The Thing Called Love แด่บทเพลงของ ริเวอร์ ฟินิกซ์ และเสียงเพลงแห่งความหวังใน “พิณพม่า” ของ ทาเคะยามะ มิชิโอะ

ผู้เขียนรู้จัก “ริเวอร์ ฟินิกซ์” ครั้งแรก จากภาพยนตร์คุณภาพเรื่อง Stand by my หนังปี 1968 ของ ร็อบ ไรเนอร์ ซึ่งดัดแปลงมาจากเรื่องสั้นของ “สตีเฟ่น คิง”

มันมิใช่หนังดังอันเป็นที่กล่าวขานในวงกว้างของเขาเมื่อเทียบกับ My Own Private Idaho หนังโร้ดมูฟวี่ปี 1991 ของผู้กำกับฯ “กัส แวง ซองต์” ที่ทำให้ฟินิกซ์ได้รับรางวัลนักแสดงนำยอดเยี่ยมจากเทศกาลหนังเมืองเวนิซปี 1991 และจากสมาคมนักวิจารณ์อเมริกันในปีถัดมา

ซึ่งกล่าวกันว่า มันคือผลงานที่ทำให้เขาค้นพบด้านมืดของชีวิตและนำไปสู่จุดจบอันเป็นโศกนาฏกรรมในที่สุด!

ตราบจนทุกวันนี้หนึ่งชีวิตที่จากไปก่อนวัยอันควร กาลเวลาได้ล่วงผ่านมาเกือบ 25 ปี ผู้เขียนยังหวนคิดถึงหนังทุกเรื่องของเขาได้ไม่เคยลืม

อาทิ The Mosquito Coast (1986, ร่วมแสดงกับ “แฮร์ริสัน ฟอร์ด”), Little Nikita (1988, ประกบ ซิดนีย์ ปอยเตรียร์), Running on Empty (1988, ของผู้กำกับฯ ชื่อดัง ซิดนีย์ ลูเม็ต), Sneakers (1992, ร่วมแสดงกับ โรเบิร์ต เร้ดฟอร์ด)

และ Silent Tongue (1994) อันเป็นผลงานเรื่องสุดท้ายในชีวิตการแสดงของเขา

จากภาพยนตร์ทั้งหมด The Thing Called Love (1993) น่าจะเรียกได้ว่าคือตัวตนของเขามากที่สุด! (ฟินิกซ์ชื่นชอบการเล่นดนตรีเป็นชีวิตจิตใจเขาเลยเต็มที่กับมันด้วยการโชว์ความสามารถด้านการร้องเพลง แต่งเนื้อร้องและทำนอง รวมทั้งการเล่นกีตาร์ด้วยตัวเอง)

ภาพยนตร์ว่าด้วยเรื่องราวของ “เจมส์ ไรต์” หนุ่มนักดนตรีพเนจรผู้เงียบขรึมกับ “มาแรนด้า เพลสลี่” (ซาแมนธา มาธิส) สาวยิปปี้จากเมืองนิวยอร์ก หนึ่งในนักล่าฝันที่เดินทางมายังเมืองแน็ซวิลล์ เมืองที่เธอร้องตะโกนว่าเป็นเมืองแห่งเสียงเพลงเพื่ออวดเสียงร้องและทำนองกีตาร์อันบาดลึกในคลับ “บลูเบิร์ด คาเฟ่” (The bluebird Caf?) ซึ่งผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้ามาร้องเพลงในคลับแห่งนี้ในคืนวันเสาร์เพียงเดือนละครั้งเท่านั้น

มาแรนด้าได้พบกับเจมส์ และ “คราวน์ เดวิสัน” (เดรม็อต มูลรอนนี่) หนุ่มคันทรี่สไตล์เคาบอยมาดทะเล้น และสาวเฉิ่มจิตใจดี “ลินดา” (แซนดร้า บูลล็อก-สมัยยังไม่ดัง) รวมทั้งเพื่อนนักดนตรีมากฝีมืออีกหลายคนที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้

และครั้งแรกผลปรากฏว่าเธอสอบไม่ผ่านการคัดเลือก ด้วยเหตุผลว่า “เพลงคุณเหมือนนิยาย ทุกคนที่เขียนเพลงเหล่านั้นเขาเขียนอะไรที่มีความหมาย…ถ้าเพลงเศร้าก็เขียนให้เศร้า” เจ้าของร้านจึงแนะนำให้เธอมาทำงานเสิร์ฟที่คลับแห่งนี้เพื่อหาประสบการณ์แทน

ในเวลาต่อมา มาแรนด้าย้ายเข้ามาแบ่งเช่าห้องพักอยู่ร่วมกับลินดา และมักหามุมสงบให้ตัวเองจมจ่อมอยู่ในร้านกาแฟเป็นเวลานานๆ เพื่อแต่งเพลงจนดึกดื่นค่อนคืนอยู่เป็นประจำ

