อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ศิลปะมีหน้าที่อะไร ต้องรับใช้สิ่งใด และควรข้องแวะกับการเมืองหรือไม่

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
Liberty Leading the People. 1830. Oil on canvas, 260 x 325 cm.

 

ศิลปะมีหน้าที่อะไร

ต้องรับใช้สิ่งใด

และควรข้องแวะกับการเมืองหรือไม่

 

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่เป็นประเด็นร้อนแรงในวงการศิลปะและโลกออนไลน์บ้านเรา

ที่ผู้บริหารสถาบันการศึกษาศิลปะในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ได้ทำการบุกรื้อถอนและยึดงานศิลปะของนักศึกษาโดยไม่ได้รับความยินยอม

จนเกิดการถกเถียงกันระหว่างนักศึกษาและอาจารย์ผู้บริหาร กระทั่งมีอาจารย์ท่านหนึ่งออกมาปกป้องผลงานของนักศึกษาและทวงถามสำนึกความเป็นศิลปินของผู้บริหารเหล่านั้นอย่างดุเดือด https://bit.ly/3udaeiS

เหตุการณ์นี้ก่อให้เกิดการถกเถียงและตั้งคำถามอย่างมากมายในสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับบทบาทและความหมายของศิลปะ ว่าศิลปะมีหน้าที่อะไร?

ต้องรับใช้สิ่งใด?

และควรข้องแวะกับการเมืองหรือไม่?

ประเด็นเหล่านี้น่าสนใจจนเราต้องขอหยิบยกมาพูดถึงกันในตอนนี้

 

ย้อนกลับไปในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ หรือยุคเรอเนสซองส์ (Renaissance) ความเจริญก้าวหน้าทางศิลปวิทยาการแขนงต่างๆ นั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาจากกระบอกไม้ไผ่ หรือร่วงหล่นมาจากฟากฟ้าหนไหน

แต่เกิดขึ้นจากการอุปถัมภ์ค้ำชูของเหล่าบรรดาผู้มีอำนาจอิทธิพลอย่างสูงในยุคนั้น อย่างศาสนจักร ชนชั้นสูง ขุนนาง พ่อค้าวาณิช หรือเศรษฐีตระกูลใหญ่ผู้มีกำลังทรัพย์มหาศาล

ยกตัวอย่างเช่น ภาพวาด The Last Supper (1495-1498) ผลงานชิ้นเอกของศิลปินเอกแห่งยุคเรอเนสซองส์ เลโอนาร์โด ดาวินชี (Leonardo da Vinci) หนึ่งในภาพวาดที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลก ก็เป็นภาพวาดที่ดาวินชีได้รับการว่าจ้างจากผู้อุปถัมภ์ของเขาอย่างลูโดวีโก สฟอร์ซา ดยุคแห่งมิลาน ให้วาดภาพจิตรกรรมประดับฝาผนังโบสถ์ ซานตา มาริอา เดลเล กราซี ในเมืองมิลาน อิตาลี

เลโอนาร์โด ดา วินชี : The Last Supper (1495-1498)

หรือภาพวาดบนเพดานโบสถ์น้อยซิสทีนในกรุงวาติกัน ผลงานชิ้นเอกของศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ในยุคเรอเนสซองส์อีกคนอย่างมีเกลันเจโล (Michelangelo) ที่เล่าเรื่องราวการสร้างโลกของพระผู้เป็นเจ้า ก็เป็นงานที่ว่าจ้างโดยผู้นำสูงสุดแห่งศาสนจักรอย่างพระสันตะปาปาจูเลียสที่ 2

มีเกลันเจโล : The Creation of Adam (1511) ภาพพระผู้เป็นเจ้าประทานชีวิตให้แก่ ‘อดัม’ มนุษย์คนแรก หนึ่งในบรรดาภาพวาดบนเพดานโบสถ์น้อยซิสทีน

