อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ศิลปินวิดีโออาร์ตตัวพ่อแห่งโลกศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ศิลปินวิดีโออาร์ตตัวพ่อแห่งโลกศิลปะ

ในตอนที่แล้ว เราเล่าให้ฟังถึงศิลปินวิดีโออาร์ตตัวแม่แห่งโลกศิลปะไปแล้ว

ในตอนนี้เราเลยขอเล่าให้ฟังถึงศิลปินวิดีโออาร์ตตัวพ่อกันบ้างอะไรบ้าง ศิลปินผู้นี้มีชื่อว่า

นัม จุน เพ็ก (Nam June Paik)

ศิลปินชาวเกาหลีสัญชาติอเมริกัน ผู้ทำงานในสื่อหลากแขนง

เขาเป็นผู้บุกเบิกงานศิลปะในสื่อวิดีโอ หรือวิดีโออาร์ต ในช่วงยุค 60 จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “บิดาของวิดีโออาร์ต”

ผู้ใช้สื่ออันล้ำสมัยสร้างผลงานศิลปะอันแปลกใหม่ที่โลกไม่เคยเห็นมาก่อน ด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดในยุคนั้นอย่างวิดีโอและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ในการทดลองทางศิลปะหลากหลายรูปแบบ

การปฏิวัติทางศิลปะของเขากลายเป็นรากฐานทางความคิดให้ศิลปินที่ทำงานในสื่อยุคใหม่ (New media) ในปัจจุบันจำนวนนับไม่ถ้วน

นัม จุน เพ็ก (หรือเรียกแบบเกาหลีว่า เพ็ก นัม จุน) เกิดในปี 1932 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลี เมื่อเกิดสงครามเกาหลีขึ้นในช่วงปี 1950 เขาและครอบครัวต้องลี้ภัยจากบ้านเกิดไปยังฮ่องกง ต่อด้วยญี่ปุ่น และจบการศึกษาปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยโตเกียว

เดิมที นัม จุน เพ็ก ไม่ได้ร่ำเรียนมาทางด้านศิลปะแต่แรก หากแต่เรียนมาทางด้านดนตรีคลาสสิค แต่เขามีความสนใจในการใช้เสียงจากสภาพแวดล้อมรอบตัวทั่วไปในชีวิตประจำวันในการทำดนตรี โดยได้รับอิทธิพลจากนักดนตรีทดลองผู้ยิ่งใหญ่ในยุคนั้นอย่างจอห์น เคจ (John Cage)

ต่อมาเขาย้ายไปเรียนดนตรีที่เยอรมนีตะวันตก และได้พบกับจอห์น เคจ และเหล่าบรรดาศิลปินหัวก้าวหน้าในยุคนั้นอย่างจอร์จ มาชิวนัส (George Maciunas), ชารอน เกรซ (Sharon Grace), วูล์ฟ วอสเตลล์ (Wolf Vostell) และโจเซฟ บอยส์ ที่ต่างก็เป็นสมาชิกของกลุ่มเคลื่อนไหวทางศิลปะแนวทดลองอย่างฟลักซัส (Fluxus)

และเขาเองก็ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มนี้ในที่สุด ต่อมาเขาเริ่มต้นทำงานศิลปะที่เป็นการผสมผสานเสียง ภาพ การทำศิลปะแสดงสด และองค์ประกอบทางอิเล็กทรอนิกส์เข้าไว้ด้วยกัน

นัม จุน เพ็ก เป็นศิลปินคนแรกๆ ที่ทดลองใช้โทรทัศน์และวิดีโอในการทำงานศิลปะ เขาเปิดตัวในฐานะศิลปินในปี 1963 ในนิทรรศการศิลปะ Exposition of Music-Electronic Television ที่หอศิลป์ Parnass ในเมืองวุพเพอร์ทาล ประเทศเยอรมนี

