อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : Love Distancing นิทรรศการศิลปะ (NFT) สำหรับการเว้นระยะห่างๆ อย่างห่วงๆ ในโลกเสมือนจริง

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

Love Distancing

นิทรรศการศิลปะ (NFT) สำหรับการเว้นระยะ

ห่างๆ อย่างห่วงๆ ในโลกเสมือนจริง

 

ท่ามกลางวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในบ้านเราที่ยังไม่คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ส่งผลกระทบต่อหน่วยงานธุรกิจ ร้านค้า หรือสถานที่ให้บริการต่างๆ ทำให้ไม่สามารถเปิดทำการตามปกติแล้ว ยังลุกลามไปถึงองค์กรทางศิลปะอย่างหอศิลป์หรือพื้นที่แสดงงานศิลปะต่างๆ จนไม่สามารถเปิดให้เข้าชมได้ตามปกติเช่นกัน

ท่ามกลางสถานการณ์อันยากลำบากเช่นนี้ องค์กรทางศิลปะอย่างหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์หลายแห่งทั่วโลกเลือกใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการสื่อสารอันล้ำสมัยและไร้พรมแดน ไม่ว่าจะเป็นการใช้สื่อโซเชียลมีเดียอย่าง facebook, instagram ฯลฯ หรือเปิดช่องทางชมงานออนไลน์ให้ผู้ชมเข้าไปดูภาพผลงานศิลปะผ่านหน้าจออุปกรณ์สื่อสารอย่างคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ หรือแท็บเล็ตได้อย่างสะดวกสบาย

วสันต์ สิทธิเขตต์ SAVE YOURSELF

บางแห่งก็เลือกที่จะใช้เทคโนโลยี VR (Virtual reality) หรือระบบความเป็นจริงเสมือนที่ใช้คอมพิวเตอร์จำลองสภาพแวดล้อมของพื้นที่แสดงงานศิลปะแบบเสมือนจริงให้ผู้ชมได้เข้าไปดูชมกันในโลกออนไลน์ผ่านอุปกรณ์ต่างๆ โดยไม่จำเป็นต้องก้าวเท้าออกนอกบ้านเลยด้วยซ้ำไป

จากสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน ทำให้หอศิลป์และพื้นที่ทางศิลปะในบ้านเราหันมาใช้เทคโนโลยี VR สร้างพื้นที่ชมงานศิลปะแบบเสมือนจริงให้เข้าไปชมกันมากขึ้น

ด้วยความที่ตัวเราเองก็ไม่สามารถออกไปดูงานศิลปะในพื้นที่แสดงงานได้ตามปกติ ในช่วงนี้ก็ต้องอาศัยช่องทางเหล่านี้ในการชมงานเช่นกัน

ล่าสุดเราได้ดูงานนิทรรศการเสมือนจริงทางออนไลน์ที่น่าสนใจมา เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย

วสันต์ สิทธิเขตต์ SUPER (COVID) MAN

นิทรรศการที่ว่านั้นมีชื่อว่า Love Distancing

โดย วสันต์ สิทธิเขตต์ ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยผู้ทำงานเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมการเมืองมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ในนิทรรศการครั้งนี้ วสันต์ทำผลงานศิลปะที่สะท้อนวิกฤตโรคระบาดด้วยสีสันฉูดฉาดจัดจ้านในสไตล์เสียดสีตีแผ่สังคมอย่างเปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัวเช่นเคย

ที่น่าสนใจยิ่งไปกว่านั้นคือ ผลงานทั้งหมดของนิทรรศการครั้งนี้ มีผลงานเพียงไม่กี่ชิ้นที่ศิลปินวาดขึ้นบนผืนผ้าใบจริงๆ ส่วนที่เหลือล้วนแล้วแต่เป็นผลงานศิลปะดิจิตอลที่วสันต์วาดขึ้นด้วยแอพพลิเคชั่นในแท็บเล็ตของเขาทั้งสิ้น

วสันต์ สิทธิเขตต์ THE KISS

วัจนสินธุ์ จารุวัฒนกิตติ ผู้ก่อตั้งหอศิลป์ Palette Artspace และภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของนิทรรศการศิลปะเสมือนจริงในครั้งนี้ว่า

