อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : Oblivion การก้าวผ่านอำนาจแห่งความทรงจำ ด้วยการเล่นแร่แปรธาตุทางศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

 

Oblivion

การก้าวผ่านอำนาจแห่งความทรงจำ

ด้วยการเล่นแร่แปรธาตุทางศิลปะ

 

ในโลกศิลปะ มีศิลปินบางคนทำงานเกี่ยวกับเรื่องราวส่วนตัว ขณะที่บางคนทำงานเกี่ยวกับเรื่องราวส่วนรวมหรือสังคม

มีศิลปินเพียงไม่กี่คนที่หลอมรวมเรื่องราวส่วนตัวและส่วนรวมเอาไว้ในผลงานศิลปะของเขาได้อย่างกลมกลืน

หนึ่งในจำนวนนั้นคือศิลปินผู้มีชื่อว่า อริญชย์ รุ่งแจ้ง

คงไม่ต้องสาธยายถึงสรรพคุณของศิลปินผู้นี้ให้มากความ เพราะการที่เขาเป็นหนึ่งในศิลปินร่วมสมัยชาวไทยผู้ได้รับการคัดเลือกให้เข้าไปร่วมแสดงงานในมหกรรมศิลปะที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดของโลกอย่าง Venice Biennale และ Documenta คงเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดี

อริญชย์ใช้ผลงานศิลปะของเขาสร้างความเชื่อมโยงระหว่างความทรงจำส่วนตัวและเรื่องราวรอบตัวทั่วไปในชีวิตประจำวันเข้ากับประเด็นทางสังคม, การเมือง, และประวัติศาสตร์ทั้งในอดีตและปัจจุบันได้อย่างแนบเนียนเปี่ยมชั้นเชิง

เขายังผสานกรอบความคิดอันลุ่มลึกแหลมคมของงานศิลปะแบบคอนเซ็ปช่วลเข้ากับสุนทรียะความงามของงานศิลปหัตถกรรมอันประณีตบรรจง รวมถึงหลอมรวมเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ากับเทคนิคเชิงช่างฝีมือแบบโบราณได้อย่างกลมกลืนลงตัว

ราวกับเป็นนักเล่นแร่แปรธาตุในโลกศิลปะก็ไม่ปาน

 

 

 

หลังจากตระเวนแสดงงานในหลายประเทศทั่วโลก เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อริญชย์มีนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งล่าสุดในบ้านเราที่มีชื่อว่า Oblivion ที่นำเสนอผลงานศิลปะเฉพาะพื้นที่ อันประกอบด้วยผลงานวิดีโอจัดวาง, ประติมากรรมจัดวาง, และงานจิตรกรรม ที่ร้อยเรียงเชื่อมโยงประสบการณ์ส่วนตัวของศิลปินเข้ากับประสบการณ์ส่วนรวมในสังคม

ไม่ว่าจะเป็นความทรงจำส่วนตัวในวัยเยาว์, ความทรงจำจากการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก, ไปจนถึงความทรงจำของบูรพกษัตริย์ผู้ล่วงลับ, และความทรงจำของชนชั้นแรงงานในชนบท หรือแม้แต่ความทรงจำร่วมของสังคมที่เต็มไปด้วยการจำกัดลิดรอนสิทธิเสรีภาพอย่างหนักหน่วงรุนแรงทั้งในอดีตและปัจจุบัน

สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้ถูกถ่ายทอดผ่านวัตถุจัดวางที่มีความงดงามละเมียดละไมราวกับเป็นบทกวีทางทัศนธาตุ, ทั้งผลงานที่ตั้งตระหง่านในรูปของประติมากรรมจัดวางจากแกรนด์เปียโน ที่สายเปียโนถูกเชื่อมร้อยเข้ากับสายโลหะจำนวนนับไม่ถ้วนจนกลายเป็นเครือข่ายระโยงระยางจากตัวเปียโนถึงเพดานลงมายังพื้นราวกับเป็นสายส่งกระแสไฟฟ้า

เชื่อมร้อยห้อยด้วยโลหะที่แปรสภาพจากท่อทองเหลืองที่ใช้ในระบบทำความเย็นหรือสายล่อฟ้า ให้กลายเป็นประติมากรรมรูปห่วงทรงกลมอันไม่สมบูรณ์แบบ

หรือภาพถ่ายทางอากาศของเหมืองแร่เหล็กในจังหวัดเลย บนจอผลงานวิดีโอจัดวางที่แขวนอยู่เคียงข้าง

 

 

ก้อนแร่เหล็กจากเหมืองแห่งนี้ยังถูกนำมาวางทับบนสำเนาพระราชสาส์นโดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เพื่อเตรียมพระราชพิธีพระบรมศพของพระองค์ และยังถูกวางไว้ภายในตัวเปียโนราวกับเป็นสะเก็ดอุกกาบาตที่ร่วงหล่นลงมาจากเบื้องบน

