อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ศิลปินผู้สะท้อนมรดกทางวัฒนธรรม ผ่านศิลปะแสดงสดสุดอื้อฉาว

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

 

ศิลปินผู้สะท้อนมรดกทางวัฒนธรรม

ผ่านศิลปะแสดงสดสุดอื้อฉาว

 

ในตอนที่ผ่านมาเรานำเสนอเรื่องราวของศิลปินแสดงสดชาวจีนผู้โดดเด่นเป็นเอกไปคนหนึ่งแล้ว

ในตอนนี้ เราเลยขอนำเสนอเรื่องราวของศิลปินแสดงสดชาวจีนที่โดดเด่นน่าสนใจไม่แพ้กันอีกคน

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า จางหวน (Zhang Huan)

ศิลปินชาวจีนผู้อาศัยและทำงานในเซี่ยงไฮ้และนิวยอร์ก

เขาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางจากการทำงานศิลปะแสดงสดอันสุดอื้อฉาว

รวมถึงงานศิลปะภาพถ่าย และประติมากรรมขนาดมหึมา

 

จางหวน หรือในชื่อเดิมว่า จางตงหมิง เกิดในปี 1965 ที่เมืองอันหยาง มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน

ในช่วงวัยเด็ก จางถูกส่งตัวไปอาศัยอยู่ในเมืองชนบทอันแร้นแค้นกับย่าของเขาถึงแปดปี ในช่วงเวลานี้นี่เองที่เขาได้สัมผัสความอดอยากแร้นแค้นและการล้มตายของผู้คนอันเป็นผลจากการปฏิวัติวัฒนธรรม จนทำให้เขารู้สึกอับอายกับชื่อของตนเองที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อสดุดีแก่เหมาเจ๋อตง ประธานพรรคคอมมิวนิสต์จีนผู้ดำเนินนโยบายที่ว่า และเปลี่ยนชื่อตัวเองเป็น “จางหวน” ในที่สุด

หลังจากจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเหอหนาน ในปี 1988 และปริญญาโทจากวิทยาลัยวิจิตรศิลป์แห่งชาติจีน ในปี 1993 จางทำงานศิลปะหลากสื่อหลายแขนง ทั้งศิลปะแสดงสด ภาพวาด และภาพถ่าย

ในยุคสมัยนั้นศิลปินจีนมักจะทำงานที่วิพากษ์วิจารณ์สังคมการเมืองของจีน จางเองก็เป็นเช่นเดียวกัน

นับแต่ปี 1990 จางเป็นที่รู้จักจากผลงานศิลปะแสดงสดที่ใช้ร่างกายเปลือยเปล่าของตนเองทำงานศิลปะแสดงสดที่ท้าทายขีดความอดทนต่อความเจ็บปวดของมนุษย์

ดังเช่นในผลงาน 12 Square Meters (1994) ที่เขาเปลือยกายเข้าไปอยู่ในส้วมสาธารณะสุดโสโครกชานเมืองกรุงปักกิ่ง

 

12 Square Meters (1994), ภาพจาก https://bit.ly/3yPTi49

 

โดยทาน้ำมันปลากับน้ำผึ้งทั่วร่างกาย ปล่อยให้ฝูงแมลงวันบินเข้ามาไต่ตอมตัวเขาโดยไม่ปัดป้องเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมงเต็ม

ตลอดระยะเวลาการแสดง จางมีท่าทีนิ่งสงบ ไม่ขยับเขยื้อนร่างกายหรือแสดงสีหน้าใดๆ ราวกับกำลังทำสมาธิอยู่

หลังจากครบชั่วโมง เขาค่อยๆ ลุกขึ้นและเดินลงไปยังบ่อน้ำใกล้ๆ จนจมมิดหัว อันเป็นการจบการแสดงในที่สุด

จางได้แรงบันดาลใจในการทำงานศิลปะแสดงสดนี้จากการอาศัยอยู่ในชุมชนแออัดในหมู่บ้านกันดารชานเมืองทางตะวันออกของปักกิ่งที่ไม่มีพื้นที่ส่วนตัวมากนัก

