คุณครูผู้ยิ่งใหญ่แห่งโลกศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
โจเซฟ บอยส์ ขณะกำลังสอนอยู่ในชั้นเรียนของเขาที่สถาบันศิลปะดึสเซิลดอร์ฟ ภาคการศึกษาฤดูหนาวปี 1967, ภาพจาก https://bit.ly/3rgoC9E

คุณครูผู้ยิ่งใหญ่แห่งโลกศิลปะ

ในตอนแรกๆ ของการเขียนบทความคอลัมน์นี้ เราเคยกล่าวถึงศิลปินชาวเยอรมันยุคหลังสงครามผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกศิลปะอย่าง โจเซฟ บอยส์ (Joseph Beuys) โดยให้ฉายาว่า “ครูใหญ่แห่งวงการศิลปะ”

แต่ดูเหมือนว่าตอนที่เราเขียนนั้น เรายังไม่ค่อยกล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการสอนของเขาเท่าไหร่นัก ทั้งๆ ที่บทบาทความเป็นครูหรืออาจารย์ของบอยส์นั้นโดดเด่นและทรงอิทธิพลไม่แพ้ผลงานศิลปะของเขาเลยแม้แต่น้อย โดยบอยส์เคยกล่าวเอาไว้ว่า

“การเป็นครูคือผลงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของผม”

การสอนของบอยส์สร้างแรงบันดาลใจให้ลูกศิษย์ลูกหามากมาย

ลูกศิษย์ของเขาหลายคนกลายเป็นศิลปินที่มีบทบาทอย่างมากในวงการศิลปะเยอรมันและของโลก
บอยส์มองว่าบทบาทของเขาในฐานะครู สามารถนำพาสังคมไปสู่ทิศทางใหม่ๆ ได้

ในช่วงยุค 1960 ถึงปลายยุค 1970 บอยส์สอนศิลปะในสถาบันศิลปะดึสเซิลดอร์ฟ (Kunstakademie Düsseldorf) (Düsseldorf Academy of Art) ในเมืองดึสเซิลดอร์ฟ เยอรมนี

ในการสอนที่นั่น เขาไม่ได้ถ่ายทอดรูปแบบ, สไตล์ หรือเทคนิคการทำงานของตัวเองให้กับนักศึกษา

ความเป็นจริงบอยส์แทบไม่เคยอวดผลงานหรือนิทรรศการของเขาในห้องเรียนเลยด้วยซ้ำ เพราะเขาต้องการให้นักศึกษาแสวงหาความสนใจ, ไอเดีย และความสามารถในรูปแบบของตัวเอง แทนที่จะตามก้นอาจารย์ต้อยๆ

ถึงแม้เขาจะเป็นอาจารย์ที่เข้มงวดในชั้นเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตรงต่อเวลา, วินัยในการเข้าเรียน และการฝึกฝนและพัฒนาทักษะความเชี่ยวชาญในการทำงานของตัวเอง

ในทางกลับกัน เขาก็สนับสนุนให้นักศึกษากำหนดเป้าหมายทางศิลปะของตนเองได้อย่างอิสระ โดยหาได้แยแสแคร์หลักสูตรของสถาบันแต่อย่างใด

เขาและนักศึกษามักจะตั้งวงเสวนา ล้อมวงพูดคุยถกเถียงกันในชั้นเรียนเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ หลากหลาย ทั้งเรื่องการเมือง, ปรัชญา ไปจนถึงบทบาทของศิลปะ, ประชาธิปไตย และมหาวิทยาลัยที่มีต่อสังคม รวมถึงแนวคิดเกี่ยวกับการศึกษาฟรีสำหรับทุกคน, การค้นหาความคิดสร้างสรรค์ในชีวิตประจำวัน ฯลฯ ในชั้นเรียนของเขา

