#BKKY : “เรื่องจริง” และ “เรื่องแต่ง” ของ “วัยรุ่นกรุงเทพฯ” ร่วมสมัย [คนมองหนัง]

คนมองหนัง

“#BKKY” ประกาศสถานะของตัวเองอย่างชัดเจนตั้งแต่ฉากแรก (ซึ่งจับภาพเด็กผู้หญิงสองคนจีบ-หยอกกันผ่านการ “เล่นขา” ก่อนจะมีเสียงของผู้ถ่ายทำพูดแทรกขึ้นมาในสถานการณ์ดังกล่าว) ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้คือ “หนังสารคดีกึ่งฟิกชั่น”

ต้องยอมรับว่าหากพิจารณาเปรียบเทียบกับหนังในแนวทางใกล้เคียงกันอีกหลายเรื่อง ผลงานชิ้นนี้อาจไม่ได้มีความเข้มข้น ละเอียดลออ หรือแปลกใหม่น่าตื่นเต้นถึงขีดสุด

ตามทัศนะส่วนตัว “#BKKY” นั้นยังมีท่าทีเป็น “ผู้บุกเบิก” น้อยกว่า “หมอนรถไฟ” ภาพยนตร์เมื่อช่วงต้นปีของ “สมพจน์ ชิตเกษรพงศ์” ที่เป็นหนังสารคดีเจือกลิ่นฟิกชั่นนิดๆ (ในช่วงท้ายเรื่อง) รวมถึง “ดอกฟ้าในมือมาร” และหนังอีกหลายเรื่องของ “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล” ซึ่งมักพยายามขับเน้นให้คนดูเห็นถึงพรมแดนอันพร่าเลือนระหว่าง “เรื่องจริง” กับ “เรื่องแต่ง”

แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ “นนทวัฒน์ นำเบญจพล” ซึ่งระบุว่าตนเองเป็น “ผู้เล่าเรื่อง” ของ “#BKKY” นั้นสามารถ “เล่าเรื่อง” ของหนังเรื่องนี้ออกมาได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน

และ (อาจจะ) เป็นมิตรกับคนดูในวงกว้างได้มากพอสมควร

“ภาคสารคดี” ของ “#BKKY” ค่อยๆ ไล่เรียงบทสัมภาษณ์เด็กวัยรุ่นอายุ 18-19 ปี จำนวนมากในกรุงเทพฯ ว่าด้วยเรื่องการเรียน ความรัก ความฝัน ความสัมพันธ์กับครอบครัว เพศสภาพ ความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมในสถานศึกษา มุมมองคนนอก/คนในสังคม และการเติบโตเปลี่ยนผ่าน

“ภาคสารคดี” ข้างต้น ถูกตัดสลับคลอเคียงไปกับ “ภาคฟิกชั่น” ที่หยิบยก/เลือกสรรเอาทัศนคติต่อชีวิต-ความเข้าใจต่อโลก-การเผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ ของเหล่าวัยรุ่น “ตัวจริง” ในส่วนแรก มาสร้างสรรค์ให้กลายเป็น “เรื่องแต่ง”

ผมรู้สึกสนุกเพลิดเพลินกับรูปแบบและเนื้อหาทั้งสองส่วน ชนิดดูไป หัวเราะไป อมยิ้มไป และไม่ได้ติดขัดกับส่วนใดๆ ของหนังเป็นพิเศษ

กระทั่งหนังมาปิดฉากลงตรงนาทีที่ 75 นั่นแหละ ผมจึงเริ่มตระหนักว่า “เออ! จริงๆ แล้ว หนังเรื่องนี้มันสั้นเกินไป และใช้สอยดอกผลงอกงามจากภาคสารคดีน้อยไปหน่อย”

(ตอนที่ชื่อ “นนทวัฒน์” ในฐานะผู้เล่าเรื่อง ปรากฏขึ้นมาบนจอภาพยนตร์อีกครั้ง ภายหลังเนื้อหาของ “ภาคเรื่องแต่ง” คลี่คลายตัวลง ผมยังนึกว่านั่นคือ “ลูกเล่น (แกล้งจบ)” ที่จะเชื่อมโยงไปสู่จุดเริ่มต้นใหม่ของ “เรื่องเล่า” อื่นๆ อีกประมาณ 2-3 เรื่อง)

