พิพิธภัณฑ์ทิสเซน-บอร์เนอมิสซา เหตุบังเอิญที่กลายเป็นช่วงเวลาดีๆ (2)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปน : พิพิธภัณฑ์ทิสเซน-บอร์เนอมิสซา เหตุบังเอิญที่กลายเป็นช่วงเวลาดีๆ (2)

 

ในพิพิธภัณฑ์ทิสเซน-บอร์เนอมิสซา ยังมีผลงานของศิลปินคนโปรดของเราอีกคนอย่าง เบน ชาห์น ศิลปินคนสำคัญแห่งกระแสเคลื่อนไหว โซเชียล เรียลลิสม์ (Social Realism) อเมริกัน ผู้เป็นที่รู้จักจากผลงานภาพวาดที่ตีแผ่สังคมการเมืองอย่างตรงไปตรงมา อย่าง French Workers (1942) และ Carnival (1946)

เบน ชาห์น French Workers (1942)

ชาห์นเป็นหนึ่งในสมาชิกหลักของ จอห์น รีด คลับส์ (John Reed Clubs) กลุ่มศิลปินฝ่ายซ้ายสัญชาติอเมริกันที่มุ่งหมายให้ศิลปินยืนหยัดเคียงข้างผู้ยากไร้ ผู้ถูกกดขี่เอารัดเอาเปรียบ และต่อสู้เพื่อความยุติธรรม ขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ และต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์

ถึงแม้ศิลปินโซเชียล เรียลลิสม์จะทำงานในหลากสื่อหลายแขนงอย่างงานจิตรกรรม ประติมากรรม, ภาพประกอบ และภาพพิมพ์ แต่ทั้งหมดก็ยึดโยงอยู่กับการใช้ภาพเหมือนจริงของร่างกายมนุษย์ รวมถึงความยึดมั่นในการยืนหยัดเคียงข้างชนชั้นล่างในสังคม, การยกระดับความสำคัญของชนชั้นแรงงาน และรำลึกถึงคนชายขอบผู้ถูกหลงลืมในสังคมอย่างคนยากไร้, ผู้อพยพ, ชนกลุ่มน้อย และคนในชุมชนแออัด

พูดง่ายๆ ก็คือ ศิลปินโซเชียล เรียลลิสม์เสาะแสวงหาหนทางในการใช้ศิลปะเป็นอาวุธ เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างถึงแก่นนั่นเอง

เบน ชาห์น Carnival (1946)

หรือผลงานของ จอร์เจีย โอ’คีฟฟ์ ศิลปินชาวอเมริกันเชื้อสายไอริช/ฮังกาเรียนผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในวงการศิลปะสมัยใหม่แห่งศตวรรษที่ 20 เธอได้รับการยกย่องว่าเป็น “มารดาแห่งวงการศิลปะสมัยใหม่อเมริกัน” ผู้บุกเบิกที่ทางของศิลปินเพศหญิงในโลกศิลปะ อย่าง From the Plains Il (1954)

ภาพวาดชิ้นนี้ของโอ’คีฟฟ์ แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของงานแบบจารีตนิยมและการใช้รูปแบบเชิงสัญลักษณ์ในงานศิลปะโรแมนติก เพื่อปลุกเร้าความรู้สึกลึกล้ำเกินหยั่งถึงที่มีต่อการสังเกตและเฝ้ามองธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ให้ผู้ชมได้สัมผัส

ในภาพวาดนี้ โอ’คีฟฟ์คลี่คลายองค์ประกอบของทิวทัศน์ที่เธอเฝ้าสังเกตฝูงวัวที่ถูกต้อนให้วิ่งตะบึงไปทั่วที่ราบอันกว้างใหญ่ของเท็กซัส จนเกิดเป็นฝุ่นผงคละคลุ้งไปทั่ว พร้อมสุ้มเสียงอันอึกทึกครึกโครม สั่นสะเทือนเลื่อนลั่น ให้เหลือแต่สีสันอันฉูดฉาดบาดตา และเส้นสายอันเรียบง่าย แต่เฉียบขาดทรงพลัง

ภาพวาดภาพนี้เป็นเวอร์ชั่นที่สองหลังจากภาพแรกที่ โอ’คีฟฟ์วาดเอาไว้ตั้งแต่ปี 1919 ในภาพวาดขิ้นนี้ เธอวาดภาพท้องทุ่งกว้างใหญ่จรดฟ้าที่อาบด้วยสีสันเจิดจ้าราวกับเปลวเพลิงของพระอาทิตย์ตก

โอ’คีฟฟ์กล่าวถึงภาพวาดนี้ในจดหมายที่เขียนถึง อีดิธ ฮัลเพิร์ต (Edith Halpert) เจ้าของแกลเลอรีชื่อดังชาวอเมริกันว่า “เวลาวาดภาพนี้ ฉันใช้สีที่บีบจากหลอดโดยตรง สีแดง, ส้ม, เหลืองมะนาว ช่างกระแทกใจและทำให้ฉันตะลึงจนจินตนาการไม่ออกว่ามันจะพาฉันไปถึงไหนต่อไหน”

