อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : do it โครงการศิลปะ DIY ที่คุณก็ทำได้ด้วยตัวเอง

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

 

do it

โครงการศิลปะ DIY

ที่คุณก็ทำได้ด้วยตัวเอง

 

ในบางครั้งบางคราว งานศิลปะก็ไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งที่ทำขึ้นจากน้ำมือของศิลปินเสมอไป หากแต่สามารถให้คนอื่นเป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้นมาได้ด้วย

ในตอนนี้เราขอเล่าถึงงานศิลปะในลักษณะนั้นกัน

งานศิลปะที่ว่านั้นอยู่ในรูปของโครงการมีชื่อว่า

do it

โครงการศิลปะที่ภัณฑารักษ์ชาวสวิส ฮานส์-อุลริช โอบริสต์ (Hans Ulrich Obrist) กับสองศิลปินชาวฝรั่งเศส คริสเตียง โบลตองสกี้ (Christian Boltanski) และ แบร์กตง ลาเวียร์ (Bertrand Lavier) ร่วมกันริเริ่มขึ้นในปี 1993 ในขณะที่พวกเขากำลังนั่งสนทนากันอยู่ในคาเฟ่แห่งหนึ่งที่ปารีส ถึงการหาความเป็นไปได้ของงานศิลปะที่มีความยืดหยุ่นเปิดกว้างกว่าที่เคยเป็นมา และสามารถมีชีวิตต่อไปได้ด้วยตัวเองอย่างไม่รู้จบ ถึงแม้นิทรรศการจะจบลงไปแล้วก็ตาม

พวกเขาปิ๊งไอเดียเกี่ยวกับโครงการศิลปะที่ไม่ได้เป็นแค่เพียงการนำเอาวัตถุที่ศิลปินสร้างขึ้นมาจัดแสดงให้คนดูชมเท่านั้น

หากแต่สามารถเป็นคู่มือหรือคำแนะนำที่สามารถส่งต่อให้ใครก็ตามสามารถทำงานศิลปะที่ว่านั้นขึ้นได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นศิลปิน คนทำงานในแวดวงศิลปะ หรือแม้แต่ผู้ชมและคนทั่วๆ ไปก็ตาม

พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นโครงการศิลปะแบบ DIY ที่ใครๆ ก็สามารถทำขึ้นเองได้จากการอ่านคู่มือและคำแนะนำของศิลปินนั่นแหละ

 

do it เวอร์ชั่นไทย, ภาพโดยสุรสีห์ กุศลวงศ์ ศิลปินชาวไทยผู้มีส่วนร่วมผลักดันโครงการ do it ขึ้นที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย ในปี 1996, ภาพจาก https://bit.ly/3ctNULF

 

ทั้งสามเห็นพ้องต้องกันว่าแนวคิดที่ว่านี้ท้าทายความเข้าใจแบบเดิมๆ เกี่ยวกับการสร้างสรรค์ และอำนาจความเป็นเจ้าของผลงานของศิลปิน และการตีความงานสร้างสรรค์ในแขนงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานศิลปะ ซึ่งตัวโบลตองสกี้และลาเวียร์เอง ต่างก็เป็นศิลปินที่มีความสนใจและทำงานที่ตั้งคำถามในประเด็นที่ว่านี้มาตั้งแต่ยุค 1970 แล้ว

โดยผลงานของพวกเขาหลายชิ้นต่างก็นำเสนอแนวทางปฏิบัติเพื่อให้ผู้ชมได้มีส่วนร่วมหรือมีปฏิสัมพันธ์กับตัวงานในฐานะผู้สร้างสรรค์หรือผู้ร่วมแสดงในผลงานไปพร้อมๆ กับการชมงานด้วย

ซึ่งพวกเขาเห็นว่างานศิลปะในลักษณะนี้เปิดโอกาสให้ผู้ชมสามารถมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจในการสร้างผลงานศิลปะไม่ให้อยู่ในกำมือของศิลปินแต่เพียงฝ่ายเดียว พวกเขายังกล่าวว่า คู่มือหรือคำแนะนำในการสร้างงานศิลปะที่ว่านี้ยังเป็นการมอบชีวิตให้กับงานศิลปะในความหมายที่แท้จริง และกระตุ้นให้ศิลปะเข้าใกล้ชีวิตประจำวันของผู้คนมากกว่าแค่การถูกจัดแสดงให้ผู้ชมเข้าไปดูชมในหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์อย่างที่เคยเป็นมาในอดีต

พวกเขามองว่าคู่มือหรือคำแนะนำในการสร้างงานศิลปะที่ว่านี้ไม่ต่างอะไรกับโน้ตเพลงที่ผ่านการทำซ้ำ ส่งต่อ และตีความอย่างนับไม่ถ้วนโดยนักดนตรีหลายยุคสมัย

วิดีโอสาธิตวิธีการทำอาหารจากคู่มือของฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช, ภาพจาก https://bit.ly/3v6xkrI

