อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : นิ/ราษฎร์ ศิลปะจากการเดินทางสำรวจ วิกฤตการณ์การเมืองไทย

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

 

นิ/ราษฎร์

ศิลปะจากการเดินทางสำรวจ

วิกฤตการณ์การเมืองไทย

 

ในประวัติศาสตร์ งานจิตรกรรมเหมือนจริงมักถูกใช้เป็นเครื่องมือรับใช้ชนชั้นสูงหรือผู้มีอำนาจในสังคม

แต่บางครั้งผลงานในลักษณะนี้ก็ถูกใช้ในการบอกเล่าถึงความทุกข์ยากของมวลชน หรือวิพากษ์วิจารณ์และตีแผ่ความอยุติธรรมเหลื่อมล้ำในสังคมเช่นเดียวกัน

เมืองตาพร่ามัว (The Country of the Blind) (2021), สีน้ำมันบนผ้าใบ

ดังเช่นผลงานที่เราจะกล่าวถึงในตอนนี้จากนิทรรศการที่มีชื่อว่า นิ/ราษฎร์ : The L/Royal Monument

โดย วิทวัส ทองเขียว ศิลปินชาวไทยผู้มีความเชี่ยวชาญทางทักษะและฝีไม้ลายมือในการทำงานจิตรกรรมเหมือนจริง

โดยมุ่งเน้นในการทำงานที่ตั้งคำถามและบอกเล่าวิกฤตการณ์ทางสังคมการเมืองในประเทศไทย ด้วยการใช้รูปแบบของสัญลักษณ์และการอุปมาอุปไมยผ่านภาษาภาพ ทั้งภาพเหมือนจริงของทิวทัศน์ บุคคล สิ่งก่อสร้าง และวัตถุข้าวของต่างๆ อันมีที่มาจากการเดินทางเข้าไปสังเกตการณ์และเข้าร่วมกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองในปัจจุบันอย่างใกล้ชิดหลายต่อหลายครั้ง และได้สัมผัสกับความรุนแรงที่อำนาจรัฐกระทำต่อประชาชนในหลายรูปแบบ

สายันต์อัสดง (Dawn) (2021), สีน้ำมันบนผ้าใบ

ชื่อนิทรรศการอย่าง “นิ/ราษฎร์” จึงเป็นการเล่นคำระหว่างคำว่า “นิราศ” หรืองานประพันธ์ที่มีเนื้อหาในเชิงพรรณนาถึงการเดินทาง กับคำว่า “ราษฎร์” หรือพลเมืองของประเทศนั่นเอง

“ผลงานในนิทรรศการนี้เกิดจากการสังเกตในสิ่งที่เราเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์ด้วย ด้วยความที่ในช่วงที่ผ่านมา มีสถานการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นเต็มไปหมดในพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่อย่างสนามหลวงหรือราชประสงค์ ผลงานจิตรกรรมที่เห็นนิทรรศการครั้งนี้ล้วนมีต้นแบบมาจากภาพถ่ายที่ได้จากการเดินทางโดยไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องเดินทางไปไหน แต่ในเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นทุกที่ ไม่ว่าเราจะเดินทางไปไหนก็จะมีความหมายทางการเมืองแฝงอยู่ที่นั่นเสมอ”

วิทวัสกล่าวถึงที่มาของผลงานในนิทรรศการครั้งล่าสุดของเขา

 

ฟ้าสีทอง (Utopia) (2021), สีน้ำมันบนผ้าใบ

ความหมายทางการเมืองเหล่านี้แฝงเร้นอยู่ในผลงานภาพวาดทิวทัศน์และภูมิทัศน์เมืองของวิทวัส ทั้งภาพท้องทุ่งสนามหลวงอันเลือนรางพร่ามัว ภาพถนนหนทางในกรุงเทพฯ ภาพบล็อกคอนกรีตกั้นถนนบนราชประสงค์เปรอะสีไหลย้อย ภาพกำแพงวัดปทุมวนาราม ที่เคยเป็นพื้นที่ที่มีผู้ถูกยิงเสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมในปี พ.ศ.2553 ภาพท้องฟ้าสีแดงก่ำยามเย็นย่ำในเมือง หรือภาพท้องฟ้าสีทอง (ผ่องอำไพ?) จากมุมมองเบื้องบน

 

สิ้นสุดพุทธาวาส (Interregnum) (2021), สีน้ำมันบนผ้าใบ

นอกจากภาพวาดทิวทัศน์และภูมิทัศน์แล้ว ในนิทรรศการครั้งนี้ยังมีผลงานภาพวาดเหมือนจริงของผู้ต้องหาในคดีทางการเมืองโดยอำนาจรัฐอย่างบัณฑิต อานียา, ปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือ หมอลำแบงค์, ทนายอานนท์ นำภา และบุคคลผู้สงวนนาม ในอิริยาบถที่แตกต่างกันไป