หรือในยุคทองของจิตรกรรมดัตช์ (Dutch Golden Age paintings) ผลงานมาสเตอร์พีซของศิลปินเอกชาวดัตช์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของประวัติศาสตร์ศิลปะตะวันตก เรมบรันต์ ฟัน ไรจ์น อย่าง The Night Watch (1642) ก็เป็นผลงานที่ถูกว่าจ้างให้วาดโดยร้อยเอกฟรานซ์ แบนนิ่ง ค็อกก์ และสมาชิกของกลุ่มกองกำลังพลเมืองติดอาวุธ อาสาสมัครผู้ปกป้องเมืองแห่งอัมสเตอร์ดัม ซึ่งต่างก็เป็นชนชั้นสูงและเศรษฐีมีทรัพย์ทั้งสิ้น

เรมบรันต์ ฟัน ไรจ์น : The Night Watch (1642)

ในอดีต ภาพวาดชิ้นเอกและผลงานศิลปะเลอค่าที่สุดของโลกภาพนี้ไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าภาพวาดที่จิตรกรถูกว่าจ้างวาดขึ้นเพื่อเอาไว้แขวนประดับคฤหาสน์ หรือสถานที่ราชการ ไม่ได้เป็นของล้ำค่าอะไร ถึงขนาดที่เคยถูกเจ้าของที่ซื้อต่อมาอีกทอดเฉือนริมภาพทั้งสี่ด้านออกไปหลายนิ้ว เพื่อให้แขวนระหว่างเสาของอาคารศาลาว่าการเมืองอัมสเตอร์ดัมได้ ซึ่งทำกันเป็นปกติในยุคก่อนศตวรรษที่ 19

 

นอกจากถูกใช้เป็นเครื่องมือรับใช้ชนชั้นสูงและผู้มีอำนาจแล้ว ศิลปะยังถูกใช้เป็นเครื่องมือแสดงออกถึงอุดมการณ์ทางสังคมการเมืองด้วย

ดังเช่นผลงานของเออแฌน เดอลาครัว จิตรกรชาวฝรั่งเศสคนสำคัญแห่งยุคโรแมนติก (Romanticism) อย่าง Liberty Leading the People (1830) ถูกวาดขึ้นเพื่อแสดงการเฉลิมฉลองการปฏิวัติฝรั่งเศส และสดุดีเกียรติแก่เหล่านักปฏิวัติผู้กล้าหาญในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ การปฏิวัติฝรั่งเศสในเดือนกรกฎาคมปี ค.ศ.1830

 เออแฌน เดอลาครัว : Liberty Leading the People (1830)

หรือผลงานของฟรานซิสโก โกยา ศิลปินชาวสเปนคนสำคัญแห่งยุคโรแมนติกอีกคน อย่าง The Third of May 1808 (1814) ที่ตีแผ่ความโหดร้ายสะเทือนอารมณ์ของการสังหารหมู่ประชาชนโดยเหล่าทหารจากกองทัพของนโปเลียนที่บุกเข้าโจมตีสเปนในปี 1808 ระหว่างสงครามคาบสมุทรได้อย่างสะเทือนอารมณ์

ฟรานซิสโก โกยา : The Third of May 1808 (1814)

หรือศิลปินในกระแสเคลื่อนไหวโซเชียลเรียลลิสต์ (Social Realism) ที่บุกเบิกโดยสามศิลปินผู้เป็นเสาหลักของวงการศิลปะเม็กซิกัน อย่างดิเอโก ริเวรา (Diego Rivera), ดาวิดา ซิเกอิโรส (David Siqueiros) และโฆเซ่ โอรอซโก (José Orozco) พวกเขารวมกลุ่มกันต่อต้านทุนนิยมและปลุกระดมให้สังคมเห็นความสำคัญของผลงานศิลปะในฐานะเครื่องมือในการปฏิวัติ และร่วมกันใช้งานศิลปะเผยแพร่แนวคิดฝ่ายซ้ายของคาร์ล มาร์กซ์ และวลาดิมีร์ เลนิน

