ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22 - 28 ตุลาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
Keep in the dark
ภาพสะท้อนความมืดมิด
ที่หมักหมมในสังคมไทย
นับแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน บ่อยครั้งที่ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือรับใช้ชนชั้นนำหรือชนชั้นปกครองผู้มีอำนาจอิทธิพลอย่างกษัตริย์ ศาสนจักร ขุนนาง หรือเศรษฐีผู้มีกำลังทรัพย์มหาศาล ที่คอยอุปถัมภ์ค้ำชูเหล่าบรรดาศิลปินผู้สร้างผลงานขึ้นมา
แต่ในทางกลับกัน ศิลปะเองก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือบันทึกประวัติศาสตร์ทางสังคม เป็นเครื่องมือแสดงออกถึงอุดมการณ์ทางการเมือง
หรือแม้แต่เป็นกระบอกเสียงในการต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่มวลชนผู้ถูกกดขี่ เอารัดเอาเปรียบโดยชนชั้นนำเหล่านั้นเช่นเดียวกัน
เช่นเดียวกับผลงานศิลปะที่ปรากฏในนิทรรศการ Keep in the dark ของ ตะวัน วัตุยา ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยผู้มีชื่อเสียงในระดับสากล จากผลงานภาพวาดสีน้ำสีสันจัดจ้าน ฝีแปรงเลื่อนไหล ฉับไว ไร้กรอบและกฎเกณฑ์
ที่จับเอาลักษณะเฉพาะตัวของบุคคลต่างๆ หลากหลายถ่ายทอดออกมาได้อย่างเปี่ยมอารมณ์ความรู้สึก
ในนิทรรศการครั้งนี้ ตะวันได้เข้าไปจับจ้องปรากฏการณ์ต่างๆ ในสังคมไทยที่กำลังบิดเบี้ยวผิดเพี้ยน และบันทึกสถานการณ์เหล่านั้นอย่างฉับพลัน สะท้อนออกมาเป็นผลงานจิตรกรรมสีน้ำ ที่ตีแผ่ความเป็นไปในสังคมรอบตัวในปัจจุบันได้อย่างแสบสัน
ผลงานเหล่านี้เป็นเสมือนปูมการเดินทางของตะวัน ที่ได้เข้าไปพบเจอผู้คนและเรื่องราวทางการเมืองอันแตกต่างหลากหลาย และยังเป็นบทบันทึกสถานการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นับแต่อดีตจวบจนถึงปัจจุบัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปรากฏการณ์การต่อสู้เคลื่อนไหวของเหล่าบรรดานักเรียน นักศึกษา เยาวชน คนรุ่นใหม่ และประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในปัจจุบัน ที่ผลักดันและยกระดับการเรียกร้องมาได้ไกลและสูงจนทะลุเพดานอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
“เริ่มจากตอนปี 2016 เราไปหาเพื่อนที่ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา แล้วพอดีเขากำลังจะไปร่วมชุมนุมกับกลุ่ม RED USA (กลุ่มคนไทยผู้รักประชาธิปไตยในแคลิฟอร์เนียตอนใต้) เราก็เลยขอตามเข้าไปด้วย”
“คนไทยกลุ่มนี้ย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ตอนอายุยังไม่มาก จนตอนนี้กลายเป็นพลเมืองที่นั่นไปแล้ว แต่ก็มีบางคนที่เพิ่งลี้ภัยการเมืองไปเหมือนกัน เรามีความรู้สึกว่าคนกลุ่มนี้น่าสนใจตรงที่พวกเขานัดประชุมกันเรื่องประชาธิปไตยแบบนี้ทุกๆ เดือน มาเป็นเวลา 20-30 ปีแล้ว”
“แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็น่าจะเป็นสมาชิกกลุ่มรุ่นสุดท้าย เพราะลูกหลานของพวกเขาเกิดและเติบโตที่นั่น กลายเป็นคนอเมริกันที่ไม่มีอะไรยึดโยงกับประเทศไทยอีกต่อไปแล้ว”
“ด้วยความที่ช่วงนั้นเราเริ่มทำโครงการ Life Portrait (การวาดภาพบุคคลแบบสดๆ) แล้ว เราก็ซื้ออุปกรณ์วาดภาพติดไปเพื่อวาดภาพคนกลุ่มนี้ เราก็ขออนุญาตเขาเข้าไปนั่งวาดภาพพวกเขาตอนที่กำลังนั่งประชุมกันอยู่สองครั้ง เขาก็ให้ด้วยความเอ็นดูว่าเราเป็นเหมือนลูก-หลาน”
