อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ประวัติศาสตร์ ของศิลปะในการประท้วง

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

ประวัติศาสตร์

ของศิลปะในการประท้วง

 

ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองของประเทศไทยในช่วงเวลานี้ กระแสการชุมนุมเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย และการใช้ความรุนแรงโดยอำนาจรัฐ ส่งผลให้ศิลปินและคนในวงการศิลปะต่างตบเท้าเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงออกและการประท้วงต่อต้านเผด็จการกันไม่น้อย

ไม่เพียงการทำงานศิลปะในการชุมนุมอย่างการทำป้ายประท้วงและป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ ไปจนถึงงานศิลปะประท้วงต่อต้านเผด็จการที่เผยแพร่ทางสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดีย

หากแต่ยังรวมถึงการแสดงศิลปะเชิงการเมืองในพื้นที่ที่เป็นทางการอย่างหอศิลป์และพิพิธภัณฑ์อีกด้วย

โดยส่วนใหญ่ที่ผ่านมา ศิลปินและคนทำงานสร้างสรรค์ต่างๆ ต่างเป็นตัวแทนผู้ริเริ่มและบุกเบิกการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเชิงวัฒนธรรม ผ่านการทำงานศิลปะและงานสร้างสรรค์ที่แสดงเนื้อหาและแนวคิดที่ต่อต้านค่านิยมเก่าๆ และมุ่งเน้นในการปฏิรูปสังคม

ด้วยความที่วัฒนธรรมทางสายตามีพลังในการแสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงทางการเมืองและโครงสร้างอันซับซ้อนของสังคม การเมือง และวัฒนธรรมอย่างมาก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกแห่งการสื่อสารอันไร้พรมแดน สื่อออนไลน์อย่างอินเตอร์เน็ต ส่งผลอย่างมากต่อศิลปะเพื่อการประท้วงและขับเคลื่อนทางการเมือง โลกในยุคปัจจุบันที่ข้อมูลข่าวสาร ภาพและเนื้อหาอันมากมายนับไม่ถ้วนถูกเผยแพร่อย่างไม่หยุดหย่อน

สื่อออนไลน์อย่างโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือที่เปิดโอกาสให้ศิลปิน คนทำงานสร้างสรรค์ หรือใครก็ตาม สามารถใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการแสดงออกทางความคิดได้อย่าง (เกือบ) เสรี

 

ด้วยความที่ศิลปะไม่ได้เป็นเพียงองค์ประกอบทางวัฒนธรรมเท่านั้น หากแต่ยังเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการขับเคลื่อนทางสังคม และเผยแพร่แนวคิดทางการเมืองออกไปในวงกว้าง ศิลปินสามารถต่อต้านโครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียมในสังคมและแสดงการแข็งขืนทางวัฒนธรรมและการเมืองด้วยการทำงานที่เรียกว่าศิลปะประท้วง หรือศิลปะต่อต้าน ซึ่งเป็นรูปแบบการทำงานศิลปะและการทำงานสร้างสรรค์ที่ไม่เพียงสร้างขึ้นโดยศิลปิน แต่รวมถึงนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและการขับเคลื่อนทางสังคม ดังที่เรากล่าวไปในตอนที่ผ่านมา https://bit.ly/3tLxKn1

โดยธรรมชาติ ศิลปะเป็นเครื่องมือสำหรับการสื่อสารประเภทหนึ่ง จึงไม่แปลกที่ศิลปะจะถูกใช้ในการสื่อสารถึงอุดมการณ์ทางการเมือง บ่อยครั้งในประวัติศาสตร์ ศิลปะถูกอำนาจรัฐใช้เป็นเครื่องมือในการเผยแพร่ จูงใจ ปลุกเร้า ปลุกระดม หรือแม้แต่โฆษณาชวนเชื่อทางการเมือง

ในทางกลับกัน ศิลปะก็เป็นสิ่งที่ผู้ต่อต้านอำนาจรัฐใช้เป็นเครื่องมือในการเคลื่อนไหวทางการเมืองเช่นเดียวกัน บ่อยครั้งที่ศิลปะถูกใช้สื่อสารถึงประเด็นในการต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองอย่างจะแจ้ง ตรงไปตรงมา

หรือบางครั้งก็ใช้ในการวิพากษ์วิจารณ์หรือเสียดสีล้อเลียนรัฐหรือผู้มีอำนาจอิทธิพลในเชิงสัญลักษณ์ได้อย่างเจ็บแสบแหลมคม

รูปแบบของงานศิลปะที่ใช้ทรัพยากรน้อย ไม่ต้องลงทุนมากอย่างกราฟฟิตี้และสตรีตอาร์ตก็ถูกใช้ในการชุมนุมประท้วง การเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือการอารยะขัดขืนมาโดยตลอด

