อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : Body Universe สำรวจมุมมองหลากหลาย ของศิลปะการถ่ายภาพ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

 

Body Universe

สำรวจมุมมองหลากหลาย

ของศิลปะการถ่ายภาพ

 

เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปชมนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจ เลยถือโอกาสเอามาเล่าให้ฟังกันตามเคย

นิทรรศการนี้มีชื่อว่า Body Universe

โดยกลุ่มศิลปินและคนทำงานภาพถ่ายอย่าง วิริยะ โชติปัญญาวิสุทธิ์, ศุภฤกษ์ คฤหานนท์, ชาญพิชิต พงศ์ทองสําราญ*, โรเบิร์ต จ้าว เหรินฮุ้ย (Robert Zhao Renhui), มิติ เรืองกฤตยา, วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์, กฤตนันท์ ตันตราภรณ์, ปริญญากร วรวรรณ, นิพันธ์ ยอดมณี ภายใต้การร่วมงานของสองคิวเรเตอร์ นิ่ม นิยมศิลป์ และ เอกรัตน์ ปัญญะธารา

 

นิทรรศการ Body Universe

 

นิทรรศการ Body Universe

 

นิทรรศการ Body Universe

 

นิทรรศการ Body Universe

 

นิทรรศการ Body Universe

 

นิทรรศการ Body Universe

 

นิทรรศการครั้งนี้เป็นการรวมตัวกันของช่างภาพในแขนงต่างๆ ทั้งศิลปินร่วมสมัยที่ทำงานภาพถ่าย, ช่างภาพสารคดี, ช่างภาพวิทยาศาสตร์, ช่างภาพดาราศาสตร์, ช่างภาพทางการแพทย์ ไปจนถึงศิลปินเซรามิกที่ใช้ภาพถ่ายเป็นสื่อ

ทุกคนต่างมีแนวทางและความสนใจที่หลากหลาย และใช้อุปกรณ์หรือเทคนิคแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพในระบบอะนาล็อกหรือดิจิตอล, การใช้แสงธรรมชาติ, หรือการใช้ประจุอิเล็กตรอน, การประดิษฐ์อุปกรณ์ถ่ายภาพจากเทคโนโลยีใหม่ๆ ไปจนถึงการใช้อุปกรณ์สำเร็จรูป

หากสิ่งที่ศิลปินทุกคนในนิทรรศการนี้มีร่วมกันคือการพยายามสำรวจและนำเสนอโลกที่เขาประสบ พบเห็น เข้าใจ และหลงใหล ผ่านสื่อภาพถ่ายนั่นเอง

ผลงานของ วิริยะ โชติปัญญาวิสุทธิ์

เริ่มต้นด้วยผลงานของวิริยะ ที่ใช้แสงวิทยาศาสตร์และแสงธรรมชาติในการจับภาพสิ่งรอบตัวที่มนุษย์มองด้วยตาไม่เห็น เช่น ฝุ่น หิมะ หรือลมหายใจที่ลอยอยู่ในอากาศ และเปลี่ยนสิ่งที่อยู่รอบตัวทั่วไปในชีวิตประจำวันที่เราไม่ทันสังเกต ให้กลายเป็นภาพถ่ายที่ดูแปลกตา น่าพิศวง

หรือผลงานของศุภฤกษ์ ช่างภาพดาราศาสตร์ผู้บันทึกปรากฏการณ์ของเทหวัตถุบนฟากฟ้าเอกภพถ่ายทอดออกมาเป็นภาพถ่ายอันตระการตาน่าอัศจรรย์

หรือผลงานของชาญพิชิต* ช่างภาพสารคดีที่บันทึกวัฒนธรรมการสักลายบนเรือนร่างของกลุ่มชาติพันธุ์ที่กำลังจะสูญหายไป ถ่ายทอดออกมาเป็นภาพถ่ายคล้ายภูมิทัศน์ ที่สะท้อนถิ่นที่อยู่อาศัยของเจ้าของรอยสักได้อย่างน่าสนใจ

