‘สมมุติ ว่าเป็น…’ การสำรวจตัวตนมนุษย์ ผ่านศิลปะแห่งปริศนาธรรม

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
เมืองเก่าเชียงแสน (#1)

‘สมมุติ ว่าเป็น…’
การสำรวจตัวตนมนุษย์
ผ่านศิลปะแห่งปริศนาธรรม

เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปดูนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจมางานหนึ่ง เลยเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย

นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า สมมุติ ว่าเป็น… (Sammati to be…)

โดยศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ ศิลปินชั้นครูชาวไทย ผู้คร่ำหวอดทั้งในแวดวงศิลปะร่วมสมัยและการเป็นอาจารย์สอนศิลปะผู้เป็นที่รักและเคารพของลูกศิษย์หลายสถาบัน

ปัจจุบันศรีวรรณเกษียณจากงานสอน และใช้ชีวิตและทำงานศิลปะอยู่ ณ หอศิลป์ศรีดอนมูล (Sridonmoon Art Space) ที่เธอก่อตั้งขึ้นในตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

นอกจากจะเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะแล้ว ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ทางศิลปะและแนวคิดเชิงพุทธศาสนาสำหรับชุมชนอีกด้วย

นิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งนี้ เป็นนิทรรศการในกรุงเทพฯ ครั้งแรก หลังจากที่เธอร่วมแสดงผลงานในบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ที่ผ่านมา

ศิลปินกับผลงาน (ซ้าย) มองตน (#2) (ขวา) ความสุขสงบ (#9)

เอกลักษณ์อันโดดเด่นในผลงานของศรีวรรณคือการผสมผสานรูปแบบทำงานของงานศิลปะไทยแบบประเพณีและงานศิลปะสมัยใหม่ของตะวันตกได้อย่างกลมกลืนและลงตัว ไม่ว่าจะเป็นการตัดเส้นและเขียนลายและการใช้สีสันสดใสแบบจิตรกรรมไทยแบบประเพณี

ไปจนถึงการใช้เทคนิคการผสานจุดสีแบบเดียวกับจิตรกรโพสต์อิมเพรสชั่นนิสต์ (Post-Impressionist) และงานจิตรกรรมแบบกึ่งนามธรรม (semi-abstract)

ทำงานด้วยจิตว่าง (#14)

ศรีวรรณกล่าวถึงแก่นความคิดของผลงานของเธอในสูจิบัตรของนิทรรศการครั้งนี้ว่า

“ในวันหนึ่ง มนุษย์อาจสมมุติว่าเป็นอะไรก็ได้มากมาย แตกต่างกันไปตามเหตุปัจจัยและกรรมที่ได้สั่งสมมา และมีความเท่าเทียมกันในการเกิดแก่เจ็บตาย ในความทุกข์ อันเกิดจากการแปรเปลี่ยนและการมีตัวตนที่มิคงทน”

“ณ โอกาสหนึ่งในชีวิตนี้ ฉันสมมุติว่าเป็นศิลปิน ถ่ายทอดความแปรเปลี่ยน ความปราศจากตัวตนที่แท้จริง และความทุกข์ ด้วยร่างกายที่เสื่อมถอย แต่จิตยังคงเข้มแข็งมุ่งมั่น วิ่งวนบ้าง สงบบ้าง สร้างสรรค์ศิลป์สิ่งสมมุติ ผ่านพฤติกรรม กิริยาอาการ ใบหน้าของมนุษย์ ท้องฟ้า ป่าเขาลำเนาไพร ต้นไม้ใบหญ้า สัตว์น้อยใหญ่ พุทธธรรม ธรรมชาติ วัดวาอาราม เจดีย์ สังคมเมือง ในโลกแห่งเทคโนโลยี มนุษย์คุ้นเคยกับโลกเสมือน…โลกมายา หรืออีกนัยหนึ่งคือโลกสมมุติ จนบางครั้งจมดิ่ง คิดว่าเป็นโลกแห่งความเป็นจริง”

“สมมุติว่า ถ้าท่านได้มาเยี่ยมชมงานศิลปะครั้งนี้ ลองสมมุติว่า ท่านได้เห็นด้วยตา ได้สัมผัสด้วยใจ ได้เจริญสติ สัมปชัญญะ รู้สึกสุขสงบ โลกสมมุตินี้ก็รื่นรมย์ยิ่งนัก”

ถึงแม้ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้จะนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับธรรมะและปรัชญาในศาสนาพุทธในเรื่องของการไม่ยึดติดและละวางตัวตน แต่ในทางกลับกัน ผลงานเหล่านี้ก็เต็มไปด้วยรายละเอียดและสีสันอันสดใส สนุกสนาน ทำให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้ไม่ยาก

Party (#28)

ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ ประกอบด้วยงานจิตรกรรม, ประติมากรรมเซรามิก และงานสื่อผสม จำนวนกว่า 70 ชิ้น ที่รวบรวมมาจากหลายช่วงเวลาในชีวิตการทำงานของศิลปินชั้นครูผู้นี้

หนึ่งในผลงานที่โดดเด่นที่สุดในนิทรรศการคือภาพวาด เมืองเก่าเชียงแสน (#1) ภาพวาดสีน้ำมันขนาดใหญ่ ขนาด 2 x 3.5 เมตร ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของเมืองเชียงแสนอันเป็นสถานที่อาศัยและทำงานของศรีวรรณในปัจจุบัน

