ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 7 - 13 พฤษภาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
ศิลปะแสดงสด
ที่จำลองสถานการณ์ความรุนแรง
โดยอำนาจรัฐ
ด้วยความที่เมื่อไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสได้เข้าร่วมบรรยายทางออนไลน์ให้นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งเกี่ยวกับงานศิลปะในแนวทางหนึ่งมา
ประกอบกับความรู้สึกอึดอัดขัดข้องกับสถานการณ์ทางการเมืองในบ้านเราอย่างบอกไม่ถูก
ในตอนนี้เลยจะขอนำเสนอเกี่ยวกับผลงานของศิลปินที่ใช้การทำงานในแนวทางที่ว่านี้ในแง่มุมทางการเมืองก็แล้วกัน
ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า
เจเรมี เดลเลอร์ (Jeremy Deller)
ศิลปินคอนเซ็ปช่วล วิดีโอ และศิลปะจัดวางชาวอังกฤษ
ผลงานส่วนใหญ่ของเขามุ่งเน้นในการมีส่วนร่วมกับชุมชนและสังคม และเต็มไปด้วยแง่มุมทางการเมืองอันเข้มข้น
เขายังมักลดทอนอีโก้ของตัวเองในฐานะศิลปิน ด้วยการดึงบุคคลภายนอกหรือแม้แต่ผู้ชมให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานบ่อยครั้ง
ผลงานส่วนใหญ่ของเขามักจะเป็นผลงานชั่วคราวทำขึ้นในพื้นที่กลางแจ้งและพื้นที่ธรรมชาติ และหลีกเลี่ยงการขายผลงานในเชิงพาณิชย์ อย่างงานศิลปะแสดงสดและศิลปะสถานการณ์
ผลงานศิลปะในแนวทางนี้ที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของเขาคือ The Battle of Orgreave Archive (An Injury to One is an Injury to All) (2001)
ศิลปะแสดงสดที่นำผู้คนเกือบพันคนมารวมตัวกันทำแผนจำลองสถานการณ์ความรุนแรงที่ผู้มีอำนาจรัฐกระทำต่อกลุ่มผู้ชุมนุมในการประท้วงหยุดงานของคนงานเหมืองในปี 1984 ที่ถูกเรียกขานว่า Battle of Orgreave ซึ่งเป็นการเผชิญหน้ากันอย่างรุนแรงระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและคนงานเหมือง นอกโรงงานถ่านหินในเขตออร์เกรฟ ทางตอนใต้ของมณฑลยอร์กเชอร์ ประเทศอังกฤษ
เหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นเหตุการณ์สำคัญในการหยุดงานประท้วงของคนงานในสหราชอาณาจักร และเป็นการปะทะกันครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมของอังกฤษ อันเป็นผลพวงจากนโยบายของรัฐบาลของมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ นายกรัฐมนตรีแห่งอังกฤษในยุคนั้นที่ต้องการกำราบอำนาจของสหภาพแรงงานลงให้อยู่มือ
เดลเลอร์ได้เห็นการถ่ายทอดสดเหตุการณ์ครั้งนั้นทางโทรทัศน์ในช่วงวัยรุ่นตอนที่เขากำลังเรียนมัธยมปีสุดท้าย
การชุมนุมเริ่มต้นขึ้นบนพื้นที่ริมทุ่ง ใกล้กับโรงงานถ่านหิน ก่อนที่ผู้ชุมนุมจะถูกปะทะโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ
สำหรับเดลเลอร์ ภาพของคนงานเหมืองผู้มาชุมนุมนับพันคนที่ถูกโจมตีและไล่ล่าโดยตำรวจปราบจลาจลนั้นไม่ต่างอะไรกับฉากในสงคราม มากกว่าจะเป็นแค่เหตุความขัดแย้งระหว่างรัฐและสหภาพแรงงาน