ผลงานศิลปะเหล่านี้มักเป็นงานที่ทำขึ้นชั่วคราวด้วยความรวดเร็วและง่ายดาย (หลายครั้งต้องลักลอบทำ) เพราะมีเป้าหมายในการสื่อสารประเด็นทางการเมืองอย่างการเรียกร้องประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ ประท้วงอำนาจรัฐอันไม่เป็นธรรม

 

นอกจากทำในรูปแบบของป้ายประท้วงและป้ายสัญลักษณ์ หรือกราฟฟิตี้และสตรีตอาร์ตแล้ว ศิลปะประท้วงยังถูกทำในรูปแบบของศิลปะแสดงสด (Performance art) แฮพเพนนิ่งอาร์ต (Happening art), ศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ (Site-specific Installations), หรืองานศิลปะสื่อผสมในรูปแบบต่างๆ หลากสื่อหลายรูปแบบ งานศิลปะในการประท้วงอาจถูกทำขึ้นโดยศิลปินมืออาชีพ หรือแม้แต่คนทั่วไปที่ไม่มีประสบการณ์ในการทำงานศิลปะมาก่อนเลยก็ได้

โดยมากงานศิลปะประเภทนี้มักไม่ถูกทำขึ้นสำหรับการซื้อขายหรือสะสมโดยสถาบันศิลปะหรือหอศิลป์เชิงพาณิชย์ (แต่ก็มีนักสะสมบางคนเก็บสะสมงานศิลปะในลักษณะนี้อยู่เหมือนกัน) ด้วยต้องการเข้าถึงผู้คนในวงกว้างกว่าแค่วงการศิลปะ และไม่จำกัดอยู่แค่ผู้คนในภูมิภาคเดียวกันด้วย หากแต่เผยแพร่ไปสู่ผู้คนในทั่วโลก

ในปัจจุบัน การตระหนักถึงความไม่เป็นธรรมทางสังคมเป็นสิ่งที่รับรู้กันในวงกว้างจากความช่วยเหลือของเครือข่ายการสื่อสารอันไร้พรมแดนอย่างอินเตอร์เน็ต ในแง่นี้ ศิลปะถูกใช้ในการประท้วงและการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อเป็นเครื่องมือสื่อสารกับผู้ชมในวงกว้าง และเปิดเผยให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิเสรีภาพ ความอยุติธรรม การเอารัดเอาเปรียบที่เกิดขึ้นในสังคม

และกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักรู้ถึงปัญหาเหล่านี้ และเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสังคม

 

ศิลปะแสดงสด เป็นรูปแบบงานศิลปะที่ถือกำเนิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมทางสังคมการเมืองของศิลปินในช่วงยุค 1960s-1970s จากการขยายขอบเขตทางสุนทรียะและลบเลือนเส้นแบ่งระหว่างงานศิลปะและการละครแบบดั้งเดิม และมุ่งเน้นในการเป็นสื่อศิลปะที่สามารถเข้าถึงคนในทุกชนชั้น และเปิดโอกาสให้ผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วมกับการทำงานศิลปะ และเปิดโอกาสให้พวกเขาเปลี่ยนประสบการณ์ส่วนตัวให้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนทางการเมือง

งานศิลปะที่มีแนวคิดแปลกใหม่ล้ำสมัยอย่างคอนเซ็ปช่วลอาร์ต (Conceptual art) ก็ถือกำเนิดจากแรงขับเคลื่อนทางการเมือง ในการประท้วงและวิพากษ์วิจารณ์ความเป็นชนชั้นและระบบทุนนิยมและบริโภคนิยมในโลกศิลปะ ด้วยการใช้วัสดุและกระบวนการทำงานศิลปะที่แหวกขนบเดิมๆ และเนื้อหาของงานที่เชื่อมโยงกับประเด็นทางสังคมการเมืองร่วมสมัย

นอกจากจะใช้วัสดุและวิธีการทำงานแหวกขนบ และจัดแสดงผลงานนอกพื้นที่ทางศิลปะแบบเดิมๆ เช่นในพื้นที่สาธารณะ ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่ายแล้ว งานศิลปะคอนเซ็ปช่วลยังเรียกร้องให้ผู้ชมหรือบุคคลภายนอกวงการศิลปะเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างมาก

ที่สำคัญ มันยังมุ่งเน้นในการเปิดเผยความสัมพันธ์เชิงอำนาจและการเมืองที่แฝงตัวอยู่เบื้องหลังโลกศิลปะ ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้ถูกหยิบไปใช้กับงานศิลปะในการประท้วงอยู่บ่อยครั้ง