โดยเขาวางโทรทัศน์ระเกะระกะทั่วหอศิลป์ และใช้แม่เหล็กจ่อเข้าไปใกล้ๆ จอ เพื่อทำให้ภาพบิดเบี้ยว

Magnet TV (1965), ภาพโดย Robert E. Mates, Nam June Paik Estate https://wapo.st/2NnUlWZ

ในการทำงานศิลปะแสดงสดที่เมืองโคโลญ เขาเล่นเปียโนเพลงของโชแปง แล้วไถลตัวบนเปียโนเข้าไปหา ผู้ชม

เพ็กยังเอากรรไกรตัดเสื้อผ้าของจอห์น เคจ และนักเปียโนที่เล่นในงานแสดง และเทแชมพูลงบนหัวของพวกเขา

ในปี 1963 เขาสร้างผลงาน Zen for TV (1963) ประกอบด้วยโทรทัศน์ที่ถูกดัดแปลงให้ภาพในหน้าจอกลายเป็นเส้นแสงขีดเดียว

Zen for TV (1963), ภาพจาก https://mo.ma/3qDMkvf

เพ็กใช้เวลาในการเรียนรู้เกี่ยวกับกลไกภายในของโทรทัศน์จนสร้างผลลัพธ์ทางภาพอันแปลกใหม่ขึ้นมามากมาย

เขาทำนายว่า ในอนาคต จอโทรทัศน์จะถูกใช้แทนผืนผ้าใบในการสร้างงานศิลปะ

ซึ่งเป็นคำทำนายที่ไม่ไกลจากความเป็นจริงเลย

ในช่วงยุค 60 นัม จุน เพ็ก เริ่มต้นทำงานด้วยอุปกรณ์ชิ้นใหม่ล่าสุดอย่างเครื่องบันทึกเทปวิดีโอ ตามมาด้วยกล้องวิดีโอบันทึกภาพและเสียงแบบพกพา

ด้วยเครื่องมือนี้ เขาสามารถเคลื่อนไหวและบันทึกภาพและเสียงต่างๆ เพื่อนำมาทำเป็นงานศิลปะของเขาได้อย่างอิสรเสรี

ในปี 1964 นัม จุน เพ็ก ย้ายไปนิวยอร์ก และเริ่มต้นทำงานศิลปะแสดงสดและวิดีโอร่วมกับนักเล่นเชลโล่หัวก้าวหน้าอย่างชาร์ลอตต์ มัวร์แมน (Charlotte Moorman) ที่ต่อมาได้กลายเป็นผู้ร่วมงานกับเขาอย่างยาวนาน

การแสดงชุดนี้ของเขากับมัวร์แมนสะท้อนความสนใจของเขาเกี่ยวกับอิทธิพลของโทรทัศน์ที่มีต่อ  สาธารณชน และความพยายามผสานเทคโนโลยีใหม่นี้เข้ากับความเป็นมนุษย์ผ่านร่างกายคน

ในผลงานแสดงสดและดนตรีของเขาอย่าง Robot Opera (1964), Opera Sextronique (1967), TV Bra for Living Sculpture (1969) และ TV Cello (1971) ที่มักจะนำเสนอร่างกายอันเปล่าเปลือยของมัวร์แมนผสานตัวเข้ากับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ

อย่างเช่น ผลงาน TV Cello ที่ใช้โทรทัศน์สามเครื่องวางซ้อนต่อกันและติดสายจนกลายเป็นตัวเชลโล่ เมื่อมัวร์แมนทำการสีเชลโล่ ภาพของเธอและนักเชลโล่คนอื่นๆ ก็จะปรากฏขึ้นบนจอ

TV Cello (1971), ภาพจาก https://bit.ly/3p5E9HL

หรือผลงาน Opera Sextronique ที่มัวร์แมนเปลือยอกเล่นเชลโลในการแสดงจนถูกตำรวจจับข้อหาอนาจาร ซึ่งเธอประท้วงตำรวจว่าเธอแค่กำลังแสดงบทประพันธ์ดนตรีของเพ็กแค่นั้นเอง

