อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : Unforgetting History บันทึกความรุนแรง ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ด้วยศิลปะเซรามิก

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

Unforgetting History

บันทึกความรุนแรง

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

ด้วยศิลปะเซรามิก

 

ท่ามกลางการต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองของประชาชนชาวไทยผู้ใฝ่หาประชาธิปไตย

ภาพเหตุการณ์ความเลวร้ายโดยอำนาจรัฐอย่างการรัฐประหาร, การใช้อำนาจอาวุธและความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐในการจัดการกับประชาชนผู้เห็นต่าง ยังคงถูกฉายวนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า และถูกทำให้ชาชินจนดูเหมือนเป็นเหตุการณ์ปกติธรรมดา (ตรงไหนวะ?)

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การมอบความตายจากปลายกระบอกปืนยังคงเป็นทางออกของผู้มีอำนาจรัฐในการจัดการกับปัญหาเรื่อยมา

ในขณะที่ความเจ็บปวดและการสูญเสียของประชาชนนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แทบไม่เคยถูกจารึกอยู่บนหน้าของประวัติศาสตร์ชาติไทย

จะมีก็แต่ประชาชนด้วยกันที่บันทึกเหตุการณ์เหล่านี้เอาไว้ในหน้าประวัติศาสตร์สามัญชน เพื่อไม่ให้คนรุ่นหลังหลงลืม จนประวัติศาสตร์หวนกลับมาซ้ำรอยเดิมอย่างที่เป็นอยู่

 

 

 

ในหลายครั้ง ศิลปะเองก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งในการบันทึกประวัติศาสตร์ทางการเมืองในแต่ละยุคสมัย

เมื่อไม่นานมานี้ มีนิทรรศการหนึ่งที่ใช้ศิลปะเป็นเสมือนเครื่องมือบันทึกความรุนแรงในประวัติศาสตร์การเมืองในยุคปัจจุบัน

นิทรรศการนี้มีชื่อว่า Unforgetting History

โดย ศิริศักดิ์ แซ่โง้ว ศิลปินเซรามิกผู้พำนักและทำงานอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่

เขาเปิดสตูดิโอทำผลิตภัณฑ์เซรามิกภายใต้แบรนด์เล็กๆ ของตนเอง

นอกจากจะผลิตชิ้นงานเพื่อการจำหน่ายแล้ว เขายังใช้เซรามิกเป็นเสมือนเครื่องมือในการสื่อสารและแสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิดที่มีต่อเหตุการณ์ทางการเมืองที่เขาสนใจ

 

 

ผลงานในนิทรรศการ Unforgetting History นอกจากจะประกอบด้วยประติมากรรมจัดวางที่จำลองอาวุธปืนนานับชนิด กับเหล่าบรรดาลูกกระสุนและปลอกกระสุนปืนน้อยใหญ่ หรือแก๊สน้ำตา ที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ปราบปรามประชาชน (จากภาษีประชาชน)

รวมถึงเก้าอี้พับและท่อนไม้ ที่เคยถูกใช้ย่ำยีร่างไร้ชีวิตของนักศึกษาในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

ที่น่าสนใจก็คือ ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมา ล้วนแล้วแต่ถูกทำขึ้นจากเซรามิกทั้งสิ้น

“จุดเริ่มต้นของนิทรรศการครั้งนี้มีที่มาจากเมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว ที่ผมเห็นข่าวการจับกุม ปราบปราม และสลายการชุมนุมประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นหรือเรียกร้องประชาธิปไตย จากการบังคับใช้กฎหมายและการใช้ความรุนแรงในการควบคุมประชาชนโดยอำนาจรัฐ”

“ก่อนหน้านี้เมื่อประมาณ 5 ปีที่แล้ว ผมขึ้นมาทำงานประจำที่เชียงใหม่แล้วมีเหตุให้ต้องออกจากงานกะทันหัน แต่ผมยังอยากอยู่เชียงใหม่ต่อ เลยนำเงินชดเชยจากการถูกเลิกจ้างไปซื้ออุปกรณ์และเตาเผาเซรามิกมาทดลองทำดูโดยไม่มีพื้นฐานอะไรเลย แรกๆ ก็ทำเป็นพวกข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันอย่างพวก ถ้วย, จาน, ชาม, แก้ว ขายหาเลี้ยงชีพเป็นส่วนใหญ่ หลังจากนั้นก็ค่อยๆ ฝึกฝนเรียนรู้ไปเรื่อยๆ พอผ่านไปสี่ห้าปี ก็รู้สึกว่าเราเริ่มเรียนรู้เทคนิคจนสามารถแสดงออกถึงประเด็นอะไรบางอย่างออกมาได้บ้าง”