หรือผลงานของโรเบิร์ต ที่สำรวจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติผ่านภาพถ่ายที่บันทึกห้วงขณะของปรากฏการณ์นกอพยพย้ายถิ่นฐานที่ดูเหมือนกลุ่มควันประหลาดกลางท้องฟ้า ราวกับจะย้ำเตือนให้เราเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมอย่างมีนัยยะสำคัญ

ผลงานของ โรเบิร์ต จ้าว เหรินฮุ้ย

หรือผลงานของมิติ ที่ใช้ภาพถ่ายบันทึกคุณค่า ความหมาย หรือแม้แต่มูลค่าที่เปลี่ยนแปลงไปตามเศรษฐกิจและการพัฒนาเมืองของผืนดิน ที่ดูธรรมดาสามัญ แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถกำหนดชะตากรรมของผู้ที่ครอบครอง (หรือไม่ได้ครอบครอง) มัน อย่างไม่อาจปฏิเสธได้

หรือผลงานของวศินบุรี ที่ใช้เทคโนโลยีกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน (Scanning Electron Microscope) ถ่ายภาพกำลังขยายสูงหลายหมื่นเท่าของพื้นผิววัสดุที่เขาคลุกคลีอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันอย่าง “ดินเผา” เพื่อสำรวจรากเหง้าของสิ่งที่นิยามตัวตนของเขาและครอบครัวอย่างใกล้ชิดสุดขั้ว

หรือผลงานของกฤตนันท์ ภาพถ่ายของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อย่างแมลง ที่ถูกขยายให้เห็นรายละเอียดอันน่าตื่นตาที่ไม่อาจมองเห็นด้วยตาเปล่า

ผลงานของ กฤตนันท์ ตันตราภรณ์

หรือผลงานของปริญญากร ช่างภาพสารคดีที่คร่ำหวอดในแนวสัตว์ป่าและธรรมชาติ ผู้สร้างความเข้าใจและส่งแรงบันดาลใจในการถ่ายภาพเชิงอนุรักษ์และการเรียนรู้ในการเคารพวิถีชีวิตในธรรมชาติสู่ผู้อ่านผู้ชมจำนวนมาก ที่ถูกนำมาตีความแบบร่วมสมัยได้อย่างน่าสนใจ

และท้ายสุด ผลงานภาพถ่ายดวงตาของนิพันธ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องมือพิเศษทางจักษุวิทยา ที่นอกจากจะดูงดงามอย่างน่าประหลาดแล้ว ยังมีประโยชน์ในการช่วยให้จักษุแพทย์รักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ผลงานของ ปริญญากร วรวรรณ

นิ่ม นิยมศิลป์ หนึ่งในสองคิวเรเตอร์กล่าวถึงที่มาของนิทรรศการครั้งนี้ว่า

“ถึงแม้นิทรรศการนี้จะเป็นการแสดงผลงานภาพถ่าย แต่ทางผู้จัดอย่าง HOP – Hub Of Photography ก็ค่อนข้างให้อิสระในการทำงาน เราเลยอยากลองสำรวจในประเด็นที่เราค่อนข้างสนใจ และหยิบหลายๆ ศาสตร์มารวมกัน เราชอบการที่ศิลปะไม่ได้มีแค่เรื่องของ Fine Art อย่างเดียว แต่มีความเชื่อมโยงกับวิทยาศาสตร์ หรือมานุษยวิทยา, ทิศทางและอารมณ์ของนิทรรศการนี้ เราได้แรงบันดาลใจมาจากภาพถ่ายดวงตาทางการแพทย์ที่เสิร์ชในอินเตอร์เน็ต แล้วรู้สึกว่าเป็นภาพถ่ายที่มีความเฉพาะทางและแสดงถึงความเป็นมนุษย์มากๆ เราเลยเอาตรงนี้มาเป็นธีมหลักของนิทรรศการ”

