อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ศิลปินผู้สร้างงานศิลปะ จากภาชนะในครัว Subodh Gupta

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

ศิลปินผู้สร้างงานศิลปะ

จากภาชนะในครัว

Subodh Gupta

 

เล่าเรื่องนิทรรศการศิลปะติดๆ กันมาสองตอนแล้ว ในตอนนี้ขอเปลี่ยนบรรยากาศมาเล่าเรื่องศิลปินร่วมสมัยที่น่าสนใจกันบ้าง

คราวนี้เป็นคิวของศิลปินร่วมสมัยคนสำคัญในภูมิภาคเอเชียเรานี่เอง ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่าสุโบดห์ คุปตา (Subodh Gupta) (บ้างก็อ่านว่า สุพจน์ คุปตะ)

ศิลปินร่วมสมัยชาวอินเดีย ผู้ทำงานสร้างสรรค์ในหลากสื่อหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นงานประติมากรรม, จิตรกรรม, ศิลปะจัดวาง, ภาพถ่าย, ศิลปะแสดงสด และวิดีโออาร์ต

เขาเป็นที่รู้จักจากผลงานประติมากรรมขนาดใหญ่ที่ประกอบขึ้นจากวัตถุข้าวของในชีวิตประจำวันอย่างภาชนะใส่อาหารหรือเครื่องครัว

ซึ่งเขากล่าวว่าเป็นตัวแทนของประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมของอินเดีย

และแสดงออกถึงคุณค่าทางจิตวิญญาณผ่านวัตถุที่นำมาประกอบสร้างเป็นผลงานเหล่านั้น

Spill (2007) ภาพโดย Jennifer Boyer, ภาพจาก https://bit.ly/2PeazmU

สุโบดห์ คุปตา เกิดเมื่อปี 1964 ที่เมืองคากัล รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ในครอบครัวชนชั้นแรงงานยากจน

เขาใช้ชีวิตในวัยเด็กอย่างแร้นแค้น จนกระทั่งมีโอกาสได้ทำงานป็นนักแสดงในคณะละครเล็กๆ ในเมือง และได้ทำงานออกแบบโปสเตอร์ให้ละครที่เขาแสดง ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการก้าวสู่วิชาชีพทางศิลปะของเขา

ต่อมาเขาได้ทำงานวาดภาพประกอบในหนังสือพิมพ์ในระหว่างที่เข้าเรียนในสถาบัน College of Arts & Crafts ในเมืองปัฏนา, ประเทศอินเดีย

หลังจากจบการศึกษา เขาย้ายไปอยู่ในเมืองเดลีและเริ่มต้นวิชาชีพทางศิลปะอย่างกระเสือกกระสน

ก่อนที่จะมีโอกาสเข้าร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะ Fukuoka Asian Art Triennale ในปี 1999

และเทศกาลศิลปะ Gwangju Biennale ในปี 2000

ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการเป็นศิลปินอาชีพของเขานับแต่นั้น

ด้วยการทำงานศิลปะเกี่ยวกับประเด็นทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของอินเดีย ที่อนาคตถูกกำหนดและเปลี่ยนแปลงไปโดยระบบทุนนิยม บริโภคนิยม วัตถุนิยม และความผันผวนทางการเมือง มากกว่าเรื่องราวในแนวประเพณี เช่นเดียวกับศิลปินร่วมสมัยหลายคนในประเทศอินเดียในปัจจุบัน

คุปตาใช้วัสดุที่พบเห็นได้รอบตัวทั่วไปในชีวิตประจำวันของคนอินเดีย ไม่ว่าจะเป็น Dabba หรือปิ่นโตกล่อง ที่คนอินเดียหลายล้านคนใช้บรรจุอาหารกลางวัน, Thali หรือถาดหลุมใส่อาหารของคนอินเดีย, ไปจนถึงจักรยาน, ถังบรรจุน้ำนมของชาวอินเดีย

