อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : The Tenebrous Spiral Staircase of the – สำรวจสภาวะสังคมไทยปัจจุบัน ผ่านการจับคู่เปรียบกับห้วงเวลาในประวัติศาสตร์ (จบ)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

The Tenebrous Spiral Staircase of the –

สำรวจสภาวะสังคมไทยปัจจุบัน

ผ่านการจับคู่เปรียบกับห้วงเวลาในประวัติศาสตร์ (จบ)

 

นอกจากผลงานที่กล่าวถึงไปในตอนที่แล้ว ผลงานอีกชิ้นที่โดดเด่นเตะตาที่สุดในนิทรรศการ The Tenebrous Spiral Staircase of the – ของ จิตติ เกษมกิจวัฒนา ก็คือผลงาน Philosopher in Meditation, 2021 ประติมากรรมจัดวางขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยผืนผ้าใบสีขาวห้อยแขวนลงมาจากเพดานด้วยเชือกสามเส้น จนเกิดเป็นรูปทรงคล้ายภูเขาขนาดย่อมสามลูก

นิทรรศการ The Tenebrous Spiral Staircase of the –

 

Philosopher in Meditation, 2021

 

“ผ้าใบที่ห้อยแขวนลงมาจากเพดานที่เห็นมีขนาด 490 x 716 ซ.ม. ผมจำลองมาจากขนาดของภาพวาด The Raft of the Medusa (1818-1819) ของ ธีโอดอร์ เจริโก ซึ่งในเชิงประวัติศาสตร์ศิลปะและประวัติศาสตร์โลกเป็นภาพสะท้อนสถานการณ์ของจุดเปลี่ยนไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ของโลกตะวันตก ในยุคศตวรรษที่ 19 โครงสร้างในการแขวนผ้าก็จำลองมาจากองค์ประกอบในภาพวาด ซึ่งเป็นภาพของโครงสร้างที่กำลังพังทลายลงมา”

“ผมมองว่าสถานการณ์บ้านเมืองเราในปัจจุบันเองก็มีความคล้ายคลึงกับความหายนะที่เกิดขึ้นในภาพวาดภาพนี้”

Elliptical glints on R. Menam, 2019, 2021

และผลงานภาพพิมพ์ดิจิตอลขนาดเล็ก Elliptical glints on R. Menam, 2019, 2021 ที่ประกอบด้วยตัวหนังสือและภาพที่ดูคล้ายข่าวสารของสิ่งพิมพ์ในยุคโบราณ พิมพ์อย่างเบาบางเลือนรางบนแผ่นกระดาษสีเทา

“ผลงานชิ้นนี้ดัดแปลงจากงานที่เคยแสดงในพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยที่ไทเป เป็นเรื่องของการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ของช่วงปลายสมัยอยุธยามาจนถึงช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ด้วยการใช้สิ่งพิมพ์ในยุคสมัยนั้น ที่มีทั้งข่าวเรื่องกรุงศรีอยุธยาแตก หรือภาพเรือของรัชกาลที่ 5 ที่เดินทางไปยุโรป และภาพปกของสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง เหมือนเป็นการเชื่อมโยงองค์ประกอบของเวลาในแต่ละยุคสมัยเข้าไว้ด้วยกัน”

หรือผลงาน Untitled (patirūpa), 2021 ภาพวาดตัวอักษรหน้าตาแปลกประหลาดบนพื้นสีเขียว ที่เราไม่อาจคาดเดาได้ว่าเป็นภาษาอะไรกันแน่

Untitled (patirūpa), 2021

“ตัวอักษรในภาพวาดนี้เรียกว่า ‘อักษรอริยกะ’ (แปลว่า อักษรของผู้เป็นอารยชน) ซึ่งเป็นตัวที่เลิกใช้ไปแล้ว ตัวอักษรนี้ รัชกาลที่ 4 ตอนที่ทรงผนวชเป็นพระวชิรญาณเถระ ในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้ในกลุ่มพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย โดยดัดแปลงจากตัวอักษรโรมัน (ซึ่งเป็นต้นแบบของความเป็นอารยชน) จะเรียกว่าเป็นความพยายามทำให้ความเป็นสยามเสมอกับโลกสากล เหมือนการก้าวสู่ความเป็นสมัยใหม่ในยุครัตนโกสินทร์ก็ได้”

Untitled (patirūpa), 2021

“คำที่อยู่ในภาพนี้อ่านว่า ‘ปฏิรูปะ’ ซึ่งแทนนัยยะถึงยุคสมัยก่อนที่การเปลี่ยนแปลงในสังคมจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อชนชั้นนำหรือสถาบันสูงสุดเป็นผู้เริ่มต้น เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ก็สะท้อนจากคำว่า ‘ปฏิรูป’ นี่เอง”

