นักเล่นแร่แปรธาตุแห่งวงการศิลปะ (1)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ที่ผ่านมาเรากล่าวถึงศิลปินไทยร่วมสมัยที่มีชื่อเสียงและผลงานโดดเด่นเป็นที่รู้จักในระดับโลกไปหลายคนแล้ว

ในคราวนี้ขอกล่าวถึงศิลปินไทยร่วมสมัยอีกคนที่มีผลงานโดดเด่นเป็นสง่าทั้งในแวดวงศิลปะบ้านเราไปจนถึงเวทีระดับโลก

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

อริญชย์ รุ่งแจ้ง

ศิลปินชาวกรุงเทพฯ โดยกำเนิด เขาเป็นหนึ่งในศิลปินไทยที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าไปร่วมแสดงงานในมหกรรมศิลปะที่ยิ่งใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของโลกอย่างมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Venice Biennale ที่เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี ในปี 2013

อีกทั้งยังเป็นศิลปินไทยเพียงคนเดียวที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมแสดงงานในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน

อย่างมหกรรมศิลปะ Documenta ครั้งที่ 14 ปี 2017 ที่เมืองคาสเซิล ประเทศเยอรมนี และกรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ

ที่มีคนยกย่องให้เป็นโอลิมปิกของศิลปะร่วมสมัยเลยทีเดียว

อันที่จริงเราติดตามผลงานของอริญชย์มาตั้งแต่ครั้งที่เขาเป็นศิลปินหน้าใหม่ที่แสดงนิทรรศการศิลปะเป็นครั้งแรกๆ เขาเป็นศิลปินที่เริ่มต้นสร้างสรรค์งานศิลปะโดยหันหลังให้ระบบการประกวดศิลปกรรมอันเป็นเส้นทางเสาะหาความสำเร็จที่เฟื่องฟูในหมู่นักศึกษาศิลปะในยุคสมัยของเขา

และหันมาทำงานศิลปะที่นำเสนอความคิด และจัดนิทรรศการแสดงศิลปะตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา

นิทรรศการเปิดตัวครั้งแรกของเขาคือ Red and Blue Floor [Faintness of Intimacy] (1998) ที่ศิลปินปูพื้นสีแดงที่ซ่อนสีน้ำเงิน (ที่คนดูไม่อาจมองไม่เห็นอยู่ข้างใต้) บนพื้นคาเฟ่ของพื้นที่แสดงงานศิลปะทางเลือกอย่าง อะเบาต์สตูดิโอ / อะเบาต์ คาเฟ่

นิทรรศการครั้งนั้นทำให้เขากลายเป็นศิลปินคลื่นลูกใหม่ที่ถูกจับตามองในวงการศิลปะร่วมสมัยในยุคนั้นอย่างมาก

หลังจากจบการศึกษาในปี 2004 อริญชย์ได้รับคัดเลือกให้เป็นศิลปินในโครงการศิลปกรรม BrandNew และได้รับเชิญให้เดินทางไปแสดงผลงานศิลปะในหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์, อิตาลี, ออสเตรเลีย, จีน และ นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ฯลฯ

ผลงานเด่นของเขาที่เราจำได้ก็มีอาทิ Never Congregate, Never Disregard (2007) ที่เขาถมกองดินพะเนินเทินทึกกับบ่อน้ำ และวิดีโอติดตั้งจัดวางในหอศิลป์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

หรือ รัศมี รุ่งแจ้ง (2009) ผลงานศิลปะที่เขาอุทิศให้แม่ของเขาและตั้งชื่อนิทรรศการตามชื่อของเธอที่จัดแสดงที่หอศิลป์เว่อร์ ซึ่งเขาใช้เพียงผ้าม่าน, วิดีโอโปรเจ็กเตอร์ และเสียงบันทึกคำสัมภาษณ์ สร้างสภาพแวดล้อมเฉพาะตัวขึ้นในพื้นที่แสดงงาน เพื่อจำลองห้วงขณะหนึ่งของความทรงจำในชีวิตของแม่ของเขาออกมา

ผลงานศิลปะของเขาเป็นการผสมผสานแนวทางศิลปะแบบคอนเซ็ปช่วล (Conceptual Art) เข้ากับเรื่องราวธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวันอย่างความรัก ความทุกข์ ความสุข ความทรงจำ และแสดงออกถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างศิลปินและสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัว

แต่ผลงานศิลปะที่ส่งให้ชื่อของอริญชย์เป็นที่รู้จักในวงการศิลปะร่วมสมัยของโลก ก็คือผลงานที่จัดแสดงในศาลาไทยในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Venice Biennale ครั้งที่ 55 ที่มีชื่อว่า Golden Teardrop (2013) นั่นเอง

