นัยว่าเพื่อเป็นการสะท้อนมิติอันยิ่งใหญ่ในอาณาจักรแห่งแรงบันดาลใจของเขา ดังเช่นผลงานที่มีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นที่รู้จักมากที่สุดที่ยังคงหลงเหลืออยู่ของเขา ที่เราดั้นด้นมาชมชิ้นนี้ที่มีชื่อว่า

The Garden of Earthly Delights (1490) ผลงานภาพวาดแบบ Triptych ที่บอชวาดขึ้นในช่วงปี 1490-1510 ในระหว่างที่เขามีอายุ 40-60 ปี ภาพวาดสีน้ำมันบนแผ่นไม้โอ๊กขนาดใหญ่ รายละเอียดยุ่บยั่บพิสดารหลอนหลอกชวนผวาภาพนี้ ประกอบด้วยภาพบานกลางที่ติดด้วยภาพปีกด้านข้างซ้ายขวาสองบาน คล้ายหน้าต่างที่สามารถพับปิดได้

เมื่อพับปิด จะเป็นภาพวาดสีเอกรงค์ของโลกที่อยู่ในระหว่างการสร้างจากพระคัมภีร์ไบเบิลฉบับปฐมกาล

เมื่อเปิดบานพับออกมา ภาพภายในดูเหมือนจะจงใจให้ดูจากซ้ายไปขวา (แต่จะดูแบบอื่นก็ไม่มีใครว่า) ภาพวาดปีกซ้ายแสดงเรื่องราวการถือกำเนิดของอดัมกับอีฟ ภาพวาดบานกลางเป็นภาพภูมิทัศน์อันพิสดารที่เต็มไปด้วยมนุษย์ อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอันแปลกประหลาด ต้นไม้ผลไม้ใหญ่ยักษ์หน้าตาพิลึกพิลั่น

ภาพวาดปีกขวาแสดงภูมิทัศน์ของขุมนรกและภาพของการลงทัณฑ์ในวันพิพากษา

The Triumph of Death (1562) โดย ปีเตอร์ บรูเกล ผู้พ่อ

นักประวัติศาสตร์ศิลปะหลายคนตีความภาพวาดนี้ว่าเป็นเหมือนสารเตือนภัยแก่ผู้ที่ตกอยู่ในบ่วงกิเลสตัณหาในชีวิต อย่างไรก็ตาม สัญลักษณ์อันมากมายมหาศาลในภาพวาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาพวาดบานกลางก็ทำให้เกิดการตีความทางวิชาการอันหลากหลายในศตวรรษที่ผ่านมา นักประวัติศาสตร์ศิลปะในศตวรรษที่ 20 หลายคนตีความว่าภาพวาดบานกลางเป็นคำเตือนทางศีลธรรมของความเสื่อมโทรมทางศาสนา (สวรรค์ที่สาบสูญ)

นักเขียนชาวอเมริกัน ปีเตอร์ เอส. บีเกิล นิยามภาพวาดนี้ ว่าเป็นความบ้าคลั่งของกิเลสตัณหาที่เปลี่ยนเราให้เดินทางเข้าไปในสถานที่ที่อวลอายด้วยความมัวเมาในเสรีภาพอันสุดโต่งอย่างสมบูรณ์แบบ

สิ่งที่น่าทึ่งที่สุดเมื่อเราได้เห็นภาพนี้ด้วยตาตัวเองก็คือ สีสันของภาพวาดนี้ยังสดใสราวกับไม่ใช่ภาพที่วาดมาแล้วผ่านมา 500 กว่าปีเลยแม้แต่น้อย แถมภายในห้องแสดงงานเดียวกันยังมีผลงานอันโดดเด่นชิ้นอื่นๆ ของบอชจัดแสดงอยู่อีกหลายชิ้นด้วย

ในห้องแสดงงานถัดไป ยังมีผลงานของ ปีเตอร์ บรูเกล (หรือ เบรอเคิล) ผู้พ่อ (Pieter Bruegel the Elder) จิตรกรคนสำคัญของดัตช์แห่งยุคเฟลมมิชเรอเนสซองส์ในศตวรรษที่ 16 ที่เคยเป็นผู้ติดตามของเฮียโรนิมัส บอช อย่าง The Triumph of Death (1562) ภาพวาดที่แสดงถึงความโกลาหลวุ่นวายและความหวาดผวาต่อโรคระบาดที่จู่โจมยุโรปในยุคกลางอย่างรุนแรงและคร่าชีวิตผู้คนไปมากมายมหาศาล ด้วยการใช้สัญลักษณ์ของกองทัพโครงกระดูกนำทัพโดยมัจจุราชกำลังบุกทำลายโลกมนุษย์ให้ราบเป็นหน้ากลอง ท่ามกลางซากศพมนุษย์จำนวนมาก และผืนแผ่นดินอันแห้งแล้ง หมกไหม้ด้วยไฟนรก

ซึ่งได้รับอิทธิพลอย่างมากจากงานของเฮียโรนิมัส บอช นั่นเอง

 

พิพิธภัณฑ์ปราโด ตั้งอยู่บนถนน Paseo del Prado ใกล้กับสถานีรถไฟอโตชาและสถานีรถไฟใต้ดิน Banco de España (Bank of Spain) ในกรุงมาดริด ประเทศสเปน

เปิดทำการวันจันทร์-เสาร์ เวลา 10:00-20:00 น. วันอาทิตย์เปิดทำการเวลา 10.00-19.00 น. วันที่ 6 มกราคม, 24, 31 ธันวาคม เปิดทำการเวลา 10.00-14.00 น.

หยุดทำการทุกวันที่ 1 มกราคม, 1 พฤษภาคม และ 25 ธันวาคม

สนนราคาค่าเข้าชม บุคคลทั่วไป 15 ยูโร, ผู้สูงอายุกว่า 65 ปี 7.50 ยูโร, เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี, นักเรียนนักศึกษาอายุ 18-25 ปี, ผู้พิการ, ผู้ว่างงาน เข้าชมฟรี

บุคคลทั่วไปสามารถเข้าชมฟรีในวันจันทร์-เสาร์ เวลา 18.00-20:00 น. วันอาทิตย์และวันหยุด เวลา 17.00-19:00 น.

ดูรายละเอียดการเข้าชมเพิ่มเติมได้ที่นี่ https://rb.gy/pwhrk

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์