งานในร้านทำให้เธอได้เรียนรู้ผ่านผู้คนมากมายที่เข้ามาร้องเพลง-เล่นดนตรี

รวมถึงความรักที่ถูกจับจองอย่างไม่เป็นทางการจากหนุ่มคราวน์ผู้แอบมีใจชอบเธอตั้งแต่แรกเห็น

ครั้งหนึ่งขณะที่เจมส์กำลังอัดเสียงอยู่ในสตูดิโอ มาแรนด้ากับคราวน์เดินเข้ามาดูเขาร้องเพลง เธอยิ้มให้ แต่เจมส์ทำเป็นไม่สน จนเมื่อเขากลัวว่าจะเสียมาแรนด้าไปจริงๆ จึงแสดงออกด้วยการร้องเพลงที่เขาแต่งเอาไว้พร้อมทั้งขอให้เธอขึ้นมาร้องเพลงด้วยกัน จากนั้นจึงบอกความรู้สึกของตนในเวลาต่อมาว่าเขาทั้งหึงหวงและรักเธอมากเพียงใด

(ฉากหนึ่งขณะที่เจมส์นอนอยู่กับมาแรนด้าแล้วพูดขึ้นว่า “ผมไม่มีความสุขในชีวิต” และฉากถัดมาในซูเปอร์มาร์เก็ต อยู่ๆ เขาขอเธอแต่งงาน “ผมไม่มีความสุขในชีวิต…ถ้าไม่มีคุณ” ผู้เขียนจึงคิดว่ามันคงเป็นอารมณ์ของศิลปินอย่างแท้จริง ซึ่งเอาแน่เอานอนไม่ได้เลย แต่ถ้าทำอะไรแล้วทำจริง ทำเดี๋ยวนั้นทันที)

หนังถ่ายทอดชีวิตการอยู่ร่วมกันของคนทั้งคู่และการไม่ลงรอยกันในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อย อย่างเช่น เรื่องการซักผ้าหรือการที่เจมส์ชอบเข้าไปหมกตัวอยู่ในห้องเพียงลำพัง

และที่แย่ยิ่งไปกว่านั้นคือการเดินทางตามความฝันของคนทั้งคู่กลับกลายเป็นสิ่งผูกมัด ทำให้เจมส์คิดว่าเขาไม่มีเวลาเพียงพอที่จะทำงานเพลงของตนได้อย่างเต็มที่ สุดท้ายจึงตัดสินใจจบชีวิตรักลงด้วยการแยกทางกันในที่สุด

ก่อนเดินทางกลับไปใช้ชีวิตในนิวยอร์กบ้านเกิด มาแรนด้าโชว์การร้องเพลงในคลับบลูเบิร์ดคาเฟ่อีกครั้งด้วยใจคาดหวังว่าจะได้รับการคัดเลือก…แต่เธอก็ยังสอบตกอยู่ดี

ระหว่างทางที่มาแรนด้านั่งรถกลับ หนังตัดสลับภาพไปมาระหว่างเจมส์กำลังนั่งบันทึกเสียงและตัวมาแรนด้ากำลังนั่งแต่งเพลง ฉากดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าทั้งสองได้พักอยู่ในโลกส่วนตัว โลกซึ่งไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าการได้นิ่งสงบเพื่อตรึกตรองคิดถึงสิ่งที่ผ่านพ้นมา ซึ่งมันทำให้ทั้งเจมส์และมาแรนด้าได้เรียนรู้สิ่งสำคัญที่ขาดหายไปจากชีวิตนั่นคือ “หัวใจ” ที่ฝากไว้ให้กัน มันยังฝังอยู่ข้างในมิได้หล่นหายไปดั่งคำเลิกราเลย

มาแรนด้ากลับมายังแน็ซวิลล์อีกครั้งเพื่อขอเจ้าของร้านขึ้นร้องเพลงที่เธอเพิ่งแต่งเสร็จใหม่ๆ เพื่อมอบแด่ความรัก ความโศกเศร้า และสิ่งที่หัวใจร้องเรียกหา ผลปรากฏว่าเธอสอบผ่านการคัดเลือกได้มาร้องเพลงในคืนวันเสาร์สมดังปรารถนา

ผู้เขียนชื่นชอบประโยคที่เธอบอกกับเจ้าของร้านว่า เธอไม่ได้กลับมาหาเจมส์ แต่เธอกลับมาเพราะอยากจะร้องเพลง ซึ่งนั่นก็หมายความว่ามาแรนด้าค้นพบคำตอบในบทเพลงที่เธอแต่งขึ้นจากประสบการณ์ของตัวเอง

