อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : Extended Release สำรวจซอกหลืบประวัติศาสตร์ ผ่านม่านฝุ่น (จบ)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

Extended Release

สำรวจซอกหลืบประวัติศาสตร์

ผ่านม่านฝุ่น (จบ)

 

นอกจากผลงานจิตรกรรมทำจากฝุ่นในนิทรรศการ Extended Release ของปรัชญา พิณทองแล้ว

ฝุ่นละอองจากการขัดพื้นอาคารหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากรยังถูกนำไปแปรเปลี่ยนเป็นผลงานที่มีชื่อว่า “Seed Bomb”

Seed Bomb

ประติมากรรมจัดวางขนาดเล็กหน้าตาคล้ายยาลูกกลอนที่ใช้ฝุ่นชนิดเดียวกันมาหุ้มเป็นเปลือกนอกของประติมากรรม ภายในบรรจุเมล็ดพันธุ์สมุนไพรที่ผู้ชมสามารถหยิบฉวยไปปลูกในที่ต่างๆ ได้

Seed Bomb

นอกจากผลงานศิลปะที่เชื่อมโยงกับกายภาพทางประวัติศาสตร์ของอาคารหอศิลป์แล้ว ในนิทรรศการนี้ยังมีที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ภายนอกของยุคสมัยที่มีการต่อสู้ระหว่างอำนาจเก่ากับอำนาจใหม่ในผลงาน “Internal Rhyme” ประกอบด้วยภาพวาดลายเส้นจำนวน 9 ชิ้นที่ปรัชญาวาดขึ้นขณะที่เขาเดินทางไปยังสถานที่ที่ระบุว่าเป็นบ้านพักในช่วงบั้นปลายชีวิตของปรีดี พนมยงค์ หนึ่งในผู้ก่อการคนสำคัญของคณะราษฎรที่ทำการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ.2475 ในแถบชานเมืองของกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

แต่เขาไม่วาดรูปด้วยมือตามปกติ หากใช้ปลายดินสอเชื่อมต่อกับปลายลิ้นในการวาดรูปแทน

Internal Rhyme

“ผลงานชุดนี้เป็นหนึ่งในงานชุดที่เคยแสดงในนิทรรศการที่ปารีส เกิดจากความสนใจเรื่องความเงียบ โดยผมเดินทางไปที่บ้านอองโตนี ทางตอนใต้ของกรุงปารีส ที่อาจารย์ปรีดีใช้ชีวิตอยู่จนวันสุดท้าย”

“ตอนที่ไปถึงนั้นเป็นบ้านของครอบครัวคนเวียดนามแล้ว ผมไม่เข้าไปรบกวนภายในบ้าน แต่นั่งอยู่หน้าบ้านแล้วพยายามเชื่อมปลายดินสอเข้ากับปลายลิ้นวาดภาพฟันของตัวเองออกมาตรงนั้น ใช้ความรู้สึกในการวาดภาพโดยไม่ใช้ทักษะที่เคยฝึกฝนร่ำเรียนมา ฟันเป็นกระดูกชนิดเดียวที่งอกจากตัวเราแต่ก็อยู่ในปากของเรา และเป็นอวัยวะที่สร้างถ้อยคำและภาษาที่สื่อความหมายได้ ผมต้องการทำลายโครงสร้างทางภาษาและความรู้ เพราะปกติเราสามารถวาดฟันจากการมองด้วยตา ผมก็เลยลองวาดฟันจากการสัมผัสแทน การทำงานในลักษณะนี้ยังทำให้เกิดความเงียบ เพราะเมื่อเราเชื่อมดินสอกับปลายลิ้น เราก็ไม่สามารถเปล่งเสียงออกมาได้”

“การที่ผมเลือกผลงานภาพวาดลายเส้นที่ถูกทำขึ้นหน้าบ้านของอาจารย์ปรีดี หนึ่งในผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองมาแสดงในนิทรรศการนี้ เพราะผมมองถึงความเชื่อมโยงของอาคารหอศิลป์ที่อดีตเคยเป็นที่ประทับของเจ้าฟ้าเหม็น (สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนกระษัตรานุชิต) ลูกของสมเด็จพระเจ้าตากสิน และหลานของรัชกาลที่ 1 ซึ่งเป็นจุดตัดและช่วงเปลี่ยนผ่านของประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 ซึ่งการที่สามัญชนอย่างพวกเราเข้ามายืนในพื้นตรงนี้ได้ตอนนี้ ก็เป็นผลลัพธ์จากการเปลี่ยนแปลงล้มล้างอำนาจเก่าในครั้งนั้น”