อันที่จริงแนวคิดแบบนี้ก็ไม่ใช่สิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน เพราะโอบริสต์เองก็อ้างอิงว่า ในปี 1919 ศิลปินพ่อทุกสถาบันอย่างมาร์แซล ดูชองป์ ก็เคยส่งคู่มือจากประเทศอาร์เจนตินาให้น้องสาวของเขาที่อยู่ในปารีส สร้างผลงานชุด Unhappy Readymades ขึ้น

โดยในคู่มือมีคำแนะนำว่าให้ซื้อสารานุกรมเล่มหนึ่งมาแล้วขีดฆ่าคำที่สามารถขีดฆ่าได้, หรือผลงานดนตรีของจอห์น เคจ นักประพันธ์ดนตรีชาวอเมริกัน อย่าง Music of Changes (1951) ก็ถูกทำออกมาในรูปของคู่มือที่สามารถตีความได้ในหลายทาง

หรือเจ้าแม่แห่งแฮพเพนนิ่งอาร์ต โยโกะ โอโนะ ที่ตีพิมพ์ผลงานในรูปของหนังสือชื่อ Grapefruit อันโด่งดังที่ภายในบรรจุชุดคำแนะนำสำหรับการทำงานศิลปะและการดำเนินชีวิตของเธอออกมาในปี 1964

หรือผลงานหลายชิ้นที่ศิลปินอเมริกัน โซล เลวิตต์ ไม่ได้ลงมือทำด้วยตัวเอง แต่เปิดโอกาสให้ทีมงาน, ผู้ช่วย หรือศิลปินคนอื่น ทำงานตามคู่มือแนะนำของเขา ทำให้ผลงานของเขาถูกสร้างสรรค์ออกมาใหม่ได้เรื่อยๆ ถึงแม้เจ้าตัวจะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม

หลังจากนั้น โอบริสต์, โบลตองสกี้ และลาเวียร์ ก็ร่างไอเดียโครงการศิลปะที่พวกเขาตั้งชื่ออย่างเรียบง่ายว่า “do it” บนกระดาษเช็ดปากของคาเฟ่ โดยเริ่มต้นจากชื่อของศิลปิน 12 คน ที่พวกเขาจะติดต่อขอคำแนะนำสนุกๆ สำหรับทำเป็นคู่มือสร้างงานศิลปะด้วยตัวเองขึ้นมา

พอได้มาเป็นที่เรียบร้อยก็จัดแจงแปลออกมาใน 8 ภาษา ตีพิมพ์ออกมาในรูปของหนังสือคู่มือหน้าตาคล้ายสมุดโน้ตสีส้ม และเผยแพร่ออกไปหลายประเทศทั่วโลก ทั้งออสเตรีย, กลาสโกว์ สกอตแลนด์, ปารีสและน็องต์ ฝรั่งเศส, บริสเบน ออสเตรเลีย, เรคยาวิก ไอซ์แลนด์, เซียน่า อิตาลี, โบโกตา โคลอมเบีย, เฮลซิงกิ ฟินแลนด์, โคเปนเฮเกน เดนมาร์ก, เม็กซิโก ฯลฯ

และอีก 25 ประเทศในทวีปอเมริกาเหนือ

รวมถึงในกรุงเทพฯ ประเทศไทยด้วย

คู่มือ do it โดยอ้ายเว่ยเว่ย, ภาพจาก https://bit.ly/3it2gjl

ความน่าสนใจอีกประการของ do it ก็คือ เนื่องจากเป็นโครงการศิลปะในรูปแบบของคำแนะนำที่มอบให้สาธารณชนหรือทีมงานของหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ที่ได้รับคู่มือไปสร้างผลงานขึ้นมาอย่างเสรีตามความเข้าใจของตัวเอง

ดังนั้น ศิลปินเจ้าของคำแนะนำจึงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือมีส่วนร่วมกับการสร้างผลงานเลยแม้แต่น้อย (เรียกได้ว่าเป็นงานศิลปะแบบ DIY จริงๆ อะไรจริง)

งานศิลปะแบบ do it จึงไม่ใช่งานที่มีรูปแบบคงที่ตายตัว หากแต่สามารถแปรเปลี่ยนกลายพันธุ์ได้หลากหลายรูปแบบ แล้วแต่การตีความของผู้รับมาทำต่อ

ที่สำคัญ องค์ประกอบหรือข้าวของต่างๆ ที่ถูกหยิบมาทำงานก็มักจะเป็นวัตถุข้าวของรอบๆ ตัวทั่วไปในชีวิตประจำวัน

ด้วยกระบวนการเช่นนี้นี่เองที่ทำให้ชีวิตประจำวันอันธรรมดาสามัญถูกแปรเปลี่ยนให้กลายเป็นงานศิลปะที่ไม่ธรรมดา หากแต่ก็ไม่ห่างไกลจากชีวิตของผู้คน