ซึ่งสะท้อนถึงวิกฤตประชากรล้นประเทศของจีนในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี

 

ในช่วงต้นยุค 90 จางและเหล่าบรรดาศิลปินรุ่นเยาว์ในหมู่บ้านของเขาร่วมก่อตั้งชุมชนศิลปะชื่อ Beijing East Village และร่วมกันบุกเบิกการทำงานศิลปะแสดงสดอันอื้อฉาวท้าทายขนบ ด้วยการใช้ร่างกายเผชิญหน้ากับความเจ็บปวด สิ่งปฏิกูล ไปจนถึงประเด็นอันหมิ่นเหม่ทางเพศ เพื่อสะท้อนความรู้สึกในแง่ลบของการอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมอันยากเข็ญแร้นแค้น บวกกับความอึดอัดคับแค้นที่มีต่อเหตุการณ์นองเลือดในการปราบปรามผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในเดือนมิถุนายน 1989

ไม่ว่าจะเป็นผลงาน To Add One Meter to an Anonymous Mountain (1995) ที่จางและเพื่อนศิลปินอีกเก้าคน ปีนขึ้นไปบนยอดเขาใกล้กรุงปักกิ่ง และทำการเปลือยกายล่อนจ้อน นอนทับซ้อนกันเป็นชั้นๆ ราวกับจะสร้างยอดเขาเล็กๆ ขึ้นอีกลูกหนึ่ง และบันทึกเป็นภาพถ่ายเอาไว้

 

To Add One Meter to an Anonymous Mountain (1995), ภาพจาก https://bit.ly/2WXJrMc

 

ผลงานชิ้นนี้ของเขาได้แรงบันดาลใจจากสำนวนจีนโบราณที่ว่า “เหนือภูเขายังมีภูเขา (อีกหลายลูก)” ซึ่งสื่อถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน (เมื่อคุณปีนถึงยอดเขาหนึ่ง คุณก็จะพบภูเขาที่ใหญ่กว่าเสมอ)

ด้วยผลงานชิ้นนี้ จางใช้ศิลปะแสดงสดที่มีรากเหง้าจากตะวันตก (อย่างการเปลือยกายในพื้นที่สาธารณะ) สะท้อนปรัชญาของจีนโบราณออกมา

หรือในผลงาน To Raise the Water Level in a Fishpond (1997) ที่เขาวานให้แรงงานอพยพจำนวน 40 คนเข้าไปยืนกึ่งเปลือยในสระน้ำแห่งหนึ่ง ราวกับจะให้ร่างกายของพวกเขาเพิ่มระดับน้ำในสระให้สูงขึ้นมาสักนิดหนึ่งก็ไม่ปาน

 

To Raise the Water Level in a Fishpond (1997), ภาพจาก https://bit.ly/2X2qjgo

 

นานวันเข้า ความโด่งดังอื้อฉาวของชุมชนศิลปะกลุ่มนี้ก็ยิ่งมีมากขึ้นเรื่อยๆ จนผู้มีอำนาจรัฐเริ่มจับตา

และต่อมาก็มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ทางการดำเนินการทลายชุมชนศิลปะนี้ลงในที่สุด

สี่ปีให้หลัง จางก็เข้าร่วมแสดงในนิทรรศการ Inside OUt : New Chinese Art ในศูนย์ศิลปะร่วมสมัย PS1 ในนิวยอร์ก

เขาใช้โอกาสนั้นอพยพไปลงหลักปักฐานในนิวยอร์กนานถึงแปดปี

และสร้างผลงานศิลปะแสดงสดอันท้าทายยิ่งกว่าเดิมไปทั่วอเมริกาและยุโรป

งานศิลปะแสดงสดของเขาในแต่ละชุดมีความเฉพาะเจาะจงกับพื้นที่และเมืองที่เขาเดินทางไปแสดง ด้วยการเลียนแบบวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนในพื้นที่เหล่านั้น และทำวัตรปฏิบัติบางอย่าง (เช่น การโกนหัวก่อนการแสดงทุกครั้ง) อย่างต่อเนื่องจนคล้ายพิธีกรรม

เขาเชื่อว่ากิจกรรมที่มนุษย์เราแสดงออกทุกวันนั้นเป็นสิ่งที่เปิดเผยให้เห็นว่าการเป็นมนุษย์นั้นคืออะไร? และเรามีความสัมพันธ์กับโลกใบนี้อย่างไรบ้าง?

