อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : Painting X นิทรรศการที่ค้นหาคำตอบ ว่าจิตรกรรมคืออะไร? (จบ)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

Painting X

นิทรรศการที่ค้นหาคำตอบ

ว่าจิตรกรรมคืออะไร? (จบ)

 

ในนิทรรศการ Painting X ยังเพิ่มมุมมองอันหลากหลายจากศิลปินหญิงและศิลปิน LGBTQ อย่าง มิร์ทิลล์ ทิแบย์เรงซ์ (Myrtille Tibayrenc) จิตรกรชาวฝรั่งเศสผู้ย้ายมาพำนักในประเทศไทย

Habitat, 2021, สีน้ำมันบนผ้าใบ, มิร์ทิลล์ ทิแบย์เรงซ์

มิร์ทิลล์วาดภาพขนาดเล็กจำนวนมากด้วยเทคนิคจิตรกรรมแบบคลาสสิคโดยได้แรงบันดาลใจจากความลึกลับของความทรงจำที่มีอยู่ในภาพต้นแบบที่เธอเก็บสะสมจากอินเตอร์เน็ตหรือภาพเธอเคยถ่ายเอาไว้

ดังคำกล่าวของเธอที่ว่า “ความลึกลับของความเป็นมนุษย์ถูกเปิดเผยอยู่ในงานจิตรกรรม”

อัญชลี อนันตวัฒน์ ศิลปิน นักออกแบบ คิวเรเตอร์ ผู้ก่อตั้งพื้นที่ทางศิลปะสุดอินดี้แห่งย่านเจริญกรุงอย่าง Speedy Grandma เจ้าของผลงานภาพวาดสีฝุ่นขนาดเล็กชุดผีน่ารักที่ปรากฏตัวอยู่ในที่ต่างๆ และเหตุการณ์ทางธรรมชาติที่วาดขึ้นอย่างเรียบง่ายเหมือนงานของเด็กแต่มีพลังดึงดูดอย่างประหลาด ด้วยบรรยากาศของโลกที่สดใส เรื่องเล่าสั้นๆ อันเรียบง่าย ทว่าย้อนแย้ง และต่อต้านโลกหม่นมัวที่พยายามประดับประดายัดเยียดเรื่องราวมหากาพย์อย่างล้นเกิน

A cute ghost looking at the reflection of the moon, 2021, สีซอฟต์พาสเทลบนกระดาษ, อัญชลี อนันตวัฒน์

ไปรยา เกตุกูล จิตรกรผู้ใช้ภาษาจิตรกรรมเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของมนุษย์และธรรมชาติ ในฐานะของจิตรกรที่มีส่วนในการจัดการธรรมชาติผ่านงานจิตรกรรม ผลงานของไปรยาพาเราไปสำรวจอาณาจักรของความสมดุลและการดำรงอยู่ของมนุษย์และธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่เกื้อกูลกันใจกลางพื้นที่ของเมืองใหญ่

พบ (Encounter), 2021, สีอะคริลิกบนผ้าลินิน, ไปรยา เกตุกูล

นีโน่ สาระบุตร ศิลปินผู้มีชื่อเสียงจากผลงานเครื่องปั้นดินเผาและศิลปะจัดวางขนาดใหญ่ ผลงานในนิทรรศการนี้เป็นครั้งแรกที่นีโน่ทดลองสร้างสรรค์งานด้านจิตรกรรมขึ้นมา

BE HERE NOW, 2021, สีอะคริลิกบนผ้าใบ, นีโน่ สาระบุตร

ชญานิษฐ์ ม่วงไทย จิตรกรผู้วาดภาพสวนดอกไม้กึ่งนามธรรมขนาดใหญ่ด้วยสีหนาเปรอะที่ได้รับแรงบันดาลใจจากทิวทัศน์เมื่อมองออกไปนอกหน้าต่างในขณะที่ต้องล็อกดาวน์อยู่บ้านในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19

Untitled, 2021, สีน้ำมันบนผ้าใบและแผ่นไม้อัด, ชญานิษฐ์ ม่วงไทย

โอ๊ต มณเฑียร ศิลปินผู้ขับเคลื่อนพลัง LGBTQ ในวงการศิลปะไทย จิตรกรผู้นิยามตนเองเป็นแม่มดและร่ายเวทมนตร์ในภาพวาด โดยเฉพาะภาพนู้ดที่ถ่ายทอดโมงยามแห่งความสัมพันธ์ระหว่างนายแบบและผู้วาดอย่างลึกซึ้ง

ภวังค์, 2021, สีอะคริลิก, พาสเทล แท่งถ่านบนผ้าใบ, โอ๊ต มณเฑียร

ด้วยความต้องการสนับสนุนศิลปินหน้าใหม่ นิทรรศการ Painting X จึงจงใจเพิ่มรายชื่อจิตรกรรุ่นใหม่ที่มีรูปแบบการสร้างสรรค์ผลงานที่น่าสนใจและน่าจับตามองหลายคน