ด้วยความที่ชั้นเรียนของบอยส์เป็นที่เลื่องลือในสถาบันถึงคุณภาพการสอนที่เขาเป็นผู้สร้างหลักสูตรเฉพาะตัวของเขาขึ้นมาเอง อย่างที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน

และด้วยแนวคิดของการเรียนการสอนศิลปะอันแหกขนบ เปิดกว้าง และเต็มไปด้วยเสรีภาพอย่างไร้ขีดจำกัดของบอยส์ จนทำให้เขาเป็นที่นิยมของเหล่าบรรดานักศึกษา

แต่ก็ทำให้อาจารย์ร่วมสถาบันและผู้บริหารหลายคนเกิดความขุ่นเคืองใจ (และอิจฉาริษยา) เช่นเดียวกัน

บอยส์เชื่อในการเปิดโอกาสทางการศึกษาให้ประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม เขากล่าวว่า “โดยพื้นฐานแล้ว มนุษย์ทุกคนสามารถมีความคิดสร้างสรรค์ ถ้าเขาและเธอได้รับโอกาสให้พัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของตนเองได้ นั่นคือเหตุผลที่ทุกคนควรได้รับโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียมกัน”

ครั้งหนึ่งเขาเคยก่อเหตุอื้อฉาวต่อเหล่าบรรดาคนใหญ่คนโตในรัฐบาลและกระทรวงศึกษาฯ ที่มาฟังศิลปินดาวรุ่งของเยอรมันอย่างเขาบรรยายในสถาบัน ด้วยการส่งเสียงร้องคำรามในลำคอไม่ได้ศัพท์ราวกับเสียงร้องของหมู ต่อหน้าคนเหล่านั้นตลอดการบรรยาย จนเป็นที่โจษขานและลงตีพิมพ์ในหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับ

“ผมประท้วงต่อสถานการณ์ที่คนจำนวน 500 คนต้องการโอกาสในการพัฒนาความสามารถของพวกเขาในชั้นเรียนของผม แต่พวกเขา (กระทรวงศึกษาฯ) กลับปฏิเสธ และบอกว่า ทางสถาบันสามารถรับคนเข้าเรียนในแต่ละชั้นเรียนได้เพียงแค่สิบคน โดยให้อาจารย์คัดเลือกนักศึกษาเข้ามาเรียน และคัดคนที่เหลือออกไป ซึ่งเป็นเรื่องไร้สาระ ผมก็เลยรับนักศึกษาทุกคนเข้าเรียนในชั้นเรียนของผม โดยไม่ปฏิเสธใครเลยแม้แต่คนเดียว ทำให้ชั้นเรียนของผมมีนักศึกษาราว 400 คน ถือเป็นการละเมิดคำสั่งของกระทรวงอย่างร้ายแรง”

เหตุการณ์นี้ทำให้กระทรวงมีคำสั่งให้ยุบชั้นเรียนของเขาลง ในปี 1972 เหล่านักศึกษาจึงรวมตัวกันเดินขบวนประท้วง และยึดอาคารสำนักงานของสถาบัน (โดยมีบอยส์ร่วมสนับสนุนด้วย) เพื่อต่อต้านคำสั่งกระทรวง และแสดงเจตนารมณ์ในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพทางการศึกษาอย่างยืดเยื้อยาวนาน
ในที่สุดพวกเขาก็ถูกเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมและยึดอาคารสำนักงานคืน โจเซฟ บอยส์ เองก็ถูกปลดออกจากการเป็นอาจารย์ของสถาบันในทันที

โจเซฟ บอยส์ และนักศึกษาที่ทำการประท้วงหลังจากที่ชั้นเรียนของเขาถูกยุบลง ในปี 1972, ภาพจาก https://bit.ly/2WBmueC

