อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : Cross-Words การแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ศิลปะในโลกคู่ขนาน

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

Cross-Words

การแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ศิลปะ

ในโลกคู่ขนาน

 

การแพร่ระบาดทั่วโลกของโรคโควิด-19 นอกจากจะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนทั้งโลกให้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงแล้ว

ศิลปะและวัฒนธรรมเองก็เป็นสิ่งที่ได้รับผลกระทบอย่างมากเช่นกัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทศกาลศิลปะต่างๆ ที่จัดขึ้นทั่วโลก ที่ต่างต้องระงับหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นการท้าทายความคิดสร้างสรรค์และไหวพริบของผู้จัดและศิลปินผู้เข้าร่วมงานอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน

หนึ่งในจำนวนนั้นคือ เทศกาลศิลปะ Nakanojo Biennale ครั้งที่ 8 ในเมืองนากาโนโจ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในช่วงเวลาปกติ ศิลปินนานาชาติผู้ร่วมแสดงผลงานในเทศกาลนี้จะสามารถเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น และใช้เวลาทำงานในฐานะ “ศิลปินในพํานัก” เพื่อสร้างผลงานชิ้นใหม่ไปติดตั้งในสถานที่อันหลากหลายในพื้นที่ของเมืองนากาโนโจ

หากในปี 2021 นี้ ทางเทศกาลขอความร่วมมือให้ศิลปินจากต่างประเทศสร้างสรรค์ผลงานจากประเทศที่ตนพำนัก เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคร้าย โดยเรียกศิลปินเหล่านี้ว่า “Remote Artist” (ศิลปินทางไกล)

และกำหนดธีมหลักของนิทรรศการครั้งนี้ว่า “Para-Perception” (การรับรู้คู่ขนาน)

 

 

หนึ่งในผลงานของศิลปินทางไกลที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมแสดงในเทศกาลครั้งนี้จากการเปิดรับสมัครจากทั่วโลกคือโครงการศิลปะที่มีชื่อว่า Cross-Words ของศิลปินชาวไทยอย่าง วุฒินท์ ชาญสตบุตร นั่นเอง

วุฒินท์เป็นศิลปินผู้ใช้วิธีการผสมผสานสื่ออันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นประติมากรรมจัดวาง, ภาพยนตร์ ภาพเคลื่อนไหว, ภาพวาดดิจิตอล, ศิลปะเชิงโต้ตอบ (Interactive art) และการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์

เขาสนใจในคุณลักษณะอันเลื่อนไหลไม่คงรูปของสื่อดิจิตอล ที่ส่งผลต่อการดําเนินชีวิตประจําวันในแง่มุมต่างๆ และพยายามค้นหาความเป็นไปได้ในการนํามาประยุกต์ใช้เป็นสื่อกลางในการสร้างงานศิลปะโดยไม่ยึดติดกับเอกลักษณ์ทางกายภาพของผลงาน

โครงการศิลปะ Cross-Words เป็นการร่วมงานกันระหว่างวุฒินท์ และผู้คนที่อาศัยอยู่ภายในเมืองนากาโนโจ โดยไม่มีการขนส่งผลงานข้ามประเทศเลยแม้แต่น้อย หากศิลปินกำหนดรูปแบบการนำเสนอให้ Cross-Words เป็นผลงานศิลปะจัดวางเชิงโต้ตอบ (Interactive installations) ที่ประกอบด้วยนิทรรศการ 2 ส่วน

ส่วนแรกถูกจัดแสดงอยู่ในเมืองนากาโนโจ และอีกส่วนจัดแสดงอยู่ในประเทศไทย

และนิทรรศการทั้ง 2 ส่วนจะถูกจัดแสดงคู่ขนานกันไปในช่วงเวลาเดียวกัน โดยองค์ประกอบในทั้ง 2 พื้นที่การแสดงงานจะมีการจัดวางให้มีลักษณะทางกายภาพที่คล้ายคลึงกันเสมือนฝาแฝด

และยังสามารถเชื่อมโยงถึงกันและกันได้จากการสื่อสารผ่านสื่อดิจิตอล

 

 

 

