ภาพยนตร์/THE BEGUILED “ท่ามกลางสงคราม”

นพมาส แววหงส์

ภาพยนตร์/นพมาส แววหงส์

THE BEGUILED “ท่ามกลางสงคราม”

กำกับการแสดง Sofia Coppola

นำแสดง Colin Farrell, Nicole Kidman, Kirsten Dunst, Elle Fanning, Oona Laurence

The Beguiled สร้างจากนิยายของ โทมัส คัลลินัน ที่วางท้องเรื่องไว้ในสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ในอเมริกา ซึ่งหลายคนเรียกว่าเป็นสงครามเลิกทาส เพราะต่อสู้กันด้วยหลักการที่ต่างกันสุดขั้ว

ฝ่ายเหนือภายใต้การนำของประธานาธิบดีลินคอล์น ประกาศต้องการเลิกทาส และให้ความเป็นไทแก่ทาสผิวดำ ตามรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิมนุษยชนอันเท่าเทียมกัน

ส่วนฝ่ายใต้ต้องการแยกดินแดน เพื่อเก็บทาสไว้ใช้เป็นแรงงานในไร่ ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรมและสังคม

และดังที่รู้กันดีว่าการสู้รบอันนองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติอเมริกันระหว่างเพื่อนร่วมชาติครั้งนี้ ฝ่ายใดเป็นฝ่ายมีชัยชนะ

แต่นี่ไม่ใช่จุดสำคัญในนิยายแบบแรงรักแรงแค้นระทึกขวัญซึ่งกลายเป็นภาพยนตร์หนแรกใน ค.ศ.1971

หนังเรื่องนั้นมี คลินต์ อีสวู้ด นำแสดง ตอนนั้นคลินต์ยังหนุ่มฟ้อหล่อเฟี้ยว และวางแนวทางไว้ในลักษณะหนังแนวเขย่าขวัญ ที่เป็นเรื่องราวของทหารหนุ่มฝ่ายศัตรูที่บาดเจ็บสาหัสและตกไปอยู่ท่ามกลางสาวน้อยสาวใหญ่ในโรงเรียนสตรีในรัฐทางใต้ของอเมริกา

เต็มไปด้วยเรื่องราวอันร้อนแรงของเซ็กซ์ และการแก้แค้นแก้เผ็ดอย่างสาสมใจ

หรือว่าตอนนั้นผู้เขียนยังเด็กอยู่ก็ไม่รู้ เลยจดจำความรู้สึกว่าเป็นหนังน่าหวาดสยองขวัญมากเป็นพิเศษ ทำนองเดียวกับหนังชวนระทึกอย่าง Psycho ของ อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก เป็นต้น

แต่สี่สิบหกปีจากนั้น มาจนยุคปัจจุบัน หนังเรื่องนี้ถูกจับมาปัดฝุ่นสร้างเป็นเวอร์ชั่นใหม่ ตีความใหม่โดยผู้กำกับฯหญิงที่เกิดและโตมาในวงการตั้งแต่เด็ก เนื่องจากมีพ่อเป็นคนทำหนังฝีมือเก่งกาจอย่าง ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา

ผู้เขียนเห็น โซเฟีย คอปโปลา ครั้งแรกในหนัง The Godfather ภาคสามอันเป็นภาคสุดท้ายในไตรภาค ลูกสาวคนสวยของพ่อที่เป็นผู้กำกับหนัง ได้อภิสิทธิ์ความเป็นคนใกล้ชิดในครอบครัวคอปโปลา มารับบทเป็นเด็กสาววัยแรกแย้มลูกสาวเจ้าพ่อไมเคิล คอลิโอนี อันมีผลให้ก้าวไปสู่จุดจบที่น่าสะเทือนใจ

แล้วก็มาดูหนังที่โซเฟียกำกับฯ และชอบบ้างไม่ชอบบ้างกับฝีมืออันละเมียดละไมในหลายเรื่อง โดยเฉพาะ Lost in Translation (บิล เมอร์เรย์ กับ สการ์เล็ตต์ โจฮันสัน) ซึ่งแปลกใหม่สดชื่นและลงตัวดี

มาถึงตอนนี้ เธอไปจับหนังเก่าของปีมะโว้มาปัดฝุ่น และตีความใหม่ มอบชีวิตใหม่ให้แก่ตัวละครภายใต้โครงเรื่องที่ไม่ผิดไปจากเดิมมากนัก แต่ผิดไปในแง่ของบรรยากาศทางอารมณ์และการตีความตัวละคร

สงครามกลางเมืองอเมริกาอยู่ในช่วง ค.ศ.1861 ถึง 1865 ซึ่งทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นหนังย้อนยุคที่ถ่ายทำได้สวยงาม พร้อมเครื่องแต่งตัวสวยๆ ในอดีต และเมื่อใช้ดาราระดับแนวหน้ามาประชันบทบาทกันคับคั่ง เลยทำให้หนังมลังเมลืองงดงามเป็นพิเศษ

เรื่องของเรื่องคือ เอมี่ (อูนา ลอว์เรนซ์) เด็กหญิงวัยสิบเอ็ดจากโรงเรียนสตรีในเวอร์จิเนีย ออกไปเก็บเห็ดในป่าอันสวยงามใกล้ๆ โรงเรียน มีเสียงปืนใหญ่ดังแว่วมาไกลๆ ในบรรยากาศ

เธอเลือกเก็บเห็ดที่กินได้ และรู้จักที่จะหลีกเลี่ยงเห็ดบางชนิดที่มีพิษถึงแก่ชีวิต …ซึ่งนี่จะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาเรื่องต่อมา