“จุดเริ่มต้นของนิทรรศการ VR ครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการที่ผมพบว่าในช่วงเวลานี้บ้านเรากำลังเจอสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 โดยเฉพาะอย่างยิ่งละแวกพื้นที่ตั้งของหอศิลป์ในทองหล่อเองก็เป็นจุดเริ่มต้นการระบาดใหม่อีกแห่ง ทำให้เราไม่สามารถเปิดพื้นที่ให้คนเข้ามาชมงานได้ชั่วคราว เราก็เลยพยายามหาทางรับมือกับสถานการณ์ในครั้งนี้ด้วยการทำนิทรรศการเสมือนจริงขึ้นมา”

“ประจวบกับในช่วงนั้นผมได้เจอกับอาจารย์วสันต์ สิทธิเขตต์พอดี คือก่อนหน้านี้ผมเคยเห็นอาจารย์วาดรูปบนไอแพ็ดมา 2 ปีแล้ว แต่ยังไม่ได้เอาไปแสดงที่ไหน ผมประหลาดใจว่าคนอายุขนาดนี้ยังตามเทคโนโลยีใหม่ๆ ทันด้วย เลยถามเขาว่าทำไมอาจารย์ถึงหันมาวาดรูปในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบนี้”

“อาจารย์ก็หัวเราะแล้วตอบว่า เขาชอบเรียนรู้และทดลองอะไรใหม่ๆ ผมสนใจในสิ่งที่อาจารย์ทำ ก็เลยชวนมาทำอะไรใหม่ๆ อย่างการแสดงงานในหอศิลป์ VR ในครั้งนี้กัน”

วสันต์ สิทธิเขตต์ Life – Love – Death

เพื่อสะท้อนสถานการณ์ในช่วงนี้ วัจนสินธุ์คัดสรรผลงานภาพวาดของวสันต์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 มา 26 ชิ้น โดยมีผลงานจริงที่เป็นภาพวาดสีน้ำมันบนผ้าใบจำนวน 2 ชิ้น ที่นอกจากจะแสดงในหอศิลป์เสมือนจริงแล้ว ผลงานจริงที่ว่ายังถูกติดตั้งเอาไว้ที่ริมหน้าต่างหอศิลป์ Palette Artspace ให้คนที่เดินขึ้น-ลงรถไฟฟ้าสามารถชมงานจากข้างนอกโดยไม่ต้องเข้ามาในหอศิลป์ในช่วงที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคม

ส่วนผลงานที่เหลือเป็นผลงานภาพวาดดิจิตอลที่นอกจากจะแสดงในหอศิลป์เสมือนจริงแล้ว ทางหอศิลป์ยังฉายภาพผลงานเหล่านี้ผ่านจอโทรทัศน์ที่ตั้งอยู่ริมหน้าต่าง สลับสับเปลี่ยนภาพให้คนภายนอกที่ผ่านไปผ่านมาดูชมได้อีกด้วย

วสันต์ สิทธิเขตต์ Under Smiling Mask

ถึงแม้ประสบการณ์การชมงานศิลปะที่มีอยู่จริงผ่านทางช่องทางโลกเสมือนอาจจะยังไม่สามารถทดแทนการชมงานศิลปะแบบเดิมๆ ในพื้นที่จริงได้ แต่สำหรับผลงานศิลปะดิจิตอลที่ทำขึ้นในคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่แรก การชมงานในโลกเสมือนจริงหรือโลกออนไลน์ก็อาจจะไม่ทำให้อรรถรสในการชมงานลดน้อยถอยลงเลยก็เป็นได้

“ถ้าเป็นผลงานที่ทำขึ้นจริง การไปชมงานในสถานที่จริงย่อมดีกว่าการดูทางออนไลน์อยู่แล้ว เพียงแต่ในช่วงนี้เราไม่สามารถเดินทางออกไปข้างนอกได้สะดวกหรือเข้าไปรวมตัวกันในพื้นที่ที่มีคนพลุกพล่านอย่างหอศิลป์ได้ การชมงานทางออนไลน์ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ทำให้เรายังชมงานศิลปะได้ แต่ถ้าเป็นงานศิลปะแบบดิจิตอล ผมว่าเราสามารถดูผ่านจอคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ตโฟนได้สวยงามไม่แพ้งานที่ปรินต์ออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูงานศิลปะดิจิตอลผ่านอุปกรณ์ VR นั้นเป็นอะไรที่เหมาะมากๆ”

ไตรภัค สุภวัฒนา F SYSTEM

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการของนิทรรศการครั้งนี้ก็คือ ผลงานที่จัดแสดงในนิทรรศการเสมือนจริงครั้งนี้ทั้งหมดถูกทำให้เป็นงานศิลปะดิจิตอลในรูปของ NFT (Non-fungible token) หรือการแปรเปลี่ยนผลงานศิลปะให้กลายเป็นสินทรัพย์ดิจิตอลที่ถูกเข้ารหัสให้มีลักษณะเฉพาะตัวจนไม่สามารถถูกทำซ้ำหรือคัดลอกได้

