อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ศิลปินผู้สำรวจ ชีวิต ความตาย และความทรงจำของมนุษย์ผู้สูญหาย

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

ศิลปินผู้สำรวจ

ชีวิต ความตาย และความทรงจำ

ของมนุษย์ผู้สูญหาย

 

ในตอนที่แล้วเรากล่าวถึงโครงการศิลปะแบบ DIY ที่ใครๆ ก็สามารถทำขึ้นเองได้ไปแล้ว

ในตอนนี้เราขอกล่าวถึงเรื่องราวของหนึ่งในศิลปินผู้ริเริ่มโครงการที่ว่าขึ้นมาบ้าง

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า

คริสเตียง โบลตองสกี้ (Christian Boltanski)

ศิลปินร่วมสมัยชาวฝรั่งเศส ผู้เป็นที่รู้จักจากผลงานภาพวาด ประติมากรรม ภาพถ่าย ศิลปะจัดวาง และภาพยนตร์ในแนวทางแบบคอนเซ็ปช่วล ที่มุ่งเน้นในการสำรวจชีวิต ความตาย และความทรงจำผ่านกระบวนการทำงานศิลปะ

โดยมักเจาะจงไปในประเด็นเกี่ยวกับโศกนาฏกรรมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยนาซี ผลงานของเขามักจะลบเลือนเส้นแบ่งระหว่างเรื่องจริงและเรื่องแต่ง

โดยเขากล่าวว่ามันสามารถทำให้คุณบอกเล่าเรื่องจริงได้อย่างสมจริงมากกว่าเรื่องจริงๆ เสียอีก

Autel De Lycee Chases (Altar to Chases High School) (1986-1987)

คริสเตียง โบลตองสกี้ เกิดในครอบครัวชาวยิวในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปารีส ปี 1944 พ่อของเขาเป็นชาวยิวที่อพยพมาจากรัสเซีย ในขณะที่แม่ของเขาเป็นชาวฝรั่งเศสที่ย้ายมาจากเกาะคอร์ซิกา

ในช่วงที่สงครามยังไม่ยุติ พ่อของเขาต้องหลบภัยจากการไล่ล่าจากนาซีด้วยการแอบซ่อนตัวอยู่ใต้พื้นไม้กระดานของอพาร์ตเมนต์ของครอบครัวเป็นเวลาเกือบสองปี

ประสบการณ์ที่เขาสัมผัสในช่วงสงครามในบรรยากาศของการไล่ล่าฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวที่ว่านี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตและการทำงานของเขาอย่างมากในเวลาต่อมา

โบลตองสกี้เริ่มต้นวาดภาพเมื่อเขาเป็นวัยรุ่นในช่วงปลายยุค 1950 โดยไม่ได้ร่ำเรียนหรือฝึกฝนทักษะทางด้านศิลปะมาก่อน

หรืออันที่จริงเขาไม่เคยแม้แต่จะได้รับการศึกษาตามปกติทั่วไปที่สถาบันไหนเลยด้วยซ้ำ

Monument (Odessa) (1989)

ตั้งแต่ออกจากโรงเรียนเมื่ออายุ 14 ปี เขาก็ทำงานศิลปะด้วยการฝึกฝนเรียนรู้ด้วยตัวเองทั้งสิ้น

ผลงานในช่วงแรกของโบลตองสกี้ได้แรงบันดาลใจจากชีวประวัติส่วนตัวของเขาเอง

โดยเป็นภาพวาดที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการดำรงอยู่และการสูญหาย และถ่ายทอดความทรงจำในวัยเด็กอันโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาและยากลำบากในช่วงสงคราม

ผลงานของเขาตั้งคำถามเกี่ยวกับธรรมชาติในความเป็นศาสนาของงานศิลปะ

สำหรับเขา ภาพวาดมีพลังอันศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกับศาสนา

Reserve (1989)