โดยทั่วไปผลงานศิลปะนอกจากจะประกอบด้วยแนวคิดอันชาญฉลาดลึกซึ้งและสดใหม่แล้ว องค์ประกอบทางสายตาอย่างความงาม หรือประสบการณ์อันน่ามหัศจรรย์ของมันที่สะกดผู้ชมให้ตื่นตะลึงอันเกิดจากทักษะการสร้างงานอันเชี่ยวชาญ การบริหารจัดการ และการคิดคำนวณอันเหนือชั้นก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะขาดไม่ได้เช่นเดียวกัน งานศิลปะบางชิ้นแนวคิดดี แต่ขาดความงาม บางชิ้นมีความงาม แต่ขาดแนวคิดที่ดี

งานศิลปะที่มีคุณสมบัติครบถ้วนทั้งสองอย่างนั้นมีจำนวนน้อยนิดและพบเจอได้ไม่บ่อยนัก

ผลงาน Golden Teardrop ก็เป็นหนึ่งในจำนวนน้อยนิดนั้น

งานศิลปะจัดวางอันละเมียดละไมที่ประกอบด้วยประติมากรรมรูปหยดน้ำตาสีทองจำนวนนับไม่ถ้วนที่ถูกห้อยร้อยเรียงจนดูราวกับหยาดหยดลงมาจากเพดาน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนขนมไทยอย่าง “ทองหยอด”

ผนวกกับวิดีโอโปรเจ็กเตอร์ ที่ถ่ายทอดภาพหญิงสาวชาวญี่ปุ่นกำลังทำขนมทองหยอด ไปพร้อมๆ กับการบอกเล่าประวัติศาสตร์ส่วนตัวของเธอ สลับไปกับเสียงบรรยายประวัติศาสตร์อันยาวนานของขนมที่เธอทำ ร้อยเรียงผ่านเรื่องราวในพงศาวดารอันพิสดารพันลึกของนักผจญภัยชาวกรีก สตรีชาวโปรตุเกส/ญี่ปุ่น แม่ชีชาวโปรตุเกส

ประวัติศาสตร์การผลิตน้ำตาล การค้าทาส การเดินเรือสินค้า และเรื่องราวการเมืองอันวุ่นวายในราชสำนักสมัยอยุธยา

ไปจนถึงระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิม่า และแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย

หลอมรวมกันกลายเป็นผลงานศิลปะที่งดงามและทรงพลังที่มอบประสบการณ์อันยากจะลืมเลือนให้กับผู้ชม

นอกจากจะแสดงที่ Venice Biennale แล้ว ผลงาน Golden Teardrop ของเขายังถูกนำมาจัดแสดงในบ้านเราที่ห้างสรรพสินค้าสยามเซ็นเตอร์ในปี 2014 และที่หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ในปี 2015 อีกด้วย

ชมวิดีโอของผลงานชิ้นนี้ได้ในลิงก์นี้ https://vimeo.com/67377286

หลังจาก Golden Teardrop อริญชย์ก็สร้างสรรค์ผลงานศิลปะอันสุดแสนจะท้าทายออกมาอีกชิ้น

โดยเป็นผลงานที่เป็นส่วนหนึ่งของ Satellite program 8 ที่จัดขึ้นโดยพิพิธภัณฑ์ Jeu de Paume และพิพิธภัณฑ์ CAPC mus?e d”art contemporain ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นการนำเสนอผลงานของภัณฑารักษ์และศิลปินรุ่นใหม่ที่น่าจับตาจากทั่วโลก

ผลงานชิ้นนั้นมีชื่อว่า มงกุฎ (Mongkut) (2015)

งานศิลปะที่เป็นกระบวนการจำลองพระมหาพิชัยมงกุฎจำลอง อันเป็นหนึ่งในเครื่องมงคลราชบรรณาการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ถวายแด่จักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ในปี ค.ศ.1861 (พระมหาพิชัยมงกุฎจำลองที่ว่านี้ทำขึ้นด้วยทองคำแท้ตีดุนลาย ประดับด้วยอัญมณีล้ำค่าอย่างเพชร 233 เม็ด ทับทิม 2,298 เม็ด มรกต 46 เม็ด และไข่มุกอีก 9 เม็ด)

โดยตัวอริญชย์และทีมงานได้รับอนุญาตให้เข้าไปในพิพิธภัณฑ์พระราชวัง Fontainebleau ซึ่งเป็นสถานที่เก็บพระมหาพิชัยมงกุฎจำลอง เพื่อทำการเก็บข้อมูลด้วยเครื่องสแกนสามมิติ และนำกลับมาให้ช่างฝีมือผู้ชำนาญในเมืองไทยทำการจำลองมงกุฎจำลองขึ้นมาใหม่อีกอันหนึ่งเพื่อจัดแสดงในนิทรรศการที่ว่านี้

