อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : #ขณะวิจิตรสิ้น ปฏิบัติการทวงคืนเสรีภาพ ในสถาบันศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

#ขณะวิจิตรสิ้น

ปฏิบัติการทวงคืนเสรีภาพ

ในสถาบันศิลปะ

เมื่อหลายตอนที่ผ่านมา เราเคยเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ศิลปะยุค 70s ที่นักศึกษาสถาบันศิลปะดึสเซิลดอร์ฟ ในเยอรมนี ทำการบุกยึดอาคารสำนักงานของสถาบัน (ด้วยการสนับสนุนของโจเซฟ บอยส์ ศิลปินผู้เป็นอาจารย์ของพวกเขา) เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพทางการศึกษาของพวกตน (อ่านเรื่องราวได้ที่นี่ https://if.fm/ciVUd)

ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ ในบ้านเราก็เพิ่งเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ ที่นักศึกษาสาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ (Media Arts and Design) คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการบุกยึดอาคารหอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (หอศิลป์ มช.)

จะบุกยึดด้วยเหตุผลใด? เพื่ออะไร? ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อาจารย์ประจำสาขาวิชา Media Arts and Design ผู้ร่วมเหตุการณ์ในฐานะแรงสนับสนุนนักศึกษาเหล่านี้จะเป็นผู้เฉลยให้เราได้ฟังกัน

บรรยากาศการ occupy พื้นที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ของนักศึกษาสาขาวิชา Media Arts and Design และคณาจารย์, ภาพจาก อ.ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ และกลุ่มประชาคมมอชอ – Community of MorChor

“เรื่องของเรื่องก็คือ ในช่วงกลางเดือนตุลาคม นักศึกษากำลังจะมีการจัดกิจกรรม Media Art & Design Festival (MADs Festival) ซึ่งเป็นนิทรรศการแสดงผลงานของนักศึกษาสาขาวิชา Media Arts and Design ที่จัดขึ้นเป็นประจำอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยในปีนี้จะมีการจัดแสดงทั้งในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ (สถานที่จริง) ประกอบกับนักศึกษาปีที่สี่ที่จะแสดงผลงานแบบออนไซต์มีจำนวนไม่มากนัก เราเลยวางแผนว่าจะมีการจัดแสดงผลงานในพื้นที่จริงของหอศิลป์ มช.ด้วย”

“ซึ่งในทุกปี ทางนักศึกษาจะทำการยื่นโครงการขออนุมัติการจัดแสดงงานกับทางผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ทุกครั้ง แต่ในปีนี้ทางคณะ และหอศิลป์ พยายามขอข้อมูลเกี่ยวกับผลงานของนักศึกษาแต่ละชิ้นงานละเอียดมากขึ้นกว่าเดิม โดยมีจุดประสงค์เพื่อตรวจสอบผลงานของนักศึกษา”

บรรยากาศการ occupy พื้นที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ของนักศึกษาสาขาวิชา Media Arts and Design และคณาจารย์, ภาพจาก อ.ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ และกลุ่มประชาคมมอชอ – Community of MorChor

“พวกเขาแจ้งว่าไม่ได้มีเจตนาจะยุติกิจกรรมครั้งนี้ แต่จะมีการเซ็นเซอร์ผลงานบางชิ้นที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง หรือขัดต่อศีลธรรม (อันดี) ออกไป ซึ่งเป็นสิ่งที่นักศึกษารับไม่ได้เป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะส่งผลกระทบต่อการทำงานในวิชาเรียนของพวกเขาแล้ว ยังเป็นการการก้าวก่ายสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของพวกเขาอีกด้วย พวกเขาจึงปฏิเสธไปและแจ้งว่าจะส่งรายละเอียดผลงานเท่าเดิมเหมือนที่เคยส่งไปให้เมื่อครั้งที่ผ่านๆ มา”

“หลังจากนั้นทางผู้บริหารก็ยื้อการอนุมัติไปเรื่อยๆ จนกระทั่งวันที่ 12 ตุลาคม ทางนักศึกษาก็รวมตัวกันเข้าพบและยื่นเอกสารการขอใช้พื้นที่กับผู้อำนวยการหอศิลป์ มช. แต่ทางนั้นแจ้งว่าเขาไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ”

