อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ศิลปะแห่งถ้อยคำ ของคนที่เท่าเทียมกัน

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

ศิลปะแห่งถ้อยคำ

ของคนที่เท่าเทียมกัน

 

ท่ามกลางบรรยากาศการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่องของประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยชาวไทย และการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบของผู้มีอำนาจรัฐอย่างไม่หยุดหย่อน

ในตอนนี้เราเลยขอนำเสนอเรื่องราวของศิลปินที่ทำงานศิลปะในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพกันอีกคน

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า เกล็นน์ ไลกอน (Glenn Ligon)

ศิลปินชาวอเมริกันผิวดำ ผู้ทำงานศิลปะที่สำรวจประเด็นเกี่ยวกับเชื้อชาติ, ภาษา, ความปรารถนา, เรื่องเพศ, อัตลักษณ์, สีผิว, ความรุนแรง และความไม่เท่าเทียมกันทางสังคม

ผลงานศิลปะของเขามีลักษณะเป็นสัมพันธบท (Intertextuality) หรืองานศิลปะที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงแนวความคิด ประเด็น และบริบทในศาสตร์และศิลป์แขนงต่างๆ หลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน

ไม่ว่าจะเป็นทัศนศิลป์, วรรณกรรม, ประวัติศาสตร์ รวมถึงประสบการณ์ในชีวิตของตัวศิลปินเอง

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถูกถ่ายทอดผ่านผลงานศิลปะเชิงคอนเซ็ปช่วลในสื่อต่างๆ หลากหลายของเขา

ไลกอนยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมบุกเบิกกระแส Post-Blackness หรือกระแสเคลื่อนไหวทางความคิดอันมีจุดเริ่มต้นในโลกศิลปะที่พยายามสร้างความเข้าใจของคนอเมริกันที่มีต่อคนดำและประสบการณ์ของชาวแอฟริกันอเมริกันในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 และต้นศตวรรษที่ 21

ไลกอนเป็นที่รู้จักตั้งแต่ช่วงปี 1980 จากผลงานภาพวาดสีน้ำมันแท่งและสีสเปรย์ฉลุลายรูปข้อความสีดำสนิทบนพื้นหลังสีขาวที่ได้แรงบันดาลใจมาจากงานเขียนและสุนทรพจน์ของบุคคลในประวัติศาสตร์หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นจีน เกเนต (Jean Genet) กวี/นักเขียนบทละคร/นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวฝรั่งเศส, โซรา นีล เฮอร์สตัน (Zora Neale Hurston) นักเขียนสตรีชาวอเมริกันผิวดำ, ราล์ฟ เอลลิสัน (Ralph Ellison) นักเขียนชาวอเมริกันผิวดำผู้เป็นที่รู้จักจากงานเขียนเกี่ยวกับสิทธิพลเมืองของคนผิวดำ, วอลต์ วิตแมน (Walt Whitman) กวี/นักเขียนสายมนุษยนิยมชาวอเมริกัน และริชาร์ด ไพรเออร์ (Richard Pryor) นักแสดงตลกชาวอเมริกันผิวดำผู้โด่งดังในฮอลลีวู้ด เป็นต้น

โดยหยิบเอาข้อความของบุคคลเหล่านั้นมานำเสนอเป็นวลีสั้นๆ ให้ผู้ชมได้อ่านในนิยามใหม่ๆ เขายังนำถ้อยคำเหล่านั้นมาทำเป็นประติมากรรมหลอดไฟนีออน, ภาพพิมพ์, ภาพถ่าย, ภาพยนตร์ และวิดีโออีกด้วย

Rückenfigur (2009), ภาพจาก https://bit.ly/307BpyR

ไลกอนสร้างชื่อจากผลงานที่วิพากษ์วิจารณ์ความซับซ้อนทางอัตลักษณ์ในสังคมอเมริกันได้อย่างลึกซึ้งถึงแก่น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างสีผิวและเชื้อชาติ

ผลงานศิลปะของเขาตีแผ่และท้าทายพรมแดนที่แบ่งแยกผู้คนออกจากกันทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นอคติ การเหยียดเชื้อชาติและสีผิว

รวมถึงประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากความเหลื่อมล้ำทางอัตลักษณ์และวัฒนธรรมในสังคม เขาปลุกเร้าความรู้สึกของผู้ชม และกระตุ้นให้พวกเขาตั้งคำถามถึงแก่นแท้ตัวตนของเราเอง ว่าเราเป็นใครกันแน่? ดังคำกล่าวของเขาที่ว่า