ผลงานชุดนี้ของเขาประกอบด้วย พระมหาพิชัยมงกุฎจำลอง ที่ถูกจำลองขึ้นมาใหม่ด้วยกรรมวิธีของช่างทำหัวโขนแบบโบราณ หล่อรักปิดทอง, พิมพ์เขียวที่ช่างแกะแบบขึ้นมาจากรูปถ่ายและข้อมูลของมงกุฎ

นอกจากนั้นยังมีวิดีโอสองชิ้น ชิ้นแรกเป็นวิดีโอบันทึกภาพการเก็บข้อมูลมงกุฎของทีมงานในพิพิธภัณฑ์ Fontainebleau โดยมีเสียงบรรยายเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากคณะราชทูตไทยไปเข้าเฝ้าจักรพรรดินโปเลียน

รวมถึงอธิบายรูปพรรณสัณฐานของมงกุฎ

อีกชิ้นเป็นวิดีโอของช่างที่ทำมงกุฎจำลองขึ้นมา ซึ่งพูดถึงเทคนิควิธีการจำลองมงกุฎ และถ่ายให้เห็นกระบวนการทำมงกุฎเป็นช่วงๆ ซึ่งดัดแปลงมาจากวิธีการทำหัวโขนซึ่งเป็นวิชาชีพที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษซึ่งเป็นหนึ่งในจำนวนน้อยมากของช่างที่ยังใช้กระบวนการทำหัวโขนด้วยรักร้อนและเย็นแบบโบราณ

เรื่องบังเอิญที่น่าทึ่งเกี่ยวกับผลงานชิ้นนี้ก็คือ ช่างทำมงกุฎคนดังกล่าว (วรลักษณ์ ศุขสวัสดิ ณ อยุธยา) นั้น มีศักดิ์เป็นโหลนของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 อีกด้วย!

เรื่องบังเอิญเกี่ยวกับผลงานชิ้นนี้ยังไม่จบลงแค่นั้น เพราะก่อนหน้าที่นิทรรศการนี้จะเปิดแสดง กลับมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น นั่นก็คือสองเดือนหลังจากทีมงานของอริญชย์เข้าไปเก็บข้อมูลในพิพิธภัณฑ์ ได้เกิดการจารกรรมขึ้นที่พิพิธภัณฑ์พระราชวัง Fontainebleau โบราณวัตถุล้ำค่าจำนวน 15 ชิ้นได้ถูกขโมยไป

โดยหนึ่งนั้นก็คือพระมหาพิชัยมงกุฎจำลองที่เป็นเครื่องมงคลราชบรรณาการของจริงนั่นเอง

เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น อริญชย์และทีมงานย่อมกลายเป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัยรายแรกๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะพวกเขาเป็นบุคคลกลุ่มสุดท้ายที่เข้าไปอยู่กับโบราณวัตถุล้ำค่าชิ้นนี้อย่างใกล้ชิดทั้งวันในวันที่พิพิธภัณฑ์ปิดทำการ

โชคดีที่ทาง Jeu de Paume และ CAPC mus?e d”art contemporain ต่างช่วยกันยืนยันความบริสุทธิ์ให้พวกเขาอย่างเต็มที่ จึงทำให้พวกเขารอดพ้นจากการเป็นผู้ต้องหา และทำการจัดแสดงนิทรรศการต่อไปได้ในที่สุด

หนำซ้ำ หลังจากเกิดเหตุการณ์มงกุฎถูกขโมย และสื่อทั่วโลกตีข่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็ส่งผลให้คนทั่วไปหรือชาวบ้านร้านตลาดที่ไม่ได้มีความสนใจเกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัยและประวัติศาสตร์ เกิดความสนอกสนใจเกี่ยวกับมงกุฎจำลองจริงและมงกุฎจำลองที่เป็นศิลปะขึ้นมากันยกใหญ่

ทั้งที่ก่อนหน้าที่มันจะโดนขโมย คนฝรั่งเศสทั่วๆ ไปเองก็ยังไม่เคยรู้ว่ามีมงกุฎนี้อยู่ในประเทศตัวเองมาร้อยห้าสิบกว่าปีแล้วด้วยซ้ำไป (แม้แต่คนไทยเราเองก็คงไม่รู้เหมือนกันนั่นแหละ)

ซึ่งก็นับเป็นโชคดีของผู้จัดงานและศิลปะที่ได้ประชาสัมพันธ์นิทรรศการนี้แบบฟรีๆ ไม่ต้องเสียสตางค์

แถมทำให้คนทั่วๆ ไปหันมาสนใจศิลปะกันมากขึ้นอีกด้วย