จอร์เจีย โอ’คีฟฟ์ From the Plains Il (1954)

เหตุผลที่โอ’คีฟฟ์ลดรายละเอียดของภูมิทัศน์ในภาพวาดนี้จนแทบจะกลายเป็นภาพนามธรรม ก็เพราะเธอต้องการสร้างภาพที่ประทับอยู่ในความทรงจำของเธอ “ความทรงจำที่ฉันเห็นที่นั่นคือแสง แสงทุกหนทุกแห่ง” เธอหลงใหลในแสงนับแต่ครั้งที่เธออาศัยอยู่ในเท็กซัสอย่างยาวนาน จนกระทั่งเธอย้ายจากนิวยอร์กไปยังนิวเม็กซิโก และอาศัยอยู่ที่นั่นอย่างถาวรในหมู่บ้านเล็กๆ ที่แสงแดดจัดจ้า ส่งผลให้ภาพของเธอเจิดจ้าด้วยแสงสว่างจนแทบจะโปร่งแสง

บางครั้งเธอก็สอดแทรกสัญลักษณ์ทางศาสนาลงไปในภาพวาด และวาดภาพขนาดใหญ่ เพื่อขับเน้นความกว้างใหญ่ไพศาลของภูมิทัศน์ทะเลทรายที่เธออาศัยอยู่ในช่วงบั้นปลายชีวิตนั่นเอง

เราเองก็เพิ่งเคยเห็นว่าโอ’คีฟฟ์ ทำงานในลักษณะนี้ด้วย เรียกได้ว่าแปลกตาและเฉียบขาดเอามากๆ

หรือผลงานของ แฟรงก์ สเตลล่า (Frank Stella) ศิลปินอเมริกันคนสำคัญของวงการศิลปะสมัยใหม่อเมริกัน ผู้มีส่วนช่วยในการถือกำเนิดและพัฒนากระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะในยุคต่อมาอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะมินิมอลลิสม์ (Mimimalism)

ซึ่งตัวเขาเองก็ถูกยกย่องให้เป็นต้นธารของศิลปะกระแสนี้เลยก็ว่าได้

จอร์เจีย โอ’คีฟฟ์ New York Street with Moon (1925)

ในผลงาน Untitled (1966) ภาพวาดแถบรูปทรงเรขาคณิตสลับสี ขาว เทา ดำ ชิ้นนี้ ด้วยความที่สเตลลาเชื่อว่าสุนทรียะในงานศิลปะคือการนำเสนอรูปแบบและคุณค่าของความงามอันบริสุทธิ์เที่ยงแท้ โดยไม่เสแสร้ง หรือพยายามเป็นอะไรมากไปกว่าตัวของมันเอง

แฟรงก์ สเตลล่า Untitled (1966)

เขาใช้ความเรียบง่าย, ความมีระเบียบ และความสอดประสานกลมกลืนทางทัศนธาตุ ทำให้ผู้ชมมองเห็นและตอบสนองต่อสิ่งที่อยู่ข้างหน้าพวกเขาอย่างตรงไปตรงมา วัสดุหรือวัตถุสิ่งของที่ศิลปินใช้สร้างเป็นตัวงาน จึงเป็นความจริงแท้ด้วยตัวมันเอง ไม่ได้เป็นตัวแทนของอะไรทั้งสิ้น ดังคำกล่าวของเขาที่ว่า

“ผมทำงานวาดภาพบนข้อเท็จจริงที่ว่า “สิ่งที่คุณเห็น ก็คือสิ่งที่คุณเห็นนั่นแหละ” ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดอะไรก็ตาม มันไม่ได้เป็นอะไรมากกว่าวัตถุชิ้นหนึ่งเท่านั้นเอง

พีท มองเดรียน New York City, 3 (unfinished) (1941)
ออตโต ดิกซ์ Hugo Erfurth with Dog (1926)

หรือผลงานของ ฟรานซิส เบคอน จิตรกรชาวอังกฤษ ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20 ผู้เปิดเผยเปลือยปลิ้นความบิดเบี้ยวในจิตใจมนุษย์ออกมาให้เราได้เห็นอย่างจะแจ้งถึงแก่นที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์

ฟรานซิส เบคอน Portrait of George Dyer in a Mirror (1968)

ในผลงาน Portrait of George Dyer in a Mirror (1968) ภาพวาดพอร์ตเทรตสะท้อนเงาจากกระจกเงาภาพนี้ เบคอนวาดภาพ จอร์จ ไดเยอร์ ชู้รักและนายแบบคนโปรดของเขาบนเก้าอี้หมุน หันหน้าไปทางกระจกที่วางอยู่บนชิ้นส่วนของเฟอร์นิเจอร์แปลกๆ และขาตั้ง ร่างกายและใบหน้าอันบิดเบี้ยวเขม็งเกร็งของนายแบบภายใต้แสงจัดจ้าในภาพ ตอกย้ำความรู้สึกรุนแรงโหดร้ายที่แฝงอยู่ในผลงานชิ้นนี้