“ก่อนหน้านี้ผมเคยเข้าร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะ Nakanojo Biennale มาแล้วในปี 2019 ตอนนั้นผมเดินทางไปสร้างงานร่วมกับคนในท้องถิ่นที่นั่น พอเจอสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เราไม่สามารถเดินทางได้ ก็เลยต้องทำงานจากประเทศที่ตัวเองอยู่เพื่อส่งไปแสดง”

“ผมคิดว่าจิตวิญญาณของเทศกาลนี้คือการทำงานร่วมกับคนในท้องถิ่น ซึ่งผมอยากคงจิตวิญญาณนี้เอาไว้ ผมเลยคิดค้นรูปแบบการทำงานให้มีการแลกเปลี่ยนกันระหว่างประเทศไทยและญี่ปุ่น โดยประกาศรับอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการที่อาศัยอยู่ในเมืองนากาโนโจ และให้พวกเขาส่งคำ, วลี หรือข้อความ กับภาพถ่าย อะไรก็ได้ แลกเปลี่ยนกันกับของผม จากนั้นทั้งสองฝั่งจะต้องใช้คำและภาพเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจในการแต่งเรื่องสั้นในภาษาของตัวเองขึ้นมา และส่งกลับไปให้อีกฝ่ายแปลเป็นภาษาของตัวเองด้วยวิธีการอะไรก็ได้ และสร้างเป็นภาพประกอบเรื่องสั้นขึ้นมา 7 ภาพ”

“พอได้มาครบ ผมก็เอาวัตถุดิบเหล่านี้ (คํา, ภาพถ่าย, เรื่องสั้น และภาพประกอบ) มาใช้เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้เทคโนโลยี AR (Augmented reality : เทคโนโลยีที่ผสานภาพเสมือนจริงเข้ากับโลกแห่งความเป็นจริง) ในการสร้างภาพเคลื่อนไหว”

“ภาพที่ได้มาจะถูกฉายเป็นสองส่วน ส่วนแรกถูกฉายบน Cross-Words’ Board หรือกระดานครอสเวิร์ดส์ โครงสร้างจอไม้ที่มีรูปลักษณ์คล้ายกระดานเกมต่อศัพท์อักษรไขว้ (Crossword board game) และเกมกระดานแบบญี่ปุ่นอย่าง ‘โกะ’ (หมากล้อม) ‘หน้ากระดาน’ ของ Cross-Words’ Board จะทำหน้าที่นำเสนอภาพของ AR marker ในรูปแบบภาพเคลื่อนไหว บริเวณด้านบนของโครงสร้างได้มีการติดตั้งกล้อง web camera เพื่อส่งสัญญาณภาพจากหน้ากระดานไปสู่โปรแกรมประมวลผลในคอมพิวเตอร์ ซึ่งภาพของ AR marker แต่ละตัวจะกระตุ้น (trigger) ให้เกิดรูปทรงนามธรรมที่ห่อหุ้มด้วยพื้นผิวที่แตกต่างกันออกไป”

“ภายในพื้นที่แสดงงานในประเทศไทยสัญญาณภาพที่ว่านี้จะถูกฉายลงบนระนาบด้านหนึ่งของฉากรับภาพที่เรียกว่า ‘Fusion Plane’ (ที่ตั้งขึ้นโดยได้แรงบันดาลใจมาจากท่าการรวมร่าง ‘ฟิวชั่น’ ของตัวละครในการ์ตูนดราก้อนบอล) ซึ่งทำจากวัสดุกึ่งโปร่งแสงขึงตึงอยู่กับกรอบไม้เนื้อแข็ง ในขณะที่อีกด้านหนึ่งคือสัญญาณภาพที่ถูกส่งมาจากเมืองนากาโนโจผ่านทางโปรแกรม ZOOM และ YouTube Live ตามเวลาจริง (real-time)”

 

 

“ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น สัญญาณภาพที่สร้างขึ้นในประเทศไทยก็ถูกส่งผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตให้ไปปรากฏบนระนาบด้านหนึ่งของ Fusion Plane ที่เป็นส่วนหนึ่งของผลงานภายในห้องนิทรรศการของ Nakanojo Biennale ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้ถูกกำหนดให้มีกลไกการเกิดภาพและการส่งสัญญาณภาพในรูปแบบเดียวกัน”