“ในวันที่ 14 ตุลาคม นักศึกษาจึงเคลื่อนตัวเข้าไปชุมนุมกันที่หน้าตึกอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทางนั้นส่งตัวแทนมาเจรจา แต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้าเหมือนเดิม, วันที่ 15 ตุลาคม นักศึกษาพร้อมด้วยผู้ปกครองจึงเดินทางไปชุมนุมกันที่หน้าตึกอธิการบดีอีกครั้ง ก็ไม่เป็นผล นักศึกษาจึงรวมตัวกันไปแจ้งความผู้บริหารมหาวิทยาลัยในข้อหาอาญามาตรา 157 (ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ) พอกลับมาที่หอศิลป์ตอนค่ำ ปรากฏว่าตึกของสาขาวิชา Media Arts and Design และหอศิลป์ถูกล็อกกุญแจและตัดน้ำตัดไฟหมดจากคำสั่งของคณบดีคณะวิจิตรศิลป์โดยตรง ซึ่งตอนนั้นก็ยังมีนักศึกษาอยู่ข้างในด้วย”

“เราถือว่าเหตุการณ์นี้ไม่ใช่แค่การละเมิดสิทธิเสรีภาพของนักศึกษาเท่านั้น แต่ยังเป็นการกีดกันนักศึกษาไม่ให้เข้าถึงการเรียนการสอนและการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ”

บรรยากาศการ occupy พื้นที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ของนักศึกษาสาขาวิชา Media Arts and Design และคณาจารย์, ภาพจาก อ.ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ และกลุ่มประชาคมมอชอ – Community of MorChor
บรรยากาศการ occupy พื้นที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ของนักศึกษาสาขาวิชา Media Arts and Design และคณาจารย์, ภาพจาก อ.ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ และกลุ่มประชาคมมอชอ – Community of MorChor

“เหตุการณ์นี้เป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้นักศึกษาตัดสินใจ occupy (ทวงคืนพื้นที่) หอศิลป์ เพื่อเข้าไปจัดเตรียมงานในนิทรรศการตามแผนการที่ตั้งใจไว้ ภายใต้การสนับสนุนช่วยเหลือของอาจารย์บางส่วน โดยมีตัวผมและ อ.ทัศนัย เศรษฐเสรี และคณาจารย์ในสาขา พอเรารู้ว่านักศึกษาตัดสินใจ occupy หอศิลป์ พวกเราก็ติดต่ออาจารย์ให้มารวมตัวกันช่วยเหลือนักศึกษาให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ซึ่งก็มีทั้ง อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์, อ.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, อ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล, อ.ชัชวาล บุญปัน และ อ.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ ที่ร่วมมาให้กำลังใจและคุ้มครองความปลอดภัยของนักศึกษา”

“ที่เราใช้คำว่า ‘occupy’ เพราะเราทุกคนมีความเห็นร่วมกันว่า หอศิลป์เป็นสมบัติของสาธารณะ การทำเช่นนี้จึงไม่ใช่การบุกยึด หากแต่เป็นการทวงคืนสิทธิ์ของประชาชน”

บรรยากาศการ occupy พื้นที่หอนิทรรศการศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ของนักศึกษาสาขาวิชา Media Arts and Design และคณาจารย์, ภาพจาก อ.ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ และกลุ่มประชาคมมอชอ – Community of MorChor

“นอกจากนักศึกษาและอาจารย์แล้ว ยังมีเหล่าบรรดาผู้ปกครองหลายคนที่มารวมตัวกันเพื่อช่วยนักศึกษา บางคนเอาอาหารและน้ำมาให้ บางคนยกเครื่องปั่นไฟมาให้ใช้ ประชาชนชาวเชียงใหม่-ลำพูนผู้มีความสนใจทางการเมือง พอทราบข่าวเขาก็ขนเสบียงมาสมทบช่วยเหลือ มีอาหาร น้ำ ชา กาแฟ อาหารสำเร็จรูป อาหารกล่องส่งมาตลอด มีนักดนตรีอาสามาเล่นดนตรีให้ฟัง มีประชาชนเสนอว่าจะส่งอาหารและขนมมาให้สำหรับวันเปิดงาน แม้กระทั่งร้านขายอุปกรณ์ศิลปะก็มาติดต่อให้นักศึกษาเอาอุปกรณ์ต่างๆ ไปใช้ทำงานได้ฟรีๆ”