เศษฝุ่นผงเหล็กที่ถูกเจียรทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม (อันมีต้นกำเนิดจากแร่ในเหมือง) ยังถูกนำมาใช้วาดภาพจิตรกรรมนามธรรมที่ดูคล้ายดวงดาวระยิบระยับบนท้องฟ้า

ฝาของแกรนด์เปียโนที่ถูกถอดออกไปวางพิงผนัง วางพาดด้วยเสื้อคลุมเก่าขาดของพี่สาวผู้ล่วงลับของศิลปิน กลิ่นน้ำหอมบนเสื้อของเธออวลอายมาแตะจมูกเจือจาง รางเลือนเช่นเดียวกับแสงสลัวในห้องแสดงงาน และสุ้มเสียงอันเงียบงันของเปียโนที่รอใครสักคนเข้าไปเล่น

 

 

“งานชุดนี้มีเนื้อหาเกี่ยวกับแรงปรารถนาร่วมกันในสังคมที่ถูกกำหนดโดยผู้มีอำนาจ หรืออำนาจจากโครงสร้างส่วนบน ในสภาพแวดล้อมของพื้นที่ทางสังคม ที่กำกับ, สั่งการ และจัดระเบียบสังคมผ่านช่วงเวลาในประวัติศาสตร์, สิ่งเหล่านี้ถูกสื่อสารผ่านเรื่องราวของความตาย และการสร้างอาณาเขตส่วนตัวจากวัตถุและความทรงจำของคนหลากชนชั้น ทั้ง กษัตริย์, สามัญชน, ไปจนถึงคนชายขอบในชนบทอันห่างไกลสังคมเมือง”

“ผมเริ่มต้นจากการไปเยี่ยมบ้านของ จุนโกะ (สุทธิมา สุจริตกุล) เจ้าของหอศิลป์ Nova Contemporary ที่ชวนผมมาแสดงนิทรรศการครั้งนี้ ด้วยความที่ทวดของเธอเคยเป็นคนสนิทใกล้ชิดของรัชกาลที่ 6, ที่นั่น ผมเจอพระราชสาส์น (จดหมาย) ที่รัชกาลที่ 6 ทรงเขียนมอบไว้แก่ทวดของเธอว่าทรงปรารถนาให้จัดการเกี่ยวกับพระราชพิธีพระบรมศพของพระองค์อย่างไรบ้าง, ผมรู้สึกว่าไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นวัตถุที่แสดงถึงแรงปรารถนาของพระมหากษัตริย์ (ที่ไม่อาจทำให้กลายเป็นจริงได้เพราะกฎมณเฑียรบาล), ผมจึงนำจดหมายนี้มาเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานชุดนี้”

 

“อีกประเด็นหนึ่งที่เชื่อมโยงกันคือ แรงปรารถนาอีกประการของรัชกาลที่ 6 ในการสร้างดุสิตธานี เมืองจำลองที่พระองค์นำเอาแนวคิดแบบประชาธิปไตยมาทดลองใช้ในรูปแบบการละเล่นและการละคร ซึ่งทวดของจุนโกะเองก็เป็นมหาดเล็กผู้ดูแลกำกับการละครในวังด้วย, ในขณะที่แรงปรารถนาของพระมหากษัตริย์คืออำนาจที่กำกับควบคุมแรงปรารถนาของประเทศ การสิ้นพระชนม์ของกษัตริย์จึงหมายถึงการเปลี่ยนผ่านแรงปรารถนาส่วนบุคคลของพระองค์ไปสู่แรงปรารถนาของกษัตริย์พระองค์ต่อไป (ท้ายที่สุดการละเล่นที่ว่าก็ถูกเปลี่ยนให้เป็นจริงโดยน้ำมือของสามัญชน)”

“ในขณะที่อีกส่วนของงานคือแรงปรารถนาและความตายของสามัญชน พอนึกถึงความตายของสามัญชน ผมก็นึกถึงพี่สาวที่เพิ่งเสียไปโดยไม่ได้บอกลาเป็นครั้งสุดท้าย สิ่งนี้กลายเป็นความทรงจำสุดท้ายที่ขาดหายระหว่างผมกับพี่สาว ที่ยังคงสะเทือนใจผมอยู่”

“ผมมองว่าการตายของพี่สาวไม่ได้เกิดจากโชคชะตา แต่เป็นผลจากการที่เขาใช้ชีวิตไปตามความหมายของสังคมที่ถูกกำหนดมาจากโครงสร้างที่อยู่เหนือเขาขึ้นไป”

