ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 มีนาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
ในตอนนี้เราขอกลับมาตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปนกันต่อ
หลังจากมาเยือนกรุงมาดริด และเข้าชมพิพิธภัณฑ์สำคัญระดับหนึ่งในสามเหลี่ยมทองคำแห่งศิลปะของสเปนที่เราพบเจอด้วยความบังเอิญแล้ว
ก่อนที่เราจะไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ที่ถือเป็นอีกสองในสามเหลี่ยมทองคำ คณะทัวร์ศิลปะของเราก็แวะไปยังเมืองอีกแห่งใกล้ๆ กรุงมาดริด อย่าง โตเลโด (Toledo)
เมืองเก่าแก่ที่องค์การยูเนสโกประกาศให้เป็นแหล่งมรดกโลก เนื่องจากมีมรดกทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมากมาย และยังถูกเรียกขานว่าเป็น “เมืองแห่งสามวัฒนธรรม”
ด้วยความที่เป็นสถานที่ที่ปรากฏร่องรอยทางวัฒนธรรมของชาวคริสต์, ชาวมุสลิม และชาวยิว อยู่ร่วมกัน

สถานที่แรกที่เราไปเยือนในเมืองแห่งนี้ก็คือ มหาวิหารแห่งโตเลโด (Toledo Cathedral) หรือมหาวิหารนักบุญแมรี่แห่งโตเลโด (Primatial Cathedral of Saint Mary of Toledo) ที่ถือเป็นมหาวิหารที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศสเปน และเป็นหนึ่งในสามของมหาวิหารในยุครุ่งเรืองของโกธิกในศตวรรษที่ 13 ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นผลงานสถาปัตยกรรมชิ้นเอกยุคโบราณของสเปน
อาคารมหาวิหารสร้างจากหินปูนที่ผสมผสานสไตล์ของสถาปัตยกรรมแบบอิสลามเข้าด้วยกันกับสถาปัตยกรรมแบบคริสเตียนแห่งนี้


นอกจากจะตกแต่งอย่างงดงามวิจิตรพิสดารด้วยงานแกะสลักหินอ่อนและไม้ รวมถึงจิตรกรรมฝาผนัง จิตรกรรมฝ้าเพดานของศิลปินชั้นครูแห่งยุคโบราณ อย่างเช่น ลูก้า จิออร์ดาโน (Luca Giordano) แล้ว
ภายในมหาวิหารยังมีพิพิธภัณฑ์ Cathedral Treasure Museum ที่เก็บรักษาทรัพย์สมบัติและศิลปวัตถุอันล้ำค่าในคอลเล็กชั่นของมหาวิหาร

หนึ่งในจำนวนนั้นมีผลงานที่โดดเด่นจับใจเราอย่างมาก คือผลงานของ คาราวัจโจ (Caravaggio) อย่าง San Juan Bautista (1594-1594) (Saint John the Baptist) ภาพวาดนักบุญยอห์นแบปติสต์ ซึ่งเป็นหัวข้อที่คาราวัจโจโปรดปรานในการวาดเอามากๆ โดยเขามักใช้เด็กหนุ่มวัยกระเตาะเป็นนายแบบให้เขาวาดภาพเป็นนักบุญยอห์นในสภาพเปลือยหรือกึ่งเปลือย
ว่ากันว่าเขามีความสัมพันธ์กับเด็กหนุ่มเหล่านั้นด้วย
ที่น่าแปลกก็คือ ในคอลเล็กชั่นของมหาวิหารโบราณแห่งยุคศตวรรษที่ 13 แห่งนี้ กลับมีผลงานศิลปะร่วมสมัยจัดแสดงอยู่ด้วย

