อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : สารพัดช่างแห่งวงการศิลปะ ผู้ท้าทายโลกทุนนิยม ด้วยศิลปะทำมือ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

 

สารพัดช่างแห่งวงการศิลปะ

ผู้ท้าทายโลกทุนนิยม

ด้วยศิลปะทำมือ

 

เล่าเรื่องนิทรรศการศิลปะติดกันมาก็หลายตอนแล้ว ในตอนนี้เลยขอเปลี่ยนบรรยากาศมาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปินร่วมสมัยที่น่าสนใจกันบ้าง

คราวนี้เป็นคิวของศิลปินผู้มีชื่อว่า

ทอม แซกส์ (Tom Sachs)

ศิลปินร่วมสมัยชาวอเมริกัน ผู้เป็นที่รู้จักจากผลงานประติมากรรมที่จำลองวัตถุสิ่งของที่เป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมสมัยใหม่ขึ้นมาใหม่ เพื่อวิพากษ์วิจารณ์ระบบทุนนิยมและวัฒนธรรมบริโภคนิยม

ด้วยการใช้วัสดุบ้านๆ ที่หาได้รอบๆ ตัวทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ของแบรนด์หรูชั้นนำที่ถูกทำขึ้นใหม่จากสมุดโทรศัพท์และเทปกาว หรือแบบจำลองอาคารของสถาปนิกระดับตำนานที่ทำขึ้นจากแผ่นโฟมและปืนกาว, ไปจนถึงยานสำรวจดวงจันทร์ หรือหอบังคับการของเรือบรรทุกเครื่องบินรบที่ทำจากไม้กระดานถูกๆ และวัสดุเก็บตกเหลือใช้ในบ้าน

ถึงแม้วัตถุเหล่านี้จะถูกจำลองขึ้นมาใหม่อย่างประณีตละเอียดลออ แต่ในขณะเดียวกันก็เผยให้เห็นร่องรอยของกระบวนการสร้างมันขึ้นมาอย่างชัดแจ้ง ไม่ว่าจะเป็นตะเข็บ รอยเชื่อม ข้อต่อ บานพับ ตะปู น็อต หรือเทปกาวที่ยึดวัสดุเหล่านั้นเข้าไว้ด้วยกันจนเป็นรูปเป็นร่าง

Ritual (2021), ภาพจาก https://bit.ly/3AQnFsE, ผลงานประติมากรรมจัดวางที่จำลองงานศิลปะรูปกล่องบรรจุสินค้าโภคภัณฑ์อันเป็นตัวแทนของระบบทุนนิยมของแอนดี้ วอร์ฮอล ขึ้นมาใหม่

ร่องรอยเหล่านี้ถูกปล่อยเอาไว้อย่างไร้การปิดบังซ่อนเร้นหรือทำให้เรียบร้อยเกลี้ยงเกลาไร้รอยต่อ

ดังเช่นผลงาน Miffy Fountain (2007) ประติมากรรมน้ำพุรูปตุ๊กตากระต่ายที่ทำขึ้นจากแผ่นโฟมต่อขึ้นรูป และหล่อขึ้นใหม่เป็นโลหะสำริดโดยที่ยังหลงเหลือรอยต่อหยาบๆ ของโฟมเอาไว้ให้เห็น

กระบวนการเช่นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความไม่สมบูรณ์แบบของสิ่งต่างๆ ในโลกใบนี้ แม้จะเป็นโครงการใหญ่ๆ ระดับอวกาศก็ตามที ที่สามารถถอดรื้อ ปรับปรุง แก้ไข และสร้างขึ้นใหม่ได้เสมอ

Miffy Fountain (2007), ภาพจาก https://bit.ly/37MiXj8

ในอีกแง่หนึ่ง แซกส์ต้องการทำลายภาพลักษณ์อันเรียบเนียนเนี้ยบกริบของสินค้าอุตสาหกรรมในยุคสมัยใหม่ ด้วยการเปิดเผยให้เห็นกระบวนการหรือแรงงานผู้ผลิตมันขึ้นมา