“ภาพวาดนี้ใช้เวลาหกเดือนในการวาด เป็นภาพชุดที่เรารักที่สุด โดยนำเสนอเรื่องราวของเมืองเก่าของเชียงแสน และสถานที่อันเป็นที่เคารพบูชาของคนเชียงแสน ทั้งวัดป่าสัก, วัดเจดีย์หลวง, พระพุทธรูปใหญ่ และวัดป่ายาง ที่เราไปเขียนจิตรกรรมฝาผนังที่นั่น และสตูดิโอกับหอศิลป์ของเราที่ดอยสะโง้ ภาพนี้เราวาดเป็นเหมือนแผนที่โบราณที่ย่อเมืองเชียงแสนไว้ในภาพเดียว ด้วยการใช้วิธี appropriation (หยิบยืม) เอางานจิตรกรรมไทยโบราณที่มีทัศนียภาพแบบมุมสายตานก (Bird’s-eye view) มาใช้”

นอกจากจะหยิบยืมแรงบันดาลใจจากจิตรกรรมไทยโบราณแล้ว ศรีวรรณยังหยิบเอาแรงบันดาลใจจากผลงานจิตรกรรมของศิลปินชั้นครูแห่งยุคโมเดิร์นจากโลกตะวันตกอย่างภาพ Le Déjeuner sur l’herbe (The Luncheon on the Grass) (1863) ของเอดูอาร์ มาเน (É douard Manet) มาดัดแปลงเสียใหม่ จนกลายเป็นสไตล์เฉพาะตัวของเธอ

โดยการเปลี่ยนตัวละครในภาพให้กลายเป็นโครงกระดูก อันเป็นปริศนาธรรมที่สื่อถึงมรณานุสติ ที่ศรีวรรณใช้บ่อยครั้งในผลงานของเธอ และสอดแทรกกลิ่นอายของความเป็นไทย อย่างขันโตก หรือขวดและกระป๋องเบียร์ไทยวางเขละอยู่ข้างๆ ตัวละครในภาพ

Homage to Manet (#21)

“งานชิ้นนี้มีชื่อว่า Homage to Manet (#21) เราเอาภาพวาดของศิลปินยุคอิมเพรสชั่นนิสต์มาวาดใหม่ โดยใส่อารมณ์ขัน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของคนไทยเข้าไป ให้เป็นปริศนาธรรมแบบขำๆ ประมาณว่า นั่งกินเหล้ากินเบียร์จนเหลือแต่โครงกระดูกแล้วก็ยังไม่รู้ตัว”

ในนิทรรศการยังมีผลงานแนวพุทธศิลป์ที่ได้แรงบันดาลใจจากธรรมะและคำสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ ทั้งภาพรูปเงาของท่านพุทธทาสในป่า หรือภาพท่านพุทธทาสสนทนากับโครงกระดูก หรือภาพวาดสื่อผสมที่ประกอบด้วยภาพวาดผสานกับคำสอนของท่านพุทธทาสและพระอริยสงฆ์ต่างๆ บนแผ่นไม้แกะสลักที่ดูคล้ายหน้าหนังสือธรรมะ

 

พุทธทาสภิกขุ (#50)
สนทนาธรรม (#51)
สาละ (#13)

และภาพวาดสะท้อนสีสันอันฉูดฉาดของชีวิตคนเมืองที่แฝงปริศนาธรรมถึงการสำรวจชีวิตทางโลก และวิถีแห่งกิเลสในเชิงปริศนาธรรม

รวมถึงงานประติมากรรมเซรามิกรูปใบหน้าคนและหัวกะโหลกในลักษณะกึ่งนามธรรม ราวกับศิลปินกำลังสำรวจตรวจสอบสังขารอันไม่จีรังยั่งยืนของมนุษย์

Face 1 (#55)

“เวลาวาดภาพ เราไม่ได้ยึดความเป็นจริงอย่างที่ตาเห็น แต่ใช้จินตนาการและประสบการณ์มากกว่า สมมุติเราเขียนต้นไผ่สักต้น เราไม่ได้มานั่งนับต้นไผ่ว่ามีกี่กอ กี่ปล้อง แต่ใช้ความรู้สึกเอา หรือเวลาเราเขียนต้นไผ่ไปสักพัก เราก็นึกเล่นๆ ว่าปล้องไผ่ก็เหมือนข้อกระดูกของมนุษย์ไม่หยอก เราก็วาดให้มันออกมาให้มีข้อกระดูก มีกล้ามเนื้อ เพราะต้นไม้ทุกต้นก็มีชีวิตเหมือนมนุษย์ หรือเวลาเราวาดภาพคน ก็จะไม่ได้วาดให้เหมือนคนนั้นเป๊ะๆ แต่จะจับเอาบุคลิกของคนเหล่านั้นมาใส่ในภาพ ให้คนดูพอรู้ว่าคนคนนั้นเป็นใคร เหมือนเป็นการจดชวเลข (การบันทึกข้อความอย่างย่อด้วยการใช้สัญลักษณ์แทนตัวอักษร) ของเราเอง”

ผลงานชุด Samsara

“พอเรายิ่งอายุมากขึ้น การทำงานของเราก็จะไม่ซ้ำเดิม แต่เปลี่ยนแปลงไปตามจังหวะของชีวิตและจังหวะของช่วงเวลา”

สมมุติ ว่าเป็น… (Sammati to be…) โดยศรีวรรณ เจนหัตถการกิจ และภัณฑารักษ์ ปกรณ์ กล่อมเกลี้ยง, จัดแสดงที่ 333Gallery ชั้น 3 อาคารริเวอร์ซิตี้กรุงเทพ, ตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ.2563 – 31 มกราคม พ.ศ.2564, เข้าชมฟรี, สอบถามรายละเอียดได้ที่ [email protected]

ขอบคุณภาพจาก 333Gallery ภาพถ่ายโดยปรีชา ภัทรอมรชัย