นั่นคือผลงานภาพวาด Subida al Monte Carmelo (2017) (ไต่ภูเขาคาร์แมล) ของศิลปินร่วมสมัยชาวสเปน โฆเซ่ มาเรีย กาโน่ (José María Cano) ที่นำเสนอภาพท้องทะเลเมดิเตอร์เรเนียน จากมุมมองของยอดภูเขาคาร์แมล ทางตอนเหนือของประเทศอิสราเอล ซึ่งพ้องกับเรื่องราวในคัมภีร์ไบเบิล ภาคพันธสัญญาเดิม
พอดูภาพนี้ใกล้ๆ เราก็รู้สึกแปลกใจกับรายละเอียดของสีสันและฝีแปรงของภาพระลอกคลื่นอาบแสงอาทิตย์ภาพนี้ ที่ดูคล้ายกับมีชั้นขี้ผึ้งหนาเคลือบเอาไว้
เมื่ออ่านรายละเอียดของผลงานที่ติดอยู่ข้างๆ ก็พบว่าภาพวาดนี้ใช้เทคนิคจิตรกรรมขี้ผึ้งร้อน (Encaustic painting) หรือการใช้ขี้ผึ้งหรือยางไม้ร้อนๆ ผสมลงไปในสีเวลาวาดภาพ ซึ่งเป็นเทคนิคที่ใช้มาตั้งแต่สมัยกรีกโบราณแล้ว
(เรียกว่าเลือกเนื้อหาและเทคนิคการวาดภาพได้เหมาะกับสถานที่เอามากๆ)

โตเลโดยังเป็นถิ่นพำนักของศิลปินคนสำคัญ อย่าง เอลเกรโก (El Greco) หรือ โดเมนิคอส เทโอโทโคพูลอส (Doménicos Theotokópoulos) จิตรกร, ประติมากร และสถาปนิกแห่งยุคเรอเนสซองส์ของประเทศสเปน
เดิมที เอลเกรโกเป็นชาวกรีกที่ถือกำเนิดที่เกาะครีต ชื่อ “เอลเกรโก” นั้นเป็นชื่อเล่นที่แปลว่า “ชาวกรีก” เพราะเอลเกรโกมักจะเซ็นชื่อลงบนภาพวาดของเขาด้วยชื่อเต็มในภาษากรีก และมักเติมคำว่า Κρής (Krḗs) ที่แปลว่า “ชาวครีต” ลงไปด้วย


เอลเกรโกเริ่มต้นอาชีพจิตรกรในกรุงเวนิสและโรม ด้วยความเชี่ยวชาญในการวาดภาพสีน้ำมันในรูปแบบของศิลปะเรอเนซองส์ และแมนเนอร์ริสม์ (Mannerism อันเป็นแนวทางศิลปะที่ได้รับความนิยมหลังจากยุคเรอเนสซองส์ยุครุ่งเรือง ที่มีความโดดเด่นในการแสร้งดัดและปั้นแต่งที่ตรงกันข้ามกับการเลียนแบบธรรมชาติของศิลปะในยุคเรอเนสซองส์ โดยมักจะนำเสนอองค์ประกอบของภาพที่ซับซ้อน กล้ามเนื้อที่แข็งเกร็ง องคาพยพของร่างกายที่ยืดยาว การวางท่าที่ฝืนดัดไม่เป็นธรรมชาติ และการใช้แสงเงาจัดจ้านแบบละคร)
ในปี 1577 เอลเกรโกโยกย้ายถิ่นฐานมายังเมืองโตเลโด และอยู่อาศัยที่นี่จวบจนตลอดชีวิต ที่เมืองแห่งนี้ เอลเกรโกได้รับการว่าจ้างให้สร้างผลงานภาพวาดสำคัญๆ หลายชิ้น (โดยส่วนใหญ่เป็นภาพวาดเชิงศาสนา) ที่กลายเป็นผลงานชิ้นเอกในประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก



ด้วยสไตล์การทำงานอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทำให้เป็นการยากที่จะจัดให้เขาเข้าไปอยู่ในกลุ่มหรือกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะใดๆ ได้ ผลงานภาพวาดที่ปฏิเสธการลอกเลียนแบบธรรมชาติแบบตรงๆ การพยายามแฝงมิติทางจิตวิทยาเข้าไปในภาพวาดเทวตำนานหรือเรื่องราวทางศาสนาของเขา และการวาดภาพบุคคลที่มีลักษณะบิดเบี้ยว ยืดยาว สีสันอันฉูดฉาดและแสงเงาอันจัดจ้าน ที่ผสานศิลปะไบแซนไทน์ (Byzantine Art) เข้ากับศิลปะเรอเนสซองส์ของเขา
เป็นต้นธารและแรงบันดาลใจของกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะในอีกหลายศตวรรษต่อมาอย่าง เอ็กซ์เพรสชั่นนิสม์ (Expressionism) และคิวบิสม์ (Cubism) เป็นต้น



จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เมืองแห่งนี้จะมี พิพิธภัณฑ์เอลเกรโก (Museo del Greco) อยู่ด้วย
พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เปิดขึ้นเมื่อปี 1911 ตั้งอยู่ในย่านชาวยิว (Jewish Quarter) ในเมืองโตเลโด ตัวพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยอาคารสองหลัง หนึ่งคืออาคารบ้านเก่าในยุคศตวรรษที่ 16 ที่มีลานโล่งตรงกลางบ้าน โดยออกแบบเลียนแบบบ้านเดิมของเอลเกรโกที่ถูกรื้อทิ้งไปแล้ว และอาคารสมัยใหม่ที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 20 เพื่อเป็นพื้นที่จัดแสดงผลงาน และสวนหย่อมเคียงข้าง ภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงผลงานของเอลเกรโกจำนวนมากมายหลายชิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานในช่วงท้ายของชีวิตเขา



ผลงานของเอลเกรโกที่โดดเด่นเป็นเอกที่สุดในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็คือ ภาพวาดสีน้ำมันชุดสมบูรณ์ 13 ภาพของพระเยซูและอัครสาวกทั้ง 12 (แต่หนึ่งในบรรดาอัครสาวกทั้ง 12 คนอย่าง ยูดาส อิสคาริโอท นั้นถูกแทนที่โดยนักบุญเปาโลแทน) ขนาด 97 x 77 ซ.ม. ที่เอลเกรโกวาดขึ้นในช่วงปี 1610-1614 เพื่อให้โรงพยาบาลแห่งซานติอาโก (Hospital de Santiago) ในเมืองโตเลโด
ถึงแม้ภาพวาดพระเยซูและอัครสาวกจะเป็นหัวข้อที่ศิลปินสเปนในยุคศตวรรษที่ 17 นิยมวาด แต่ด้วยการขับเน้นอารมณ์ความรู้สึกอันขรึมขลังในเชิงศาสนาบนใบหน้าอย่างรุนแรง และแสงเงาที่จัดจ้านทรงพลังก็ทำให้ผลงานของเอลเกรโกโดดเด่นแตกต่างจากศิลปินคนอื่นๆ อย่างสิ้นเชิง



นอกจากนี้ ยังมีผลงานของศิลปินสเปนคนอื่นๆ ในศตวรรษที่ 17 อย่าง ฆอร์เฆ มานูเอล ธีโอโตโคปูลี (Jorge Manuel Theotocópuli), ฟรานซิสโก เด ซูร์บารัน (Francisco de Zurbarán) และ เฆโรนีโม ฆาซินโต เด เอสปีโนซา (Jerónimo Jacinto de Espinosa) เป็นต้น

มหาวิหารแห่งโตเลโด ตั้งอยู่ในเมืองโตเลโด, ประเทศสเปน
เปิดทำการวันจันทร์-เสาร์ 10:00-18:00 น. วันอาทิตย์ 14:00-18:00 น. ปิดทำการวันที่ 1 มกราคม และวันที่ 25 ธันวาคม
สนนราคาค่าเข้าชม 12.50 ยูโร, ดูรายละเอียดการเข้าชมได้ที่ shorturl.at/loqD5


พิพิธภัณฑ์เอลเกรโก ตั้งอยู่ในย่านชาวยิว (Jewish Quarter) ในเมืองโตเลโด, เปิดทำการวันอังคาร-เสาร์ 09:30-18:00 น. วันอาทิตย์ 10:00-14:45 น. ปิดทำการวันจันทร์, วันที่ 1 และ 6 มกราคม, วันที่ 1 พฤษภาคม วันที่ 1, 24, 25 และ 31 ธันวาคม, สนนราคาค่าเข้าชม 3 ยูโร
ดูรายละเอียดการเข้าชมได้ที่ https://museodelgreco.com/
อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022