“การวาดรูปฟันของตัวเองด้วยปลายลิ้นที่หน้าบ้านอาจารย์ปรีดีก็คือการรื้อแคะด้วยความไม่เชื่อในโครงสร้างความคิดและความเชื่อรูปแบบเดิมอย่างเงียบๆ ของตัวผมเองเช่นกัน”

การเปลี่ยนผ่านที่ว่านี้ยังเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนผ่านทางกายภาพของผลงานอีกชิ้นในนิทรรศการที่ถูกติดตั้งอยู่ชั้นล่างของอาคาร แทรกตัวไปกับสถาปัตยกรรมภายในและแสงธรรมชาติที่สาดส่องสะท้อนบนผลงานประติมากรรมทำจากโลหะของเปลือกห่อหุ้มระเบิดในสงครามอินโดจีนที่สหรัฐอเมริกาทิ้งในประเทศลาวจำนวนหลายล้านตัน โดยเฉพาะในบริเวณทุ่งไหหิน ซึ่งปัจจุบันยังมีการขุดค้นและพบว่ายังมีระเบิดหลงเหลืออยู่ใต้พื้นดินอีกเป็นจำนวนมหาศาล

ปรัชญาเปลี่ยนวัสดุแห่งการทำลายล้างเหล่านี้ให้กลายเป็นงานศิลปะที่นอกจากจะเชื่อมโยงกับบริบทของตัวอาคารอย่างแนบเนียนแล้ว ยังมีส่วนในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย

ประติมากรรมจากโลหะเปลือกหุ้มระเบิด

“งานชุดนี้เคยทำขึ้นเพื่อแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ซานฟรานซิสโก (SFMOMA) ด้วยความที่ผมเป็นคนอีสาน มีโอกาสได้เดินทางข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว ก็ได้ไปเจอพื้นที่ตรงนี้ ที่ดูเผินๆ เหมือนพื้นที่สีเขียว อุดมสมบูรณ์ ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ เพราะมีระเบิดฝังอยู่ข้างใต้ เชื่อกันว่าพื้นที่ตรงนี้ถูกทิ้งระเบิดมากกว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยซ้ำ คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่หลายคนถูกระเบิดบาดเจ็บ ล้มตาย พิการ ทั้งผู้ใหญ่ ลูกเล็กเด็กแดง ทีนี้ก็มีองค์กรนานาชาติที่เข้าไปช่วยเหลือก็ฝึกฝนคนให้เข้าไปเก็บกู้และทำลายระเบิด เหลือเปลือกระเบิดก็เก็บเอามาชั่งกิโลขาย ก็จะมีคนรับซื้อไปหลอมทำช้อนส้อม กำไล ฯลฯ”

“พอดีผมได้ไปเจอครอบครัวหนึ่งที่ทำอาชีพรีไซเคิลเปลือกระเบิดอยู่ใต้ถุนบ้านของเขา ผมก็คุยกับเขาว่าผมจะช่วยอุดหนุนอาชีพเขาโดยที่ไม่ให้เขาทำเป็นช้อนส้อมหรือเครื่องประดับอะไร แต่ขอทำเป็นงานศิลปะแทน เขาก็ยินดี ตอนแสดงที่ SFMOMA ผมทำเป็นประติมากรรมขัดเงาชิ้นเล็กเท่าฝ่ามือ แต่ในนิทรรศการครั้งนี้ ผมทำในขนาดที่เท่ากับประตูอาคารหอศิลป์เพื่อให้มีความเชื่อมโยงกับบริบทของพื้นที่”

การหลอมเปลือกระเบิดมาหล่อขึ้นรูปใหม่แล้วขัดให้ขึ้นเงาในผลงานศิลปะของปรัชญา เป็นสัญลักษณ์แทนการเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีต่อวัตถุ จากอาวุธสงครามที่ทำร้ายทำลายชีวิตผู้คน กลายมาเป็นงานศิลปะที่กระตุ้นความคิด สร้างแรงบันดาลใจ และยกระดับคุณภาพชีวิตผู้คนแทน

 

การเปลี่ยนแปลงทัศนคติในผลงานชิ้นนี้ยังเชื่อมโยงไปถึงผลงานอีกชิ้นในนิทรรศการ ที่ว่าด้วยเรื่องราวของการสร้างพระกลักฝิ่น หรือพระพุทธเสรฏฐมุนี ซึ่งในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่ทรงรับสั่งให้สร้างพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นจากกลักฝิ่นที่เหลือจากการเผาทำลายในการปราบปรามกวาดล้างฝิ่น และนำอุปกรณ์ดังกล่าวมาหลอมเป็นองค์พระปฏิมาแทน