“หรือผลงานอีกชิ้นอย่าง Untitled, 2021 ก็มีตัวอักษรคำเดียวกันแกะสลักบนแผ่นไม้ทาสีเขียว แต่มีกระจกนูนปิดทับตัวอักษรสองตัวเอาไว้ ทำให้อ่านได้ไม่ครบ ในขณะเดียวกันกระจกนูนที่ว่านี้ก็สะท้อนภาพของห้องและผู้ชมที่เข้ามาชมงานในห้องนี้ออกมาด้วย”

Untitled, 2021

 

องค์ประกอบอันน่าสนใจอีกประการในนิทรรศการครั้งนี้ คือการใช้สีเขียวแบบเดียวกับสีกรีนสกรีนที่ใช้ในการถ่ายทำเทคนิคพิเศษในภาพยนตร์ในห้องแสดงงานเล็กที่จัดแสดงผลงาน Nothing (After Jackson Martin), 2021 ซึ่งถูกย้อมด้วยสีกรีนสกรีนทั้งห้องจนมีบรรยากาศแปลกตาน่าพิศวงราวกับหลุดมาจากภาพยนตร์ไซไฟก็ไม่ปาน

Nothing (After Jackson Martin), 2021

“ที่ผมใช้สีเขียวกรีนสกรีนเพราะอยากเชื่อมโยงเรื่องราวในนิทรรศการนี้ที่มีที่มาจากช่วงเวลาที่แตกต่างกันให้มาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน หรือในมุมมองของคนรุ่นใหม่ การใช้สีเขียวกรีนสกรีนเองก็ทำให้พื้นที่ตรงนี้ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นพื้นที่เสมือนจริงในโลกดิจิตอล ถึงแม้ในความเป็นจริงมันจะเป็นพื้นที่ในเชิงกายภาพก็ตาม สีเขียวกรีนสกรีนยังทำให้ห้องนี้มีบรรยากาศเหมือนเป็นห้องที่ใช้ถ่ายทำภาพยนตร์ด้วย”

“ส่วนผลงาน Nothing (After Jackson Martin), 2021 ที่อยู่ในห้องนี้ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์ ผมล้อไปถึงผลงานของศิลปินชื่อ แจ๊กสัน มาร์ติน ซึ่งไม่มีตัวตนอยู่จริง แต่เป็นตัวละครในซีรีส์เกาหลีเรื่อง Vincenzo (2021) หรือลูกแก้วก็มีความอิงกับอนาคต ถ้าใครอ่านวรรณกรรมเยอะๆ ก็น่าจะคุ้นเคยกับลูกแก้วทำนาย”

Nothing (After Jackson Martin), 2021

“ส่วนเสื้อโค้ตที่เห็นก็มีที่มาจากตัวละคร กาเซียล (Cassiel) เทวทูตในภาพยนตร์เรื่อง Faraway, So Close! (1993) ของ วิม เวนเดอร์ส (Wim Wenders) ซึ่งเชื่อมโยงกับประติมากรรมหัวคนสองหัวที่เป็นตัวแทนของเทวทูตของพอล คลี และวอลเตอร์ เบนยามิน ในงานอีกชิ้น หรือถ้ามองในเชิงอภิปรัชญาก็อาจจะตีความถึงร่างกายที่หายไปเหลือแต่ความทรงจำหรือภาพเสมือน”

“(ซึ่งอาจตีความเชื่อมโยงไปถึงอภิปรัชญาที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของมนุษย์ในภาพยนตร์ Ghost In The Shell (1995) ได้ด้วยเหมือนกัน)”

Nothing (After Jackson Martin), 2021

 

พอพูดถึงโลกดิจิตอลขึ้นมาแล้ว สิ่งที่น่าสนใจในนิทรรศการนี้อีกอย่างก็คือ นอกจากผลงานที่จัดแสดงให้ผู้ชมเดินทางเข้ามาดูชมกันในห้องแสดงงานจริงแล้ว

นิทรรศการครั้งนี้ยังมีการจัดแสดงแบบออนไลน์ให้ผู้ชมทางบ้านเข้าไปชมนิทรรศการเสมือนจริงทั้งในรูปของภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว

โดยสามารถเข้าไปชมกันได้ทาง https://www.instagram.com/journal_spiralstaircase/ หรือเข้าไปชมผลงานอื่นๆ ของจิตติได้ที่ https://www.instagram.com/encrypted_decrypted/ และ https://open.spotify.com/user/pnjv7wfx55jmu9zhnca9mpw3c กันได้ตามสะดวก

นิทรรศการ The Tenebrous Spiral Staircase of the – โดยจิตติ เกษมกิจวัฒนา จัดแสดงที่หอศิลป์เว่อร์ (Gallery VER) โครงการ N22 ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ซอย 22, ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม-6 พฤศจิกายน พ.ศ.2564

เปิดให้เข้าชมวันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 12.00-18.00 น. โดยจำกัดจำนวนผู้เข้าชมต่อครั้งไม่เกิน 10 คน

ทางแกลเลอรี่ขอความร่วมมือผู้ชมสวมหน้ากากอนามัยตลอดการเข้าชมนิทรรศการ หรือชมนิทรรศการทางช่องทางออนไลน์ได้ที่ instagram.com/journal_spiralstaircase

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก Gallery VER