อย่าง สหัสวรรษ แสนปราชญ์ จิตรกรผู้กำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 3 หลักสูตรอิลลัสเตชั่นอาร์ต คณะสถาปัตยกรรรม ศิลปะและการออกแบบ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ภาพเหมือนตนเองอีกคนหนึ่ง, 2021, สีน้ำมันบนผ้าใบ, สหัสวรรษ แสนปราชญ์

สำหรับสหัสวรรษ งานจิตรกรรมเป็นเสมือนกระจกเงาที่ส่องให้เห็นความรู้สึกนึกคิด และแปรสิ่งที่เป็นนามธรรมให้ออกมาเป็นรูปธรรม งานของเขาต้องการพูดถึง ‘การมีอยู่’ และ ‘อิสรภาพ’ เพื่อหลุดพ้นจากสภาพความเป็นจริง

ปิยะธิดา ไกรกิจราษฎร์ ศิลปินนักทดลองผู้เพิ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ปิยะธิดาสนใจเรื่องการบันทึกและพื้นที่ว่าง จิตรกรรมสำหรับปิยะธิดาคือสื่อที่ชวนให้คนเข้ามาค้นหาความคิดของศิลปิน ในครั้งนี้เธอเลือกเล่นกับพื้นที่ว่างของภาชนะสังคโลกสำหรับงานทดลองทางจิตรกรรม เพื่อปลดปล่อยทางความงามและความคิดให้เป็นอิสระ

ฝาแฝดพี่ – ฝาแฝดน้อง, 2021, คัลเลอร์มาเช่, ปิยะธิดา ไกรกิจราษฎร์

ณภัทร สินไตรรัตน์ จิตรกรและนักออกแบบสิ่งทอ ผู้จบการศึกษาจากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศึกษาต่อด้านศิลปะที่ Chelsea College of Arts ณภัทรเติบโตมาในครอบครัวที่มีคุณพ่อและน้องชายเป็นหมอ จึงเริ่มวาดรูปทรงแปลกประหลาดและลงสีลงในสมุดสเกตช์ โดยได้ต้นแบบมาจากภาพประกอบหนังสือกายวิภาคทางการแพทย์

Blue Sketch D #6, 2021, ดินสอสีบนกระดาษ, ณภัทร สินไตรรัตน์

และท้ายสุด จูเลีย โอบอร์น (Julia Oborne) จิตรกรลูกครึ่งไทย-อังกฤษ ผู้จบการศึกษาด้านจิตรกรรมจาก University of Edinburgh สกอตแลนด์ จูเลียสนใจกระบวนการของการเพิ่ม ลด ขูดขีด สร้างร่องรอย ผลงานของเธอสำรวจความเป็นสื่อและความเป็นไปได้ในการสร้างสรรค์งานจิตรกรรม

Bloom, 2021, สีน้ำมันบนผ้าใบ, จูเลีย โอบอร์น

งานของเธอได้แรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์และความทรงจำทั้งทางกายภาพและอารมณ์ความรู้สึก แปรเปลี่ยนและแตกย่อยให้กลายเป็นรูปทรงและสีสันในเชิงนามธรรม

 

อังกฤษ อัจฉริยโสภณ ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ Painting X กล่าวทิ้งท้ายว่า “ในฐานะผู้จัด ผมพยายามแสดงให้เห็นรูปแบบของงานจิตรกรรมจากศิลปินหลากหลายรุ่น ประสบการณ์ และมุมมอง ศิลปินหลายคนทำงานด้วยความคิด ในขณะที่หลายคนทำงานด้วยความรู้สึก เรามองเห็นและเรียนรู้อะไรจากงานจิตรกรรมที่เป็นภาพนิ่งเหล่านี้”

“คำถามปลายเปิดที่ไม่ต้องการคำตอบนี้ เหมาะสมอย่างยิ่งในสังคมร่วมสมัยที่ขับเคลื่อนด้วยภาพเคลื่อนไหว ในขณะที่แอพพลิเคชั่นต่างๆ กำลังแย่งชิงความสนใจของเราแทบจะทุกวินาทีใน 24 ชั่วโมง ผมหวังว่าการเริ่มต้นของนิทรรศการนี้จะเป็นการส่งต่อที่ไม่สิ้นสุด เพื่อขยายของเขตของเสรีภาพ ศักยภาพและการทำงานสร้างสรรค์ศิลปะของศิลปินต่อไป”

ถ้าหากใครมีโอกาสได้มาชมนิทรรศการครั้งนี้ ไม่แน่ว่าผลงานจิตรกรรมอันแตกต่างหลากหลายเหล่านี้ อาจพอจะช่วยตอบคำถามข้างต้นได้ว่า “จิตรกรรมคืออะไร?” และเพราะเหตุใดมันจึงสามารถอยู่ยั้งยืนยงมาจนถึงยุคปัจจุบัน ก็เป็นได้

นิทรรศการ Painting X จัดแสดง ณ อาคาร XSPACE Art Gallery ซอยปรีดีพนมยงค์ 14 ถนนสุขุมวิท 71 เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม-5 พฤศจิกายน 2564 (จันทร์ถึงเสาร์ เวลา 10.00-17.00 น.), สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโปรดติดต่อ โทร. 06-6073-2332, อีเมล [email protected]

ชมตัวอย่างผลงานได้ที่นี่ https://xspace.gallery/exhibition