“จะเห็นว่าผลงานในนิทรรศการนี้มีความเชื่อมโยงกับทุกองค์ประกอบที่อยู่ในธรรมชาติและแฝงความเป็นมนุษย์อยู่ แต่เราไม่อยากหยิบรูปทรงมนุษย์มาใช้แบบตรงๆ แต่ให้ทุกอย่างมีความเชื่อมโยงกับมนุษย์ นั่นเป็นที่มาของการคัดเลือกศิลปินแต่ละคน”

ผลงานของ ศุภฤกษ์ คฤหานนท์

“อย่างองค์ประกอบในงานของมิติที่เป็นเรื่องของดิน ซึ่งดินก็เป็นสิ่งที่อยู่ในโลกนี้มาตั้งแต่ต้น แต่มนุษย์เรานี่แหละที่เป็นคนใส่ความหมายให้สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในโลกนี้ ภาพถ่ายของมิติเป็นภาพของดินที่เอามาจากที่ดินใจกลางเมืองที่กำลังจะเปลี่ยนเป็นคอนโดมิเนียม เพราะฉะนั้น ดินที่ว่านี้ก็จะมีเรื่องของราคาค่างวดอยู่ด้วย หรือดินในงานภาพถ่ายของวศินบุรี ก็เป็นตัวแทนของสิ่งที่เป็นตัวตน ครอบครัว หรืออาชีพการงานของเขา”

“หรือภาพถ่ายของชาญพิชิตที่เป็นเรื่องรอยสัก แต่เราไม่อยากให้เป็นภาพถ่ายของคนที่มีรอยสักตรงๆ สิ่งที่เราอยากเน้นก็คือรอยสักบนพื้นผิวมนุษย์ที่ดูเหมือนภูมิทัศน์ที่เป็นเหมือนชั้นทางวัฒนธรรมของรอยสักที่กำลังสูญหาย”

“หรืองานของศุภฤกษ์ที่เป็นภาพของกระจุกดาวลูกไก่ ส่วนหนึ่งของจักรวาลที่มีมาก่อนหน้านี้ไม่รู้กี่ร้อยกี่พันล้านปี แต่มนุษย์เรานี่แหละที่ไปให้ความหมายมัน ถ้าย้อนกลับไปทุกๆ วัฒนธรรมก็จะมีนิทานเกี่ยวกับกระจุกดาวลูกไก่ตั้งแต่สมัยกรีกหรืออาณาจักรจีนโบราณ เหมือนเราพยายามหาความหมายให้กับสิ่งที่เราเห็นมาอย่างยาวนาน”

ผลงานของ มิติ เรืองกฤตยา

“ในนิทรรศการครั้งนี้เราอยากโฟกัสเกี่ยวกับเรื่องของการรับรู้กับมุมมองของคน เราอยากให้คนปรับมุมมองในสิ่งที่เห็นหรือเข้าใจ ผลงานในนิทรรศการก็จะมีงานภาพถ่ายแตกต่างหลากหลาย ทั้งภาพถ่ายสายวิทยาศาสตร์, ดาราศาสตร์, เทคนิคการแพทย์ อย่างห้องมืดที่เราแสดงผลงานของศิลปินสามคน เราต้องการให้คนรู้สึกว่าสิ่งที่เขาเห็นคืออะไร อย่างภาพถ่ายดวงตา ที่จริงๆ แล้วเป็นภาพดวงตาของผู้มีปัญหาทางสายตา แต่ในขณะเดียวกันก็มีความงามแฝงอยู่ ผลงานชุดนี้ทำให้เรารู้สึกว่า ท้ายที่สุดแล้วการรับรู้และความเข้าใจไม่ใช่แค่การมองเห็นทางร่างกายเท่านั้น”

“นิทรรศการนี้เลยตั้งใจให้มีคิวเรเตอร์ร่วมอย่างเอกรัตน์ เพราะเรารู้สึกว่าอยากจะสำรวจผลงานของคนทำงานในสายช่างภาพอาชีพ ซึ่งเอาจริงๆ ก็เป็นอีกกลุ่มศิลปินนั่นแหละ ในนิทรรศการนี้เราอยากตั้งคำถามว่า ศิลปะภาพถ่ายคืออะไร? เพราะเรารู้สึกว่าภาพถ่ายก็เป็นเครื่องมือในการแสดงออกทางศิลปะอย่างหนึ่ง อยู่ที่ศิลปินแต่ละคนต้องการจะพูดถึงอะไร ความหลงใหลของเขาคืออะไร เขาต้องการจะสื่ออะไรออกมา”