ผมคิดว่าต่อให้หนังเรื่องนี้ขยายความยาวออกไปถึงระดับ 120 นาที ความสนุกของมันก็ยังน่าจะคงอยู่ อันเนื่องมาจากตัววัตถุดิบต้นเรื่องที่ดีและมีมากพอ

อีกทั้งความยาวประมาณสองชั่วโมงน่าจะส่งผลให้ “#BKKY” สามารถฉายภาพชีวิตของวัยรุ่นกรุงเทพฯ ได้สลับซับซ้อนยิ่งขึ้นด้วย

จุดที่ผมชอบมากๆ ในหนัง คือ ทัศนคติเรื่องเพศของน้องๆ หลายคนใน “ส่วนสารคดี” ซึ่งต้องขอสารภาพในฐานะผู้ชมวัยครึ่งหลังสามสิบว่า ผมไม่เคยรับรู้ชัดๆ มาก่อนว่าความคิดเรื่องเพศสภาพของเด็กวัยรุ่นไทย/กรุงเทพฯ จะเดินทางไปไกลกันขนาดนี้แล้ว

เพราะสำหรับหลายๆ คน เพศสภาพไม่ใช่แค่การแบ่งชาย-หญิง-LGBT อะไรด้วยซ้ำ แต่หมายถึงสภาวะอันเลื่อนไหลจนยากจะจัดแบ่งประเภทหรือไม่จำเป็นต้องนิยามหมวดหมู่ใดๆ

อีกส่วนที่ผมชอบ ได้แก่ ฉากเล็กๆ ใน “ภาคเรื่องแต่ง” ซึ่งตัวละครสองสาว “โจโจ้” กับ “คิว” นั่งงอนกันริมสระน้ำกลางสวนสาธารณะ ขณะที่คนอื่นต่างลุกขึ้นยืนเคารพธงชาติตอนหกโมงเย็นโดยพร้อมเพรียง

ฉากนี้ให้อารมณ์ผสมปนเปดี คือ มีทั้งอาการเพิกเฉย แต่ก็ไม่ถึงขั้นแข็งขืน ท้าทาย ขบถต่อปทัสถานหลักของสังคม

การเอาแต่นั่งหมางเมินคู่รัก โดยไม่สนใจคนรอบข้างที่พากันลุกขึ้นยืนตรง ณ เวลา 18.00 น. อาจถูกพิจารณาว่ามี “ความเป็นการเมือง” อย่างยิ่ง

หรือตรงกันข้าม บางคนอาจเชื่อแค่ว่าการไม่ (สนใจจะ) ยืนเคารพธงชาตินั้น เกิดจากอาการงอนกันของเด็กสาววัยรุ่นสองคน โดยมิได้ยึดโยงกับเป้าประสงค์ทางการเมืองใดๆ

ทว่า ลักษณะเพิกเฉย (ใสๆ) โดยไร้จุดประสงค์ทางการเมืองเช่นนี้มิใช่หรือ ที่อาจมีพลังกร่อนเซาะในทางการเมืองมากที่สุด?

อีกจุดที่น่าพูดถึง คือ การปรากฏตัวใน “ภาคสารคดี” ของ “เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล” ซึ่งมีนัยยะน่าสนใจไม่น้อย

กล่าวคือ ซีนสัมภาษณ์เนติวิทย์ดูเหมือนจะปรากฏบนจอแค่สองครั้ง (มิใช่บทสนทนาเรื่องการเมืองหนักๆ ด้วย) และแทบไม่ได้ถูกนำไปปรุงแต่งเป็นเรื่องราวใน “ภาคฟิกชั่น”

หรือพูดให้ชัดๆ ได้ว่าเนติวิทย์ไม่ใช่ “ตัวละครหลัก” ของ “#BKKY”

ด้านหนึ่ง หนังอาจกำลังชี้ให้เราเห็นว่าสังคมไทย/กรุงเทพฯ ยุคปัจจุบัน นั้นมีเยาวชนอย่างเนติวิทย์อยู่จริงๆ ทว่า เสียงของเขาไม่ได้ถูกแปรสภาพให้กลายเป็น “พลังหลัก” หรือ “ตัวแทน” ของคนวัยเดียวกันเสมอไป ในทุกกรณีหรือทุกบริบท

