งานศิลปะ ที่สะท้อนสภาวะของประชาชน ผู้ถูกกดขี่โดยอำนาจรัฐ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ท่ามกลางสถานการณ์บ้านเมืองอันวิกฤตจากภาวะโรคระบาดที่ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจตกต่ำผู้คนยากไร้ขัดสนแทบทุกหย่อมหญ้า ผู้มีอำนาจรัฐกลับปล่อยปละละเลยความเป็นอยู่ของประชาชนและมองไม่เห็นหัวผู้คนราวกับเป็นฝุ่นผงใต้เท้า

แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีประชาชนบางส่วนที่สนับสนุนและเข้าข้างรัฐอย่างไม่ลืมหูลืมตา

ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้เรานึกถึงงานศิลปะของศิลปินผู้หนึ่งขึ้นมาตงิดๆ

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

โด โฮ ซอ (Do Ho Suh) (หรืออ่านในภาษาเกาหลีว่า ซอ โด โฮ) ประติมากรและศิลปินศิลปะจัดวางชาวเกาหลี

The Perfect Home II (2003), ภาพจาก https://bit.ly/3jt7oV7

เขายังทำงานศิลปะในหลากสื่อหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นภาพวาด และภาพยนตร์ ที่สำรวจประเด็นเกี่ยวกับตัวตนกับพื้นที่และที่อยู่อาศัยของมนุษย์

ผลงานของเขาเป็นที่รู้จักอย่างดีในความเชื่อมโยงกับกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะต่อต้านอนุสาวรีย์ (Anti-monumentalism) หรือปรัชญาทางศิลปะที่ต่อต้านการปรากฏตัวของพลังทางสังคมอันน่าเกรงขามโดยอำนาจรัฐในพื้นที่สาธารณะ

กระแสเคลื่อนไหวนี้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อต่อต้านลัทธิอนุสาวรีย์ที่เกิดขึ้นจากอำนาจรัฐ (โดยส่วนใหญ่คือรัฐเผด็จการ) ที่มักจะสร้างอนุสาวรีย์ในพื้นที่สาธารณะเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนความยิ่งใหญ่หรืออุดมการณ์ของตน ซึ่งส่งผลกระทบต่อเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่เหล่านั้น

การต่อต้านอนุสาวรีย์หมายถึงการปฏิเสธแนวคิดของอนุสาวรีย์ที่พัฒนาขึ้นจากมุมมองของชนชั้นสูง ว่าเป็นสัญลักษณ์แห่งอำนาจของพวกตนนั่นเอง

ผลงานของเขาถ่ายทอดประสบการณ์ชีวิตของตัวเองผ่านกระบวนการทำงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นบ้านที่เขาเคยอยู่อาศัย หรือผู้คนอันหลากหลายที่เขาเคยพานพบในชีวิต

Home Within Home Within Home Within Home Within Home (2013), ภาพจาก https://bit.ly/3h9RxJo

ซอเกิดในปี 1962 ที่เกาหลีใต้ พ่อของเขา ซอ เซ อ็อก (Suh Se-Ok) เป็นศิลปินชื่อดังผู้บุกเบิกกระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะของเกาหลีในช่วงยุค 1960 ที่ผสมผสานการวาดภาพสีหมึกแบบประเพณีของเกาหลีเข้ากับงานศิลปะนามธรรมของตะวันตก

หลังจากจบการศึกษาปริญญาตรีและโทด้านจิตรกรรมตะวันออกจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล เพื่อหลีกหนีจากร่มเงาชื่อเสียงของศิลปินผู้พ่อ เขาจึงเดินทางไปศึกษาต่อในสาขาจิตรกรรมที่สถาบัน Rhode Island School of Design ในสหรัฐอเมริกา และเข้าเรียนปริญญาโทสาขาประติมากรรมที่มหาวิทยาลัยเยล

ซอเปิดตัวเข้าสู่แวดวงศิลปะของนิวยอร์กในช่วงปลายยุค 1990 จากผลงานประติมากรรมที่เล่นกับความเป็นสถาปัตยกรรม พื้นที่ว่าง และประสบการณ์ในชีวิตของเขา

348 West 22nd Street (2011-15), ภาพจาก https://bit.ly/3qLsoIk

ผลงานช่วงแรกของเขาเป็นงานศิลปะที่ผสานตัวเข้ากับพื้นที่หอศิลป์จนผู้ชมแทบจะมองไม่ออกว่ามีงานศิลปะแสดงอยู่