 

อย่างเช่น ผลงาน Pilgrimage – Wind and Water in New York (1998) ที่เขาทำการแสดงสดด้วยการนอนเปลือยกายคว่ำหน้าบนตั่งไม้จีนโบราณที่ปูด้วยก้อนน้ำแข็ง ขาเตียงผูกด้วยสุนัขพันธุ์แท้หลากพันธุ์

 

Pilgrimage – Wind and Water in New York (1998), ภาพจาก https://bit.ly/3BN9aWT

 

ผลงานศิลปะแสดงสดอันทุกข์ทรมานชิ้นนี้เป็นสัญลักษณ์แทนชีวิตวัยเด็กอันแร้นแค้นของเขาในเหอหนาน การแสดงที่ดูเหมือนการบําเพ็ญทุกรกิริยาของจาง

นอกจากจะเป็นเหมือนการทดสอบขีดจำกัดของร่างกายมนุษย์แล้ว ยังเป็นเหมือนการทำสมาธิ ซึ่งถึงแม้ชาวตะวันตกในยุคนั้นจะไม่สามารถเข้าใจแนวคิดนี้ได้อย่างลึกซึ้ง แต่ก็สามารถซึมซับถึงพลังของมันได้

หรือในผลงาน My America (Hard to Acclimatize) (1999) ที่เขาทำการแสดงสดด้วยการนั่งเปลือยกายอยู่บนเก้าอี้ในสระว่ายน้ำเด็ก และปล่อยให้อาสาสมัครหญิง-ชายชาวอเมริกันร่างเปลือยล่อนจ้อน หลากวัย หลายภูมิหลัง จำนวน 56 คน ที่ยืนบนระเบียงนั่งร้าน ปาขนมปังขาวนับร้อยก้อนใส่เขาอย่างบ้าคลั่งเป็นเวลานานหลายนาที ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชียแห่งซีแอตเติล

 

My America (Hard to Acclimatize) (1999), ภาพจาก https://bit.ly/3hbZFJ8

 

ก่อนหน้านั้นอาสาสมัครเหล่านี้เข้าร่วมกิจกรรมแสดงสดของจางด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งสั้นๆ ของเขา อย่างเช่น การนอนคว่ำหน้าบนพื้นโดยไม่ขยับตัว, ทำท่าทางและส่งเสียงเหมือนสัตว์, นั่งขัดสมาธิท่าดอกบัว (ขัดสมาธิเพชร), ฝึกไท้เก๊ก รวมถึงปาขนมปังใส่จาง ฯลฯ ปิดท้ายด้วยการร่วมเดินเปลือยกายออกไปข้างนอกร่วมกันกับเขา

หรือในผลงาน Family Tree (2000) ที่แสดงถึงรากเหง้าที่มาของจาง โดยเขาให้ช่างเขียนตัวอักษรลายมือสามคน เขียนตัวอักษรต่างๆ ที่ประกอบด้วยชื่อที่เขารู้จัก เรื่องราวส่วนตัว หรือเรื่องอะไรก็ได้ที่พวกเขานึกออกลงบนใบหน้าของจางทีละคำทั้งวัน จนใบหน้าของเขาเต็มไปด้วยตัวอักษร

 

Family Tree (2000), ภาพจาก https://bit.ly/3BQ4rng

 