หลายครั้งหลายหน การต่อสู้แบบเนติวิทย์อาจจ่อมจมเงียบหายลงไปในกระแสธารอันเชี่ยวกรากของเรื่องราว-ปัญหาชนิดอื่นๆ ที่เพื่อนๆ รุ่นราวคราวเดียวกันกำลังเผชิญหน้า-ตั้งคำถามกับมันอยู่

หรือบางที เรื่องราวเหล่านั้น (ซึ่งคล้ายจะเป็นประเด็นไลฟ์สไตล์ยิบๆ ย่อยๆ) อาจมีพลัง มีศักยภาพแฝงเร้น ไม่ต่างจากสิ่งที่เนติวิทย์สนใจและกำลังเคลื่อนไหว

“ภาคเรื่องแต่ง” ของ “#BKKY” ดูเหมือนจะกลายเป็นข้อถกเถียงหรือ “จุดอ่อน” สำหรับผู้ชมหลายคน

โดยส่วนตัว ผมรู้สึกชอบและสนุกกับเรื่องราวการจีบ-การงอนกันระหว่าง “โจโจ้” และ “คิว” อันเป็นประเด็นตั้งต้นของเนื้อหาภาคนี้

แต่พอตัว “เรื่องแต่ง” ถูกพัฒนาไปเรื่อยๆ มันกลับมีอาการอ่อนแรงลงจริงๆ

บทบาทของตัวละคร “พ่อโจโจ้” ที่หวงแหนลูกสาวจนไม่ให้คบหาผู้ชาย (อาจเป็น “ภาพแทน” ของระบอบอำนาจนิยมแบบปิตาธิปไตย) นั้นดูทื่อและมีความเป็นละครทีวีมากไปหน่อย

เช่นเดียวกับวงจรความรักของ “โจโจ้” ที่ผมไม่แน่ใจว่าควรจะประเมินมันอย่างไรดี?

เพราะมุมหนึ่ง นี่ก็เป็นเหมือนเรื่องราวความสุข ความทุกข์ ความทรงจำ ความพลั้งพลาด และความผิดหวังของรักครั้งแรกๆ ในช่วงวัยรุ่น ที่ดูสมจริงอยู่

ทว่า ลึกๆ แล้ว หนังกลับสรุปบทเรียนความรักของ “โจโจ้” ด้วยท่าทีแบบ “สุภาษิตสอนหญิง” หรือ “การสำนึกบาป” อยู่ไม่น้อย

(ผมเชื่อว่า ถ้า “เรื่องแต่งเกี่ยวกับความรักของโจโจ้” คือ “เรื่องเล่า” 1 ใน 2 หรือ 1 ใน 3 เรื่อง ที่ดำรงอยู่ใน “ภาคฟิกชั่น” ของหนังเรื่องนี้ ปัญหาดังกล่าวอาจถูกมองเห็นได้ไม่เด่นชัดนัก แต่พอมันกลายเป็นเรื่องราวหลักเพียงเรื่องเดียวใน “ส่วนเรื่องแต่ง” เราจึงสามารถมองเห็นข้อด้อยของมันได้ง่ายขึ้น)

อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันอีกครั้งว่า “#BKKY” เป็นภาพยนตร์ไทยที่ดูสนุกมากๆ เรื่องหนึ่งของปีนี้

ด้วยศักยภาพในการได้รอบฉายและโรงฉายที่ค่อนข้างครอบคลุมกว้างขวาง ด้วยเนื้อหาของหนังที่ไม่หนักเกินไปและน่าจะสัมผัสหัวใจของคนดูกลุ่มวัยรุ่นได้ไม่ยาก

หวังว่าหนังเรื่องนี้จะช่วยนำพา “ภาพยนตร์สารคดี” และ “ภาพยนตร์สารคดีกึ่งเรื่องแต่ง” ให้เคลื่อนเข้าไปใกล้ชิดกับผู้ชมชาวไทยมากยิ่งขึ้น