“ภาพที่อยู่บนฉากทั้งสองด้านจึงเป็นการผสมกันของภาพที่ส่งและรับสัญญาณระหว่างสองประเทศพร้อมกันสดๆ ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ทำให้ผู้ชมงานในทั้งสองประเทศได้เห็นภาพจากพื้นที่แสดงงานทั้งสองแห่งในช่วงเวลาเดียวกัน ถ้ามีคนเข้าไปดูงานในพื้นที่แสดงงานทั้งสองแห่งพร้อมกัน แต่ละฝั่งก็สามารถมองเห็นกันและกันได้อีกด้วย”

 

 

 

นอกจากจะเป็นการผสมผสานการทำงานศิลปะรูปแบบดั้งเดิมเข้ากับเทคโนโลยีดิจิตอลอันแปลกใหม่ล้ำสมัยแล้ว นิทรรศการครั้งนี้ยังเป็นการหลอมรวมกันระหว่างสื่อทางศิลปะอันแตกต่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นภาพเคลื่อนไหว ภาพถ่าย ภาพวาด ไปจนถึงงานวรรณกรรม เรื่องสั้น หรือแม้แต่การ์ตูนช่องแบบการ์ตูนญี่ปุ่นที่เราเรียกกันว่า “มังงะ” อีกด้วย

“โดยพื้นฐานผมเป็นคนชอบอ่านหนังสืออยู่แล้ว ก็เลยอยากทำงานในลักษณะของเรื่องสั้น ส่วนการ์ตูนเป็นส่วนที่เกิดขึ้นมาทีหลัง เพราะผมชอบเรื่องสั้นที่ฝั่งญี่ปุ่นเขียนมาให้มาก ก็เลยเกิดไอเดียขึ้นมาว่าอยากจะทำเรื่องสั้นที่ว่านี้ให้กลายเป็นการ์ตูน แต่ด้วยความกะทันหัน ทางญี่ปุ่นเลยหาคนวาดการ์ตูนให้ไม่ทัน ผมเลยให้รุ่นพี่คนหนึ่งเอาเรื่องสั้นเรื่องนี้ไปเขียนเป็นการ์ตูนขึ้นมา แต่ที่แสดงในนิทรรศการยังเป็นแค่ภาพร่างของการ์ตูน เพราะยังวาดไม่เสร็จ ถ้าวาดเสร็จแล้วผมตั้งใจว่าจะทำเป็นรูปเล่มขึ้นมาด้วย”

“หัวใจหลักของนิทรรศการครั้งนี้คือการตีความ ผมมองว่าการทำงานสร้างสรรค์เป็นเหมือนการหว่านเมล็ดพันธุ์ ผลงานที่ผมและอาสาสมัครจากญี่ปุ่นแลกเปลี่ยนกันทำ เป็นเหมือนการแลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในพื้นที่หนึ่งให้ไปปรากฏงอกเงยบนผืนดินของอีกพื้นที่หนึ่ง”

“ส่วนมันจะเติบโตงอกเงยแบบไหนอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ดินฟ้าอากาศของพื้นที่นั้นๆ เป็นตัวกำหนดนั่นเอง”

 

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับนิทรรศการได้ที่ http://wuttinchansataboot.com/crosswords/, อ่านเรื่องสั้นในนิทรรศการได้ที่ https://bit.ly/30dW0oW, https://bit.ly/3C7FtQ9

นิทรรศการ Cross-Words โดย วุฒินท์ ชาญสตบุตร และภัณฑารักษ์ เซบาสเตียน ตา-ยาค (Sébastien Tayac) จัดแสดงที่แกลเลอรี ซีสเคป (Gallery Seescape) จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน-14 พฤศจิกายน 2021, นิทรรศการครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลศิลปะ Nakanojo Biennale ครั้งที่ 8 ปี 2021 ที่จัดขึ้น ณ เมืองนากาโนโจ ประเทศญี่ปุ่น

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากศิลปิน, Gallery Seescape