อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : XHIBITION IN THE DARK การทดลองทางศิลปะในพื้นที่มืด

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

 

XHIBITION IN THE DARK

การทดลองทางศิลปะในพื้นที่มืด

 

ในตอนนี้ผมขออนุญาตใช้พื้นที่ในคอลัมน์นี้แบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับนิทรรศการศิลปะที่ผมได้มีส่วนร่วมสร้างสรรค์ขึ้นในฐานะคิวเรเตอร์กันอีกรอบ

ที่น่าสนใจก็คือนิทรรศการที่ว่านี้ไม่ได้เป็นการจัดแสดงงานศิลปะในแบบที่เราคุ้นเคยกันตามปกติ

ส่วนจะเป็นอย่างไรนั้น เรามาร่วมกันหาคำตอบได้ในนิทรรศการที่มีชื่อว่า

XHIBITION IN THE DARK โดย ชูเกียรติ ลิขิตปัญญารัตน์ อดีตมัณฑนากรและนักสร้างแบรนด์ระดับโลก ผู้มีส่วนร่วมในโครงการออกแบบให้กับบริษัทชั้นนำของโลกมากมายอย่าง American Express, Northwest Airlines, Citibank

เขายังเป็นที่ปรึกษาทางดีไซน์ให้หน่วยงานและองค์กรชั้นนำในประเทศอย่าง PTT, Thai Airways International, งานบ้านและสวนแฟร์

รวมถึงร่วมงานกับแบรนด์ดีไซน์ชั้นนำของโลกอย่าง Knoll, Landor

และยังวาดภาพประกอบให้สื่อสิ่งพิมพ์ชั้นนำของโลกอย่าง The New York Times, Business week

ปัจจุบันชูเกียรติอุทิศเวลาให้กับการทดลองทางความคิดสร้างสรรค์และการค้นคว้าองค์ความรู้ใหม่ๆ อย่างจริงจัง

 

 

 

 

XHIBITION IN THE DARK เป็นนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งใหญ่ครั้งแรกในประเทศไทยของชูเกียรติ ที่นำเสนอการทดลองทางความคิดสร้างสรรค์ของเขา

โดยมีหลักการใหญ่ๆ เกี่ยวกับการสำรวจความเป็นมนุษย์, กระบวนการทำงานสร้างสรรค์, และแนวคิดเกี่ยวกับข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data

ซึ่งศิลปินมองว่าการทำงานสร้างสรรค์อย่างงานศิลปะ, สถาปัตยกรรม, หรืองานออกแบบแขนงต่างๆ ของมนุษย์นั้นเป็นเรื่องของการสะสมข้อมูลมานับแต่สมัยโบราณ ย้อนกลับไปถึงยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยาการ (Renaissance) ไปจนถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์

ซึ่งแนวคิดเกี่ยวกับ Big Data และระบบการประมวลผลแบบอัลกอริธึ่ม (Algorithm) ที่ใช้ในเทคโนโลยีดิจิตอลในยุคปัจจุบัน (ซึ่งถูกคิดค้นและพัฒนาขึ้นมาในอดีตกาลอันไกลโพ้นก่อนหน้าในสมัยอาณาจักรบาบิโลนและอียิปต์โบราณ) หรือแม้แต่แนวคิดเกี่ยวกับ Kinetic Space หรือพื้นที่แห่งการนำเสนอพลังงานการเคลื่อนที่ของวัตถุหรืออนุภาค ในอนาคตเมื่อศาสตร์เหล่านี้หลอมรวมตัวกันจนก้าวข้ามพ้นระดับสติปัญญามนุษย์ (state of wisdom) เมื่อนั้นอาจเกิดเป็นโลกใหม่ที่เราไม่เคยจินตนาการถึงก็เป็นได้

สิ่งละอันพันละน้อยที่ร้อยเรียงเป็นข้อมูลที่เชื่อมโยงจากประสบการณ์และความสนใจใฝ่รู้ที่สั่งสมมาอย่างยาวนานของศิลปินเหล่านี้ ไม่ได้ถูกนำเสนอในพื้นที่แจ้งแสงสว่างไสวตามขนบการแสดงงานศิลปะตามปกติธรรมดา หากแต่ถูกนำเสนอในพื้นที่มืดมัวสลัวแสง

ดังความเชื่อของศิลปินที่ว่า ภาพที่ดีที่สุดคือภาพที่มองเห็นในความมืด และพื้นที่ (Space) ที่ดีที่สุด คือพื้นที่ที่ไม่รู้จุดหมาย เหตุเพราะเราไม่อาจแยกแยะระหว่างความเป็นจริงหรือมายาด้วยการมองเห็นและรับรู้เห็นด้วยดวงตา สิ่งที่เราพึ่งพาได้ก็มีแต่ความรู้สึกนึกคิด หรือแม้แต่สัญชาตญาณอันมีที่มาจากสมองและหัวใจเท่านั้น

โดยนิทรรศการประกอบด้วยผลงานหลัก 4 ส่วน คือ

 