“ด้วยความที่เอกรัตน์ทำงานในสายภาพถ่ายสารคดี เราก็เลยให้เขามาช่วยเติมเต็มในสิ่งที่เราไม่คุ้นเคย ก็เป็นอะไรที่ท้าทายสำหรับเราอยู่เหมือนกัน”

ผลงานของ วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์

เอกรัตน์ คิวเรเตอร์ร่วมของนิทรรศการกล่าวเสริมท้ายว่า

“ในการทำงานนิทรรศการครั้งนี้จะเป็นการเลือกงานตามความถนัดของแต่ละคน อย่างงานของ ม.ล.ปริญญากร ก็เป็นอะไรที่แอบยากประมาณหนึ่งในการเอาภาพถ่ายในเชิงสารคดีที่คนคุ้นเคยและเห็นจนชินตาของเขามานำเสนอในหอศิลป์ แต่เขาก็เปิดกว้างในเราทดลองตีความได้ตามใจ เราเลยขอลองทำให้งานของเขามีความเป็นร่วมสมัยขึ้น ด้วยการพิมพ์ออกมาเป็นภาพชิ้นเล็กๆ ใส่ในกล่องพลาสติกใส เหมือนเป็นการตั้งคำถามว่า ถ้าสัตว์เหล่านี้สูญพันธุ์ไปหมดจนไม่มีเหลืออยู่ในโลกนี้แล้ว เราจะมองสัตว์เหล่านี้ในความหมายเดิมไหม? ก็เลยทำให้มีลักษณะเป็นเหมือนกับวัตถุที่ถูกเก็บรักษาเอาไว้ในพิพิธภัณฑ์หรือห้องทดลองของนักวิทยาศาสตร์”

“ส่วนภาพถ่ายปีกผีเสื้อของกฤตนันท์นี่มีความน่าสนใจตั้งแต่ตัวศิลปินแล้ว คือเขาไปเรียนเรื่องการถ่ายภาพทางวิทยาศาสตร์มาจากประเทศอังกฤษเลย หรือภาพถ่ายดวงตาของนิพันธ์ที่ถ่ายเพื่อการแพทย์ ไม่เคยแสดงงานศิลปะมาก่อน ซึ่งเราเห็นงานเขาแล้วรู้สึกอัศจรรย์ใจมาก ว่าเขาถ่ายภาพแบบนี้มาได้อย่างไร เราก็เลยทาบทามพวกเขามาเพื่อแสดงให้เห็นถึงงานภาพถ่ายที่มีความแตกต่างหลากหลาย เราอยากได้มุมมองของคนรุ่นใหม่ที่พยายามค้นหาแนวทางของตัวเอง”

 

ผลงานของ นิพันธ์ ยอดมณี

 

นิทรรศการ Body Universe จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2564-30 มกราคม 2565 ณ HOP PHOTO GALLERY ชั้น 3 โซน MUNx2 ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์, ชมผลงานได้ทาง facebook #HOPHubOfPhotography หรือ instagram @hubofphotography

 

*เนื่องจากทาง HOP PHOTO GALLERY มีนโนบายสนับสนุนผลงานจากศิลปินในเชิงสร้างสรรค์อย่างแท้จริง ในกรณีที่ผู้แสดงผลงานมีความข้องเกี่ยวด้านการละเมิดสิทธิและสวัสดิภาพผู้อื่นในทุกกรณี ทาง HOP PHOTO GALLERY จึงขอระงับการแสดงผลงานของ ชาญพิชิต พงศ์ทองสำราญ หนึ่งในศิลปินในนิทรรศการ Body Universe ชั่วคราว จนกว่าจะมีการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันเป็นที่สิ้นสุด จึงเรียนมาเพื่อทราบ.