ดิเอโก ริเวรา : Man, Controller of the Universe (1933) จิตรกรรมฝาผนังที่ทำขึ้นใหม่จากผลงาน Man at the Crossroads (1934) ที่เขาถูกว่าจ้างให้ไปวาดในอาคารร็อกกีเฟลเลอร์ เซ็นเตอร์ นิวยอร์ก แต่กลับมีเหตุอื้อฉาวเพราะเขาวาดภาพของอดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ วลาดิมีร์ เลนิน ลงไป ทำให้ผู้ว่าจ้างสั่งทำลายภาพก่อนที่เขาจะวาดเสร็จ เขาจึงวาดขึ้นใหม่ที่พระราชวัง Palacio de Bellas Artes (Palace of Fine Arts) ในกรุงเม็กซิโกซิตี้ ในขนาดที่เล็กลง, ภาพจาก https://goo.gl/2FYvpm

ด้วยความเชื่อว่าศิลปะจะเป็นอาวุธที่สามารถต่อสู้กับทุนนิยมที่เอารัดเอาเปรียบชนชั้นแรงงาน

ศิลปินในกลุ่มนี้มองตัวเองเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชนชั้นแรงงาน กรรมกร และมวลชนผู้ตรากตรำทำงานหนัก

พวกเขาเชื่อว่าคนเหล่านี้เป็นสมาชิกสำคัญของสังคมมากกว่าชนชั้นสูงผู้อาศัยอยู่บนหอคอยงาช้าง และไม่เคยรับรู้ปัญหาหรือสภาพความเป็นจริงในสังคม

 

ในทางกลับกัน ลัทธิเผด็จการในหลายประเทศก็ใช้งานศิลปะเชิงสังคมนิยมที่ถูกเรียกขานว่าโซเชียลลิสต์เรียลลิสต์ (Socialist Realism) เป็นเครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ หรือปลุกเร้าประชาชนให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของตนเอง

ดังเช่นงานศิลปะในสหภาพโซเวียต ยุคผู้นำเผด็จการ โจเซฟ สตาลิน ที่มุ่งเน้นถ่ายทอดอุดมการณ์ทางการเมืองของรัฐในเชิงสอนสั่งและกล่อมเกลาประชาชนด้วยภาพของเหล่ากรรมกรผู้แข็งแรงทำงานให้รัฐอย่างแข็งขันสามัคคีและเป็นปึกแผ่น ภาพลักษณ์ของวีรบุรุษนักรบผู้เข้มแข็งที่เคร่งครัดต่ออุดมการณ์รัฐตามแนวคิดเหล่านี้แสดงภาพลักษณ์ของผู้นำอย่างสตาลินที่น่ายกย่องศรัทธา

หรือในเยอรมนีในยุคนาซีเรืองอำนาจ ผู้นำสูงสุดอย่างอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ สนับสนุนศิลปินให้ทำงานศิลปะที่เชิดชูอุดมการณ์ของลัทธินาซี ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากศิลปะคลาสสิคของกรีกและโรมันโบราณ เน้นสัดส่วนอันสมบูรณ์แบบเกินจริง เพื่อแสดงออกถึงร่างกายอันสมบูรณ์แบบของชาวอารยัน และตั้งหน้าตั้งตากวาดล้างศิลปะสมัยใหม่ที่ไม่ต้องตรงกับอุดมการณ์ของรัฐ โดยเรียกขานว่าศิลปะเสื่อมทราม (Degenerate art)

อเลสซานโดร บรูซเฆติ (Alessandro Bruschetti) : Sintesi Fascista (1935), ผลงานของศิลปินในลัทธิฟิวเจอริสต์ที่สนับสนุนอุดมการณ์ของลัทธิฟาสซิสต์ ภาพจาก https://goo.gl/6kiEm7

หรือในอิตาลียุคเผด็จการฟาสซิสต์ ที่ใช้งานศิลปะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศิลปะในกระแสเคลื่อนไหว ฟิวเจอริสต์ (Futurism) ที่ยกย่องสรรเสริญสงคราม เชิดชูลัทธิทหารและหลงใหลอุดมการณ์ของลัทธิฟาสซิสต์ เป็นเครื่องมือในการปลูกฝังความคิดขวาจัดและชาตินิยมสุดโต่ง

และประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรฟาสซิสต์อิตาลีให้ขจรขจายไปสู่โลกภายนอกผ่านมหกรรมศิลปะเวนิสเบียนนาเล่ ในฐานะพื้นที่ทางวัฒนธรรมในการสนับสนุนอุดมการณ์ของพรรค

