ตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปน : พิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ บิลบาว (2)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปน : พิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ บิลบาว
สุดยอดพิพิธภัณฑ์ที่พลิกฟื้นคืนชีวิตให้แก่เมือง (2)

 

ยังไม่ทันที่พวกเราจะก้าวเท้าเข้าไปภายในพิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ บิลบาว พื้นที่รอบนอกของพิพิธภัณฑ์ก็มีงานศิลปะกลางแจ้งให้เราชมกันอย่างละลานตาหลากหลายชิ้นแล้ว

เริ่มตั้งแต่ประติมากรรมรูปแมงมุมขนาดยักษ์ ยืนเขย่งเกงกอยอยู่หน้าทางเดินเข้าพิพิธภัณฑ์ ผลงานของศิลปินหญิงชาวฝรั่งเศส/อเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งในวงการศิลปะร่วมสมัยโลก หลุยส์ บรูชัวร์ (Louise Bourgeois) อย่าง Maman (2001) ประติมากรรมทำจากเหล็กและหินอ่อนชิ้นนี้เป็นผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้เธอที่สุด จนมีคนตั้งฉายาให้เธอว่า “คุณนายแมงมุม” เลยทีเดียว

เธอมักจะถ่ายทอดผลงานออกมาในรูปทรงของสิ่งมีชีวิต (ส่วนใหญ่เป็นเพศเมีย) อันน่าขนลุก พิสดาร แต่ก็แฝงเอาไว้ด้วยความงามอย่างน่าพิศวง

Maman (2001) โดย หลุยส์ บรูชัวร์

“ในเมื่อความกลัวอดีตเกี่ยวเนื่องกับความกลัวทางกายภาพ ความกลัวจึงปรากฏตัวให้เห็นผ่านร่างกาย สำหรับฉัน ประติมากรรมคือร่างกาย ร่างกายฉันคือประติมากรรม”

องค์ประกอบอันน่าสะพรึงกลัวในผลงานหลายๆ ชิ้นของเธอโดยเฉพาะอย่างยิ่ง แมงมุม เปรียบเสมือนภาพสะท้อนความรู้สึกหวาดกลัวในวัยเยาว์ที่ฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของเธอ และผู้หญิงหลายคน เนื่องจากความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยดีนักกับพ่อบังเกิดเกล้าของเธอเอง ซึ่งเป็นเผด็จการและเจ้าชู้ มากรักหลายใจ

ว่ากันว่าเขาถึงกับมีความสัมพันธ์โจ่งแจ้งกับชู้รักต่อหน้าภรรยาและลูกๆ เลยทีเดียว

นอกจากนั้น เธอยังตั้งคำถามต่อเพศสภาวะ, บทบาท และพื้นที่ของสตรีในทั้งโลกศิลปะและสังคมที่ถูกจำกัดจำเขี่ยอย่างคับแคบเสมอมา

อีกนัยหนึ่งก็แสดงออกถึงความปรารถนา, ความเย้ายวน, พลังและสัญลักษณ์ทางเพศของผู้หญิง ของเพศแม่ ซึ่งก็คือเพศผู้ให้กำเนิดสรรพชีวิตทั้งหลายนั่นเอง

ซึ่งผลงานชิ้นที่โด่งดังที่สุดอย่างแมงมุมตัวนี้ก็เปรียบเสมือนตัวแทนของแม่ของเธอนั่นเอง (Maman ภาษาฝรั่งเศสแปลว่า แม่)

“แมงมุมเป็นเหมือนบทกวีสรรเสริญแม่ของฉัน เธอเป็นเพื่อนที่ดี แม่เป็นผู้ถักทอสิ่งต่างๆ เหมือนกับแมงมุม ครอบครัวของเราทำธุรกิจฟื้นฟูสิ่งทอ แม่ของฉันต้องดูแลโรงงาน เธอฉลาดมาก เหมือนกับแมงมุมที่คอยกินยุง ซึ่งเป็นตัวแพร่เชื้อโรคและไม่เป็นที่ต้องการ ดังนั้น แมงมุมจะคอยช่วยเหลือและปกป้องเรา เหมือนกับแม่ที่ปกป้องลูกไม่มีผิด”