“หน้าที่ของผมไม่ใช่การหาคำตอบ หากแต่เป็นการตั้งคำถามต่างหาก”

 

นอกจากสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างข้อความและภาพในสื่อต่างๆ หลากหลาย ไลกอนยังใช้สื่อสิ่งพิมพ์ในการขับเน้นประเด็นความซับซ้อนในประวัติศาสตร์การเมืองของอเมริกา ดังเช่นในผลงานชุด Million Man March (1996) ที่เขาหยิบเอาภาพข่าวจากหนังสือพิมพ์ของเหตุการณ์เดินขบวนของคนผิวดำจำนวนนับล้านคนเพื่อเรียกร้องสิทธิพลเมืองในเดือนตุลาคม 1995

เขาหยิบเอาภาพเล็กๆ จากหนังสือพิมพ์มาขยายให้มีขนาดมหึมา จนทำให้รายละเอียดในภาพเลือนรางลงจนกลายเป็นภาพที่มืดมัว เปรียบเสมือนเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ที่มีความชัดเจนแจ่มแจ้งในขณะที่มันกำลังเกิดขึ้น แต่ก็จะค่อยๆ ลบเลือนไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เมื่อเวลาผ่านไป

ผลงานชุด Million Man March (1996), ภาพจาก https://bit.ly/381HH7j

ยิ่งภาพมีความคลุมเครือเท่าใด เรื่องราวในภาพก็ยิ่งมีความชัดเจนน้อยลงเท่านั้น

ไลกอนยังมักจะทำงานในประเด็นทางสังคมร่วมกับศิลปินมากหน้าหลายตา

อย่างเช่น ผลงาน Rumble Young Man Rumble (1993) ที่เขาทำร่วมกับศิลปินอเมริกันเชื้อสายเกาหลี ไบรอน คิม (Byron Kim) ผลงานศิลปะในรูปของกระสอบทรายพ่นสีสเปรย์ฉลุลายถ้อยคำจากสุนทรพจน์ของมูฮัมหมัด อาลี ด้วยผลงานชิ้นนี้ พวกเขาตั้งคำถามกับผู้ชมทั้งในประเด็นเกี่ยวกับสีผิวและความลุ่มหลงในความเป็นชายของคนอเมริกัน การเล่นกับความหมายอันหลากหลายและลึกซึ้งที่แฝงในภาพจากประวัติศาสตร์ที่ผู้คนคุ้นเคย เป็นเอกลักษณ์ที่พบเห็นในผลงานของเขาตลอดมา

Rumble Young Man Rumble (Version #2) (1993), ภาพจาก https://bit.ly/3rcYFav

หรือในผลงานภาพวาดชุด Coloring Books (2000) ที่เขาหยิบเอาภาพบุคคลในประวัติศาสตร์คนผิวดำ อย่างเช่น มัลคอล์ม เอ็กซ์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของชาวมุสลิมและชาวอเมริกันผิวดำ มาตีความใหม่ในรูปแบบของสมุดระบายสีสีสันฉูดฉาดบาดตา

และ A Feast of Scraps (1994-1998) ผลงานศิลปะอัลบั้มภาพถ่ายครอบครัวคนผิวดำสอดแทรกภาพจากหนังสือโป๊ของชายผิวดำ (ที่มีภาพลักษณ์ที่คนทั่วไปมักจะคิดว่ามีองคชาตใหญ่มหึมา) ลงไป

ผลงานเหล่านี้สะท้อนตัวตนของไลกอนในฐานะชายเกย์ชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ผู้อยู่ในโลกแห่งการเมืองเชิงอัตลักษณ์ที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งทางเชื้อชาติและวัฒนธรรมอย่างรุนแรง

 

ผลงานที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดของไลกอนคือ Untitled (I Am a Man) (1988) ภาพวาดรูปประโยค “I AM A MAN” ที่ถูกใช้บนป้ายประท้วงในการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองและการต่อต้านการแบ่งแยกสีผิวของคนผิวดำหลายต่อหลายครั้ง

Untitled (I Am A Man) (1988), ภาพจาก https://bit.ly/3sFBXYX

เดิมทีประโยคนี้คือคำประกาศสิทธิพลเมืองที่ถูกใช้เป็นแถลงการณ์เพื่อสิทธิเสรีภาพและต่อต้านการกดขี่ข่มเหงของคนผิวดำ