ในช่วงปลายยุค 1960 โบลตองสกี้ละทิ้งการวาดภาพหันมาทำงานในสื่ออื่นๆ อย่างหนังสั้นเชิงทดลองและงานศิลปะในรูปของสิ่งพิมพ์อย่างสมุดบันทึกที่นำเสนอเรื่องราวในวัยเด็กของเขา โบลตองสกี้ไม่เพียงแค่บอกเล่าประสบการณ์และความทรงจำส่วนตัวผ่านงานศิลปะ หากแต่เขามักผสานเรื่องแต่งเข้าไปในเรื่องราวที่เขาเล่าด้วย โดยเขามักใช้วัตถุที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับตัวเขา หรือตกแต่งภาพถ่ายของเขาและคนอื่นขึ้นใหม่ เพื่อนำเสนอภาพของครอบครัวอันพร้อมหน้าและวิถีชีวิตในจินตนาการ ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยมีในวัยเด็ก

ที่เขาทำเช่นนี้ก็เพื่อสร้างสิ่งที่เขาเรียกว่า “ตำนานส่วนบุคคล” (Individual mythology) ซึ่งเป็นกระบวนการในการเชื่อมโยงเรื่องราวส่วนตัวของเขาเข้ากับประวัติศาสตร์และความทรงจำร่วมทางสังคม

ในช่วงปี 1986 โบลตองสกี้หันมาทำงานศิลปะจัดวางอย่าง Autel De Lycee Chases (Altar to Chases High School) (1986-1987) และ Monument (Odessa) (1989) ที่ใช้ภาพถ่ายของเหล่าบรรดานักเรียนชาวยิวที่ถ่ายในกรุงเวียนนาจากปี 1931 และปี 1939 สร้างเป็นผลงานศิลปะจัดวางสื่อผสมที่ประกอบขึ้นจากภาพถ่ายที่ผ่านการดัดแปลง และหลอดไฟฉายส่องบนภาพจนมีลักษณะคล้ายกับแท่นบูชาที่เรืองรองด้วยแสงเทียน และกล่องดีบุกใส่ขนมปังกรอบของเด็กๆ ที่ดูคล้ายกล่องบรรจุอัฐิ

 

Personnes (People) (2010)

 

โบลตองสกี้ใช้องค์ประกอบและวัสดุเหล่านี้เพื่อกระตุ้นให้ผู้ชมตระหนักและใคร่ครวญถึงประสบการณ์และความทรงจำอันโหดร้ายของทั้งผู้เสียชีวิตและผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์สังหารหมู่เพื่อทำลายล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยนาซีเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

หรือผลงาน Reserve (1989) ที่เขานำเอาเสื้อผ้าใช้แล้วมาแขวนไว้จนเต็มทั่วห้อง เพื่อปลุกเร้าผู้ชมให้หวนรำลึกถึงโศกนาฏกรรมอันน่าสะเทือนใจของผู้คนในค่ายกักกัน (เขาทำงานในลักษณะเดียวกันนี้อีกครั้งในอีกยี่สิบกว่าปีต่อมาในผลงาน Personnes (People) (2010) ที่จัดแสดงในนิทรรศการศิลปะร่วมสมัย Monumenta ในปารีส

โดยเขาเอาเสื้อผ้าใช้แล้วจำนวน 50 ตัน กองสุมเป็นภูเขาขนาดย่อมในห้องโถงนิทรรศการของอาคารกร็องปาแล (Grand Palais) และกล่องดีบุกใส่ขนมปังกรอบวางเรียงซ้อนเป็นกำแพงสูงตระหง่าน กลิ่นอับสุดทานทนของเสื้อผ้าใช้แล้วจำนวนมหาศาล และกำแพงกล่องดีบุกติดหมายเลขจนดูคล้ายกล่องบรรจุอัฐิผู้ตาย

เป็นเสมือนหนึ่งคำประณามของศิลปินต่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติในประวัติศาสตร์

 

Personnes (People) (2010)

 

ด้วยผลงานเหล่านี้ โบลตองสกี้หันเหจากการนำเสนอเรื่องราวและความทรงจำส่วนตัวในวัยเด็กของเขามามุ่งเน้นในการสำรวจประเด็นเกี่ยวกับความทรงจำร่วมของมนุษยชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความทรงจำของคนธรรมดาสามัญและเหล่าบรรดาคนชายขอบผู้ถูกหลงลืมในประวัติศาสตร์