ศิลปะประท้วงยังถูกทำในรูปแบบอันแตกต่างหลากหลาย ทั้งสื่อศิลปะดั้งเดิมอย่างงานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ ที่แสดงในพื้นที่ทางศิลปะอย่างหอศิลป์หรือพิพิธภัณฑ์

อาทิ ภาพวาดต่อต้านสงครามและเผด็จการขวาจัดอย่าง Guernica (1937) ของปาโบล ปิกัสโซ่

Guernica (1937) โดยปาโบล ปิกัสโซ่, ภาพจาก https://goo.gl/dmWb2r

หรือผลงานประติมากรรมต่อต้านสงครามเวียดนามของนอร์แมน คาร์ลเบิร์ก (Norman Carlberg)

หรือภาพวาดที่ตีแผ่การทารุณกรรมนักโทษชาวอิรักในเรือนจำอาบู กรออิบ และอ่าวกวนตานาโม โดย ซูซาน ไครล์ (Susan Crile) ไปจนถึงศิลปะในพื้นที่สื่อสารมวลชนอย่างโปสเตอร์ ใบปลิว บิลบอร์ดโฆษณา

หรือแม้แต่การ์ตูนช่องในหนังสือพิมพ์หรือสื่อออนไลน์ต่างๆ

In Our Name : Guantanamo & Blacksites (Distressed) โดยซูซาน ไครล์, ภาพจาก https://bit.ly/2QzeRWb

 

ศิลปะประท้วงมักถูกใช้ในการต่อต้านผู้มีอำนาจทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบอบเผด็จการและความเหลื่อมล้ำทางสังคม

เช่น พรรคนาซีเยอรมัน หรือการแบ่งแยกสีผิวทั้งในแอฟริกาและในหลายประเทศทั่วโลก เช่น ผลงานตีแผ่ระบบทรราชของสาธารณรัฐไวมาร์ของออตโต ดิกซ์ (Otto Dix)

หรือการประท้วงโดยสันติของขบวนการกุหลาบขาว (die Weiße Rose) ของเยอรมนีในปี 1942

หรือวิลลี่ เบสเตอร์ (Willie Bester) ศิลปินชาวแอฟริกาใต้ ผู้เป็นที่รู้จักในฐานะศิลปินนักต่อต้าน (Resistance artist) อย่างเป็นทางการคนแรกๆ เขาใช้วัสดุเก็บตกเหลือใช้อย่างขยะ มาปะติดบนผืนผ้าใบและวาดภาพสีน้ำมันทับลงไป โดยนำเสนอเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์บุคคลสำคัญผิวดำ รวมถึงมุมมองเกี่ยวกับชุมชนคนผิวดำของแอฟริกาใต้และทั่วโลก

และเจน อเล็กซานเดอร์ (Jane Alexander) ศิลปินชาวแอฟริกาใต้ (ผิวขาว) ผู้ทำงานเกี่ยวกับความโหดร้ายป่าเถื่อนของนโยบายการแบ่งแยกสีผิวในแอฟริกาใต้จากมุมมองของคนขาว

African Adventure (1999-2002) โดยเจน อเล็กซานเดอร์, ภาพจาก https://bit.ly/3vUNGFg

หรือแนนซี่ สเปโร (Nancy Spero) ศิลปินผู้บุกเบิกศิลปะสตรีนิยม (Feminist art) ที่ตีแผ่โครงสร้างอำนาจนิยมของสังคมชายเป็นใหญ่ และความเลวร้ายของสงครามเวียดนาม

และแคร์รี่ ไรคาร์ต (Carrie Reichardt) ศิลปินแห่งกลุ่ม Craftivism กลุ่มศิลปินและนักเคลื่อนไหวทางสังคมแบบสตรีนิยมคลื่นลูกที่สาม ที่เคลื่อนไหวต่อต้านทุนนิยม การเหยียดสีผิว และการรณรงค์เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยงานศิลปะแบบพื้นบ้าน

ผลงานศิลปะกระเบื้องบนผนังของแครี ไรคาร์ต, ภาพจาก https://bit.ly/3vPkG1L

 

หันกลับมามองในบ้านเรา

ในการชุมนุมประท้วงที่ผ่านๆ มา มีการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการแสดงออกอย่างทรงพลัง แหลมคม และท้าทายขนบของสังคมมากมายนับไม่ถ้วน

ซึ่งเราจะนำเสนอผลงานศิลปะแห่งการประท้วงเหล่านั้นให้อ่านกันในโอกาสต่อไป

ข้อมูลจาก https://bit.ly/3cfvsH4, https://bit.ly/2PncuF7, https://bit.ly/39prQAv