“ตอนวันที่ 17 ตุลาคม ที่เราจัดเสวนาทวงคืนเสรีภาพของศิลปะกันที่หน้าหอศิลป์ ก็มีประชาชนชาวเชียงใหม่-ลำพูน มานั่งฟังกันอย่างเนืองแน่น”

นิทรรศการแสดงผลงานของนักศึกษาสาขาวิชา Media Art and Design คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดแสดงขึ้น หลังจากทวงคืนพื้นที่หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้สำเร็จ, ขอบคุณภาพจากคุณกฤติยา กาวีวงศ์

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในสถาบันการศึกษาแห่งนี้ ก่อนหน้านี้ก็มีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง

ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ในปี 2019 ที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการตัดงบประมาณในการจัดกิจกรรมเดียวกันนี้ของนักศึกษา จากจำนวนเงิน 150,000 บาท (ซึ่งอันที่จริงก็เป็นงบประมาณที่ได้มาจากค่าเทอมของนักศึกษานั่นแหละ!) จนหลือเพียง 5,000 บาท

หรือเหตุการณ์ที่ผู้บริหารรายเดิม ทำการรื้อเก็บผลงานของนักศึกษาทิ้งลงถุงขยะ (จนทำให้เกิดวาทะ “ศิลปะไม่เป็นเจ้านายใคร และไม่เป็นขี้ข้าใคร” อันลือลั่น)

รวมถึงเหตุการณ์ที่นักศึกษาถูกแจ้งความดำเนินคดีในกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการทำงานศิลปะและเหตุการณ์ที่รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพนักศึกษา (?) คณะเดิม (ที่ร่วมด้วยช่วยเก็บงานนักศึกษาลงถุงขยะนั่นแหละ!) ฟ้องร้องนักวิจารณ์ศิลปะในข้อหาหมิ่นประมาท จากการเขียนวิจารณ์ผลงานของเขาทางสื่อออนไลน์

วิบัติการณ์อันซ้ำซากเหล่านี้ส่งผลให้เกิดเทรนด์การแปลงชื่อ “คณะวิจิตรศิลป์” กลายเป็น #ขณะวิจิตรสิ้น แพร่สะพัดในโลกออนไลน์

นิทรรศการแสดงผลงานของนักศึกษาสาขาวิชา Media Art and Design คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดแสดงขึ้น หลังจากทวงคืนพื้นที่หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้สำเร็จ, ขอบคุณภาพจากคุณกฤติยา กาวีวงศ์
นิทรรศการแสดงผลงานของนักศึกษาสาขาวิชา Media Art and Design คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดแสดงขึ้น หลังจากทวงคืนพื้นที่หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้สำเร็จ, ขอบคุณภาพจากคุณกฤติยา กาวีวงศ์

ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหลายแหล่นี้ ทำให้เหล่าบรรดานักศึกษาขยับเพดานของข้อเรียกร้องของพวกเขาต่ออธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่, จากการขอใช้พื้นที่หอศิลป์ในการแสดงงานตามเวลาที่กำหนดเอาไว้ และขอให้ไม่มีการเซ็นเซอร์หรือแบนผลงานศิลปะของนักศึกษาที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง เพิ่มเติมขึ้นเป็นการขอให้มหาวิทยาลัยพิจารณาเปลี่ยนแปลงคณะผู้บริหารวิจิตรศิลป์ชุดปัจจุบัน

ล่าสุดยังมีการรณรงค์รวบรวมรายชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องให้ดำเนินการตรวจสอบและพิจารณาถอดถอนอธิการบดี ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ และผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากกรณีนี้ และกรณีอื่นๆ ที่ผ่านมา (ดูแบบลงนามได้ที่นี่ https://if.fm/ApO)

นิทรรศการแสดงผลงานของนักศึกษาสาขาวิชา Media Art and Design คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดแสดงขึ้น หลังจากทวงคืนพื้นที่หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้สำเร็จ, ขอบคุณภาพจากคุณกฤติยา กาวีวงศ์
นิทรรศการแสดงผลงานของนักศึกษาสาขาวิชา Media Art and Design คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดแสดงขึ้น หลังจากทวงคืนพื้นที่หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้สำเร็จ, ขอบคุณภาพจากคุณกฤติยา กาวีวงศ์

นับเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง ที่ในอดีตที่ผ่านมาสถาบันการศึกษาศิลปะแห่งนี้เคยถูกจับตาว่าเป็นพื้นที่แห่งการทดลองและค้นคว้าสิ่งใหม่ๆ ทางศิลปะและวิชาการมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโครงการเชียงใหม่จัดวางสังคม หรือเครือข่ายวิชาการและเว็บไซต์อย่างมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

รวมถึงเป็นสถานที่ผลิตศิลปินผู้ออกไปสร้างชื่อเสียงระดับโลกหลายคน ทั้ง นาวิน ลาวัลย์ชัยกุล, ธวัชชัย พันธุ์สวัสดิ์, โฆษิต จันทรทิพย์ ฯลฯ

หรือแม้แต่ให้กำเนิดสาขาวิชาที่ขยายพรมแดนของแวดวงศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทยอย่างสาขาวิชาสหศาสตร์ศิลป์ และสาขาวิชา Media Arts and Design เองก็ตาม หากแต่ในปัจจุบัน สถาบันการศึกษาแห่งนี้กลับกลายเป็นพื้นที่ที่ลิดรอนเสรีภาพทางการแสดงออก และปิดกั้นโอกาสทางความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษาไปได้อย่างไร?

นิทรรศการแสดงผลงานของนักศึกษาสาขาวิชา Media Art and Design คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดแสดงขึ้น หลังจากทวงคืนพื้นที่หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้สำเร็จ, ขอบคุณภาพจากคุณกฤติยา กาวีวงศ์
นิทรรศการแสดงผลงานของนักศึกษาสาขาวิชา Media Art and Design คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดแสดงขึ้น หลังจากทวงคืนพื้นที่หอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้สำเร็จ, ขอบคุณภาพจากคุณกฤติยา กาวีวงศ์

“เหตุผลที่พวกอาจารย์อย่างเราตัดสินใจยืนหยัดอยู่เคียงข้างนักศึกษา เพราะเรารู้สึกว่าสถาบันการศึกษาอย่างคณะวิจิตรศิลป์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ควรจะเคารพสิทธิเสรีภาพ หรือแม้ห่วงใยอนาคตและชีวิตของนักศึกษาของเขาให้มากกว่านี้ ที่ผ่านมา สิ่งที่พวกเขามอบให้นักศึกษาก็มีแต่การยื่นเอกสารตามระเบียบราชการ ซึ่งเป็นกระดาษเพียงใบเดียวมาตลอด ทำให้นักศึกษาเหล่านี้อดรู้สึกไม่ได้ว่า ชีวิตของพวกเขามีค่าน้อยกว่ากระดาษใบเดียวด้วยซ้ำไป”

สิ่งที่นักศึกษาสถาบันศิลปะดึสเซิลดอร์ฟ และอาจารย์ผู้สนับสนุนอย่างโจเซฟ บอยส์ ในอดีต และนักศึกษาภาควิชา Media Arts and Design และเหล่าบรรดาอาจารย์ผู้คอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลังในยุคปัจจุบันกระทำนั้นมีเหตุผลและแรงจูงใจไม่แตกต่างกัน

นั่นคือการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพทางการศึกษาของตน เพราะเสรีภาพนั้นเป็นเหมือนแสงอาทิตย์ ถ้าไร้ซึ่งเสรีภาพแล้ว เมล็ดพันธุ์แห่งศิลปะหรือแม้แต่ความคิดสร้างสรรค์จะเติบโตงอกงามได้อย่างไร

บทสรุปของเหตุการณ์นี้จะเป็นเช่นไร เป็นสิ่งที่ไม่เพียงแค่คนในแวดวงศิลปะ แต่รวมถึงประชาชนผู้ใฝ่หาเสรีภาพและเคารพในหลักการประชาธิปไตยควรจับตาอย่างใกล้ชิดเป็นอย่างยิ่ง

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก อ.ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ และกลุ่มประชาคมมอชอ – Community of MorChor ติดตามความคืบหน้าได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก @communityofmorchor