“แต่พอวันหนึ่งเกิดวิกฤตโควิด-19 จนตลาดถูกปิด ทำให้ผมออกไปขายของไม่ได้ เครื่องมือเครื่องใช้หรือข้าวของที่เคยทำก็ไม่ถูกใช้งาน ผมก็เลยจำลองเครื่องมือเครื่องใช้และข้าวของเหล่านั้นออกมาเป็นงานเซรามิกเอาไปขายตามตลาดนัด นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานชุดนี้”

“ประจวบกับสถานการณ์บ้านเมืองรอบๆ ตัวที่เกิดขึ้น ผมก็เลยลองเอาเทคนิคที่ว่านี้มาต่อยอดด้วยความคิดที่ว่า เราจะใช้งานเซรามิกสื่อสารหรือบอกเล่าสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันผ่านสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันได้ไหม?”

 

 

“แรงบันดาลใจเริ่มต้นของนิทรรศการครั้งนี้มาจากประวัติศาสตร์ของปืน ซึ่งเป็นวัตถุที่สื่อความหมายถึงอำนาจและความรุนแรง และเป็นเครื่องมือที่รัฐใช้ในการควบคุม ปราบปราม สังหารประชาชนที่คิดเห็นต่างจากอำนาจรัฐมาในหลายยุคสมัย ในขณะเดียวกัน ปืนก็เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์การเมืองของทั้งประเทศไทยและในหลายประเทศทั่วโลก”

“ผมสร้างผลงานประติมากรรมเซรามิกรูปปืน ที่รวบรวมมาจากชนิดของปืนที่ถูกใช้ในแต่ละยุคสมัย โดยได้ต้นแบบมาจากภาพถ่าย, สิ่งพิมพ์เก่าๆ อย่างหนังสือพิมพ์ หรือจากชนิดของกระสุนที่พบจากหลักฐานการชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองต่างๆ”

“ส่วนผลงานชิ้นอื่นๆ ส่วนหนึ่งผมสร้างขึ้นมาโดยได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ ทั้งในช่วงเวลาปัจจุบันและในอดีต, อีกส่วนก็เป็นการสื่อสารความรู้สึกและความคิดเห็นส่วนตัว, บางชิ้นทำหน้าที่คล้ายจิ๊กซอว์ที่ผมพยายามต่อเพื่อเรียนรู้ปัญหาในสังคมนี้ที่ผ่านมาว่าเกิดจากอะไร, ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่ผมเคยอ่าน, ข้อมูลข่าวสารที่ผมเคยดู, ผลงานบางชิ้นก็สร้างขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจจากนักต่อสู้เคลื่อนไหวทางการเมืองอย่าง ทนายอานนท์ นำภา เป็นต้น”

 

 

ในมุมมองของศิริศักดิ์ เซรามิกไม่เพียงเป็นทักษะทางวิชาชีพและเอกลักษณ์ตัวตนของเขาเท่านั้น หากยังมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ที่ลึกซึ้งยิ่งไปกว่านั้น

“นอกจากเซรามิกจะเป็นเทคนิคที่ผมทำในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว ผมคิดว่าเซรามิกยังเป็นวัสดุที่สื่อความหมายถึงความแข็งแรง ทนทาน แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเปราะบาง สามารถแตกเป็นเสี่ยงๆ ได้ทุกเมื่อ เช่นเดียวกับสถานการณ์ทางการเมืองในบ้านเราที่มีความอ่อนไหวในทุกๆ เหตุการณ์ตลอดมา นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน, ผมเลยเลือกใช้เซรามิกเป็นเทคนิคหลักในการสร้างผลงานในนิทรรศการนี้ขึ้นมา”

นอกจากประติมากรรมรูปอาวุธหลากชนิดแล้ว ในนิทรรศการยังมีผลงานศิลปะที่จำลองข้าวของเครื่องใช้ที่ดูเหมือนจะธรรมดา (แต่ไม่ธรรมดาในสายตาผู้ฝักใฝ่การเมืองที่ดวงตาไม่มืดมัว)