ในช่วงเวลาใกล้เคียงกับการสอน โจเซฟ บอยส์ หันมาสนใจกิจกรรมทางการเมือง โดยในปี 1967 เขาร่วมก่อตั้ง Deutsche Studentenpartei (German Student Party) หรือ “พรรคนักศึกษาเยอรมัน” และ “องค์การเพื่อประชาธิปไตยทางตรงโดยการลงประชามติ” (Organization for Direct Democracy) ในปี 1971 ไปจนถึง “องค์กรปลดปล่อยมหาวิทยาลัยสากลเพื่อความคิดสร้างสรรค์และการค้นคว้าทางสหวิทยาการ” หรือ FIU (Free International University for Creativity and Interdisciplinary Research) จนนำไปสู่การร่วมก่อตั้งพรรคการเมืองอย่าง “พรรคสีเขียว” (Die Grünen) (The Greens) ในที่สุด (อ่านรายละเอียดได้ที่นี่ https://bit.ly/3nyXdgO)

 โจเซฟ บอยส์ ร่วมเดินขบวนประท้วงกับนักศึกษาในปี 1972, ภาพจาก https://bit.ly/3rgoC9E

ถึงแม้โจเซฟ บอยส์ จะไม่ประสบความสำเร็จในบทบาททางการเมืองและการเลือกตั้ง ด้วยความที่ในช่วงเวลานั้น ตัวเขาและพรรคยังไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากสื่อต่างๆ นัก

แต่บอยส์ก็ยังมีบทบาทในพรรค Greens ตลอดช่วงต้นทศวรรษ 1980

และมีส่วนในการผลักดันให้พรรคมีบทบาทสำคัญในระบอบการเมืองของเยอรมัน โดยเฉพาะการหยิบยกประเด็นต่างๆ ที่เคยถูกละเลยขึ้นมาถกเถียงในสภา เช่น ความกังวลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม อาวุธนิวเคลียร์ และสิทธิเสรีภาพและความเท่าเทียมของประชาชน

โจเซฟ บอยส์ และนักศึกษา ขณะกำลังเคลียร์กับเจ้าหน้าที่รัฐที่เข้ามาสลายการชุมนุมของนักศึกษาที่สถาบันศิลปะดึสเซิลดอร์ฟ ในปี 1972, ภาพจาก https://bit.ly/3rgoC9E

นอกจากนี้ บอยส์ยังเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพ โดยมีส่วนร่วมในการรณรงค์ต่อต้านอาวุธนิวเคลียร์และการปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ผลงานศิลปะของเขาในช่วงนี้หลายชิ้นมีความเกี่ยวข้องกับประเด็นเหล่านี้อย่างชัดเจน อย่างเช่น ผลงานเพลงและมิวสิกวิดีโอ ‘Sonne statt Reagan’ (Sun Instead of Reagan!) (1982) ของเขาที่มีเนื้อหาต่อต้านสงครามและอาวุธนิวเคลียร์ ด้วยทำนองและจังหวะอันสนุกสนานครื้นเครง โดยมีเนื้อร้องท่อนหนึ่งว่า

“เราต้องการดวงอาทิตย์มากกว่าเรแกน (อดีตประธานาธิปดีสหรัฐอเมริกา) เพื่อมีชีวิตที่ปราศจากอาวุธ ไม่ว่าจะตะวันออกหรือตะวันตก ปล่อยให้พวกขีปนาวุธขึ้นสนิมไปซะ!” (ดูมิวสิกวิดีโอได้ที่นี่ https://bit.ly/2LVU0Kp)

โจเซฟ บอยส์ แสดงให้เห็นถึงปรัชญาที่เขาเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า มนุษย์ทุกคนสามารถเป็นศิลปิน และสามารถใช้คุณสมบัติในเชิงความคิดสร้างสรรค์ได้ และไม่ว่าคุณเป็นใครก็ตาม คุณก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมอย่างเป็นรูปธรรมได้

ถ้ามีความมุ่งมั่นตั้งใจพอ

 

ข้อมูล สารคดี Beuys (2017) โดย Andres Veiel, https://bit.ly/3nFowWK, https://bit.ly/38uuNhU