“ผลงานของผมอาจจะดูเหมือนพูดถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันเกี่ยวกับสัจธรรมของความตายเสียมากกว่า”

ผลงานของโบลตองสกี้มักจะใช้วัตถุที่เป็นตัวแทนของบุคคลผู้สูญหาย ตายจาก หรือสื่อความหมายในเชิงจิตวิญญาณ อันเป็นแนวทางที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปินชาวเยอรมันยุคหลังสงครามผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกศิลปะอย่างโจเซฟ บอยส์

เช่นเดียวกับบอยส์ ผลงานของเขายังเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมหรือมีปฏิสัมพันธ์กับตัวงานในฐานะผู้ร่วมสร้างสรรค์หรือร่วมแสดงในผลงานไปพร้อมๆ กับการชมงาน

 

Les Archives du c?ur (the heart archives) (2010)

 

ดังเช่นในผลงาน Les Archives du cœur (the heart archives) (2010) ที่โบลตองสกี้เริ่มบันทึกเสียงหัวใจของผู้คนหลายพันคนจากทั่วโลกตั้งแต่ปี 2005 สร้างเป็นผลงานศิลปะจัดวางเพื่อแสดงในพื้นที่แสดงงานศิลปะบนเกาะเทชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เสียงหัวใจของแต่ละคนจะถูกจัดเรียงโดยมีชื่อของเจ้าของเสียงหัวใจกำกับเอาไว้

นอกจากผู้ชมจะสามารถเข้าไปฟังเสียงหัวใจที่เปิดให้ได้ยินได้ฟังในห้องโถงของพื้นที่แสดงงานแล้ว ผู้ชมยังสามารถเข้าไปค้นข้อมูลเกี่ยวกับเสียงหัวใจที่เก็บบันทึกเอาไว้ และยังสามารถบันทึกเสียงหัวใจของตัวเองให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของผลงานชิ้นนี้ได้อีกด้วย

ด้วยกระบวนการเช่นนี้ โบลตองสกี้สวมบทบาทราวกับเป็นนักชาติพันธุ์วิทยาผู้ศึกษาประเด็นเกี่ยวกับชีวิต ความตาย ความทรงจำ และการสูญหายของมนุษย์ ด้วยการบันทึกห้วงขณะหนึ่งในการดำรงอยู่ของพวกเขาเอาไว้ และทำให้พวกเขาคงอยู่ต่อไปในอนาคตในรูปของงานศิลปะ

 

Les Archives du c?ur (the heart archives) (2010)

 

หรือในปี 2010 โบลตองสกี้เสนอให้นักสะสมผู้หนึ่ง “ซื้อชีวิตของเขา” ในฐานะงานศิลปะ โดยเขาทำการติดตั้งกล้องวิดีโอบันทึกภาพกิจกรรมส่วนตัวของเขาในสตูดิโอตลอด 24 ชั่วโมงในทุกวันเอาไว้ และถ่ายทอดสดภาพของโบลตองสกี้ในพื้นที่แสดงงานส่วนตัวของนักสะสมผู้นั้นที่เปิดให้สาธารณชนสามารถเข้าชมได้ด้วย และการถ่ายทอดจะไม่สิ้นสุดจนกว่าโบลตองสกี้จะเสียชีวิตลง

โบลตองสกี้แสดงผลงานกว่า 150 นิทรรศการและเทศกาลศิลปะทั่วโลก รวมถึงเคยมาแสดงผลงานในบ้านเราด้วย หนึ่งในจำนวนนั้นคือนิทรรศการ do it ที่เรากล่าวถึงไปในตอนที่แล้วนั่นเอง

ปัจจุบันคริสเตียง โบลตองสกี้ อายุ 76 ปี อาศัยและทำงานอยู่ในมาลาคอฟ ปารีส ฝรั่งเศส

ข้อมูล https://bit.ly/3xnpj3a, https://bit.ly/3zsdtXk, https://bit.ly/3vrCmz7