เขากล่าวว่า “ผมต้องการให้แรงงานถูกมองเห็น เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิตของเราล้วนแล้วแต่ถูกทำขึ้นมาอย่างน่าอัศจรรย์โดยแทบไม่มีใครรู้ว่าถูกทำขึ้นมาได้อย่างไร ผมต้องการเปิดเผยให้เห็นกระบวนการและผู้คนที่อยู่เบื้องหลังการผลิตสิ่งต่างๆ เหล่านั้นขึ้นมา”

เขายังสำรวจบทบาทของสินค้าแบรนด์เนมหรูหราในสังคม และผลกระทบจากการครอบงำทางการตลาดของสินค้าเหล่านี้ในชีวิตประจำวัน ด้วยความที่เขาเคยทำงานในห้างสรรพสินค้าหรูในนิวยอร์ก และบริษัทเฟอร์นิเจอร์ชั้นนำในลอสแองเจลิส

Hermes Value Meal Big Mac (1995), ภาพจาก https://bit.ly/3AN5B2v

แซกส์ใช้กระบวนการเชิงช่างและงานฝีมือเปลี่ยนวัสดุจากสินค้าแบรนด์เนมหรูหราต่างๆ ให้กลายเป็นวัตถุดาษดื่นสามัญไปจนถึงสามานย์ ที่มีความขัดแย้งกันอย่างสุดขั้ว

ไม่ว่าจะเป็นชุดอาหารแดกด่วนยอดนิยมสัญชาติอเมริกันอย่างแมคโดนัลด์ ที่ทำขึ้นจากบรรจุภัณฑ์และถุงช้อปปิ้งของสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนมหรูหราอย่าง Hermès หรือ Tiffany & Co. ในผลงาน Hermes Value Meal Big Mac (1995) และ Tiffany Value Meal (2000)

Tiffany Value Meal (2000), ภาพจาก https://bit.ly/37Pm2yN

หรืออุปกรณ์รองรับสิ่งปฏิกูลอย่างโถส้วม ที่ทำขึ้นจากกระดาษแข็งที่เคยเป็นบรรจุภัณฑ์ของสินค้าแบรนด์เนมหรูหราอย่าง Prada ในผลงาน Prada Toilet (1997)

หรือผลงาน Chanel Fountain (1998) โถฉี่ทำจากถุงช้อปปิ้งแบรนด์เนมหรูอย่าง Chanel ที่หยอกเย้าผลงานโถส้วมศิลปะของมาร์แซล ดูชองป์ ในลีลาแสบๆ คันๆ

หรือเครื่องมือเครื่องใช้ธรรมดาๆ อย่างเลื่อยไฟฟ้า และกับดักหนู ที่พะยี่ห้อแบรนด์เนมหรูอย่าง Chanel ในผลงาน Chanel Chain Saw (1996) และ Chanel Rat trap (1999)

Prada Toilet (1997), ภาพจาก https://bit.ly/2W2QXVZ

 

Chanel Fountain (1998), ภาพจาก https://bit.ly/3m97Dpz
Chanel Chain Saw (1996), ภาพจาก https://bit.ly/2VXWwVq

 

หรือการใช้บรรจุภัณฑ์และตราสินค้าแบรนด์เนมหรูหราเหล่านี้สร้างเป็นวัตถุที่เป็นตัวแทนของความรุนแรงและความตาย

อย่างผลงาน Hermès Hand Grenade (1995) ที่ใช้กล่องสินค้าแบรนด์เนมหรูอย่าง Hermès มาทำเป็นระเบิดมือ

 

Hermès Hand Grenade (1995), ภาพจาก https://bit.ly/3k0fnaD

 

หรือผลงาน Tiffany Glock (Model 19) (1995) ปืนพกจำลองที่ติดยี่ห้อและใช้โทนสีเดียวกับบรรจุภัณฑ์สินค้าแบรนด์เนมหรูอย่าง Tiffany & Co.