หรือแม้แต่ขี้วัว

(ในผลงาน My Mother and Me (1997) คุปตาใช้ขี้วัวซึ่งถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของคนอินเดีย สร้างประติมากรรมจัดวางรูปถ้ำทรงกระบอกที่ได้แรงบันดาลใจจากความทรงจำในวัยเด็กของเขากับแม่และขี้วัว ที่เป็นสิ่งใช้งานได้สารพัดประโยชน์ ทั้งเป็นเชื้อเพลิง สร้างบ้านเรือน ไปจนถึงเป็นยารักษาโรค ฯลฯ)

My Mother and Me (1997), ภาพโดย Prateek Gupta, ภาพจาก https://bit.ly/3v7xDCV

เขาหยิบเอาข้าวของธรรมดาสามัญเหล่านี้มาสร้างเป็นผลงานประติมากรรมที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของอินเดีย และตั้งคำถามถึงความสับสนวุ่นวายของสังคมอินเดียที่ติดกับอยู่ระหว่างขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมกับโลกโลกาภิวัตน์, ความมั่งคั่งร่ำรวยล้นฟ้ากับความอดอยากยากไร้, ความทันสมัยล้ำหน้าทางเทคโนโลยีกับความเชื่อทางศาสนา การเมืองระบอบประชาธิปไตยรัฐสภากับระบบชนชั้นวรรณะในสังคมอินเดีย

“วัตถุสิ่งของเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ผมเติบโตมา พวกมันถูกใช้สอยทั้งในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ตั้งแต่ผมยังเป็นเด็ก ผมหยิบฉวยเอาสัญลักษณ์เหล่านี้มาจากพิธีทางศาสนาของชาวฮินดู และในห้องครัว เพราะสำหรับชาวฮินดู ห้องครัวนั้นสำคัญพอๆ กับห้องสวดมนต์ภาวนาเลยก็ว่าได้ วัตถุที่ผมเลือกใช้เหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญในตัวเองอยู่แล้วทั้งนั้น ผมเพียงแต่หยิบเอามารวมเข้าไว้ด้วยกันและสร้างความหมายใหม่ขึ้นมาเท่านั้นเอง”

แนวคิดในการหยิบเอาภาชนะเครื่องใช้เก็บตกเหลือใช้มาทำเป็นงานศิลปะ ทำให้เรานึกไปถึงผลงาน readymades ของศิลปินพ่อทุกสถาบันอย่างมาร์แซล ดูชองป์ ผู้มักจะหยิบเอาวัตถุสำเร็จรูปหรือสินค้าอุตสาหกรรมมาทำให้เป็นศิลปะ ด้วยการลบล้างฟังก์ชั่นเดิมๆ ของพวกมันออกไป

เช่นเดียวกับคุปตาที่ใช้ภาชนะเครื่องใช้และข้าวของที่พบเห็นได้รอบตัวทั่วไปในชีวิตประจำวันมาประกอบสร้างเป็นผลงานศิลปะของเขา

ด้วยชื่อชั้นในวงการศิลปะโลก ในฐานะศิลปินร่วมสมัยผู้

Very Hungry God (2006), ภาพโดย Prateek Gupta, ภาพจาก https://bit.ly/3dAS0Ct

เป็นที่รู้จักมากที่สุดคนหนึ่งของอินเดีย ทำให้สื่อมวลชนขนานนามคุปตาว่าเป็น “เดเมียน เฮิร์สต์แห่งเดลี” (ซึ่งเขาเองก็ไม่ค่อยสบอารมณ์กับฉายานี้เท่าไหร่นัก แต่ก็อย่างว่าแหละ เขาห้ามปากคนอื่นไม่ได้นี่นะ!)

คุปตามีผลงานแสดงในนิทรรศการเดี่ยวและกลุ่มทั้งในอินเดียและในหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา, เมลเบิร์น ออสเตรเลีย, แฟรงก์เฟิร์ต เยอรมนี และเข้าร่วมแสดงในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ในปี 2007 และมีผลงานแสดงและสะสมในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำทั่วโลก

หนึ่งในจำนวนนั้นคือผลงานที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของเขาอย่าง Line of Control (2008)