และแล้วเธอก็ตกใจเมื่อพบร่างของทหารหนุ่มจากฝ่ายเหนือ ซึ่งถือเป็นฝ่ายศัตรูกับชาวใต้ที่อยู่ในรัฐเวอร์จิเนียอย่างเธอ นอนบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิดและแผลถูกยิงปางตาย

เห็นได้ชัดว่าเขาหนีทหารมา

เอมี่ซึ่งได้รับการอบรมให้เป็นกุลสตรีชาวคริสต์ที่สมควรให้การสงเคราะห์แก่คนที่ตกอยู่ในความลำบาก จึงช่วยพยุงเขาไปที่โรงเรียนที่เธอพำนักอยู่

โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนสตรีล้วน มีครูใหญ่ชื่อมิสมาร์ธา (นิโคล คิดแมน ซึ่งเป็นนักแสดงสาวที่เหมาะสมจะแต่งชุดย้อนยุคของสาวโบราณเป็นที่สุด แทบจะนึกภาพนิโคลในชุดสาวเปรี้ยวสมัยใหม่ไม่ออกเอาเลย) มีครูสอนภาษาฝรั่งเศสชื่อ เอ็ดวีนา (คริสเตน ดันสต์) และมีเด็กสาวและเด็กหญิงในความดูแลอยู่ห้าคน เนื่องจากอยู่ในภาวะสงคราม คนอื่นๆ กลับบ้านไปกันหมด แต่โรงเรียนยังเปิดอยู่สำหรับคนที่ไม่มีที่จะไป

หนึ่งในเด็กนักเรียนห้าคนที่สมควรกล่าวถึงคือ อลิเซีย (แอลล์ แฟนนิ่ง) เนื่องจากแอลล์เป็นดาราในระดับนางเอกมาแล้วหลายเรื่อง

ทหารหนุ่มซึ่งแนะนำตัวเองว่าชื่อสิบตรีแม็กเบอร์นีย์ (คอลิน ฟาร์เรลล์) ถูกพยุงมาไว้หน้าประตูบ้านอันเป็นคฤหาสน์โอ่โถงของผู้ดีชาวภาคใต้

มิสมาร์ธา ครูใหญ่ สั่งการในทันทีให้ส่งข่าวไปถึงกองทัพฝ่ายใต้ เพื่อให้มารับตัวไปในฐานะศัตรู แต่ทว่า มนุษยธรรมและการอบรมสั่งสอนแบบชาวคริสต์ที่ดี ทำให้เธอตัดสินใจรับเขาไว้รักษาตัว ก่อนที่จะปล่อยไปเผชิญชะตากรรมตามยถากรรมยามสงครามเอาเอง

เมื่อหนุ่มรูปหล่อที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ตกอยู่ท่ามกลางสาวน้อยสาวใหญ่ถึงเจ็ดคน สาวๆ ก็เริ่มออกอาการหวั่นไหวต่างๆ นานา แต่ว่าอาการเหล่านี้ผู้กำกับฯ ไม่ทำจนเว่อร์ให้เสียมู้ดนะคะ แต่เล่าเรื่องอย่างแนบเนียน และถึงแม้บางครั้งจะดูโจ่งแจ้ง แต่ก็โจ่งแจ้งอย่างมีศักดิ์ศรี

และหลายครั้งกลายเป็นมุขให้คนดูได้ฮากันหลายหน

เรื่องราวยังพัฒนาและหักเหไปอีกหลายตลบนะคะ แต่คงจะเล่าเพียงเท่านี้ จะได้ไม่เสียรสสำหรับคนที่ยังไม่ได้ดูและอยากจะไปดู

บอกได้แต่ว่าโซเฟียไม่ได้เล่าเรื่องแบบเอา “มันส์” ในทำนองหนังระทึกขวัญ ล้างแค้นเพื่อความสะใจ แต่เล่าด้วยรายละเอียดของตัวละครที่แนบเนียนสมจริง

เอาเข้าจริงแล้ว เราตัดสินไม่ได้เลยว่าหญิงร้ายชายดี หรือชายดีหญิงร้ายกันแน่

ตอนดูหนังตัวอย่าง ร่ำๆ จะเอนเอียงไปในทางแรก และให้ความรู้สึกว่าผู้ชายพลัดเข้ามาแหย่ดงเสือแท้ๆ คล้ายจะเป็นหนังประเภทเขย่าขวัญชวนสยอง

แต่ก็หามิได้…อย่าคาดหวังหนังแบบนั้นนะคะจะผิดหวังเปล่าๆ

โซเฟียเธอเหนือชั้นกว่าหนังเกรดบีแบบนั้นมาก

สิ่งที่สะกิดใจผู้เขียนอย่างแรงเพียงจุดเดียวของหนังย้อนยุคเรื่องนี้ก็คือ ฉากหลังของเรื่องเป็นสงครามเลิกทาส ฝ่ายเหนือฝ่ายใต้สู้รบกันด้วยหลักการที่ขัดแย้งกันในเรื่องการมีทาส แต่ไม่มีทาสผิวดำสักคนปรากฏตัวให้เห็นในหนังเรื่องนี้

อย่างไรก็ดี หนังเรื่องนี้ทำให้ โซเฟีย คอปโปลา ขึ้นสู่ดวงดาวอีกครั้งด้วยการคว้ารางวัลผู้กำกับฯ ยอดเยี่ยมจากเทศกาลภาพยนตร์ในคานส์ในปีนี้เอง