Tree and the Eye (2009) โดย อนิช กาปูร์

ถัดมาตรงลานน้ำด้านข้างพิพิธภัณฑ์ เป็นผลงานของศิลปินอังกฤษเชื้อสายอินเดีย หนึ่งในประติมากรร่วมสมัยคนสำคัญที่สุดของโลก อนิช กาปูร์ (Anish Kapoor) เจ้าของผลงานที่ท้าทายและยกระดับการรับรู้ที่มีต่อศิลปะของผู้ชม อย่าง Tree and the Eye (2009)

ผลงานประติมากรรมความสูง 12.97 เมตร ที่ประกอบด้วยลูกบอลโครเมียมขัดเงาแวววาวราวกับกระจกเงาจำนวน 73 ลูก ตั้งอยู่บนแกนสามอัน ที่สะท้อนการสำรวจสมการทางคณิตศาสตร์และโครงสร้างอันซับซ้อนผ่านรูปทรงสามมิติของศิลปิน พื้นผิวเงาวาววับของบอลแต่ละลูกจะสะท้อนเงาหักเหซึ่งกันและกัน ก่อให้เกิดเป็นมิติและพื้นที่ลวงตาอันไม่มีที่สิ้นสุด

ย้ำเตือนให้ผู้ชมตระหนักถึงความไม่มั่นคงยั่งยืนในวิสัยทัศน์ของมนุษย์ที่มีต่อโลกอันกว้างใหญ่ใบนี้

อนิช กาปูร์ เป็นที่รู้จักจากผลงานประติมากรรมแนวคอนเซ็ปช่วลและมินิมอลที่เต็มเปี่ยมด้วยความงามราวกับบทกวี แต่ก็แฝงเร้นการอุปมาอันลุ่มลึกคมคาย โดยมักจะเป็นประติมากรรมนามธรรมขนาดมหึมาที่สร้างสภาพแวดล้อมที่ผู้ชมสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งภายใน เพื่อสัมผัสกับประสบการณ์อันน่าพิศวงราวกับอยู่ในห้วงอวกาศอันเวิ้งว้างห่างไกลและอบอุ่นชิดใกล้ราวกับอยู่ในครรภ์มารดาไปพร้อมๆ กัน

ผลงานของเขาเป็นส่วนผสมอันแปลกประหลาดของปรัชญาอันซับซ้อนลึกซึ้งและประสบการณ์ดาษดื่นสามัญในชีวิตประจำวันของคนเรา เพื่อกระตุ้นให้พวกเขาเหล่านั้นตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และแสดงถึงความสัมพันธ์อันน่าสนใจระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

กาปูร์สนใจในความเป็นอนันต์และความว่างเปล่าอันไม่มีที่สิ้นสุด เช่นเดียวกับการขุดคว้านพื้นที่เพื่อเสาะหาความหมาย และสะท้อนสภาวะอันว่างเปล่าและหมดจดของจิตใจมนุษย์นั่นเอง

Puppy (1992) โดย เจฟฟ์ คูนส์

ตามมาด้วยผลงาน Puppy (1992) ของ เจฟฟ์ คูนส์ (Jeff Koons) ศิลปินป๊อปอาร์ตชาวอเมริกัน ผู้ทำงานศิลปะด้วยการนำเอาวัตถุและข้าวของโหลๆ ที่พบเห็นเกลื่อนกลาดดาษดื่นในวัฒนธรรมป๊อปปูลาร์มาผลิตซ้ำด้วยรูปแบบและวัสดุที่แตกต่างไปจากเดิม

เช่น ลูกโป่งที่บิดเป็นรูปสัตว์ต่างๆ ที่เรามักเห็นตัวตลกทำแจกเด็กๆ ตามงานเทศกาล ช่อดอกไม้แฟนซี ตุ๊กตาเป่าลม หรือของชำร่วยโหลๆ อย่างตุ๊กตากระเบื้องเคลือบที่ขายถูกๆ ตามสถานที่ท่องเที่ยว นำมาผลิตใหม่ด้วยวัสดุใหม่อย่างสแตนเลสขัดเงาผิวมันวับ ขยายขนาดให้ใหญ่มหึมากว่าเดิมหลายเท่า