 

ในขณะเดียวกัน ศิลปินรัสเซียอย่างคาซิมีร์ มาเลวิช ก็ทำงานศิลปะนามธรรมที่หลีกเลี่ยงการตอบสนองอุดมการณ์ของสังคมตามแนวคิดทางการเมืองแบบสังคมนิยมของรัฐโซเวียตใหม่ของสตาลิน

คาซิมีร์ มาเลวิช : Black Square (1915)

เขาเชื่อว่าศิลปะไม่จำเป็นต้องรับใช้สังคม รัฐ หรือศาสนา หรืออะไรก็ตาม หากแต่ให้อิสรภาพทางความรู้สึกนึกคิดกับผู้ชมอย่างเต็มที่โดยไม่ปิดกั้น

แต่ผลงานของเขาที่กระตุ้นให้ผู้คนใช้สมองและแสดงออกทางความคิดอย่างเสรีกลับเป็นที่ชิงชังของสตาลินเป็นอย่างมาก จนทำให้ตัวเขาถูกจับกุมคุมขัง และถูกเจ้าหน้าที่รัฐปรับทัศนคติให้ทำงานต้องตรงกับอุดมการณ์รัฐ

ศิลปินเยอรมันอย่างออตโต ดิกซ์ ผู้เป็นที่รู้จักจากการเปิดเผยความโหดร้ายของสงครามอย่างโจ่งแจ้งไร้การประนีประนอม และตีแผ่ให้เห็นความอยุติธรรมในสังคมและความวิปริตทางการเมืองของสาธารณรัฐไวมาร์ที่กลายเป็นระบอบเผด็จการนาซีในเวลาต่อมา ก็เป็นศิลปินคนสำคัญอีกคนที่ประสบภัยจากเงื้อมมือนาซี ในโทษฐานที่ทำงานศิลปะเสื่อมทรามเช่นเดียวกัน

ออตโต ดิกซ์ : Flanders (1934), ภาพจาก https://bit.ly/3u818UI

หรือศิลปินเยอรมันในอีกยุคสมัยอย่างโจเซฟ บอยส์ ผู้นอกจากตั้งคำถามเกี่ยวกับความเข้าใจทางศิลปะและความคิดสร้างสรรค์แล้ว เขายังใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการเปิดประเด็นถกเถียงเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม และท้าทายแนวความคิดทางการเมืองที่ถูกสถาปนาโดยภาครัฐ

โดยตั้งคำถามว่า ประชาธิปไตยคืออะไร?

ศิลปะมีเป้าหมายในการรับใช้สังคมอย่างไร?

สำหรับบอยส์ ศิลปะไม่ใช่เพียงผลงานที่ถูกแขวนแสดงในหอศิลป์ พิพิธภัณฑ์ หรืออาคารที่อยู่อาศัย หากแต่ยังรวมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันอย่างสถานการณ์ บทสนทนา กระบวนการคิด หรือกิจกรรมทางสังคมด้วย

ดังคำกล่าวของบอยส์ที่ว่า “ทุกคนสามารถเป็นศิลปินได้”

ซึ่งหมายถึง ทุกคนในสังคมสามารถมีพลังความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองและโลกใบนี้ได้

โจเซฟ บอยส์ : 7000 Oaks – City Forestation Instead of City Administration (1982) ภาพจาก https://alchetron.com

 

ในปัจจุบันศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแสดงออกหลากรูปแบบ ไม่เว้นแม้แต่การแสดงออกทางการเมือง ไม่เพียงในหมู่ศิลปิน หากแต่ยังรวมถึงนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและผู้ชุมนุมประท้วงทางการเมืองอีกด้วย สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าศิลปะไม่ได้ถูกสงวนอยู่แต่กับความสวยงาม ความสงบเรียบร้อย หรือความสูงส่งดีงามเท่านั้น

หากแต่ยังสามารถเชื่อมโยงกับความเป็นไปทางสังคม เศรษฐกิจ หรือแม้แต่การเมือง

และที่สำคัญ ศิลปะไม่อาจแยกขาดจากชีวิตได้