“หรือความทรงจำของลุงคนงานเหมืองที่ผมพบตอนเดินทางไปยังเหมืองแร่เหล็กที่จังหวัดเลย เขาเคยทำงานให้บริษัทไทยที่บุกเบิกการทำเหมืองแร่เป็นรายแรกในประเทศ ที่เป็นคู่ค้ากับบริษัทขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกาผู้รับเหมาวางท่อส่งน้ำ, ก๊าซ, น้ำมันให้ฐานทัพสหรัฐทั่วโลก และยังเป็นผู้ผลิตลูกสูบเครื่องบินรบและเครื่องยนต์ที่ใช้ในกองทัพสหรัฐในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง รวมถึงเป็นผู้หาสินแร่ให้โครงการ Manhattan Project ในการวิจัยระเบิดนิวเคลียร์”

 

 

“ลุงยังเล่าถึงประสบการณ์ตอนพบเจอนักศึกษาที่เข้าร่วมขบวนการคอมมิวนิสต์ในปี พ.ศ.2516 และการเห็นขี้เถ้าจากการเผาศพนักศึกษาคอมมิวนิสต์ที่ถูกล้อมบ้านกราดยิง, หรือความทรงจำของผู้ใหญ่บ้านอดีตคนงานเหมืองที่แม่ของเขาตายในช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ, ความทรงจำทั้งหมดทั้งมวลนี้อยู่ภายใต้อำนาจของโครงสร้างส่วนบนที่ไม่เพียงกำกับบงการชีวิตเราเท่านั้น แต่ยังรวมถึงวัตถุและสิ่งต่างๆ ที่อยู่ภายใต้โครงสร้างอำนาจที่ว่านี้อีกด้วย”

“ในขณะที่ชนบทหล่อเลี้ยงความหมายให้กับเมือง, เมืองก็หล่อเลี้ยงความหมายให้กับประเทศ และสามัญชนผู้เป็นแรงงานเองก็หล่อเลี้ยงระบบสังคมเมืองที่อยู่ภายใต้โครงสร้างอำนาจส่วนบน, หากการมีอยู่หรือความตายของพวกเขาก็ไม่ได้มีสาระสำคัญ เป็นเพียงฟันเฟืองตัวหนึ่งของระบบที่ไม่ได้มีความหมายหรือถูกจดจำอะไร”

 

 

 

“งานของผมคือการทำความเข้าใจเกี่ยวกับความทรงจำ, อารมณ์, ความรู้สึก หรือแม้แต่ความตายที่เป็นเรื่องปกติธรรมดาตามธรรมชาติ, ไม่ใช่แค่ความทรงจำของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงความทรงจำและความหมายของวัตถุสิ่งของต่างๆ ทั้งแร่เหล็กที่เชื่อมโยงกับความทรงจำของคนงานเหมืองกับการเปลี่ยนถ่ายอำนาจในการจัดการทรัพยากรและแรงงานที่ไม่ได้ขึ้นตรงต่ออำนาจใครอีกต่อไป หากแต่อยู่ภายใต้การจัดการและการร่วมมือระหว่างนายทุน, ผู้นำ และประเทศมหาอำนาจอย่างเป็นระบบ”

“หรือลวดโลหะที่เชื่อมโยงกับความทรงจำที่มีต่อสายไฟระโยงระยางที่ผมเคยเห็นตลอดทางตอนนั่งรถสามล้อเดินทางจากบ้านไปโรงเรียน หรือเปียโนที่เชื่อมโยงกับความทรงจำตอนที่แม่ส่งผมไปเรียนเพราะหลงใหลในเพลงสากลและเพลงคลาสสิค แต่ก็ต้องเลิกไปเพราะบ้านเรามีความเป็นอยู่ที่ยากจนข้นแค้น หลังจากการเสียชีวิตของพ่อ หรือเสื้อคลุมของพี่สาวของผม ที่ก่อนหน้านี้แค่จับยังไม่ได้เลย กว่าจะหยิบมาทำงานได้ก็แทบตายเลยทีเดียว”

“จะว่าไปการทำงานครั้งนี้ส่วนหนึ่งก็เพื่อก้าวผ่านความทรงจำที่ว่านี้นั่นแหละ”

 

เพื่อสุนทรียะในการรับชมผลงาน สามารถอ่านความเรียงประกอบนิทรรศการได้ทางลิงก์ https://tinyurl.com/2smysmma

นิทรรศการ Oblivion โดย อริญชย์ รุ่งแจ้ง จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2564-5 กุมภาพันธ์ 2565 ณ Nova Contemporary ถนนราชดำริ, BTS ราชดำริ (ทางออก 2), สอบถามรายละเอียดได้ที่ 09-0910-6863, อีเมล : [email protected]

ขอบคุณข้อมูลจากศิลปิน, Nova Contemporary