ส่วนตัวเจมส์เมื่อรู้ว่ามาแรนด้ากลับมาก็เดินหนีจากห้องอัดเสียงออกมาดื้อๆ ด้วยเหตุผลในใจส่วนตัวที่ว่า “เขาคิดถึงเธอ”

สุดท้ายแล้วไม่ว่าเจมส์หรือมาแรนด้าก็ไม่มีใครหนีหัวใจตัวเองได้พ้น

การเริ่มต้นใหม่อีกครั้งสำหรับทั้งคู่จึงไม่มีคำว่าสายไป

การได้ย้อนกลับมาดูผลงานเก่าๆ ของ ริเวอร์ ฟินิกซ์ ในครั้งนี้ จึงเพื่อเป็นการระลึกถึงชีวิตของนักร้องนักดนตรีในยุคสมัยนั้นที่เสียงเพลงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตและความฝัน

ซึ่งไม่ต่างจากเสียงร้องเพลงอันเป็นชีวิตและ “ความหวัง” ของทหารประจำกองร้อยกลุ่มหนึ่งใน “พิณพม่า” ผลงานประพันธ์ของ “ทาเคะยามะ มิชิโอะ” ที่เล่าย้อนความหลังผ่านทหารประจำกองร้อยคนหนึ่งในช่วงหลังจากการทำสงครามใหญ่บนภาคพื้นทวีปและในดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“พวกเราเคยร้องเพลงร่วมกันหลายครั้งหลายหนแล้วไม่ว่าจะเป็นเวลาที่มีความสุขหรือเมื่อมีความทุกข์พวกเราก็จะร้องเพลงร่วมกัน บางทีอาจจะเป็นเพราะว่าเราเข้าใจถึงสภาพของสงครามซึ่งเริ่มขึ้นแล้ว เมื่อไรจะต้องสู้รบหรือเมื่อไรจะต้องตายเป็นเรื่องสุดที่จะทำนาย ดังนั้น ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ อย่างน้อยที่สุดก็ปรารถนาที่จะทำสิ่งที่ดีให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ เมื่อร้องเพลงก็ตั้งใจร้องออกมาอย่างสุดชีวิตจิตใจ ทหารในกองร้อยนี้ทุกคนต่างก็ทุ่มเทให้กับการฝึกฝนร้องเพลงด้วยความเต็มใจ พวกเราชอบร้องเพลงสมัยเก่าที่มีความหมายลึกซึ้ง มากกว่าเพลงสมัยใหม่ซึ่งร้องกันอยู่ดาษดื่น โดยมิได้มีความหมายกินใจแต่อย่างใด ดังนั้น แม้ว่าในกองร้อยของเราจะมีทหารเป็นจำนวนมากซึ่งมีภูมิหลังเป็นชาวนาและกรรมกร แต่พวกเขาก็สามารถเรียนรู้วิธการร้องเพลงได้เป็นอย่างดี”

“แม้ว่าเวลาจะผ่านมาจนถึงบัดนี้ แต่เมื่อฉันหวนระลึกถึง เมื่อครั้งได้ร้องเพลงอยู่ริมฝั่งทะเลสาบแห่งหนึ่ง ก็ยังรู้สึกสุขใจอยู่มิรู้หาย”

หรืออย่างในฉากหนึ่ง “บทเพลง” ก็ยังทำหน้าที่ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกถึงเพื่อนทหารคนหนึ่งได้อย่างจับใจ

“ทหารขี้เมาคนนั้นฮัมเพลงออกมาทางจมูกเบาๆ โดยไม่มีความหมาย แต่สำหรับพวกเราเมื่อฟังเพลงนี้แล้วรู้สึกเหมือนกับว่าได้ยินเสียงเพลงนี้แว่วมาพร้อมกับเสียงพิณ ซึ่งดังออกมาจากป่าที่อยู่ไกลออกไป เรามองเห็นป่าอยู่เบื้องหน้า มีนกบินบนท้องฟ้า พร้อมทั้งด้านหลังของมิซุชิมะซึ่งสวมโสร่งหายเข้าไปในแมกไม้…ภาพแห่งความทรงจำนี้ผุดขึ้นในดวงใจของพวกเรา”

เสียงเพลงใน The Thing Called Love และใน “พิณพม่า” จึงเสมือนเป็นภาพแทนของเรื่องราวในอดีตและคนที่อยู่ในความทรงจำ

 

** ริเวอร์ ฟีนิกซ์ เสียชีวิตหน้าคลับไวเปอร์รูมของ “จอห์นนี เด็ปป์” ในลอสแองเจลิสด้วยการเสพยาเกินขนาด-เขาจากโลกนี้ไปในคืนวันฮัลโลวีนที่ 31 ตุลาคม ปี 1993 ด้วยวัยเพียง 23 ปี!

*** ตัวเอียงมาจากหนังสือ “พิณพม่า” ของ ทาเคะยามะ มิชิโอะ