 

Tiffany Glock (Model 19) (1995), ภาพจาก https://bit.ly/3k0fnaD

 

และผลงาน Prada Death Camp (1998) แบบจำลองค่ายกักกันนาซีที่ทำขึ้นจากกล่องใส่หมวกของสินค้าแบรนด์เนมหรูอย่าง Prada ผลงานชิ้นนี้ถูกจัดแสดงในนิทรรศการ Mirroring Evil : Nazi Imagery/Recent Art (2002) ในพิพิธภัณฑ์ชาวยิว (The Jewish Museum) ในนิวยอร์ก

 

Prada Death Camp (1998), ภาพจาก https://bit.ly/3k0fnaD

 

ผลงานอันอื้อฉาวที่จับคู่ระหว่างเหตุการณ์อันน่าสะพรึงกลัวในประวัติศาสตร์กับสินค้าแบรนด์เนมหรูหราชิ้นนี้ ปลุกกระแสวิพากษ์วิจารณ์และทำให้เกิดการประท้วงในวงกว้าง ซึ่งตัวแซกส์กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า

“ผมคิดว่าระบอบเผด็จการฟาสซิสต์และสินค้าแฟชั่น ต่างมีจุดร่วมที่เหมือนกันประการหนึ่ง คือการทำให้คนสูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง ผมสนใจในเครื่องมือที่สร้างสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นมา อันเป็นผลพวงที่ก่อให้เกิดความน่าสะพรึงกลัวและความตาย”

 

Chanel Guillotine (Breakfast Nook) (1998), ภาพจาก https://bit.ly/3gcD922

 

เช่นเดียวกันกับผลงานอื้อฉาวของเขาอีกชิ้นอย่าง Chanel Guillotine (Breakfast Nook) (1998) ผลงานประติมากรรมจัดวางในรูปของกิโยติน อุปกรณ์ประหารชีวิตที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส (ที่ใช้งานได้จริงๆ) ประทับโลโก้สินค้าแฟชั่นแบรนด์เนมหรูชั้นนำอย่าง Chanel จนทั่วตัวเครื่อง

อุปกรณ์ประหารชีวิตสัญชาติฝรั่งเศสแบบดีไอวายที่ถูกสร้างขึ้นจากแผ่นไม้กระดานและวัสดุเก็บตกเหลือใช้ชิ้นนี้นอกจากจะสะท้อนประวัติศาสตร์ความรุนแรงในยุคสมัยการปฏิวัติฝรั่งเศส ช่วงเวลาเดียวกันกับที่อุปกรณ์นี้ถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาเป็นครั้งแรกแล้ว

ยังแสดงนัยยะเสียดเย้ยถึงอำนาจของแบรนด์ยักษ์ใหญ่ที่ครอบครองโลกแห่งการบริโภค ที่ความหรูหราและแฟชั่นครอบงำ ฉุดกระชากผู้คนให้ถลำลึกไปไกลเกินกว่าการจับจ่ายใช้สอยปัจจัยพื้นฐานในชีวิต ด้วยผลงานชิ้นนี้ แซกส์ท้าทายความมืดบอดของสังคมร่วมสมัยที่อุตสาหกรรมแฟชั่นและแบรนด์ยักษ์ใหญ่ควบคุมพฤติกรรมของเหล่าผู้บริโภคที่ตกเป็นเหยื่อด้วยความยินยอมพร้อมใจ

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน แซกส์ยังทำผลงานประติมากรรมที่จำลองเครื่องประหารอีกชนิดอย่าง เก้าอี้ไฟฟ้าขนาดจิ๋ว ที่ประดับตกแต่งด้วยสีสัน ลวดลาย และโลโก้ของสินค้าแฟชั่นแบรนด์เนมหรูหราราคาแพงอย่าง Hermès อีกด้วย

 

แบบจำลองอาคาร Unité d’Habitation ในผลงาน Nutsy (2002)

 

นอกจากนี้เขายังทำผลงานศิลปะจัดวางขนาดใหญ่ในรูปของสภาพแวดล้อมที่ผู้ชมสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมภายในผลงานได้อีกด้วย อย่างเช่น ผลงาน Nutsy’s (2003) งานศิลปะจัดวางขนาด 4,000 ตารางฟุต ที่เป็นการจับคู่เปรียบ (อย่างผิดฝาผิดตัว) ระหว่างวัฒนธรรมชั้นสูงกับวัฒนธรรมประชานิยม