ภาพสะท้อนใบหน้าบิดเบือนขาดวิ่นของไดเยอร์บนกระจกเงาสะท้อนถึงความปรารถนาที่จะตายของเขา (ซึ่งจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตาย) ด้วยภาพวาดนี้ ที่ได้แรงบันดาลใจจากภาพวาดแบบคิวบิสม์อันบิดเบี้ยวของปิกัสโซ เบคอนประสบความสำเร็จในการแสดงออกถึงความชั่วร้ายเลวทรามของมนุษย์ออกมาได้อย่างจะแจ้ง ทรงพลังยิ่ง

ภาพวาดของ จอร์จ ไดเยอร์ ภาพนี้แสดงออกถึงความงดงามและความรวดร้าวปนน่าสะพรึงไปพร้อมๆ กัน

ลูเซียน ฟรอยด์ Portrait of Baron H.H. Thyssen-Bornemisza (1981-1982), ภาพวาด ไฮน์ริช, บารอน ธิสเซิน-บอร์เนมิสซา เด คัสซอน ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์
ซัลบาดอร์ ดาลี Dream Caused by the Flight of a Bee around a Pomegranate a Second before Waking (1944)

ในพิพิธภัณฑ์ทิสเซน ยังมีผลงานชิ้นเด่นๆ ของศิลปินเซอร์เรียลิสม์ชั้นนำอย่าง ซัลบาดอร์ ดาลี, ฆวน มิโร, เรอเน มากริต (René Magritte), มักซ์ แอร์นส์ต (Max Ernst), โจเซฟ คอร์เนล (Joseph Cornell) ฯลฯ ที่ก่อนหน้านี้เราเคยดูแต่ในหนังสือเท่านั้น

ฆวน มิโร Catalan Peasant with a Guitar (1924)
เรอเน มากริต The Key of the Fields (La Clef des champs) (1936)

ข้อสังเกตที่น่าสนใจอีกอย่างคือ หากผลงานศิลปะชิ้นไหนที่เป็นดาวเด่นของพิพิธภัณฑ์ ด้านหน้าผลงานชิ้นนั้นจะมีม้านั่งยาวตั้งอยู่ ประมาณว่าเอาไว้เผื่อให้คนที่ดูนานๆ นั่งแก้เมื่อยทำนองนั้น พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ยังเป็นมิตรกับผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ที่ใช้รถเข็นวีลแชร์อีกด้วย

ลูเซียน ฟรอยด์ Last Portrait (1976-1977)
มักซ์ แอร์นส์ท Solitary and Conjugal Trees (1940)

หลังจากไปเยือนพิพิธภัณฑ์ทิสเซนเสร็จแล้ว เรากลับมาเปิดดูข้อมูลในอินเตอร์เน็ตอีกครั้ง ก็พบว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ถือเป็นอีกหนึ่งหมุดหมายสำคัญในประเทศสเปนสำหรับคนรักศิลปะทั่วโลก จนถูกขนานนามว่าเป็นหนึ่งใน “สามเหลี่ยมทองคำแห่งศิลปะ” (Golden Triangle of Art) ร่วมกับพิพิภัณฑ์ไรนา โซเฟีย และพิพิธภัณฑ์ปราโด เลยก็ว่าได้ เกือบพลาดไปแล้วไหมล่ะ!

โจเซฟ คอร์เนล Juan Gris Cockatoo No. 4 (1953-1954)
มาร์ก ชากาล naked (1913)

หากมิตรรักแฟนศิลปะท่านใดมีโอกาสเดินทางไปกรุงมาดริด ประเทศสเปน ก็ขอแนะนำแบบเดียวกับที่คู่รักนักท่องเที่ยวผู้รักงานศิลปะแนะนำเรามาก่อนหน้า คือ “ห้ามพลาดเป็นอันขาด!”

อีฟว์ ไคลน์ The Dying Slave (by Michelangelo) (2015) ประติมากรรมที่ตีความผลงานของไมเคิลแองเจโล ศิลปินเอกแห่งยุคเรอเนสซองส์ขึ้นมาใหม่ โดยฉาบเคลือบด้วยสีน้ำเงินพิเศษ International Klein Blue (IKB) ที่เขาคิดค้นจดสิทธิบัตรขึ้นมา
แจ็กสัน พอลล็อก Untitled (1945)

พิพิธภัณฑ์ทิสเซน-บอร์เนอมิสซา ตั้งอยู่บนถนน Paseo del Prado กรุงมาดริด ประเทศสเปน

เปิดทำการวันอังคารถึงวันอาทิตย์ เวลา 10.00-19.00 น. วันจันทร์ เปิดทำการเวลา 12.00-16.00 น.

จูเลียน โอพี Walking in Southwark 2, 2014
แจ็กสัน พอลล็อก Number 11 (1950)

สนนราคาค่าเข้าชม บุคคลทั่วไป 13 ยูโร

ผู้สูงอายุกว่า 65 ปี และนักเรียนนักศึกษา 9 ยูโร

เข้าชมเป็นหมู่คณะ 11 ยูโร

เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี, ผู้ว่างงาน, ผู้พิการ และผู้มีสัญชาติยูเครน เข้าชมฟรี

ดูรายละเอียดการเข้าชมได้ที่นี่ https://www.museothyssen.org/en/visit

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์