ยกตัวอย่างเช่น คู่มือทำงานศิลปะของฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ศิลปินไทยผู้มีชื่อเสียงระดับโลก ที่เป็นสูตรอาหารประกอบด้วยหัวหอม กระเทียม ขิง กะปิ ผักชี และพริกแห้ง หรือคู่มือของศิลปินคิวบา/อเมริกัน เฟลิกซ์ กอนซาเลส-ตอร์เรส (Félix González-Torres) ผู้เป็นที่รู้จักจากผลงานเกี่ยวกับประเด็นความหลากหลายทางเพศ ที่แนะนำให้ซื้อลูกอมจำนวน 180 ปอนด์ (หรือราว 81.6 กิโลกรัม) มาเทเอาไว้ตรงมุมห้อง

ภาพประกอบคู่มือ do it โดยหลุยส์ บูร์ชัวส์, ภาพจาก https://bit.ly/3it2gjl

หรือคู่มือของศิลปินหัวขบถชาวจีน อ้ายเว่ยเว่ย ที่แนะนำวิธีพ่นสีสเปรย์ปิดเลนส์กล้องวงจรปิดของรัฐที่คอยสอดส่องจับตาประชาชน (แสบจริงๆ)

บางคู่มือก็ไม่จำเป็นต้องใช้วัตถุหรือข้าวของในการทำงาน หากแต่เป็นกิจกรรมต่างๆ อย่างคู่มือของโจนัส มีกัส (Jonas Mekas) นักทำหนังหัวก้าวหน้าชาวลิทัวเนีย/อเมริกัน ที่แนะนำให้ขยับนิ้วมือเป็นเวลาหนึ่งนาทีทุกๆ เช้า

หรือคู่มือของศิลปินชาวฝรั่งเศสเจ้าของฉายา คุณนายแมงมุม หลุยส์ บูร์ชัวส์ ที่แนะนำให้ “หยุดและยิ้มให้คนแปลกหน้าในยามที่เดินอยู่”

หรือคู่มือของโยโกะ โอโนะ ที่แนะนำให้ตั้งใจอธิษฐานแล้วเขียนคำอธิษฐานใส่กระดาษเอาไปผูกไว้กับกิ่งไม้

หรือคำแนะนำที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน อย่างคู่มือของศิลปินศิลปะการแสดงชาวอิตาเลียน/อเมริกัน ซิโมเน ฟอร์ติ (Simone Forti) ที่แนะนำให้ทำหน้ากากอนามัยจากกางเกงชั้นใน

และคู่มือของศิลปินชาวโมร็อกโก มาเรียม เบนนานี (Meriem Bennani) ที่แนะนำให้ผู้อ่านหัดทำคลิป TikTok ด้วยตัวเอง

ซิโมเน ฟอร์ติ กับผลงาน The Masque-Culotte (2020) ของเธอ

โอบริสต์กล่าวถึงโครงการศิลปะ DIY ที่เขามีส่วนร่วมริเริ่มขึ้นว่า “ผมชอบคุณลักษณะในความไม่เสร็จสิ้นไม่สมบูรณ์แบบของมัน ผมไม่ชอบให้ศิลปะมีข้อจำกัดทางเวลา พื้นที่ และสติปัญญา ห้องสี่เหลี่ยมสีขาวและกำหนดวันปิดนิทรรศการของหอศิลป์ทำให้ผมหงุดหงิดรำคาญใจ ผมชอบความคิดที่นิทรรศการศิลปะเป็นเหมือนเมล็ดพันธุ์ที่เติบโตงอกงามต่อไปได้”

กว่า 20 ปี ที่โครงการศิลปะ do it ถูกเผยแพร่ ทำซ้ำ และตีความอย่างต่อเนื่องไม่รู้จบไปทั่วโลก และขยับขยายแตกกิ่งก้านออกไปในหลายรูปแบบ ทั้งรายการโทรทัศน์ do it (TV), การสัมมนา do it (seminar), หรือโครงการทำศิลปะ DIY เองที่บ้าน do it (home), รวมถึงโครงการ do it สำหรับเด็กๆ ที่ทำร่วมกับองค์การยูเนสโก

do it ถูกจัดแสดงในรูปแบบของนิทรรศการสัญจรไปทั่วโลก ผ่านการคัดสรรดูแลโดยฮานส์-อุลริช โอบริสต์ และองค์กร ICI (Independent Curators International), ปัจจุบันโครงการ do it ขยับขยายไปสู่รูปแบบออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์ม Google Arts & Culture

ใครสนใจจะสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ DIY จากคำแนะนำของศิลปิน, นักดนตรี, นักออกแบบ และนักสร้างสรรค์จากทั่วทุกมุมโลก ก็เข้าไปดูกันได้ที่นี่ https://bit.ly/3isLBMP

ข้อมูล : หนังสือ Ways of Curating โดย Hans Ulrich Obrist, เว็บไซต์ https://bit.ly/2SkMts6, https://bit.ly/3x1XYTU, https://bit.ly/3cu09b8