และท้ายที่สุดใบหน้าของเขาก็เต็มไปด้วยหมึกดำจนดูเหมือนเป็นหน้ากากหรือผิวหนังอีกชั้นหนึ่ง ผลงานชิ้นนี้สื่อถึงมรดกทางวัฒนธรรมที่ชาวจีนเรียนรู้และสืบทอดต่อๆ กันมาจากรุ่นสู่รุ่น

หรือผลงาน My New York (2002) ที่เขาห่อหุ้มตัวเองด้วยชุดที่ทำจากเนื้อดิบล้วนๆ จนดูเหมือนเป็นนักเพาะกายกล้ามใหญ่ยักษ์เดินท่องไปบนท้องถนนในนิวยอร์ก ในมือถือนกพิราบขาวหลายตัวยื่นให้ผู้ชมที่อยู่รายรอบนำไปปล่อยเป็นอิสระ

 

My New York (2002), ภาพจาก https://bit.ly/3yLWqOh

 

นอกจากชุดเนื้อสัตว์จะสื่อถึงสัญชาตญาณของสัตว์ที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคนแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันให้จางดูแข็งแกร่งและน่าเกรงขาม เพื่อปกป้องเขาจากความสับสน เปราะบาง ในฐานะชาวจีนโพ้นทะเลผู้อพยพมาอาศัยอยู่ในมหานครอย่างนิวยอร์ก

ในทางกลับกัน การปล่อยนกพิราบก็เป็นสัญลักษณ์ถึงสันติภาพและความเห็นอกเห็นใจต่อเหตุการณ์โศกนาฏกรรม 11 กันยายน ที่เพิ่งเกิดขึ้นในนิวยอร์กก่อนหน้านั้นไม่นาน

 

นอกจากการทำศิลปะแสดงสดแล้ว จางยังทำผลงานประติมากรรมหลากหลายชิ้น โดยหลังจากกลับมายังประเทศจีนในปี 2006 และหันมานับถือศาสนาพุทธ เขาสร้างงานประติมากรรมที่ได้แรงบันดาลใจจากพระพุทธรูปที่เขาพบในทิเบต ผนวกกับแนวคิดและประสบการณ์ที่เขาได้รับจากการทำศิลปะแสดงสดที่ผ่านมา ดังเช่นผลงาน Three Heads Six Arms (2008) ประติมากรรมความสูง 6 เมตร รูปศีรษะ ขา เท้า และมือของพระพุทธรูปแบบทิเบตผุดขึ้นมาจากพื้นดิน

 

Three Heads Six Arms (2008), ภาพจาก http://www.zhanghuan.com/

 

ผลงานประติมากรรมและศิลปะจัดวางขนาดมหึมาของจางสะท้อนบริบททางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของจีนร่วมสมัยที่วางตัวอยู่กึ่งกลางระหว่างแรงกระตุ้นของระบบทุนนิยมและกลไกของระบอบคอมมิวนิสต์ ด้วยผลงานที่สร้างขึ้นอย่างโอ่อ่าอลังการ ประณีตบรรจง หากแต่มักจะทำจากวัสดุเหลือใช้ไร้ราคาค่างวด อย่างขี้เถ้ากำยานหรือธูปนั่นเอง

จางหวน เป็นตัวแทนของศิลปินชาวจีนในช่วงยุค 2000 ผู้ได้รับการยอมรับในระดับสากลด้วยเอกลักษณ์ในการผสมผสานแนวคิดและเทคนิคของศิลปะร่วมสมัยของตะวันตก เข้ากับปรัชญาและมรดกทางวัฒนธรรมของจีนแบบดั้งเดิมได้อย่างแนบเนียนกลมกลืน โดยไม่ต้องปฏิเสธภูมิหลัง พื้นเพ หรือรากเหง้าของตนเองเลยแม้แต่น้อย

ข้อมูลจากหนังสือ Art & Agenda : Political Art and Activism โดย Silke Krohn, เว็บไซต์ www.zhanghuan.com, https://bit.ly/3BObNrE, https://bit.ly/3BPTQc0