เรียกได้ว่าเป็นการนำวัตถุที่เคยอยู่ตรงกันข้ามกับความดีงามมาสร้างเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์เพื่อเคารพบูชาแทน

ปรัชญานำเสนอผลงานชิ้นนี้อย่างเรียบง่าย ผ่านหนังสือภาพที่บอกเล่าเรื่องราวของพระพุทธรูปองค์นี้ได้อย่างตรงไปตรงมา

แต่แฝงด้วยเกร็ดประวัติศาสตร์อันน่าสนใจ

และเชื่อมโยงกับผลงานอื่นๆ ในนิทรรศการได้อย่างแยบยล

หนังสือภาพและข้อมูลของพระพุทธเสรฏฐมุนี

ส่วนผลงานชิ้นสุดท้าย (แต่อยู่ด้านหน้าสุดของพื้นที่แสดงงาน) เป็นผลงานที่ปรัชญาชักชวน กฤษฎา ดุษฎีวนิช ภัณฑารักษ์ประจำนิทรรศการให้มาทำผลงานศิลปะร่วมกัน

“โดยปกติเวลาทำนิทรรศการ ผมมักจะชวนคนที่ผมร่วมงานด้วยให้มาทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะในลักษณะใดก็ตาม เพื่อเป็นการสร้างบทสนทนาบางอย่าง ตอนที่ทำนิทรรศการครั้งนี้ก็คิดว่าจะต้องมีงานชิ้นหนึ่งที่ทำหน้าที่เปิดและปิดนิทรรศการ ก็เลยชวนกฤษฎาให้มาทำงานร่วมกัน เพราะเขาเองก็มีบทบาทหลายอย่าง ทั้งภัณฑารักษ์ ศิลปิน และนักกิจกรรม ก็ทำออกมาเป็นงานจิตรกรรมจากสีที่ใช้ทาผนังกับฝุ่นที่มาจากการขัดพื้นหอศิลป์ โดยเขาจะทำผลงานมาจัดแสดงเพิ่มทีละชิ้นในแต่ละสัปดาห์ไปจนจบนิทรรศการ”

“Extended Release เป็นชื่อของชนิดยาที่ผมกินเพื่อช่วยให้นอนหลับ เพราะเป็นคนนอนหลับยาก โดยยาจะค่อยๆ ออกฤทธิ์ขยายระยะเวลานอนหลับอย่างช้าๆ ให้เรานอนหลับได้เต็มตื่นถึงเช้า ซึ่งผมชอบชื่อนี้ในแง่ที่มันเป็นเหมือนศิลปะ, วัฒนธรรม และความเชื่อที่ค่อยๆ ขยายตัวออกไปอย่างช้าๆ เช่นเดียวกับหอศิลป์แห่งนี้ที่มีการปรับปรุงซ่อมแซมหรือขยายโครงการที่ทำงานร่วมกับศิลปินรุ่นใหม่ๆ หรือนำเสนอความคิดใหม่ๆ เพื่อสำรวจสภาวการณ์ของวงการศิลปะทั้งในอดีตและปัจจุบัน”

ดังเช่นการรื้อค้นเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ ผู้คน และกาลเวลาในผลงานของปรัชญา ที่อาจเปิดเผยประเด็นหรือแง่มุมบางอย่างที่เราไม่เคยเห็นผ่านตาหรืออาจมองข้ามไปให้ปรากฏขึ้น หรือแม้แต่เปิดพื้นที่ให้สำรวจ ค้นหา สร้างข้อถกเถียง หรือตั้งคำถามใหม่ๆ ได้อย่างเสรี ภายในซอกหลืบของประวัติศาสตร์เองก็อาจมีฝุ่นผงจากรอยเท้าหรือเสี้ยวความรู้สึกนึกคิดและความทรงจำของเราตกหล่นแทรกซ่อนอยู่ในร่องหลืบไม้กระดานและกาลเวลาอยู่ก็เป็นได้ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้ว การสำรวจร่องรอยของประวัติศาสตร์ จึงไม่ต่างอะไรกับการสำรวจตัวเราเอง

 

นิทรรศการ Extended Release โดยปรัชญา พิณทอง จัดแสดง ณ หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ เปิดให้ชมตั้งแต่ 19 มีนาคม – 15 พฤษภาคม 2564 วันจันทร์ถึงเสาร์ 09.00-18.00 น. (ปิดวันอาทิตย์และวันหยุดราชการ) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.art-centre.su.ac.th

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากภัณฑารักษ์ กฤษฎา ดุษฎีวนิช