ไม่ว่าจะเป็นเหล่าบรรดาหนังสือต้องห้ามหรือล่อแหลม (ในสายตาเจ้าหน้าที่รัฐ) หลากหลายเล่ม ปฏิทินในเดือนสำคัญอันแสลงใจฝ่ายอนุรักษนิยมไทย

ภาพถ่ายเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองต่างๆ

หรือแม้แต่หน้าจอคอมพิวเตอร์บนโต๊ะทำงานที่เปิดหน้าเว็บที่ดูน่าจะเป็นภัยต่อความมั่นคง (ของอำนาจรัฐ)

ซึ่ง (เกือบ) ทั้งหมดก็ล้วนแล้วแต่ทำขึ้นจากเซรามิกเช่นเดียวกัน

 

 

“พื้นที่ภายในนิทรรศการครั้งนี้ผมจำลองมาจากพื้นที่ส่วนตัวของผมเอง อย่างโต๊ะที่เห็นก็จำลองมาจากโต๊ะทำงานที่ผมนั่งคิด นั่งอ่านหนังสือ หรือเสพข้อมูลข่าวสารในคอมพิวเตอร์และมือถือจากความสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับเหตุการณ์และสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศไทย หรือปฏิทินที่เห็นก็เป็นปฏิทินในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นเดือนที่ตรงกับวันที่ 24 มิถุนายน 2475 วันเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย และก็บังเอิญตรงกับเดือนเกิดของผมด้วย, แต่ในปัจจุบัน วันที่ว่านี้ก็แทบจะไม่ได้ถูกให้ความสำคัญอะไรเลย”

“หรือแม้แต่วันรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงกับวันเปิดของนิทรรศการครั้งนี้ ก็ถูกลดความหมายให้กลายเป็นแค่วันหยุดธรรมดา” (ในขณะที่รัฐธรรมนูญของไทยเองก็ถูกฉีกทิ้งครั้งแล้วครั้งเล่าเช่นกัน)

ท้ายสุด บนผนังฝั่งหนึ่งของห้องแสดงนิทรรศการยังมีแถวกระเบื้องโมเสกติดเรียงเป็นตัวหนังสือที่ดูคล้ายจะอ่านได้ แต่อ่านยังไงก็อ่านไม่ออกว่าเขียนว่าอะไรกันแน่?

 

 

“กระเบื้องโมเสกบนผนัง ผมต้องการสื่อถึงสถานการณ์ในบ้านเมืองเราที่ประชาชนถูกจำกัดเสรีภาพในการพูด แสดงออก หรือสื่อสารความคิดหรือความเห็น ด้วยการใช้กฎหมายและอำนาจรัฐข่มขู่ ปิดกั้น เซ็นเซอร์ และปิดปากประชาชนที่คิดเห็นต่าง ข้อความที่เห็นผมตั้งใจให้ดูเหมือนจะอ่านได้ แต่จริงๆ แล้วอ่านไม่ออก (หรือเปล่า?) เพราะถูกเซ็นเซอร์อยู่ อีกอย่าง กระเบื้องลายโมเสกที่ต่อๆ กันก็ดูคล้ายกับพิกเซลบนจอคอมพิวเตอร์ หรือการใช้ลายโมเสกเบลอภาพในการเซ็นเซอร์ด้วยเหมือนกัน, ผมคิดว่ากฎหมายที่รัฐใช้ปิดปากเรานั้นไม่ต่างอะไรกับดาบสองคมที่จะสะท้อนย้อนกลับไปสู่ผู้มีอำนาจในสักวันหนึ่ง”

“ผลงานในนิทรรศการนี้เกิดจากความคับแค้นหลายๆ อย่าง ทั้งในเรื่องของการดำรงชีวิต และการทำมาหากิน ที่ได้รับผลกระทบจากการบริหารจัดการที่ล้มเหลวของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สถานการณ์การระบาดของโควิด-19, สิ่งเหล่านี้เกิดจากโครงสร้างส่วนบนและอำนาจรัฐที่ไม่ได้ใส่ใจหรือเห็นหัวประชาชนเลยแม้แต่น้อย”

 

 

 

นิทรรศการ Unforgetting History โดย ศิริศักดิ์ แซ่โง้ว จัดแสดงที่ Cartel Artspace ซอยนราธิวาส 22, ตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2564-20 มกราคม 2565 ทุกวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 13.00-18.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์-อังคาร)

ติดต่อสอบถามได้ที่ศิริศักดิ์ (ปู) 06-1984-1827