อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : A Disproportionate Burden นิทรรศการศิลปะ ที่สะท้อนภาระแห่งแรงกดดันในวิถีชีวิตเกษตรกร

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

 

A Disproportionate Burden

นิทรรศการศิลปะ

ที่สะท้อนภาระแห่งแรงกดดันในวิถีชีวิตเกษตรกร

 

ในตอนนี้เราขอนำเสนอเกี่ยวกับนิทรรศการศิลปะที่กลับมาเปิดให้เข้าชมกันอีกครั้งหลังจากการคลายมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาลกันต่อ

คราวนี้เป็นคิวของนิทรรศการที่มีชื่อว่า

A Disproportionate Burden โดย พิชัย พงศาเสาวภาคย์

ศิลปินไทยผู้อาศัยและทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ และซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

เขาเป็นที่รู้จักจากผลงานศิลปะนามธรรมพื้นผิวและรูปแบบซับซ้อนที่สร้างสรรค์จากสีอะคริลิก, สื่อผสม, ภาพถ่าย

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานที่สร้างขึ้นจากสิ่งที่ไม่ใช่อุปกรณ์ทำงานศิลปะตามปกติ เพื่อนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับปัญหาสภาพแวดล้อมรอบตัวที่คนส่วนใหญ่อาจละเลยหรือมองข้ามไป

นิทรรศการ A Disproportionate Burden

ทั้งเรื่องมลพิษทางอากาศในผลงานศิลปะชุด “ดอกไม้พิษ” ที่ประกอบด้วยภาพวาดนามธรรมรูปร่างคล้ายดอกไม้ที่วาดขึ้นจากควันท่อไอเสียรถยนต์, หรือการปนเปื้อนของสารพิษในแหล่งน้ำในผลงานศิลปะชุด “น้ำท่วม” ที่ประกอบขึ้นจากข้าวของเก็บตกจากแม่น้ำลำคลองปนเปื้อนสารพิษ

ในนิทรรศการล่าสุดครั้งนี้ พิชัยทำการศึกษาเกี่ยวกับการใช้สารเคมีอันตรายที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่าบรรดาเกษตรกรผู้ใช้สารเคมีเหล่านี้โดยตรง

 

ผลงานที่ใช้ค้อนทุบดอกไม้พืชพรรณให้ติดบนกระดาษ

 

ผลงานที่ใช้ค้อนทุบดอกไม้พืชพรรณให้ติดบนกระดาษ

 

“ชื่อของนิทรรศการครั้งนี้อย่าง ‘A Disproportionate Burden’ มีความหมายเชื่อมโยงถึงภาระหลายๆ อย่างที่เหล่าบรรดาเกษตรกรต้องแบกรับ ทั้งจากภัยธรรมชาติและแรงกดดันทางเศรษฐกิจ หรือแม้แต่การเมือง, ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงพวกเขาเป็นคนที่ต้องทำงานหาเลี้ยงปากท้องคนทั้งประเทศ เหมือนกับพ่อของผมที่ต้องทิ้งบ้านเกิดมาอยู่ในประเทศที่เขาไม่รู้จัก”

“เดิมทีครอบครัวของพ่อเป็นชาวนาที่อพยพมาจากเมืองจีน ตอนเด็กๆ พ่อเคยเล่าให้ผมฟังว่าการทำนาเป็นอาชีพที่ลำบากยากจนมากๆ ที่นาก็ต้องเช่า ไหนจะต้องเจอภัยธรรมชาติ ฝนแล้ง โรคระบาดและศัตรูพืชต่างๆ คนจีนยุคนั้นก็เลยต้องอพยพหนีความอดอยากไปตายเอาดาบหน้าในต่างบ้านต่างเมืองกันเยอะ พ่อกับพี่ๆ น้องๆ ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น ที่อพยพมาตั้งรกรากทำมาหาเลี้ยงชีพในเมืองไทย ผมเลยอยากทำงานในประเด็นที่เชื่อมโยงไปถึงครอบครัวของผม”

ในการทำงานชุดนี้ พิชัยลงพื้นที่สำรวจสภาพแวดล้อมและสัมภาษณ์เกษตรกรโดยตรง

โดยเน้นไปที่ชาวบ้านและคนในท้องถิ่นพื้นที่ตอนบนของจังหวัดพิษณุโลก เชียงราย และแม่ฮ่องสอน, เขาสังเกตเห็นความกดดันที่เกษตรกรต้องแบกรับเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

ผลงานที่ใช้รถบดถนนบดขยี้พืชผักชนิดต่างๆ ลงไปบนกระดาษ

พวกเขาเหล่านั้นไม่เพียงต้องเพาะปลูกผลผลิตที่ดีที่สุด หากแต่ต้องสวยที่สุด และยังต้องเร่งระยะเวลาให้ผลผลิตสามารถเข้าสู่ตลาดได้ไวขึ้น

