พิพิธภัณฑ์ CORPO บทสนทนาอันเปี่ยมเสน่ห์ ระหว่างงานศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัย

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปน :
พิพิธภัณฑ์ CORPO บทสนทนาอันเปี่ยมเสน่ห์
ระหว่างงานศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัย

 

หลังจากเข้าไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เอลเกรโกไปในตอนที่แล้ว ก่อนที่จะเดินทางกลับไปยังกรุงมาดริด เพื่อชมสองสุดยอดพิพิธภัณฑ์ที่เป็นเหมือนเพชรยอดมงกุฎของสเปนที่เรามาดหมายจะไปชมกัน

คณะทัวร์ศิลปะของเราก็บังเอิญเจอเข้ากับพิพิธภัณฑ์อีกแห่งที่น่าสนใจในเมืองโตเลโด

พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีชื่อว่า ศูนย์ศิลปะสมัยใหม่และศิลปะร่วมสมัยแห่งแคว้นกัสติยา-ลามันชา, คอลเล็กชั่นของ โรแบร์โต้ โปโล (Centre of Modern and Contemporary Art of Castilla-La Mancha, Collection Roberto Polo) หรือในชื่อย่อว่า พิพิธภัณฑ์ CORPO ที่รวบรวมผลงานสะสมจำนวนมากของ โรแบร์โต้ โปโล (Roberto Polo) นักสะสม, นายหน้าค้างานศิลปะ และผู้เชี่ยวชาญศิลปะชาวคิวบา-อเมริกัน ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในสิบบุคคลผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้โลกศิลปะในช่วงเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา

เขายังเป็นผู้สนับสนุนศิลปินจำนวนมาก และบริจาคเงินให้กับองค์การทางวัฒนธรรมหลายหลากทั่วโลก

คอลเล็กชั่นสะสมของเขามีทั้งผลงานศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัย, งานดีไซน์ ไปจนถึงเครื่องประดับต่างๆ จากหลายทวีปทั่วโลก

พิพิธภัณฑ์ CORPO, ภาพจาก https://shorturl.asia/rjiQ8

พิพิธภัณฑ์ CORPO ตั้งอยู่ในพื้นที่ของอารามซานตาเฟ (Santa Fe Monastery) อาคารเก่าแก่ในศตวรรษที่ 16 ที่องค์การยูเนสโกประกาศให้เป็นแหล่งมรดกโลก ในเมืองโตเลโด อาคารโบสถ์คริสต์โบราณแห่งนี้ถูกปรับปรุงซ่อมแซมโดยรัฐบาลแคว้นกัสติยา และแปรสภาพเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะ

ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือ ถึงแม้อาคารเก่าแก่แห่งนี้จะถูกดัดแปลงตกแต่งให้ทันสมัย จนเหมาะกับการเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัย แต่ก็ยังคงหลงเหลือองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมแบบโบราณเอาไว้ให้เห็น

ฝ้าเพดานโดมของโบถส์เก่าประดับภาพวาดปูนเปียกที่สะท้อนลงมาบนกระจกเงา

อย่างเช่น ฝ้าเพดานโดมของโบถส์เก่าประดับภาพวาดปูนเปียก ที่สะท้อนลงมาบนกระจกเงาด้านล่างอย่างเก๋ไก๋ หรือผนังพิพิธภัณฑ์ที่ฉาบปูนเรียบเนียนแบบโมเดิร์น แต่กลับเปิดเผยให้เห็นผนังอาคารโบสถ์เก่าที่มีลายประดับแบบโบราณหลงเหลืออยู่

ในคอลเล็กชั่นถาวรของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ประกอบด้วยผลงานศิลปะของศิลปินหัวก้าวหน้า (avant-garde) ในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก ทั้งจากทางตอนเหนือ ตอนกลาง และตอนใต้ของยุโรป รวมถึงสหรัฐอเมริกา

บรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์ CORPO, ภาพจาก https://shorturl.asia/ZgsU3
บรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์ CORPO, ภาพจาก https://shorturl.asia/ZgsU3

โดยมีผลงานของศิลปินจำนวน 171 คนที่มีชื่อเสียง เปี่ยมพรสวรรค์ และวิสัยทัศน์ ตั้งแต่ศิลปินหัวก้าวหน้าจากคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 อย่าง ยูจีน เดอลาครัวซ์ ยูจีน เดอลาครัวซ์ (Eugene Delacroix), กุสตาฟว์ มอโร (Gustave Moreau), จอห์น แอตกินสัน กริมชอว์ (John Atkinson Grimshaw), เฟลิเซียน รอปส์ (Félicien Rops), อเล็กซองเดอร์ ซิอง (Alexandre Séon), โจเซฟ แกรนนิเยร์ (Joseph Granié) และ เอ็ดการ์ เดอกา (Edgar Degas)