อย่างแบบจำลองที่ทำจากแผ่นโฟมของอาคาร Unité d’Habitation (1947-52) ที่ออกแบบโดยสถาปนิกระดับตำนาน เลอ คอร์บูซีแยร์ อันเป็นสัญลักษณ์แห่งยุคโมเดิร์น (เดิมทีถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พักอาศัยของผู้มีรายได้น้อย แต่ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งพักอาศัยของเศรษฐีมีสตางค์)

วางอยู่เคียงข้างซุ้มขายอาหารแดกด่วนยอดนิยม, บูธดีเจ, แบบจำลองของชุมชนแออัด และเลนรถแข่งบังคับวิทยุที่ผู้ชมสามารถเข้าไปเล่นได้ด้วย

Nutsy’s McDonald’s (2001), ภาพจาก https://bit.ly/37Pm2yN

 

ผลงานชิ้นนี้นอกจากจะนำเสนอความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางวัฒนธรรม และอำนาจของระบบทุนนิยมในโลกสมัยใหม่แล้ว

ยังแสดงการแข็งขืนและต่อต้านต่อระบบทุนนิยม, กฎหมายลิขสิทธิ์ ไปจนถึงอำนาจรัฐ

ไม่ว่าจะเป็นการหยิบฉวยเอาโลโก้และดีไซน์ของแบรนด์สินค้าต่างๆ มาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือการเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ของเก๊ที่เลียนแบบงานดีไซน์ดังๆ มาใช้

ด้วยการทำเช่นนี้ แซกส์แสดงให้ผู้ชมเห็นถึงกลเม็ดในการสร้างเศรษฐกิจทางเลือกของคนตัวเล็กตัวน้อยในสังคม

ในขณะเดียวกันก็เปิดโปงให้เห็นว่าบริษัทยักษ์ใหญ่นั้นสร้างผลกำไรมหาศาลจากลัทธิบริโภคนิยมได้อย่างไร

 

Space Program: Mars (2016), ภาพจาก https://bit.ly/3AQnFsE

 

แซกส์ยังเป็นที่รู้จักจากการเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความนิยมของเทรนด์การถ่ายภาพที่เรียกว่า Knolling (หรือ Flat Lay) ที่นำวัตถุหรือชิ้นส่วนของอุปกรณ์ต่างๆ มาจัดเรียงอย่างเป็นระเบียบ ทำมุม 90 องศา แล้วถ่ายภาพจากด้านบนให้เห็นทั้งหมดในภาพเดียว

เขาได้แรงบันดาลใจจากช่วงเวลาที่ทำงานอยู่ในบริษัทดีไซน์ของ แฟรงก์ เกห์รี สถาปนิกชื่อดังสัญชาติแคนาเดียน-อเมริกัน ที่กำลังออกแบบเก้าอี้ให้แบรนด์เฟอร์นิเจอร์สัญชาติอเมริกันอย่าง Knoll โดยในขณะนั้น แอนดรูว์ โครเมโลว์ (Andrew Kromelow) นักการของบริษัท มักจะจัดวางเครื่องมือของเขาอย่างเป็นระเบียบทำมุม 90 องศา เช่นเดียวกับเอกลักษณ์ทางดีไซน์ของแบรนด์ Knoll และเรียกกิจวัตรเช่นนี้ของเขาว่า Knolling

แซกส์รับเอากิจวัตรนี้ของโครเมโลว์มาปฏิบัติและสานต่ออย่างหลงใหล และนำไปเผยแพร่สู่สาธารณะ

จนต่อมาก็กลายเป็นเทรนด์ถ่ายภาพยอดนิยมในปัจจุบันไปในที่สุด

 

Ten Bullets คู่มือการทำ Knolling โดยทอม แซกส์, ภาพจาก https://bit.ly/37Pg6Wv

 

ข้อมูลจากหนังสือ Art & Agenda : Political Art and Activism โดย Silke Krohn, เว็บไซต์ www.tomsachs.com, https://bit.ly/3maFuP2