 

 

Tree of Knowledge ผลงานศิลปะจัดวางที่ประกอบขึ้นจากฐานข้อมูลในสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อออนไลน์ ที่เชื่อมโยงประเด็นเกี่ยวกับ Big Data ในงานศิลปะ, สถาปัตยกรรม, วรรณกรรม, ดนตรี ไปจนถึงการเมือง และประเด็นเกี่ยวกับศรัทธาและความเชื่อ ผ่านคลังข้อมูล และองค์ความรู้ที่ศิลปินสั่งสมมาเป็นเวลาหลายทศวรรษ

New York, New York ผลงานศิลปะจัดวางที่ประกอบขึ้นจากพยานวัตถุ และวัตถุสั่งสมอันเกิดจากประสบการณ์การทำงานร่วมกับหลากองค์กรชั้นนำระดับโลกเป็นเวลากว่าทศวรรษของศิลปิน ในมหานครที่เป็นศูนย์กลางของอำนาจธุรกิจศิลปะและการออกแบบของโลกอย่างนิวยอร์ก

You are what you eat ผลงานศิลปะจัดวางที่เป็นเสมือนหนึ่งอัลกอริธึ่ม หรือระบบการประมวลผลจากประสบการณ์ความหลงใหล การศึกษาเรียนรู้ และการใช้ชีวิตที่ผ่านมาของศิลปิน ดังคำกล่าวที่ว่า “คุณกินอะไร คุณก็เป็นแบบนั้น” นั่นเอง

Kinetic Space ผลงานศิลปะจัดวางเชิงโต้ตอบ (Interactive installation) ที่ศิลปินเปลี่ยนพื้นที่แสดงงานให้กลายเป็นห้องทดลองของ Kinetic Space

หรือพื้นที่แห่งการนำเสนอพลังงานการเคลื่อนที่ของวัตถุหรืออนุภาค ที่ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสรรค์ และกำหนดผลลัพธ์ของตัวงานได้

 

 

 

ชูเกียรติกล่าวถึงแรงบันดาลใจของการทดลองทางศิลปะในพื้นที่มืดครั้งนี้ของเขาว่า

“ตามความเข้าใจปกติ ในการสื่อสารด้วยสายตา (Visual Communication) ของมนุษย์ เรามักจะคิดว่าถ้าเราอยู่ในความมืด เราจะมองไม่เห็นอะไรเลย แต่ในความเป็นจริง เมื่อสายตาของเราถูกปรับให้ชินกับความมืด เราก็จะสามารถมองเห็นได้”

“ผมจึงเกิดความคิดในการทดลองสร้างภาพที่ไม่ได้เกิดจากการวาดรูปตามปกติ หากแต่เกิดขึ้นจากการผสมผสานเรื่องแสงและเงา และการมองภาพในความมืด คล้ายกับทฤษฎีการรื้อสร้าง (Deconstruction) ของ ฌากส์ แดร์ริดา (Jacques Derrida) ซึ่งเป็นการเล่นกับการรับรู้ตามปกติที่มนุษย์เราจะเชื่อในสิ่งที่ตาเห็น แต่พอความสามารถในการมองเห็นของเราถูกทำให้ลดน้อยลง เราก็จะเกิดความสงสัยว่าสิ่งที่เผชิญหน้าอยู่เป็นความจริงหรือภาพลวงตากันแน่”

“ผมเลยเกิดความคิดที่จะสร้างพื้นที่ที่เคลื่อนไหวได้ หรือ Kinetic Space ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทำให้เกิดความก้ำกึ่งระหว่างสิ่งที่ปรากฏในความเป็นจริงกับภาพลวงตา จากความเคลื่อนไหวภายในพื้นที่ระหว่างที่เรามองเห็น ในช่วงขณะนั้น สมองของเราก็จะประมวลผลจากภาพที่เรามองเห็นออกมาเป็นข้อมูล ผมสนใจกระบวนการเหล่านี้ ความสนุกอยู่ตรงที่เราไม่อาจคาดเดาได้ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร”

 

 

 

 

ในนิทรรศการยังมีส่วนของการจัดเเสดงผลงานจิตรกรรม, ภาพวาดลายเส้น (ที่ไม่เพียงวาดลงบนผืนผ้าใบหรือกระดาษ หากแต่วาดลงบนวัสดุข้าวของรอบตัวทั่วไปอย่างซองจดหมาย, โปสการ์ด, แผ่นพับโฆษณา, ถุงและกล่องกระดาษ ไปจนถึงแผ่นพลาสติกตกแต่งผนัง), ภาพวาดดิจิตอล และหนังสือภาพที่เป็นเสมือนหนึ่งบันทึกทางความคิดสร้างสรรค์ที่ศิลปินสั่งสมมาตลอดอาชีพการทำงานอันยาวนาน