ประติมากรรมเมฆรูปเห็ดวาววับจับตาขนาดมหึมา คุปตาสร้างผลงานชิ้นนี้ขึ้นจากภาชนะสแตนเลสสตีลนับพันจากประเทศอินเดีย บ้านเกิดของเขา ไม่ว่าจะเป็นหม้อ, กระทะ. หรือปิ่นโตธรรมดาๆ ที่เคยถูกใช้งานมาแล้วในทั่วอนุทวีปอินเดีย

ภาชนะแต่ละชิ้นเป็นตัวแทนของวิถีชีวิตความเป็นอยู่และกิจวัตรประจำวันของคนอินเดีย ในขณะเดียวกันก็ยังเป็นสัญลักษณ์ของประเทศที่เคยประสบกับภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วอีกด้วย

What Does the Vessel Contain, That the River Does Not (2012), ภาพโดย Prateek Gupta, ภาพจาก https://bit.ly/3eixype

ชื่อของผลงานชิ้นนี้ได้แรงบันดาลใจมาจากความขัดแย้งระหว่างอินเดียและปากีสถาน เมื่อครั้งกองกำลังทหารของทั้งสองประเทศต่างคุมเชิงบนเส้นแบ่งพรมแดนบนพื้นที่แคว้นจัมมูและแคชเมียร์ในสงครามแย่งชิงดินแดนเมื่อปี 1999 โดยที่ทั้งสองประเทศต่างมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง

ซึ่งหากทั้งสองประเทศก่อสงครามนิวเคลียร์ขึ้นมาจริงๆ ก็จะทำให้เกิดหายนภัยอันร้ายแรงที่คร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมหาศาลไม่น้อยไปกว่าครั้งที่สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดนิวเคลียร์ที่เมืองฮิโรชิมาในสงครามโลกครั้งที่สองเลย

ด้วยผลงานประติมากรรมเมฆรูปเห็ดที่สร้างจากภาชนะสเตนเลส ความสูง 10.97 เมตร (ราวตึก 3 ชั้น) น้ำหนัก 26 ตันชิ้นนี้ คุปตาใช้วัตถุธรรมดาสามัญในชีวิตประจำวันมาแสดงนัยยะถึงผลกระทบอันร้ายแรงที่มีต่อชีวิตประจำวันของผู้คน ถ้าหากประเทศใดประเทศหนึ่งตัดสินใจใช้อาวุธนิวเคลียร์ขึ้นมา, ภาชนะเครื่องครัวบ้านๆ ที่เป็นภาพแทนของวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนอินเดียเหล่านี้ถูกแปรสภาพกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการทำลายล้างอันน่าสะพรึงกลัว

และย้ำเตือนถึงความทรงจำอันเลวร้ายจากภัยสงครามนิวเคลียร์ทั่วโลกได้อย่างทรงพลัง

Line of Control (2008), ภาพจาก https://bit.ly/3aoarZl

หลังจากที่ผลงานชิ้นนี้ถูกนักสะสมชาวอินเดีย คิรัน นาดาร์ ซื้อไปติดตั้งในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ Kiran Nadar Museum of Art (KNMA) ของเธอ ที่เมืองนิวเดลี ด้วยความที่ตัวประติมากรรมมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมหาศาล ทำให้ต้องทุบผนังของพิพิธภัณฑ์ออกเพื่อติดตั้งผลงาน และเสริมความแข็งแรงของพื้นเพื่อรองรับน้ำหนักของมัน

เหตุบังเอิญอย่างร้ายกาจก็คือ วันที่พิพิธภัณฑ์เปิดตัวผลงานชิ้นนี้ในเดือนเมษายน ปี 2012 ดันเป็นวันเดียวกับที่อินเดียทดสอบจรวดขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ อัคนี-5 (Agni-V) เพื่อแสดงแสนยานุภาพของกองทัพอินเดียให้นานาประเทศได้ประจักษ์

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วยิ่งทำให้สารแห่งการต่อต้านสงครามที่สื่อผ่านผลงานของสุโบดห์ คุปตาชิ้นนี้กลายเป็นอะไรที่มีความจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งจริงๆ อะไรจริง!

ข้อมูล หนังสือ 30-Second Great Art โดย Lee Beard https://bit.ly/3xc6wZb, https://bit.ly/3asW9Xv, https://bit.ly/2RT6W6M