“ตอนวาดเสร็จก็ยังไม่ได้คิดว่าจะเอาไปแสดงที่ไหนด้วยซ้ำ แต่พอดีหลังจากนั้น วัคซีน (กฤษฎา ดุษฎีวนิช) ได้เข้ามาที่สตูดิโอของเราหลังจากประชุมเรื่องการจัดนิทรรศการนี้กันครั้งแรก และได้มาเห็นผลงานชุดนี้ ก็เลยกลายเป็นจุดตั้งต้นขึ้นมา”
ตะวันกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของนิทรรศการครั้งล่าสุดของเขา
“ตอนที่ผมได้เห็นผลงานชุดนี้เป็นครั้งแรก ผมคุยกับศิลปินถึงปัญหาในประเทศที่ส่งผลถึงคนกลุ่มนี้ ก็เลยอยากจะร้อยเรียงและเล่าเรื่องใหม่ โดยเอาผลงานชุดนี้เป็นสารตั้งต้น เพื่อเล่าถึงปัญหาที่ถูกหมักหมมทับถมมาตั้งแต่จุดเริ่มต้นสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ที่ดูเหมือนประชาธิปไตยจะเป็นฝ่ายชนะ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังไปไม่ถึงที่สุด”
“แล้วพอดีผมไปเจองานเก่าของศิลปินอีกสองชิ้นที่วาดภาพ นายปรีดี พนมยงค์ และจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็เลยคุยกันว่าเราอยากทำประเด็นของนิทรรศการเกี่ยวกับนักต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่โดนผลกระทบจากความอยุติธรรมในประเทศนี้ ประจวบกับช่วงนั้นมีกลุ่มผู้เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยจัดกิจกรรม ‘เดินทะลุฟ้า’ เราก็ติดต่อประสานงานกับผู้ชุมนุมเพื่อเข้าไปสังเกตการณ์และวาดภาพผู้ชุมนุมในนั้น”
กฤษฎา ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการครั้งนี้กล่าว
“เวลาวาดเราจะพูดคุยสื่อสารกับผู้ชมนุมในนั้นไปด้วย บางทีก็ถามชื่อ, อายุ ถามว่าต่อสู้มานานหรือยัง? ต้องเจอกับความไม่เป็นธรรมอะไรมาบ้าง? แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน พอวาดเสร็จ เราก็ให้เขาเขียนชื่อของเขาลงบนภาพ เหมือนเราใช้เวลาร่วมกันสร้างภาพวาดชิ้นนี้ขึ้นมาด้วยกัน”
“เราเข้าไปร่วมสังเกตการณ์และวาดภาพผู้ชุมนุมทั้งหมด 4 ครั้ง ครั้งแรกที่ตอนที่เขาเริ่มกิจกรรมกันที่สระบุรี ครั้งที่สองที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอีกสองครั้งที่หมู่บ้านทะลุฟ้า ข้างทำเนียบรัฐบาล วันสุดท้ายวาดตั้งแต่ตอนกลางวันถึงเย็น พอวันรุ่งขึ้นหมู่บ้านทะลุฟ้าถูกสลายการชุมนุมเลย”
ตะวันกล่าวเสริม
นอกจากผลงานภาพวาด Life Portrait ของกลุ่ม RED USA ในลอสแองเจลิส และผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุฟ้าในประเทศไทย รวมถึงผลงานวิดีโอจัดวางที่บันทึกภาพการเข้าไปสังเกตการณ์ วาดภาพสด และพูดคุยสนทนากับเหล่าบรรดาผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุฟ้าในพื้นที่ชุมนุมแล้ว
ในนิทรรศการครั้งนี้ยังมีภาพวาดที่เป็นเหมือนการบันทึกปรากฏการณ์ทางการเมืองในประเทศไทยที่ผ่านมา ผ่านภาพที่ทุกคนเข้าถึงได้จากสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์หรืออินเตอร์เน็ต ทั้งภาพของบุคคลสำคัญทางการเมืองทั้งฝ่ายรัฐและมวลชนในอดีตและปัจจุบันที่เราๆ ท่านๆ คุ้นเคยจากภาพข่าวหรือสื่อต่างๆ
อย่างภาพของนักศึกษา เยาวชน คนรุ่นใหม่ และเหล่าประชาชนผู้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย, ภาพของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันผู้เป็นที่รักของกลุ่มคนผู้คลางแคลงใจในระบอบประชาธิปไตย
หรือภาพของรัฐบุรุษผู้มีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยในอดีต
รวมถึงภาพเหตุการณ์การเมืองหลากหลายในปัจจุบัน