แต่ผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้เขามากที่สุดคือประติมากรรมจัดวางที่ทำขึ้นจากผ้าใยสังเคราะห์หรือผ้าไหมตัดเย็บอย่างประณีตจนกลายเป็นอาคารที่อยู่อาศัยที่เขาเคยอาศัยอยู่ในอดีตในขนาดเท่าจริงและย่อส่วน พื้นที่อยู่อาศัยและสถาปัตยกรรมที่ควรจะเป็นสิ่งคงทนถาวรที่ถูกสร้างขึ้นจากวัสดุนุ่มนิ่มพลิ้วไหวและเสื่อมสลายง่ายไม่อยู่ยั้งยืนยงอย่างผ้า

สะท้อนแนวคิดและปรัชญาในการทำงานของเขาได้อย่างแหลมคม

High School Uni-Form (1997), ภาพจาก https://bit.ly/3hmI5Bs

ผลงานของซอสำรวจแนวคิดเกี่ยวกับความทรงจำในประวัติศาสตร์ส่วนตัว วัฒนธรรมประเพณี และระบบความเชื่อในโลกร่วมสมัย ผลงานของเขานำเสนอประเด็นเกี่ยวกับบ้าน การพลัดถิ่นฐาน ความเป็นปัจเจกและความเป็นส่วนรวม ผ่านการใช้พื้นที่สถาปัตยกรรมของที่อยู่อาศัยพื้นถิ่น โดยได้แรงบันดาลใจจากการย้ายถิ่นฐานจากเกาหลีไปยังสหรัฐอเมริกา

ซอตีความคำว่า “บ้าน” ในมุมมองของเขาขึ้นมาใหม่ โดยสร้างออกมาเป็นผลงานศิลปะที่สำรวจความเป็นพื้นที่ของที่อยู่อาศัยและการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนและบ้านที่พวกเขาอาศัยอยู่

ดังเช่นในผลงาน Home Within Home Within Home Within Home Within Home (2013) ประติมากรรมจัดวางเฉพาะพื้นที่ทำจากผ้าไหม ที่จำลองอาคารบ้านสามชั้นในโรดไอส์แลนด์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาเคยพักอาศัยอยู่เป็นที่แรกเมื่อเขาเดินทางมาเรียนต่อยังสหรัฐอเมริกา ภายในตัวอาคารจำลองยังมีประติมากรรมผ้าไหมที่จำลองบ้านสไตล์เกาหลีแบบดั้งเดิมที่เขาเคยอยู่ในกรุงโซล แขวนลอยอยู่ตรงกลาง

Some/One (2001), ภาพจาก https://bit.ly/36bZh7f

ผลงานชิ้นนี้นอกจากจะเป็นการจำลองกายภาพของพื้นที่อยู่อาศัยที่เขาเคยอาศัยและใช้ชีวิตอยู่ออกมาให้เห็นแล้ว ยังสะท้อนถึงความเป็นตัวตนของศิลปินในฐานะคนจากตะวันออกที่มาอยู่อาศัยและใช้ชีวิตในประเทศและวัฒนธรรมตะวันตกผ่านรูปแบบของอาคารสถาปัตยกรรมได้อย่างแนบเนียน

หรือผลงาน 348 West 22nd Street (2011-15) ประติมากรรมจัดวางทำจากผ้าโพลีเอสเตอร์โปร่งแสงเส้นใยสะท้อนแสง ที่จำลองห้องชั้นล่างของอพาร์ตเมนต์ที่เขาเคยอยู่อาศัยเมื่อครั้งที่มาถึงนิวยอร์กเป็นครั้งแรกขึ้นมาใหม่

ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมสามารถเข้าไปเยี่ยมชมประวัติศาสตร์ส่วนตัว (อันอยู่ได้เพียงชั่วคราว) ของเขาได้อย่างใกล้ชิด

The Floor (1997 -2000), ภาพจาก https://bit.ly/3x9XQ5k

นอกจากประเด็นของบ้านและที่อยู่อาศัยแล้ว ผลงานของซอยังพูดถึงประเด็นเกี่ยวกับความทรงจำผ่านวัตถุที่มีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับร่างกายของเขา ดังเช่นในผลงานชุด High School Uni-Form (1997) ประติมากรรมจัดวางที่ประกอบด้วยเครื่องแบบนักเรียนมัธยมเกาหลีสีดำ (ที่ถูกยกเลิกการใช้งานไปแล้ว) กว่าร้อยชุดแขวนเรียงรายอย่างเป็นระเบียบราวกับกำลังเข้าแถวเคารพธงชาติกันอยู่

ซอกล่าวว่า “มันน่าขันที่คนเกาหลีมีความโหยหาชุดเครื่องแบบนักเรียน แม้พวกเราจะเกลียดการใส่เครื่องแบบเอามากๆ และนักเรียนเกาหลีก็พยายามตกแต่งชุดของตัวเองให้ไม่เหมือนกับคนอื่นๆ ให้มากที่สุด สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนการปะทะกันระหว่างความเป็นปัจเจกและความเป็นส่วนรวม”