และผลงาน TV Bra for Living Sculpture ที่มัวร์แมนเปลือยกายท่อนบนเล่นเชลโล่โดยสวมใส่แต่เพียงยกทรงที่ทำจากโทรทัศน์เล็กๆ สองเครื่อง ปิดหน้าอกหน้าใจทั้งคู่ของเธอเอาไว้เท่านั้น

TV bra for living sculpture                              ภาพจาก https://bit.ly/35Y7v3n

ในขณะที่จอโทรทัศน์บนหน้าอกของเธอก็กำลังถ่ายทอดสดภาพของผู้ชมงานที่บันทึกจากกล้องวงจรปิด

ด้วยผลงานเหล่านี้ นัม จุน เพ็ก นำพาเทคโนโลยีวิดีโอและโทรทัศน์ให้เข้าใกล้ความเป็นมนุษย์มากกว่าการเป็นแค่เครื่องมือสร้างความบันเทิงธรรมดาๆ ดังคำกล่าวของเขาที่ว่า

“สาระสำคัญที่แท้จริงของศิลปะและเทคโนโลยี ไม่ใช่แค่การสร้างของเล่นทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆ ออกมา หากแต่เป็นการทำให้เทคโนโลยีและสื่ออิเล็กทรอนิกส์เข้าใกล้ความเป็นมนุษย์มากขึ้น, อย่างเช่น ผลงาน TV Bra for Living Sculpture ที่เป็นตัวอย่างอันชัดเจนของความคิดนี้ ด้วยการใช้โทรทัศน์เป็นยกทรง ซึ่งเป็นข้าวของที่ใกล้ชิดกับมนุษย์ (ผู้หญิง) มากที่สุด ด้วยผลงานนี้ เรากำลังแสดงให้เห็นถึงการใช้เทคโนโลยีของมนุษย์ และกระตุ้นเหล่าบรรดาผู้ชม ไม่ใช่ในทางที่มุ่งร้าย หากแต่เป็นการกระตุ้นให้พวกเขาก้าวพ้นจากอคติเดิมๆ และมองหาหนทางใหม่อย่างมีจินตนาการ และมีความเห็นอกเห็นใจกันในการใช้เทคโนโลยีของพวกเราทุกคน”

ในปี 1964 เขาและวิศวกรไฟฟ้า ชูยะ อาเบะ (Shuya Abe) ร่วมกันพัฒนาเทคนิคการดัดแปลงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อันล้ำสมัย และสร้างเป็นผลงานหลายหลากอย่าง Robot K-456 (1964) หุ่นยนต์ควบคุมระยะไกลเคลื่อนที่ด้วยล้อ และตั้งโปรแกรมให้ “ถ่ายอุจจาระ” ออกมาเป็นเมล็ดถั่วอบแห้งไปพร้อมๆ กับเล่นเสียงสุนทรพจน์ของจอห์น เอฟ. เคนเนดี้ (น่าเศร้าที่เจ้าหุ่นยนต์ตัวนี้ประสบอุบัติเหตุถูกรถชนขณะเดินโชว์ตัวอยู่บนถนนในนิวยอร์ก เพ็กเปรียบเปรยว่าเหตุการณ์นี้แสดงถึงความหายนะของเทคโนโลยีในศตวรรษที่ยี่สิบ)

Robot K-456 (1964), ภาพจาก https://bit.ly/2Nfxixm

หรือผลงาน Paik/Abe Video Synthesizer (1969) ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมมีส่วนร่วมกับผลงานศิลปะของเขาด้วยการบิดเบือนสีสันและรูปทรงของภาพในจอวิดีโอได้ด้วยตัวเอง

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความปรารถนาอย่างแรงกล้าของเขาในการทำให้เทคโนโลยีใกล้ชิดกับความเป็นมนุษย์