La Chimère (1856) โดย กุสตาฟว์ มอโร

ไปจนถึงศิลปินหัวก้าวหน้าจากคริสต์ศตวรรษที่ 20 อย่าง คาร์ล ชมิดต์-ร็อตลูฟฟ์ (Schmidt-Rottluff), มักซ์ เพชสไตน์ (Max Pechstein), วาสซิลี คานดินสกี (Wassily Kandinsky), ออสการ์ ชเลมเมอร์ (Oskar Schlemmer), เคิร์ต ชวิตเทอร์ส (Kurt Schwitters), ลาซโล โมโฮลี-นาค (László Moholy-Nagy) และ มักซ์ แอร์นส์ท (Max Ernst)

บรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์ CORPO, ภาพจาก https://shorturl.asia/ZgsU3
บรรยากาศภายในพิพิธภัณฑ์ CORPO, ภาพจาก https://shorturl.asia/ZgsU3

รวมถึงศิลปินที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่มีผลงานที่โดดเด่นน่าจับตา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหล่าบรรดาศิลปินหัวก้าวหน้าจากเบลเยียม

อย่าง พอล ยูสเทน (Paul Joostens), มาร์ธา โดนัส (Marthe Donas), โยเซฟ พีเทอร์ส (Jozef Peeters), ปิแอร์-หลุยส์ ฟลูเกต์ (Pierre-Louis Flouquet), วิคเทอร์ แซร์ฟรันซ์ (Víctor Servranckx), คาเรล เมส (Karel Maes), มาร์ค อีแมนส์ (Marc Eemans)

ผนังพิพิธภัณฑ์ที่เปิดช่องให้เห็นผนังอาคารเก่าที่มีลายประดับโบราณอยู่

ศิลปินหัวก้าวหน้าเหล่านี้ ต่างนำเสนอแนวทางใหม่ๆ ให้กับโลกศิลปะในศตวรรษที่ 20 ทั้งงานศิลปะที่แหวกขนบเดิมๆ อย่าง งานศิลปะนามธรรม, คอนสตรักติวิสม์ (Constructivism), นีโอพลาสติกซิสม์ (Neoplasticism หรือศิลปะรูปทรงแนวใหม่ ที่คิดค้นโดยศิลปินกลุ่ม De Stijl แห่งเนเธอร์แลนด์ ที่ใช้รูปทรงเรขาคณิตและแม่สีพื้นฐานอันเรียบง่าย)

เช่นเดียวกับศิลปินที่สร้างผลงานที่ผลักดันขอบเขตศิลปะแบบเหมือนจริงให้ก้าวพ้นกรอบเดิมๆ อย่าง อาร์ตนูโว (Art Nouveau), แมจิคัลเรียลิสม์ (Magical realism), นีโอคิวบิสม์ (Neocubism), นีโอเอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ (Neo-Expressionism), นิว อ็อบเจกทิวิตี (New Objectivity) และเซอร์เรียลิสม์ (Surrealism)

Roberto Polo (2014) ภาพวาด โรแบร์โต้ โปโล เจ้าของคอลเล็คชันของพิพิธภัณฑ์ โดย ยาน วานรีต

คอลเล็กชั่นในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังรวมไปถึงผลงานของศิลปินในช่วงยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบัน ที่ทำงานในหลากรูปแบบและเทคนิค

อย่าง แวร์เนอร์ มาเนียร์ส (Werner Mannaers), ยาโรสลาฟ โคซโลว์สกี้ (Jarosław Kozłowski), โรแบร์โต คาราชิโอโล (Roberto Caracciolo), ซาเวียร์ นัวเรต์ โทเม (Xavier Noiret-Thomé), มาเรีย โรเซ่น (Maria Roosen), เบิร์ต ทิมเมอร์แมนส์ (Bert Timmermans), เอ็ด โมเสส (Ed Moses), วอลเตอร์ ดาร์บี้ แบนนาร์ด (Walter Darby Bannard)

Salted Meat, Vive la Sociale! (2014) โดย ยาน วานรีต

หรือศิลปินร่วมสมัยในยุคต่อมาอย่าง แอนดรูว์ ทิฟต์ (Andrew Tift), ยาน วานรีต (Jan Vanriet), นิโน่ ลองโกบาร์ดี้ (Nino Longobardi), แอนนาเบลล์ ฮิวริเยร์ (Annabelle Hyvrier), เซดี เมอร์ดอค (Sadie Murdoch), บรูโน เชคโคเบลลี (Bruno Ceccobelli), พอล เมนส์  (Paul Manes) และ วลาดิเมียร์ มอสซอว์สกี้ (Wladimir Moszowski)

The Entry of Christ in New York (1993-2006) โดย พอล เมนส์

ท่ามกลางผลงานศิลปะมากมายหลายร้อยชิ้นเหล่านี้ ถ้าจะให้เล่าทั้งหมด พื้นที่ในตอนนี้คงจะไม่เพียงพอ เลยจะขอเล่าถึงผลงานที่เราประทับใจเป็นพิเศษก็แล้วกัน

