อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : Pockets Full of Rainbows สะท้อนจิตวิญญาณแห่งความหลากหลายทางเพศ ด้วยศิลปะภาพพิมพ์สีรุ้ง

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

 

Pockets Full of Rainbows

สะท้อนจิตวิญญาณแห่งความหลากหลายทางเพศ

ด้วยศิลปะภาพพิมพ์สีรุ้ง

 

ในตอนที่ผ่านมา

เรานำเสนอเรื่องราวของงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดแบบสตรีนิยมไปแล้ว

ในตอนนี้เราขอกล่าวถึงงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับประเด็นความหลากหลายทางเพศกันบ้าง

ซึ่งงานศิลปะที่ว่านี้อยู่ในนิทรรศการศิลปะที่มีชื่อว่า Pockets Full of Rainbows

โดย อร ทองไทย เป็นศิลปินเลสเบี้ยนชาวไทย ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะหลากสื่อหลายแขนง

อร ทองไทย

ผลงานของเธอนำเสนอความย้อนแย้งด้วยภาพและข้อความอันเปี่ยมเอกลักษณ์ ดูเรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยความหมายลึกซึ้ง

นิทรรศการในครั้งนี้เป็นการรวบรวมผลงานที่แสดงกระบวนการทำงานและความสนใจในการใช้เทคนิคภาพพิมพ์เชิงทดลองหลากหลายของเธอตลอดระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา โดยประกอบด้วยผลงานศิลปะภาพพิมพ์หลากเทคนิค ทั้งภาพพิมพ์ซิลก์สกรีน (Screen printing) ที่พิมพ์ด้วยสีสะท้อนแสง, ภาพพิมพ์ซิลก์สกรีนผสานกับงานจิตรกรรม, ภาพพิมพ์โลหะกัดกรด (Etching) ภาพพิมพ์จากเครื่องพิมพ์ริโซ่กราฟ*, ไปจนถึงการพิมพ์ลงวัสดุต่างๆ อย่างกระดาษ, ผ้าใบ หรือวัสดุข้าวของต่างๆ อย่างห่อถุงยางอนามัย เป็นต้น

ผลงานภาพพิมพ์หลากหลายเทคนิคเหล่านี้ถูกทำขึ้นภายใต้แนวคิดที่มีนัยยะสื่อถึงความหลากหลายทางเพศ และความสัมพันธ์แบบเควียร์ ผ่านการถ่ายทอดความรู้สึกเชิงบวกอันเรียบง่ายและอารมณ์ขันอันตรงไปตรงมาในภาพ

เป็นเหมือนการเชิญชวนให้ผู้ชมมองภาพของความรักและเพศสภาพอันหลากหลายด้วยความรู้สึกที่อบอุ่นและเป็นมิตร

โอ๊ต มณเฑียร ศิลปินและผู้ก่อตั้งแกลเลอรี่ ‘โพธิสัตวา’ พื้นที่แสดงงานศิลปะที่มีแนวคิดและจุดมุ่งหมายในการก่อตั้งขึ้นเพื่อรองรับศิลปิน LGBTQ+ จากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะ อันเป็นสถานที่จัดแสดงนิทรรศการครั้งนี้ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของงานครั้งนี้ว่า

“เดิมทีผมทำหอศิลป์แห่งนี้เพื่อจัดแสดงผลงานของศิลปิน LGBTQ+ เพราะผมคิดว่าในชุมชนของเรานั้นหาศิลปินเกย์หรือเลสเบี้ยนที่ทำงานแสดงถึงประเด็นความหลากหลายทางเพศอย่างชัดเจนได้ยาก แล้วพอดีนิทรรศการแรกที่จัดขึ้นที่หอศิลป์แห่งนี้เป็นงานของผมเอง ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับเกย์ไปแล้ว นิทรรศการถัดมาก็อยากหาศิลปินที่เป็นเลสเบี้ยนมาแสดงบ้าง ก็เลยนึกถึงคุณอร ทองไทย ขึ้นมา ถึงแม้คุณอรจะไม่เคยนิยามว่าตัวเองเป็นศิลปินเลสเบี้ยนหรือศิลปินเควียร์ แต่ในฐานะที่ติดตามงานของเธอมาเกือบสิบปีแล้ว ก็รู้สึกว่างานของเธอมีความเควียร์มาโดยตลอด ในมุมมองของผม”