ในประวัติศาสตร์ ประเทศอย่างแอฟริกาใต้และสหรัฐอเมริกา คำว่า boy (เด็กชาย) นั้นเป็นคำหยาบคายที่เหล่าผู้เหยียดผิวใช้เรียกคนผิวดำและทาส เพื่อแสดงถึงสถานภาพที่มีความต่ำต้อยกว่าความเป็น ‘คน’ หรือ ‘มนุษย์’ (man)

ในทางกลับกัน ประโยคว่า “Am I Not A Man And A Brother?” (ฉันมิใช่มนุษย์และพี่น้องของคุณหรอกหรือ?) กลายเป็นวลีติดปากที่ใช้กันแพร่หลายในหมู่ผู้รณรงค์ให้เลิกทาสทั้งในประเทศอังกฤษและอเมริกา

ป้าย “I AM A MAN” ถูกใช้เป็นครั้งแรกในการประท้วงหยุดงานของพนักงานทำความสะอาดผิวดำที่เมืองเมมฟิส (Memphis Sanitation Strike) รัฐเทนเนสซี ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปี 1968 อันมีต้นเหตุจากการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมของนายจ้าง

ว่ากันว่า คำว่า “I Am a Man” บนป้ายนั้นยังมีที่มาอีกแหล่ง จากประโยคเปิดเรื่องในนิยาย Invisible Man ของราล์ฟ เอลลิสัน ที่ว่า “I am an invisible man” โดยกลุ่มประท้วงในเมมฟิสลบคำว่า “invisible” (ล่องหน) ออกจากประโยคนี้ เพื่อแสดงเจตจำนงว่าพวกเขาออกมาปรากฏตัวให้เห็นเด่นชัดในการต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง

เมื่อช่างภาพข่าวชาวอเมริกัน เอิร์นเนสต์ ซี. วิตเธอร์ (Ernest C. Withers) ถ่ายภาพผู้ประท้วงที่ถือป้ายนี้เอาไว้และตีพิมพ์เผยแพร่ ประโยคนี้ก็กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง

 

ในปี 1988 ไลกอนจำลองป้ายนี้ขึ้นมาใหม่ ในรูปแบบของภาพวาดสีน้ำมันที่มีชื่อว่า Untitled (I Am a Man) (1988) โดยเขาวาดประโยค I AM A MAN ด้วยสีดำบนพื้นสีขาว (ตัวหนังสือบนป้ายดั้งเดิมเป็นสีแดง) เพื่อแสดงการรำลึกถึงภาพถ่ายของเอิร์นเนสต์ วิตเธอร์ ที่เขาเห็นในห้องทำงานของสมาชิกรัฐสภาอเมริกัน ตอนที่เขาฝึกงานในสตูดิโอของพิพิธภัณฑ์ในฮาร์เล็ม ในช่วงปี 1980

ภาพวาดนี้นอกจากจะรำลึกถึงการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองในปี 1968 ที่จุดกระแสให้สังคมตระหนักถึงการกดขี่ข่มเหงและเลือกปฏิบัติต่อลูกจ้างผิวดำที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนานในสหรัฐอเมริกาแล้ว

ยังรำลึกถึงการใช้ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประท้วงในเมืองเมมฟิสจนเป็นเหตุให้ผู้ชุมนุมเสียชีวิต (หนึ่งในนั้นเป็นเด็กวัยรุ่นอายุ 16 ปี ที่ถูกยิงด้วยปืนลูกซอง) ในช่วงเวลาก่อนที่จะมีการลอบสังหารมาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King Jr.) นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนชาวอเมริกันผิวดำผู้เข้าไปมีส่วนร่วมในการประท้วงครั้งนั้นด้วย

ถ้อยคำสั้นๆ เรียบง่าย แต่ทรงพลัง และแสดงออกถึงความมุ่งมั่นยืนกรานของผู้ประท้วงในครั้งนั้นที่ปรากฏในภาพวาดอันเป็นเสมือนหนึ่งสัญลักษณ์ของการต่อต้านอย่างสันติของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองอย่างชัดเจน

ไม่ต่างอะไรกับการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยในประเทศไทย ที่ประกาศเจตจำนงชัดเจนว่าเราทุกคนนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นคนอย่างเท่าเทียมกันนั่นเอง

Condition Report (2000), ภาพจาก https://bit.ly/2PiwIQs

ข้อมูล https://bit.ly/3uOtFQv, https://bit.ly/3sAEBPA, https://bit.ly/3sLVd7f, https://n.pr/2OfMaMC