หนึ่งในจำนวนนั้นคือ ALGORITHM 2021 หนังสือที่บรรจุผลงานที่ถ่ายทอดแนวคิดเกี่ยวกับอัลกอริธึ่มที่ส่งอิทธิพลต่อมนุษยชาติออกมาเป็นภาพลายเส้นต่อเนื่องร้อยเรียงกันบนหน้ากระดาษความยาวกว่า 3 เมตร ที่ถูกตีพิมพ์เป็นหนังสือในขนาดเท่าจริงอีกด้วย

“เวลาผมวาดภาพ ผมวาดด้วยวิธีการด้นสด (Improvisation) เหมือนการเล่นดนตรีแจ๊ซ เพราะผมจะวาดโดยไม่รู้ว่าภาพจะเสร็จออกมาแบบไหน แต่ผมจะใช้วิธีการเก็บสะสมข้อมูลก่อน แล้วก็ออกแบบในหัวว่าจะวาดเรื่องอะไร, ตัวละครเป็นอะไร, อยู่ในพื้นที่ (space) แบบไหน, แล้วก็เริ่มวาดจากข้อมูลที่มีอยู่แบบสดๆ โดยไม่มีการร่างภาพ”

“ส่วนการจัดองค์ประกอบในภาพ ผมได้แรงบันดาลใจมาจากกรอบสินเธาว์ (เส้นกรอบรูปหยักฟันปลาที่ใช้ในการแบ่งมิติในงานจิตรกรรมฝาผนังไทย) และทฤษฎีจากศิลปะการวาดภาพของจีนที่ผมเคยเรียนมา ที่กล่าวว่า ถ้าคุณวาดภาพพื้นที่ที่มีรายละเอียดมาก คุณต้องวาดให้แน่นจนรู้สึกเหมือนไม่มีลมหายใจเล็ดลอดออกมา ในขณะที่ถ้าคุณวาดพื้นที่โล่งกว้าง คุณต้องวาดให้โล่งเหมือนม้าทั้งฝูงวิ่งผ่านได้, สุดท้ายแล้วข้อมูลทั้งหลายเหล่านี้จะสื่อถึงการวิวัฒนาการของพื้นที่ (Evolution Space) ของมนุษย์ในอนาคต”

“ท้ายที่สุด ผมไม่ได้กำหนดว่าประสบการณ์ที่ผู้ชมได้รับจะต้องเป็นอะไร คิดซะว่าเป็นการวัดค่าอัลกอริธึ่มส่วนบุคคลมากกว่า ถ้าคุณคิดว่างานศิลปะเป็นอะไรที่มีแต่ภาพวาด, ภาพเขียน คุณก็จะได้เสพงานแนวทางหนึ่ง แต่ว่าถ้าคุณคิดว่างานศิลปะคือกระบวนกรคิด คุณก็จะได้เสพงานอีกแนวทางหนึ่งได้ด้วยเหมือนกัน, ผมก็แค่อยากแสดงของสะสมส่วนตัวของผม ทั้งวัตถุข้าวของหรือแม้แต่ความคิดและประสบการณ์ที่ผมได้รับมาให้ผู้ชมได้ร่วมรับรู้”

“ผมคิดว่านิทรรศการครั้งนี้เป็นเหมือนการทดลอง น่าสนุกที่คนทำงานกับผู้ชมจะได้ทำการทดลองร่วมกัน ผมไม่ได้คาดหวังว่านิทรรศการครั้งนี้ผู้ชมดูแล้วจะชอบหรือพึงพอใจทั้งหมด เพราะแต่ละคนก็มีรสนิยม, การรับรู้ หรือความรู้สึกนึกคิดที่แตกต่างกันตามแต่ประสบการณ์ที่แต่ละคนได้พบเจอมาอยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big data ที่แต่ละคนสั่งสมมาตลอด”

“อย่างงานบางชุดในนิทรรศการนี้เป็นเรื่องของข้อมูลความรู้ที่เราอาจผ่านตามาตั้งแต่เด็กๆ แต่เราอาจไม่รู้ว่าคืออะไร แต่พอได้เห็นอีกครั้งเราก็อาจระลึกขึ้นมาได้, ถึงแม้มนุษย์แต่ละคนจะมีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้น่าจะต้องมีอัลกอริธึ่มบางอย่างที่ทำให้มนุษย์เรามีระบบคิดที่เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน”

“สำหรับผม กระบวนการทดลองที่ว่านี้สนุกกว่าการเห็นงานศิลปะที่สำเร็จออกมาเป็นชิ้นงานเสียอีก”

 

 

 

นิทรรศการ XHIBITION IN THE DARK โดย ชูเกียรติ ลิขิตปัญญารัตน์ จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564-31 มกราคม 2565 (จันทร์-เสาร์ 10:00-17:00 น.)

ณ Xspace Art Gallery ถนนสุขุมวิท 71 ซอยปรีดีพนมยงค์ 14 (เข้าชมฟรี)

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Official Line : @xspace หรือคลิก https://lin.ee/IoAkEaF, โทร. 06-6073-2332

อีเมล : [email protected]