 

 

“งานของคุณอรพูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ ความรัก ความศรัทธา แต่ในขณะเดียวกันก็มีความความเท่ ความแมนอยู่ในเส้นสายลายเส้น ในเนื้อหาของงาน อีกอย่างงานของเธอใช้สัญลักษณ์ของเควียร์หลากหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสีสันอย่างสีรุ้ง หรือการพูดถึงการตกหลุมรักระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิง เธอก็วาดเป็นผู้หญิงสองคนจับมือกัน งานเหล่านี้พูดถึงเพศสภาพของเธอย่างชัดเจนมาก”

“ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อปีที่แล้ว คุณอรเดินทางไปทำงานภาพพิมพ์โลหะชุด สีรุ้ง ที่สตูดิโอภาพพิมพ์ C.A.P ของคุณกิติก้อง (ติลกวัฒโนทัย) ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่ามีความเป็นเควียร์สูงมาก ผมก็เลยคุยกับคุณอรว่าอยากเอางานของเธอที่มีทั้งความเป็นเควียร์ ความขบถทางเพศ และความสัมพันธ์ที่มีความหลากหลายมาแสดงร่วมกันที่หอศิลป์ของผม ซึ่งอาจจะทำให้ผู้ชมงานเข้าใจประเด็นเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ก็เลยเกิดเป็นนิทรรศการครั้งนี้ขึ้นมา”

โอ๊ตยังกล่าวถึงกระบวนการทำงานเบื้องหลังผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ว่ามีความซับซ้อนกว่าสิ่งที่ปรากฏให้เห็นมากนัก

“งานของคุณอรในนิทรรศการครั้งนี้อาจจะดูเรียบง่ายแต่ในความเป็นจริงแล้วล้วนต้องใช้เทคนิคและกระบวนการทำงานภาพพิมพ์ที่ซับซ้อนละเอียดอ่อนเอามากๆ อย่างภาพพิมพ์โลหะกัดกรดรูปสายรุ้งชิ้นหนึ่ง ที่ต้องใช้เทคนิค À la poupée (ภาพพิมพ์โลหะหลากสีสัน) หรือเทคนิค Spitbite (ภาพพิมพ์โลหะผ่านกรรมวิธีโรยยางสนแล้วใช้ความร้อนลนแม่พิมพ์เพื่อให้ยางสนละลายติดบนแม่พิมพ์ และใช้น้ำกรดระบายลงแม่พิมพ์ให้น้ำกรดค่อยๆ กัดผิวหน้าของแม่พิมพ์เพื่อสร้างน้ำหนัก เวลาพิมพ์ออกมาจะมีลักษณะนุ่มนวลคล้ายกับการวาดภาพด้วยสีน้ำ), การแยกแม่พิมพ์แล้วพิมพ์ซ้อนกันเพื่อไม่ให้สีแต่ละสีในรุ้งไหลเข้าหากัน, การพิมพ์แบบปั๊มนูน (Embossing) หรือการใช้ Holographic ฟอยล์ พิมพ์ลงบนกระดาษ ซึ่งเป็นเทคนิคยากมากที่สตูดิโอยังไม่เคยทำมาก่อน”

กระบวนการอันยุ่งยาก ซับซ้อน ละเอียดอ่อน แต่ให้ผลลัพธ์เป็นผลงานอันเรียบง่ายคล้ายกับภาพวาดของเด็กๆ เช่นนี้ของอร ไม่ต่างอะไรกับการสื่อสะท้อนถึงความยากลำบาก LGBTQ+ ที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนอย่างยากลำบากและยาวนาน กว่าจะได้มาซึ่งผลลัพธ์อันธรรมดาสามัญนั่นเอง