ในผลงาน Puppy ชิ้นนี้ คูนส์เลือกใช้ภาพลักษณ์ของสุนัขพันธุ์เทอร์เรียร์ มาใช้เป็นแบบ โดยตอนแรกเขาทำเป็นงานประติมากรรมไม้ สูงเพียงแค่ 52 ซ.ม. ก่อนที่จะขยายเป็นงานประติมากรรมสวนดอกไม้ขนาดมหึมา ความสูง 12 เมตร ในปีถัดมา

เหตุที่เขาเลือกใช้สุนัขพันธุ์นี้เป็นแบบก็เพราะเขาคิดว่าจะทำให้ผลงานชิ้นนี้ดูน่ารัก ไม่น่ากลัว หรือดูคุกคามคนดู ถึงแม้จะมีขนาดใหญ่แค่ไหนก็ตาม

อนึ่ง ดอกไม้ที่อยู่บนตัวประติมากรรมเป็นดอกไม้สดจริงๆ ทั้งหมด ที่ปักเอาไว้บนโฟมโอเอซิส ดอกไหนเหี่ยวเฉา ก็ปักดอกใหม่ลงไปแทนเท่านั้นเอง

Arcos rojos / Arku gorriak (The Red Arches) (2007) โดย แดเนียล บิวเรน

หรือแม้แต่บนสะพานลาซัลเว่ (La Salve) สะพานข้ามแม่น้ำเนอร์บิออน ที่อยู่เคียงข้างพิพิธภัณฑ์ ก็ยังมีผลงานศิลปะอยู่ด้วยเหมือนกัน

นั่นคือผลงาน Arcos rojos / Arku gorriak (The Red Arches) (2007) ของ แดเนียล บิวเรน (Daniel Buren) ศิลปินคอนเซ็ปช่วลอาร์ตชาวฝรั่งเศส ผู้เป็นที่รู้จักจากผลงานศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ (Site-specific installations) ลวดลายแถบและรูปทรงเรขาคณิตสลับสี อันเรียบง่าย แต่เปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัว

The Red Arches (2007) ของ แดเนียล บิวเรน (Daniel Buren)

ผลงานชิ้นนี้ทำขึ้นในวาระครบรอบ 10 ปี ของการก่อตั้งพิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ บิลบาว โดยบิวเรนตั้งใจทำผลงานชิ้นนี้ขึ้นเพื่อลดความดิบกระด้างของโครงสร้างสะพาน และทำให้สะพานโดดเด่นเห็นชัดถนัดตามากขึ้น

ด้วยการสร้างผลงานศิลปะในรูปของเสารับน้ำหนักสะพานแขวนที่เป็นปริมาตรแผ่นสี่เหลี่ยมแนวตั้งฉากกับสะพาน

เจาะรูครึ่งวงกลมสามวง จนกลายเป็นซุ้มประตูโค้ง ทาสีแดงสดฉูดฉาดตัดกับสีเขียวของตัวสะพาน สะท้อนสีสันลงไปยังพื้นผิวไทเทเนียมของพิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ที่อยู่เคียงข้าง สันด้านนอกและในของซุ้มประตูโค้งทำเป็นแถบสีขาวสลับดำที่เรืองแสงในยามค่ำคืน ในความคิดของเรา

ผลงานศิลปะชิ้นนี้ของบิวเรน ดูไม่ต่างอะไรกับประตูเมืองที่ต้อนรับเหล่าบรรดาผู้มาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ยังไงยังงั้น

พิพิธภัณฑ์กูเกนไฮม์ บิลบาว ตั้งอยู่เลียบแม่น้ำเนอร์บิออน (Nervi?n) ในเมืองบิลบาว แคว้นบาสก์ (Basque) ประเทศสเปน

ดูรายละเอียดการเข้าชมได้ที่นี่ shorturl.at/cinwy •