ทำให้เกษตรกรเหล่านั้นจำเป็นต้องใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างสารกำจัดศัตรูพืชและยาฆ่าแมลงอย่างแพร่หลาย

รวมถึงการใช้วิธีการที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างการเผาไร่นาให้มีพื้นที่ใช้ในการเพาะปลูกครั้งถัดไปได้เร็วยิ่งขึ้นเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้

ผลงานที่ใช้รถบดถนนบดขยี้พืชผักชนิดต่างๆ และสีอะคริลิกให้ติดลงบนผืนผ้าใบ

“ผมเริ่มต้นจากการเข้าร่วมเสวนาวิชาการของกรมวิชาการเกษตร และได้รับรู้มุมมองจากกลุ่มเกษตรกรที่สนับสนุนให้มีการใช้สารเคมีต่อไป เพราะถ้าเขาไม่ใช้ ผลผลิตออกมาไม่สวย ผู้ค้าคนกลางก็ไม่ซื้อ หลังจากนั้นผมก็ลงพื้นที่คุยกับชาวนาชาวสวนชาวไร่ ว่าคนที่ใช้สารเคมีเหล่านี้เขารู้สึกอย่างไร ทำให้พบว่าเขาจำเป็นต้องใช้จริงๆ ไม่งั้นเขาจะขายไม่ได้ แต่เวลาปลูกเขาจะแบ่งแปลงกัน แปลงที่ปลูกขายเขาจะใช้สารเคมี ส่วนแปลงที่ปลูกกินเองในครอบครัวเขาจะไม่ใช้”

“ชาวไร่ชาวนาเหล่านั้นยังบอกผมด้วยว่า อันที่จริงตามสูตรของการใช้สารเคมีแต่ละตัวจะมีระยะเวลาที่ต้องทิ้งผลผลิตเอาไว้ให้สารเคมีเหล่านั้นระเหยหรือสลายไปตามธรรมชาติ ไม่ตกค้างอยู่ในพืชผล (แต่จริงๆ สารเคมีเหล่านั้นก็ยังไม่ได้หายไปไหน หากซึมลงในดิน น้ำ และระบบนิเวศในพื้นที่เพาะปลูกอยู่ดี) แต่กระบวนการทางการตลาดทำให้พวกเขาทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะจะมีผู้ค้าคนกลางคอยเร่งรับผลผลิตเหล่านั้นไปขายให้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภคที่นับวันยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ”

ผลงานศิลปะจัดวางที่ใช้รถบดถนนบดขยี้ต้นอ้อยและหมึกพิมพ์ให้ติดลงบนผืนผ้าใบ

พิชัยนำข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่เหล่านี้มาแปรสภาพเป็นผลงานหลากหลายรูปแบบในนิทรรศการครั้งนี้

ไม่ว่าจะเป็นผลงานที่เขาใช้ค้อนทุบ และรถบดถนนบดขยี้พืชผักชนิดต่างๆ อย่างเมล็ดกาแฟ และอ้อย ไปจนถึงดอกไม้นานาพันธุ์ ที่เป็นผลผลิตจากน้ำพักน้ำแรงของเหล่าบรรดาเกษตรกรเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคลงไปบนผืนผ้าใบ

เขาทำเช่นนี้เพื่อเปิดเผยการใช้สารเคมีในการผลิตสินค้าทางการเกษตรสมัยใหม่ให้ปรากฏเป็นรูปธรรมแก่สายตาผู้ชม

“ตอนทำงานชุดนี้ขึ้นมา ด้วยความที่มีข้อมูลเยอะมากจนไม่รู้ว่าจะตั้งต้นตรงไหนดี ผมเลยย้อนกลับที่รากเหง้าของตัวเองคือเรื่องครอบครัว โดยมุ่งเน้นในการนำเสนอสภาวะแรงกดดันที่พ่อได้รับจากปัญหาหลากหลายรอบตัวในฐานะเกษตรกรคนหนึ่ง ซึ่งเหมือนกับเกษตรกรท่านอื่นๆ ที่ผมได้พูดคุยด้วยในขณะที่ลงพื้นที่ พอคิดถึงสภาวะแรงกดดันผมก็นึกถึงเรื่องการบดขึ้นมา ผมเลยสร้างงานที่เป็นแรงกดดันเล็กๆ ด้วยการใช้ค้อนทุบผักผลไม้และให้ติดบนกระดาษ เหมือนการปลดปล่อยอะไรบางอย่างที่เราได้มาจากชาวไร่ชาวนา”

ผลงานที่ใช้ชิ้นส่วนของหนังสือพิมพ์หน้าเศรษฐกิจแช่ในหมึกพิมพ์สีต่างๆ ปะติดลงบนหน้าหนังสือพิมพ์บนผืนผ้าใบ