ทำให้ผลงานชิ้นนั้นกลายเป็นผลงานชิ้นเดียวในโลก ไม่ต้องกังวลในเรื่องการถูกปลอมแปลงผลงานหรือละเมิดลิขสิทธิ์ หรือที่เรียกกันว่า Crypto Art ที่กำลังเป็นที่ฮือฮาในโลกศิลปะและวงการสร้างสรรค์แขนงต่างๆ ในช่วงนี้

วราวุฒิ อินทร EXPLOIT

โดยศิลปินทั่วโลกต่างพากันตบเท้าเข้าไปขายผลงานในรูปแบบ NFT และ Crypto Art กันถ้วนหน้า ไม่เพียงแค่ในวงการศิลปะ แต่ยังรวมถึงวงการดนตรี, ภาพยนตร์ หรือแม้แต่วงการเกมด้วย

ซึ่งวัจนสินธุ์กล่าวถึงการขายงานออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มอันล้ำยุคเช่นนี้ว่า

“ด้วยความที่ผมเป็นคนชอบสายดิจิตอลและตามข่าวเกี่ยวกับ NFT มาพักหนึ่ง ผมคิดว่ามันเป็นแพลตฟอร์มที่เหมาะมากที่จะช่วยส่งเสริมงานศิลปะดิจิตอล เดิมทีหอศิลป์ของผมเคยแสดงผลงานศิลปะดิจิตอลมาก่อนหน้านี้แล้ว และผมเองก็เริ่มต้นจากการสะสมเพราะความชอบ อย่างเวลาซื้องานศิลปะบางทีคนไม่มีพื้นที่แขวนงาน เราก็อาจจะต้องเก็บเอาไว้ในห้องเก็บของ แต่พอเป็นงานศิลปะดิจิตอล ผมมองว่าเราสามารถดาวน์โหลดมาเปิดดูในแท็บเล็ต สมาร์ตโฟน หรือโทรทัศน์ของเราก็ได้ ผมว่ามันเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ดี”

อรรคเชฏฐ์ สิกขากุล PATIENCE IS PAINFUL

“การทำนิทรรศการเสมือนจริงก็เหมือนกับการสร้างพื้นที่คู่ขนานไปกับหอศิลป์จริงๆ ผมมองว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่ง นอกจากพื้นที่แสดงงานศิลปะในโลกแห่งความเป็นจริงที่เปิดให้คนในละแวกใกล้เคียงกันได้ดูชม”

“การเปิดพื้นที่ในโลกออนไลน์ก็ทำให้คนที่อยู่บนพื้นที่อื่นในโลกนี้สามารถเข้ามาดูนิทรรศการของเราได้ (โดยไม่ต้องเดินทางมาจริงๆ) ด้วย”

นอกจากผลงานของวสันต์ สิทธิเขตต์แล้ว ในนิทรรศการ Love Distancing ยังมีผลงานของศิลปินรับเชิญอย่างไตรภัค สุภวัฒนา, วราวุฒิ อินทร และอรรคเชฏฐ์ สิกขากุล ที่นอกจากจะสะท้อนประเด็นปัญหาเกี่ยวกับวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในบ้านเราเช่นเดียวกันแล้ว ทุกผลงานที่ร่วมจัดแสดงยังล้วนแล้วแต่เป็นผลงานในรูปแบบ NFTs เหมือนกันอีกด้วย เรียกได้ว่าเป็นการดูงานศิลปะที่ได้รสชาติแปลกใหม่น่าสนใจไปอีกแบบ

ภาพจากนิทรรศการเสมือนจริง Love Distancing

นิทรรศการ Love Distancing โดยวสันต์ สิทธิเขตต์ และศิลปินรับเชิญ จัดแสดงให้ชมในระบบ VR ได้ที่ https://bit.ly/3wgKLpZ

หรือถ้าหากสนใจซื้อหาผลงานศิลปะแบบ NFT (งานทุกชิ้น มี 5 Editions เป็น bundle NFTs + ภาพพิมพ์ พร้อมลายเซ็นของศิลปิน) ก็สามารถเข้าไปชมกันได้ที่ https://bit.ly/3fK3BPR

ติดตามข่าวสารหรือสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับนิทรรศการได้ที่ http://www.palettebkk.com/ หรือ facebook @palette.artspace

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก Palette Artspace

ภาพจากนิทรรศการเสมือนจริง Love Distancing