นับแต่นั้นมาเขาก็มีความใฝ่ฝันที่จะสำรวจและขุดคุ้ยเหตุการณ์ครั้งนั้นอีกครั้ง เพื่อนำมาทำเป็นงานศิลปะที่จำลองสถานการณ์นั้นให้กลายเป็น “ประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต” ขึ้นมา
ซึ่งในที่สุดเขาก็ทำได้สำเร็จ
เดลเลอร์ทำงานศิลปะแสดงสดครั้งนั้นบนพื้นที่จริงที่เคยเกิดเหตุการณ์ Battle of Orgreave ในปี 1984 โดยมีผู้เข้าร่วมแสดงจำนวนเกือบ 1,000 คน ประกอบด้วยนักแสดงอาสาสมัครราว 800 คน และอาสาสมัครผู้เป็นประชาชนในพื้นที่ราว 200 คน ซึ่งรวมถึงอดีตคนงานเหมืองและอดีตเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้เคยมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ความรุนแรงในครั้งนั้นจริงๆ
สร้อยของชื่องานในวงเล็บที่ว่า “An Injury to One is an Injury to All” (คนบาดเจ็บหนึ่งคนหมายถึงเราบาดเจ็บทุกคน) นั้นเป็นประโยคที่ใช้อย่างแพร่หลายในกลุ่มสหภาพแรงงานสากล หรือ IWW (Industrial Workers of the World) ของสหรัฐอเมริกา และในองค์กรสหภาพแรงงานทั่วโลก ด้วยความเชื่อมโยงกับแนวคิดแบบมนุษยนิยมในความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
ประโยคนี้ยังสะท้อนถึงท่อนหนึ่งของบทเพลงของคนงานเหมืองผู้นัดหยุดงานประท้วงที่ว่า “เมื่อคนงานเหมืองรวมตัวกัน เราจะไม่มีวันพ่ายแพ้”
สำหรับเดลเลอร์ การนัดหยุดงานประท้วงของคนงานเหมืองและการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมประท้วงและเจ้าหน้าที่ตำรวจในเขตออร์เกรฟนั้นมีความโหดร้ายรุนแรงไม่ต่างอะไรกับเหตุการณ์สงครามกลางเมืองในยุคกลางเลยทีเดียว
นอกจากการนำเสนอประเด็นทางการเมืองอันเข้มข้นแล้ว ปฏิบัติการทำแผนศิลปะของเดลเลอร์ครั้งนั้นยังมีลักษณะที่พ้องกับแนวคิดของศิลปะเชิงสัมพันธ์ (Relational Art) หรือสุนทรียศาสตร์เชิงสัมพันธ์ (Relational Aesthetics) กระบวนการทำงานสร้างสรรค์ที่แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์ระหว่างศิลปะและปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เช่น เวลา สถานการณ์ สถานที่ ประสบการณ์
และที่สำคัญที่สุดคือผู้ชมงานนั่นเอง แนวคิดนี้เป็นการขยายขอบเขตการสร้างสรรค์และการชมงานศิลปะจากรูปแบบเดิมๆ รวมถึงเปิดโอกาสและกระตุ้นเร้าให้ผู้ชมเข้ามามีปฏิสัมพันธ์ตอบโต้กับผลงานศิลปะ เพื่อเป็นการลดช่องว่างระหว่างศิลปะกับผู้ชม
และเปลี่ยนสถานะผู้ชมให้กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญอันจะขาดเสียไม่ได้ในผลงานศิลปะโดยไม่รู้ตัว
ปฏิบัติการแสดงสดครั้งนี้ยังมีความท้าทายตรงที่เป็นการแสดงสดที่มีบทและวางแผนซักซ้อมกันเพียงเล็กน้อย และถึงแม้การแสดงสดจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขและข้อบังคับที่ค่อนข้างเข้มงวด