ที่น่าสนใจก็คือ ภาพวาดเหล่านี้ถูกนำเสนอในโทนสีหลักเดียวกันคือสีน้ำเงิน (ซึ่งแฝงนัยถึงคดีความที่พวกเขาประสบ)

ราษฎร์ประสงค์ (Intersection of Wills) (2021), สีน้ำมันบนผ้าใบ

และมีขนาดของภาพเท่ากับขนาดความสูงของบุคคลผู้อยู่ในภาพโดยไม่ผิดเพี้ยน

“ถ้าภาพวาดชุดแรกเป็นเรื่องของทิวทัศน์และสถานที่ ภาพวาดชุดที่สองก็คือเรื่องราวของผู้คน เราหยิบเอาภาพของบุคคลผู้ต้องคดีทางการเมืองสี่คนที่เราเคยเดินทางเข้าไปพบเจอและพูดคุยด้วยมาวาดเป็นภาพพอร์ตเทรตขึ้นมา”

“อย่างภาพลุงบัณฑิต อานียา ที่เราไปอยู่กับแกในวันที่แกขึ้นศาลทหาร พอคดีจบ แกเดินถือถุงสัมภาระใบเบ้อเริ่มออกมาจากศาล นักข่าวก็ถามแกว่า ‘ลุงพกอะไรมา?’ แกก็เปิดให้ดู ในนั้นเป็นอุปกรณ์ยังชีพและอุปกรณ์การแพทย์ อย่างถุงระบายปัสสาวะ เพราะแกเป็นโรคไต ยาต่างๆ และเสื้อกับผ้า ภาชนะสำหรับใช้ในเรือนจำ เพราะแกคิดว่าวันนั้นแกต้องถูกคุมขังแน่ๆ และย่ามที่แกใช้เป็นประจำจนกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวไปแล้ว”

ลับ-แล (V for Vanish) (2021), สีน้ำมันบนผ้าใบ

แต่สิ่งที่ภาพวาดนี้ผิดแผกธรรมเนียมของภาพวาดพอร์ตเทรตทั่วๆ ไปก็คือ มันแสดงให้เห็นแค่เพียงข้าวของต่างๆ ของบัณฑิตโดยไม่แสดงให้เราได้เห็นหน้าค่าตาของเจ้าตัว และปล่อยให้ร่างกายของเขาที่ปรากฏให้เห็นในภาพเป็นพื้นที่สีขาวอันว่างเปล่า ราวกับเขาไม่มีตัวตนอยู่

“ที่เราวาดแต่เพียงภาพข้าวของต่างๆ โดยไม่วาดตัวแกให้เห็น เพราะเราคิดว่าข้าวของเหล่านั้นบ่งบอกถึงความเป็นตัวแกได้ชัดเจนแล้ว อีกอย่าง เราคิดว่าแกเป็นผู้บริสุทธิ์ เราเลยวาดให้ตัวแกเป็นสีขาวว่างเปล่าอย่างที่เห็น”

อาเพศ (Apocalypse) (2021), สีน้ำมันบนผ้าใบ

“หรือภาพของหมอลำแบงค์ เราได้มาจากวันเปิดนิทรรศการแสดงกลุ่มที่เราทำร่วมกับศิลปินที่ทำงานในประเด็นทางการเมือง เราเชิญหมอลำแบงค์มาแสดงหมอลำในวันเปิดงาน ตอนแสดงเขาแต่งตัวและผัดแป้งจนหน้าขาว เราก็เลยขอถ่ายรูปเขาเอาไว้ และเอามาวาดเป็นภาพนี้”

“ส่วนภาพของทนายอานนท์ ได้มาจากวันที่เราเดินทางไปกับเขาตอนที่เขาต้องขึ้นศาลทหาร ระหว่างที่กลับจากศาลก็ไปกินข้าวกันที่ร้านอาหารแถวสนามหลวง เขาเดินนำหน้ากับทนายอีกคน เราเดินตามหลังเขา แล้วถ่ายรูปนี้เอาไว้ ที่เราหยิบเอารูปนี้มาใช้เพราะความหมายของอากัปกิริยาพ้องกับนามสกุลเขา ภาพนี้เลยไม่จำเป็นต้องเห็นหน้า แต่เขากำลังเดิน ‘นำพา’ เราไปข้างหน้า”

พิโรธ (Tempest) (2021), สีน้ำมันบนผ้าใบ

“ส่วนภาพวาดอีกภาพทำเป็นเฟรมรูปทรงกลมเพราะต้องการให้มีลักษณะที่พ้องไปกับรายละเอียดในคดีความทางการเมืองที่เขาเผชิญอยู่”

“เราอยากเรียกงานในชุดพอร์ตเทรตนี้ว่า Blue Period เพราะนอกจากจะพูดถึงความเศร้าที่อยู่รอบๆ ตัวพวกเขาแล้ว โทนสีของภาพยังมีอีกความหมาย (ที่ทุกคนอาจจะรู้ดีอยู่แล้ว) แฝงอยู่”