“พอทำเสร็จ ผมก็คิดว่าควรจะมีสภาวะที่แรงกว่านั้นในการนำเสนอให้ผู้ชมรู้สึกถึงการแบกรับความทุกข์ที่ยิ่งใหญ่ของชาวนาชาวไร่ ผมเลยนึกถึงการใช้รถบดถนนขึ้นมา เพราะนอกจากมันจะมีน้ำหนักอันมหาศาลที่คั้นสารเคมีจากพืชผักลงไปบนผืนผ้าใบ และแสดงสัญลักษณ์ถึงแรงกดดันที่ชาวไร่ชาวนาต้องเผชิญในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรให้เพียงพอกับความต้องการของการตลาดแล้ว รถบดยังถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในการทำลายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์อย่างเทปผี ซีดีเถื่อน เพื่อสาธิตให้เห็นถึงการแก้ปัญหาสินค้านำเข้าผิดกฎหมาย”

“แต่ในทางกลับกัน สารเคมีหรือวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ละเมิดลิขสิทธิ์ก็ยังถูกคงนำเข้ามาจากต่างประเทศอย่างผิดกฎหมายจำนวนมากต่อไปโดยไม่ถูกทำลายด้วยรถบด ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการแก้ปัญหาอยู่ดี”

หรือผลงานที่พิชัยใช้หนังสือพิมพ์หน้าเศรษฐกิจปะติดลงบนผืนผ้าใบ และใช้ชิ้นส่วนของหน้าหนังสือพิมพ์ที่ว่านี้แช่ในหมึกพิมพ์สีต่างๆ แล้วนำมาปะติดบนหน้าหนังสือพิมพ์บนผืนผ้าใบจนกลายเป็นรูปทรงนามธรรม

ผลงานจิตรกรรมที่นำสารพาราควอตมาใช้ในการวาดภาพ

เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าภาคเศรษฐกิจนั้นมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการใช้สารเคมีทางการเกษตรเกินขนาด

หากผลงานชุดที่โดดเด่นที่สุดในนิทรรศการนี้ คือผลงานจิตรกรรมที่พิชัยนำสารเคมีอันตรายทางการเกษตรที่ถูกแบนอย่าง “พาราควอต” มาใช้ในการวาดภาพ, ผลจากการใช้สารเคมีอันตรายเช่นนี้อย่างใกล้ชิดในการทำงานทำให้เขาต้องล้มป่วยจนเกือบเอาตัวไม่รอดเลยทีเดียว

“ในช่วงปี พ.ศ.2563 ที่รัฐบาลมีการประกาศแบนสารเคมีอันตรายที่ใช้ในการเกษตรอย่างพาราควอต-คลอร์ไพริฟอส ก่อนหน้านั้นผมซื้อสารเคมีสองตัวนี้มาเก็บไว้เพื่อทำงานศิลปะ แต่ยังไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร”

ผลงานจิตรกรรมที่นำสารพาราควอตมาใช้ในการวาดภาพ

“พอทำงานชุดนี้ผมเลยลองเอาสารเคมีตัวนี้มาวาดภาพรูปทรงของคันนาที่เราเดินเวลาไปลงพื้นที่ เพื่อบันทึกเกี่ยวกับสารเคมีอันตรายนี้ไว้ในผลงาน ตอนใช้กลิ่นของมันแรงมาก ถึงใส่หน้ากากแน่นหนาก็กันไม่อยู่ ด้วยความที่ผมเป็นคนแพ้สารเคมีเอามากๆ ตอนทำชิ้นแรก ผมคลื่นไส้ อาเจียน หายใจไม่ออก จนต้องเข้าโรงพยาบาล พอทำชิ้นที่สองก็เข้าโรงพยาบาลอีก ทำครบ 5 ชิ้น ผมเข้าโรงพยาบาลไปสามรอบ ก็รู้สึกว่าพอ ไม่ทำอีกแล้ว เข้าใจเลยว่าทำไมเขาต้องแบนสารเคมีตัวนี้”

“การทำงานชุดนี้ทำให้ผมสัมผัสความเจ็บปวดของชาวไร่ชาวนาที่ต้องใช้สารเคมีพวกนี้ทุกวันเป็นสิบๆ ปี ต้องเผชิญกับความทุกข์ทรมานจากโรคภัยไข้เจ็บและความตายอันเป็นผลจากการใช้สารเคมีอันตรายเหล่านี้ นี่คือความรู้สึกที่ผมอยากถ่ายทอดไปสู่ผู้ชมผ่านผลงานของผม”

ผลงานจิตรกรรมที่นำสารพาราควอตมาใช้ในการวาดภาพ

นิทรรศการ A Disproportionate Burden โดยพิชัย พงศาเสาวภาคย์ และภัณฑารักษ์ หลินเจี่ยโจว จัดแสดงที่ SAC Gallery ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม-22 ตุลาคม 2564

เปิดให้เข้าชมในวันอังคาร-เสาร์ เวลา 10:00-18:00 น. (สำหรับวันอาทิตย์ กรุณานัดหมายล่วงหน้า)

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อีเมล [email protected] หรือโทร. 0-2258-5580 ต่อ 401

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก SAC Gallery