หรือในผลงาน Metal Jacket (1992/2001) และ Some/One (2001) ประติมากรรมจัดวางรูปเสื้อคลุมชายเสื้อสั้นและเสื้อคลุมชายเสื้อยาวระพื้น ตัวชุดทั้งหมดทำขึ้นจากป้ายห้อยคอสุนัขทหารในกองทัพเกาหลีขัดเงาแวววาวจำนวนนับไม่ถ้วน เสื้อคลุมที่คล้ายกับชุดเกราะผีสิงที่ลอยอยู่ตัวนี้สะท้อนถึงสภาวะของทหารแต่ละคนที่เป็นส่วนหนึ่งขององคาพยพที่ใหญ่กว่าตัวของพวกเขาอย่างกองทัพ และสำรวจเส้นแบ่งระหว่างความเป็นปัจเจกและความเป็นส่วนรวม รวมถึงความเป็นส่วนตัวและความเป็นสาธารณะ

เขายังทำงานที่สำรวจความสัมพันธ์ทางอำนาจของปัจเจกและความเป็นส่วนรวม ผ่านผลงานประติมากรรมจัดวาง The Floor (1997-2000) ที่ประกอบด้วยตุ๊กตุ่นพลาสติกรูปมนุษย์ตัวจิ๋วจำนวนนับไม่ถ้วนยืนทำท่าราวกับกำลังแบกรับน้ำหนักอยู่ใต้แผ่นกระจกบนพื้นห้องแสดงงานที่ผู้ชมเดินผ่านไปผ่านมายังไงยังงั้น

Karma (2003), ภาพจาก https://bit.ly/2TrtoVJ

เช่นเดียวกับที่ปรากฏในผลงานอีกชิ้น (ที่เราเกริ่นไปข้างต้น) ที่มีชื่อว่า Karma (2003) ประติมากรรมจัดวางขนาดใหญ่สูงจากพื้นจรดเพดานห้องแสดงงาน รูปขาสองข้างกำลังย่างเท้าก้าวเดินอยู่โดยมีมนุษย์พลาสติกตัวจิ๋วจำนวนหลายร้อยคนรองรับอยู่ใต้ฝ่าเท้า

ผลงานชิ้นนี้ชวนให้นึกถึงสถานภาพของประชาชนพลเมืองตัวเล็กตัวน้อยที่ถูกเหยียบย่ำกดขี่ใต้ฝ่าเท้าของอำนาจรัฐและเผด็จการ แต่ในขณะเดียวกัน อากัปกิริยาของมนุษย์ตัวจิ๋วทั้งหลายที่ดูเหมือนกำลังวิ่งรอรับการก้าวย่างของฝ่าเท้าแต่ละข้างด้วยใจจดจ่อนั้นก็เป็นการสะท้อนถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจและการพึ่งพาอาศัยกันระหว่างผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่ได้อย่างน่าสนใจ

เช่นเดียวกับสตอกโฮล์ม ซินโดรม (stockholm-syndrome) หรืออาการทางจิตเวชลักษณะหนึ่ง ที่เหยื่อมักหลงรักหรือมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้ที่ลักพาตัวหรือทำร้ายพวกเขา จากการได้อยู่ใกล้ชิดกันเป็นเวลานาน เช่นเดียวกับผู้ถูกกดขี่หลายคนอาจคุ้นชินกับการถูกกดขี่โดยไม่รู้ตัว (หรือรู้ตัว) มาอย่างต่อเนื่องยาวนานจนไม่อาจมีชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากการกดขี่

โดยอาจหลงลืมไปว่า เผด็จการไม่ว่าจะอยู่ภายใต้โฉมหน้าใดก็ไม่ควรรักใคร่ ไว้ใจและไม่ควรสนับสนุนโดยเด็ดขาด!

Karma (2003), ภาพจาก https://bit.ly/3w3Lz0U

โด โฮ ซอ เป็นศิลปินผู้เป็นตัวแทนของเกาหลีเข้าร่วมแสดงในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 49 ในปี 2001

และมีผลงานจัดแสดงในหอศิลป์พิพิธภัณฑ์ชั้นนำของโลกหลายแห่ง

อย่างพิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่แห่งนิวยอร์ก (MoMA), พิพิธภัณฑ์ศิลปะอเมริกัน Whitney และพิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ นิวยอร์ก นิวยอร์ก, พิพิธภัณฑ์ศิลปะซีแอตเติล ในซีแอตเติล และพิพิธภัณฑ์เทต โมเดิร์น ในลอนดอน

เขาได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้สร้างนวัตกรรมแห่งปีด้านศิลปะ ในปี 2013 โดยนิตยสาร Wall Street Journal อีกด้วย

ข้อมูล https://bit.ly/3xmq6BC, https://bit.ly/3jxlHIk, https://bit.ly/3AbbpU5, https://bit.ly/3jxalnq