“สิ่งที่น่าสนใจของงานชุดนี้ก็คือมันมีความเรียบง่ายมากๆ อย่างธงสีรุ้ง ลายเส้นรูปคนง่ายๆ รูปหน้ายิ้ม ที่มีความไร้เดียงสา ตรงไปตรงมา จนคนทั่วไปอาจคิดว่าเป็นภาพวาดของเด็กๆ แต่จริงๆ แล้วกระบวนทำนั้นยากมากๆ ซึ่งผมคิดว่าคล้ายกับชีวิตของชาว LGBTQ+ ที่กว่าจะได้มาซึ่งสิ่งที่ดูง่ายๆ ปกติ ความสุขธรรมดาเรียบง่ายอย่างการสมรสเท่าเทียม ความเสมอภาคในสังคม นั้นต้องผ่านกระบวนการต่อสู้อย่างยากลำบากมากๆ กว่าจะได้สิ่งเหล่านี้มา”

 

 

 

 

 

นอกเหนือจากศิลปินจะใช้สัญลักษณ์ของ LGBTQ+ อย่างธงสีรุ้ง หรือภาพที่มีความกำกวมทางเพศอย่างรูปคนที่จะมองดูเป็นหญิงหรือชายก็ได้ อรยังใช้ประโยคตัวหนังสือและข้อความที่สื่อถึงความสัมพันธ์แบบเควียร์ เช่น “YOU PLAY GAME BOY, I PLAY GAME GIRL”, “THERE IS A MALE IN FEMALE” หรือ “LOVE WINS” เป็นต้น

“ผมคิดว่าแก่นสารในผลงานของคุณอรนั้นเต็มไปด้วยความหวัง มีพลังในแง่บวก เลยอยากหยิบเอาผลงานเหล่านี้มาแสดงร่วมกันเพื่อส่งพลังแห่งความหลากหลายทางเพศ และนิทรรศการเองก็เปิดแสดงในเดือนมิถุนายน (ซึ่งเป็น “LGBT Pride Month” หรือเดือนแห่งความภูมิใจของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ) อีกด้วย”

โอ๊ตกล่าวทิ้งท้าย

 

 

 

 

ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ถือได้ว่าเป็นการนำเสนอความคิดสร้างสรรค์เชิงทดลองในกระบวนการภาพพิมพ์ของหนึ่งในศิลปินเลสเบี้ยนชาวไทยผู้น่าจับตามองที่สุดในวงการศิลปะร่วมสมัยปัจจุบัน และเป็นการสะท้อนจิตวิญญาณแห่งความหลากหลายทางเพศได้อย่างชัดเจน อบอุ่น จริงใจ ตรงไปตรงมา และเต็มอิ่มจนไม่อยากให้ใครพลาดไปดูชมกัน ไม่ว่าคุณจะ LGBTQ+ หรือไม่ก็ตาม

นิทรรศการ Pockets Full of Rainbows โดย อร ทองไทย จัดแสดงที่แกลเลอรี่ ‘โพธิสัตวา’ ตั้งอยู่ภายร้าน Baik Baik ปากซอยสรงประภา 18 ถนนสรงประภา แขวงสีกัน เขตดอนเมือง จัดแสดงตั้งแต่เดือนมิถุนายน-เดือนสิงหาคม 2021

โดยจะจัดให้เข้าชมเป็นรอบและจำกัดจำนวนผู้เข้าชมต่อรอบ

นัดหมายการเข้าชมได้ที่ Facebook : Bodhisattava Lgbtq+ Gallery หรือโทรศัพท์ 06-3421-2642

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากแกลเลอรี่ ‘โพธิสัตวา’

* ริโซ่กราฟ (Risograph) คือเทคนิคการทำงานพิมพ์ที่เรียกตามชื่อเครื่องพิมพ์สำเนาระบบสเตนซิลของญี่ปุ่น Riso ที่ออกวางจำหน่ายเป็นครั้งแรกในปี 1986 โดยเป็นอุปกรณ์ที่ทำงานได้ทั้งในระบบดิจิตอลร่วมกับคอมพิวเตอร์และเป็นเครื่องถ่ายสำเนาแบบอะนาล็อก, Riso สามารถพิมพ์ได้ทีละสี ให้สีสันสดใส เหมาะสำหรับงานสิ่งพิมพ์ทางเลือกที่ราคาเป็นมิตร อย่างโปสเตอร์ การ์ตูนและหนังสือทำมือ ไปจนถึงงานภาพพิมพ์ต่างๆ