บ้านเมืองของเราลงแดง (The Land of Withdrawal) (2021), สีน้ำมันบนผ้าใบ

นอกจากผลงานจิตรกรรมเหมือนจริงที่แสดงในชั้นล่างของหอศิลป์แล้ว ชั้นสองของห้องแสดงนิทรรศการยังมีผลงานภาพถ่ายอันเป็นผลลัพธ์จากการตระเวนเดินทางทั่วกรุงเทพฯ นับหลายปีของศิลปิน ที่ไม่ได้ถูกเลือกมาเป็นต้นแบบสำหรับวาดภาพ

ภาพถ่ายเหล่านี้หลายสิบภาพถูกฉายผ่านเครื่องโปรเจ็กเตอร์บนผนังห้องแสดงงาน และหนึ่งในจำนวนนั้นคือภาพของวณิพกข้างถนนที่ถูกเลือกมาเปลี่ยนเป็นภาพถ่ายฟิล์มกระจก อันเป็นเทคนิคการถ่ายภาพแบบโบราณที่ปกติใช้กับบุคคลชั้นสูงหรือบุคคลสำคัญอย่างกษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ ขุนนาง หรือสมณสงฆ์เท่านั้น

ลุงบัณฑิต ( To 121) (2021), สีน้ำมันบนผ้าใบ

นอกจากนี้ ยังมีผลงานจิตรกรรมจัดวางที่ประกอบด้วยภาพวาดที่หันหน้าเข้าฝาผนัง จนทำให้เราไม่อาจมองเห็นว่าเป็นภาพของอะไร ตามมาด้วยผลงานประติมากรรมจัดวางที่ประกอบขึ้นจากหนังสือจำนวนนับไม่ถ้วนวางเรียงซ้อนกันสูงจรดเพดาน

ทุกเล่มเป็นหนังสือที่ศิลปินได้อ่านเพื่อค้นหาคำตอบเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของวิกฤตการณ์ทางการเมืองและสังคมในประเทศไทยในระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา

หมอลําแบงค์ (The Unforgiven Blues) (2021), สีน้ำมันบนผ้าใบ

หนังสือเหล่านี้นี่เองที่เป็นเสมือนหนึ่งยาเม็ดสีแดงในภาพยนตร์ The Matrix (1999) ที่เปิดมุมมองให้เขามองโลกไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

และท้ายสุดกับผลงานศิลปะจัดวางสำเร็จรูปที่ยกเอาขาหยั่งวาดภาพโบราณเก่าเก็บขนาดมหึมามาวางตั้งตระหง่านในห้องแสดงงาน โดยมีภาพวาดทิวทัศน์เหมือนจริงของท้องฟ้าสนามหลวงวางอยู่ภายใน ราวกับเป็นสัญลักษณ์แทนบางสิ่งบางอย่างที่ไม่อาจบอกเป็นคำพูดออกมาได้

ทนายอานนท์ (Captain Justice) (2021), สีน้ำมันบนผ้าใบ

“สมัยก่อนเราคิดว่าภาพวาดทิวทัศน์ไม่สามารถสื่อสารประเด็นทางการเมืองได้ แต่พอมาทำงานชุดนี้เราก็ได้รู้ว่ามันทำได้นี่หว่า! ผลงานชุดนี้เลยเป็นภาพทิวทัศน์เกี่ยวกับการเมืองชุดแรกของเรา นอกจากนี้ เรายังใช้การทำงานในเชิงทดลองในหลายรูปแบบ ทั้งวิดีโอ ประติมากรรม ศิลปะจัดวาง เพื่อบ่งบอกถึงประเด็นที่เราต้องการจะพูดออกมาโดยไม่จำเป็นต้องพูดอย่างตรงไปตรงมา (เพราะเราอยู่ในสังคมที่การพูดความจริงถือเป็นอาชญากรรม?) แต่ใช้การสื่อสารในเชิงสัญลักษณ์เพื่อให้ผู้ชมตีความได้”

เทอญ (Turn) (2021), จิตรกรรมจัดวาง

ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ตอกย้ำกับเราว่า แม้แต่งานศิลปะตามขนบอย่างภาพวาดเหมือนจริง ก็สามารถสื่อสารประเด็นทางการเมืองได้อย่างหนักแน่นและทรงประสิทธิภาพได้เช่นเดียวกัน!

นิทรรศการ นิ/ราษฎร์ : The L/Royal Monument โดยวิทวัส ทองเขียว จัดแสดงที่ SAC Gallery ตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน-18 กันยายน 2021 (วันเปิดนิทรรศการ 24 มิถุนายน 2021) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อีเมล [email protected] หรือโทร. 0-2258-5580 ต่อ 401

คําพันธุ์

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก SAC Gallery, บทสัมภาษณ์ศิลปิน วิทวัส ทองเขียว