แต่เดลเลอร์เองก็ยอมรับว่าในช่วงกลางๆ ของการแสดง เหตุการณ์ที่เห็นนั้นดำเนินไปตามธรรมชาติของมันเอง โดยที่เขาแทบไม่ได้ควบคุมเลยด้วยซ้ำ
ปฏิบัติการทำแผนศิลปะของเดลเลอร์ครั้งนั้นถูกบันทึกและนำไปดัดแปลงเป็นผลงานภาพยนตร์สารคดีในชื่อ The Battle of Orgreave (2001) โดยผู้กำกับฯ ชาวอังกฤษ ไมก์ ฟิกกิส (Mike Figgis) โดยเผยแพร่ทางสื่อขององค์กรศิลปะ Artangel ผู้ให้ทุนสนับสนุนผลงาน และยังฉายทางสถานีโทรทัศน์แชนเนล 4 ของอังกฤษอีกด้วย
ผลงานศิลปะแสดงสดที่ว่านี้ยังได้รับการยกให้อยู่ในอันดับสองของผลงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งศตวรรษที่ 21 โดยนิตยสาร The Guardian โดยเดลเลอร์กล่าวในสารคดีว่า
“ผลงานครั้งนี้ไม่ใช่การเยียวยาบาดแผลในประวัติศาสตร์ เพราะแค่การทำโครงการศิลปะสักโครงการหนึ่งขึ้นมานั้นไม่เพียงพอต่อการเยียวยาบาดแผลเหล่านั้น แต่การทำงานศิลปะครั้งนี้เกี่ยวกับการเผชิญหน้ากับบาดแผลเหล่านั้น เพื่อสังเกต ใคร่ครวญ และถกเถียงเกี่ยวกับมันอีกครั้ง”
ผลงานศิลปะแสดงสดที่จำลองเหตุการณ์ความรุนแรงในประวัติศาสตร์การเมืองอังกฤษของเดลเลอร์ที่ว่านี้ ทำให้เราอดนึกไปถึงผลงานศิลปะของกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองชาวไทยที่ใช้ศิลปะเป็นอาวุธในการต่อต้านเผด็จการในพื้นที่ชุมนุมทางการเมืองและบนท้องถนนไม่ได้
ยกตัวอย่างเช่น ผลงานศิลปะแสดงสด “99 ศพ” (99 Dead) ของกลุ่ม ศิลปะปลดแอก (Free Arts) ที่รวบรวมศิลปินละคร ดนตรี กวี และนักแสดงอาสาสมัครที่เป็นประชาชนผู้ร่วมชุมนุม ร่วมกันจำลองเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี พ.ศ.2553 ในเชิงสัญลักษณ์ ประกอบการใช้ป้ายสัญลักษณ์ที่สื่อถึงเหตุการณ์ อย่าง “พื้นที่การใช้กระสุนจริง”, “เขตอภัยทาน” เพื่อรำลึกถึงผู้เสียชีวิตโดยความรุนแรงจากอำนาจรัฐ
ที่คล้ายคลึงยิ่งไปกว่านั้น ในการแสดงสด “99 Dead” ยังมีบุคคลผู้เคยมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ความรุนแรงในครั้งนั้น อย่างพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของกมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาผู้เสียชีวิตในการสลายการชุมนุมที่วัดปทุมวนารามร่วมแสดงอยู่ด้วย
เช่นเดียวกับคำกล่าวของเดลเลอร์ที่ว่า ลำพังแค่การทำงานศิลปะนั้นไม่เพียงพอต่อการเยียวยาบาดแผลจากความรุนแรงที่ถูกกระทำโดยอำนาจรัฐ หากแต่การใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการหยิบบาดแผลทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมาสังเกต ใคร่ครวญ และถกเถียงกันอีกครั้งเพื่อไม่ให้เราลืมเลือนไปก็เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งเช่นเดียวกัน
ข้อมูล https://bit.ly/3vtOK1W, https://bit.ly/3sXPQRT, https://bit.ly/3nzRWXk, https://bit.ly/3vwrXT5, https://bit.ly/3vGs4fh, https://bit.ly/3t337cb