ผลงานของเขาสะท้อนให้ผู้ชมเห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับเทคโนโลยีได้อย่างโดดเด่น เขามีความเชื่อว่าศิลปะและเทคโนโลยีเป็นเครื่องมืออันสำคัญของมนุษย์ในการแสวงหาหนทางไปสู่อนาคตด้วยสื่อลูกผสมใหม่ๆ เหล่านี้

TV Buddha (1974) ผลงานที่เป็นที่รู้จักที่สุดของเพ็ก พระพุทธรูปสำริดศตวรรษที่ 18 วางประจันหน้ากับโทรทัศน์ที่ฉายภาพตัวเองที่ถ่ายโดยกล้องวงจรปิด, ภาพจาก https://bit.ly/3iwekhs

นอกจากนี้ เขายังเคยเขียนถึงความปรารถนาในการทำ “ตลาดกลางวิดีโอเสรี” ที่ไม่เพียงแค่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเผยแพร่ผลงานของตัวเองได้แบบฟรีๆ เท่านั้น หากแต่ยังรวมถึงการแบ่งปันความรู้ การศึกษา การสนทนาแลกเปลี่ยนในระดับนานาชาติ ซึ่งในปัจจุบันแนวคิดนี้ของเขาก็กลายเป็นความจริงไปเรียบร้อยโรงเรียนอเมริกันแล้ว ด้วยการถือกำเนิดของชุมชนออนไลน์อย่าง Facebook และ Youtube ที่ดึงดูดผู้ใช้งานนับพันล้านคนทั่วโลก

Electronic Superhighway : Continental U.S., Alaska, Hawaii (1995-96) ผลงานศิลปะจัดวางขนาดมหึมารูปแผนที่ทวีปอเมริกา, อลาสกา และฮาวายที่ประกอบขึ้นจากชิ้นส่วนของโทรทัศน์และวิทยุจำนวนนับไม่ถ้วน, ภาพโดย Libjbr https://bit.ly/361aF6x

เขายังเป็นผู้บัญญัติศัพท์คำว่า “Electronic Superhighway” ซึ่งเป็นการทำนายว่า ในอนาคต เทคโนโลยีจะช่วยให้ผู้คนในโลกสามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างไร้พรมแดน ซึ่งในปัจจุบันความคิดนี้ของเขาก็กลายเป็นจริงเช่นเดียวกัน ในรูปของ “อินเตอร์เน็ต” นั่นเอง

“ชีวิตของเราเป็นส่วนผสมระหว่างธรรมชาติและเทคโนโลยีครึ่งต่อครึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเทคโนโลยีล้ำสมัยเป็นความก้าวหน้า เราต้องการมันเพื่อหาเลี้ยงชีพ แต่ถ้าคุณเอาแต่มุ่งเน้นไปที่ความล้ำสมัย สุดท้ายก็อาจจะจบลงที่สงคราม ดังนั้นเราต้องมีความเป็นมนุษย์ที่เข้มแข็ง เพื่อรักษาสมดุลระหว่างความล้ำสมัยและความเป็นธรรมชาติให้เท่าเทียมกัน”

Lion (2005), ภาพจาก https://bit.ly/3p5HDKl

นัม จุน เพ็ก เสียชีวิตในปี 2006 ที่เมืองไมอามี่ รัฐฟลอริดา ด้วยวัย 73 ปี เหลือทิ้งไว้แต่เพียงมรดกทางความคิดอันมหาศาล และการบุกเบิกเส้นทางใหม่ในโลกศิลปะให้แก่เหล่าบรรดาศิลปินและคนทำงานสร้างสรรค์รุ่นหลัง

ข้อมูล https://bit.ly/361aF6x, https://bit.ly/3qvVn1o, https://bit.ly/3sCnfTg, https://mo.ma/3sI1gKO