เริ่มจากผลงาน The Entry of Christ in New York (1993-2006) โดย พอล เมนส์ ศิลปินชาวอเมริกัน ที่หยิบแรงบันดาลใจจากภาพวาด The Entry of Christ into Brussels (1889) ของศิลปินชาวเบลเยียม เจมส์ เอ็นซอร์ (James Ensor) มาดัดแปลงใหม่ ให้มีความขบขันปนพิลึกพิลั่นจนน่าสะพรึงกลัว

Gesù (2016) โดย นิโน่ ลองโกบาร์ดี้

หรือผลงาน Gesù (2016) ของศิลปินชาวอิตาเลียน นิโน่ ลองโกบาร์ดี้ ประติมากรรมจัดวางขนาดมหึมา ตั้งตระหง่านอยู่กลางห้องแสดงงานห้องหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ ที่นำเสนอผ่านประติมากรรมรูปมนุษย์ที่แตกหักจนมีเหล็กเส้นเป็นเหมือนกระดูกโผล่ทะลุออกมาให้เห็น

โดยได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในอิร์ปิเนีย ประเทศอิตาลี ที่ทำให้สิ่งก่อสร้างทางประวัติศาสตร์ในเมืองเนเปิลส์หลายแห่งพังทลายกลายเป็นซากปรักหักพัง

ผลงานของเขาเป็นการสำรวจพลังทำลายล้างทางธรรมชาติที่ส่งผลต่ออารยธรรมมนุษย์

Red Roosenary (2008) โดย มาเรีย โรเซ่น
Red Roosenary (2008) โดย มาเรีย โรเซ่น

หรือผลงาน Red Roosenary (2008) ของศิลปินชาวดัตช์ มาเรีย โรเซ่น ประติมากรรมจัดวางที่ประกอบด้วยลูกประคำแก้วเป่าขนาดยักษ์ แขวนบนประติมากรรมแกะสลักจากศตรรษที่ 16 (ยุคสมัยเดียวกันกับอาคารพิพิธภัณฑ์)

โรเซ่นมองว่างานประติมากรรมของเธอคือเครื่องมือแห่งความรู้สึก ที่สำรวจประเด็นเกี่ยวกับการเติบโต, ภาวะเจริญพันธุ์, ความรัก, มิตรภาพ, ความตาย และวันเวลาที่ผันผ่านไปอย่างรวดเร็วจนน่าใจหาย

Sade-Sit (1923) โดย มักซ์ แอร์นส์ท

แต่ที่โดดเด่นโดนใจเราที่สุด เห็นจะเป็นผลงานของ มักซ์ แอร์นส์ท ศิลปินชาวเยอรมัน ผู้เป็นสมาชิกรุ่นบุกเบิกของกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะแบบหัวก้าวหน้าอันโดดเด่นแห่งศตวรรษที่ 20 อย่างดาดา (Dada) และเซอร์เรียลิสต์

อย่าง Sade-Sit (1923) ภาพวาดที่เป็นเหมือนการอุปมาระหว่างร่างกายอันเย้ายวน กับความเสื่อมสลายของสังขารมนุษย์ ด้วยการนำเสนอร่างเปลือยอันอุดมสมบูรณ์ของหญิงสาว ที่กำลังเริ่มเน่าเปื่อยฟอนเฟะ ถูกหนอนแมลงชอนไชไต่ตอม โดยได้แรงบันดาลใจจาก มาร์กี เดอ ซาด นักเขียนสุดอื้อฉาวชาวฝรั่งเศส ขวัญใจชาวเซอร์เรียลิสม์ เจ้าของผลงานที่ตีแผ่กามารมณ์อันวิปริตของมนุษย์ได้อย่างถึงแก่น

ทั้งผลงานศิลปะสมัยใหม่และผลงานศิลปะร่วมสมัยของศิลปินระดับตำนานในอดีตกับศิลปินรุ่นใหม่ๆ ในปัจจุบันที่ถูกสะสมในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ถูกจัดแสดงให้มีบทสนทนาซึ่งกันและกันอย่างเปี่ยมเสน่ห์และน่าสนใจ

ศูนย์ศิลปะสมัยใหม่และศิลปะร่วมสมัยแห่งแคว้นกัสติยา-ลามันชา, คอลเล็กชั่นของ โรแบร์โต้ โปโล (CORPO) ตั้งอยู่ใน Paseo del Miradero, เมืองโตเลโด, ประเทศสเปน เปิดทำการวันจันทร์-เสาร์ 10:00-18:00 น. วันอาทิตย์ 10:00-15:00 น. เข้าชมฟรี ไม่เสียสตางค์

ดูรายละเอียดการเยี่ยมชมได้ที่ https://shorturl.asia/rj6bJ

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์