ภาพบุคคลและเหตุการณ์เหล่านี้ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านฝีแปรงอันอิสระโดยไม่ยึดติดกับความเหมือนจริงอย่างเคร่งครัด หากปล่อยให้คุณสมบัติอันเลื่อนไหลของสีน้ำจับเอาบุคลิกลักษณะเฉพาะของบุคคลเหล่านี้แสดงออกมาอย่างเปี่ยมอารมณ์ความรู้สึก
ไฮไลต์อีกประการในนิทรรศการครั้งนี้ คือผลงานภาพวาดสีน้ำขนาดใหญ่ที่บันทึกห้วงขณะแห่งความวิปริตบิดเบี้ยวในบ้านเมืองนี้ได้อย่างตื่นตาจนน่าสะพรึง
ไม่ว่าจะเป็นภาพเหตุการณ์ประกาศยึดอำนาจการปกครองประเทศของคณะรัฐประหาร ที่คนในประเทศนี้เห็นกันซ้ำๆ ซากๆ มาเป็นเวลาหลายสิบปีทางสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง
ตะวันถ่ายทอดภาพเหตุการณ์ที่ทำให้สังคมไทยย่ำอยู่กับที่ วนเวียนอยู่ในวังวนของวงจรอุบาทว์แบบเดิมๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ด้วยลีลาพร่าเลือน มืดมัว ราวกับจะเป็นการสะท้อนชะตากรรมของคนไทยที่ต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลที่เป็นผลพวงมาจากการรัฐประหารก็ไม่ปาน
หรือภาพของพระบรมมหาราชวังที่ถูกปิดล้อมด้วยตู้คอนเทนเนอร์ ลวดหนาม และรั้วเหล็กแน่นหนา จนดูราวกับเป็นภาพที่หลุดมาจากภาพยนตร์ระทึกขวัญ มากกว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงอย่างที่เราเห็นกัน
ภาพวาดเหตุการณ์ที่ดูแปลกตาน่าพิศวงราวกับเป็นภาพวาดเหนือจริงภาพนี้ สะท้อนความไม่ปกติที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของคนในประเทศนี้ได้อย่างเจ็บแสบ
ภายในห้องหับที่เร้นตัวอยู่ด้านในสุดของพื้นที่แสดงงาน ยังมีภาพวาดของบุคคลผู้ถูกบังคับให้สูญหายของประเทศไทยซ่อนเร้นเอาไว้ภายใน ราวกับจะรอให้ผู้ชมแง้มประตูเข้าไปพบเจอ หรือไม่ก็รอให้ข้อเท็จจริงเบื้องหลังการสูญหายของพวกเขาเปิดเผยกระจ่างแจ้งสู่สังคมในสักวันหนึ่ง
“ผลงานส่วนนี้เป็นเหมือนหลักฐานของรอยเคลื่อน รอยแตกแยกของสังคมไทยที่เห็นได้ชัดเจน เป็นปรากฏการณ์ที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าเกิดขึ้นจริง, ที่เราตั้งชื่อนิทรรศการครั้งนี้ว่า Keep in the dark เพราะเราอยากสะท้อนความมืดมิดของสังคมที่ถูกทับถมหมักหมมตลอดมา ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกจมปลักอยู่กับความมืด (ข้างล่าง) หรือเราจะก้าวไปสู่แสงสว่าง (ข้างบน) ที่แม้จะดูริบหรี่แต่ก็ค่อยๆ สว่างขึ้น เช่นเดียวกับเพดานของการพูดจาสื่อสารที่นับวันยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ การแบ่งผลงานจัดแสดงในพื้นที่แสดงงานเป็นชั้นบนและชั้นล่างก็เป็นการสื่อถึงสภาวะที่ว่านี้เช่นกัน” ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการกล่าว
“ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ไม่ต่างอะไรกับสิ่งที่เราทำมาตลอด คือเราต้องการวาดภาพคนที่อยู่ในเงามืด คนชายขอบของสังคมที่ถูกมองข้าม ถูกกดทับ ถูกทำให้มองไม่เห็น เราอยากทำให้พวกเขาปรากฏตัวสู่แสงสว่างและถูกมองเห็นได้ในที่สุด”
ตะวันกล่าวทิ้งท้าย
นิทรรศการ Keep in the dark โดย ตะวัน วัตุยา และภัณฑารักษ์ กฤษฎา ดุษฎีวนิช จัดแสดง ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ
เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม-27 พฤศจิกายน 2564 วันจันทร์ถึงเสาร์ 09.00-18.00 น. (ปิดวันอาทิตย์และวันหยุดราชการ)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อีเมล [email protected] โทรศัพท์ +6692 298 0092 หรือเฟซบุ๊ก @ArtCentre.SilpakornUniversity
ขอบคุณภาพและข้อมูลจากศิลปินและภัณฑารักษ์