Alpha/Omega – The one between fire and water การหลอมรวม ระหว่างจิตสำนึกสองขั้วสี

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

Alpha/Omega – The one between fire and water
การหลอมรวม
ระหว่างจิตสำนึกสองขั้วสี

เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปชมนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจมา เลยถือโอกาสเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย นิทรรศการที่ว่านี้มีชื่อว่า

Alpha/Omega – The one between fire and water

โดย รุกข์ โฟล์โร (Rook Floro) ศิลปินหนุ่มชาวไทยเชื้อสายฟิลิปปินส์ ผู้เติบโตขึ้นระหว่างสองวัฒนธรรม

เขาซึมซับการใช้ชีวิตทั้งสองรูปแบบ ทั้งการไปโบสถ์คริสต์และเข้าวัดพุทธ

พูดภาษาอังกฤษกับพ่อ และพูดภาษาไทยกับแม่

การสลับภาษาโดยอัตโนมัติของเขาไม่ใช่แค่คำพูด แต่รวมไปถึงการเปลี่ยนแนวความคิด

ถึงแม้รุกข์จะใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย แต่อิทธิพลจากประเทศฟิลิปปินส์ บ้านเกิดของพ่อของเขาก็ยังปรากฏเด่นชัด

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างอาหารการกิน ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ อย่างปรัชญา, ความเชื่อ และความรู้สึกนึกคิด

เขาต้องทำหน้าที่เป็นตัวกลางช่วยประสานความเข้าใจระหว่างพ่อและแม่ที่มีปัญหาในเรื่องของการสื่อสารและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันตั้งแต่เด็ก

สิ่งเหล่านี้สร้างให้เกิดความนึกคิดและจิตสำนึกสองฟากฝั่งที่หลอมรวมอยู่ในคนคนเดียว

และถึงแม้รุกข์จะเป็นลูกครึ่งไทย/ฟิลิปปินส์ แต่ตั้งแต่จำความได้ เขาก็เพิ่งมีโอกาสเดินทางไปประเทศฟิลิปปินส์เป็นครั้งแรกเมื่ออายุ 25 ปี

การเดินทางครั้งนั้นทำให้เขาได้ค้นพบและสัมผัสบางสิ่งบางอย่างที่คุ้นเคย

แม้เขาเองจะไม่เคยได้รู้จักสิ่งเหล่านั้นมาก่อนก็ตามที

หลังจากการเดินทางครั้งนั้น เขาเริ่มสนใจ, สงสัย และตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวตนของตัวเองว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าหากครอบครัวเขาเลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่ที่ฟิลิปปินส์ แทนที่จะเป็นประเทศไทย

ประสบการณ์ครั้งนั้นกระทบต่อความรู้สึกของเขา และส่งผลให้เขาครุ่นคิดถึงความเป็นไปได้ จนค่อยๆ กลั่นกรองออกมาเป็นผลงานศิลปะในนิทรรศการครั้งนี้

ที่ประกอบไปด้วยงานจิตรกรรม/ประติมากรรมสื่อผสม และวิดีโอจัดวาง อันเกิดจากการหลอมรวมกันของสองคู่สีอย่าง “แดง” และ “น้ำเงิน” อันเป็นสัญลักษณ์แทนสองเชื้อชาติ สองวัฒนธรรม สองความคิด และสองพลังงานขั้วตรงข้ามอย่าง “ไฟ” และ “น้ำ” ประกอบสร้างขึ้นเป็นตัวตนของศิลปิน

“ปกติถึงพ่อกับแม่ของผมจะอยู่บ้านเดียวกัน แต่เขาก็ไม่ค่อยคุยกัน ผมจะทำหน้าที่เหมือนเป็นตัวกลางที่คอยเชื่อมระหว่างพ่อกับแม่ ประสบการณ์เหล่านี้สะท้อนผ่านช่วงเวลาที่ผมเติบโตมาในบ้านของผม ที่พ่อมีความเชื่อแบบหนึ่ง แม่มีความเชื่ออีกแบบหนึ่ง ทั้งเรื่องศาสนา, ปรัชญา, การใช้ชีวิต ไปจนถึงเรื่องการเมือง ยกตัวอย่างเช่น ผมมีสองศาสนามาตั้งแต่เด็กๆ ทั้งคริสต์และพุทธ ผมต้องไปทั้งโบสถ์คริสต์และวัดพุทธ พอโตขึ้นมา ผมก็ไม่นับถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่เลือกที่จะเชื่อและศึกษาปรัชญาและแนวคิดจากทั้งสองศาสนา”

รุกข์กล่าวถึงแรงบันดาลใจของผลงานในนิทรรศการนี้ของเขา

ชื่อของนิทรรศการอย่าง Alpha/Omega นั้นคือตัวอักษรตัวแรกและตัวสุดท้ายของพยัญชนะกรีก ที่เป็นเหมือนตัวแทนของจุดเริ่มต้นและจุดจบ การเกิด และการตาย

ตัวอักษรทั้งสองอยู่ห่างกันที่สุด แต่ก็ทำหน้าที่เป็นขอบเขตให้กับตัวอักษรอื่นๆ ดังเช่นไฟกับน้ำ ที่เป็นพลังงานขั้วตรงข้าม เป็นตัวแทนของความเร่าร้อน รุนแรง กับความสงบ เยือกเย็น

เมื่อทั้งสองพลังงานนี้ทำงานร่วมกัน ก็จะส่งผลกระทบต่อการถือกำเนิดชีวิตและจุดจบของทุกสรรพสิ่ง

“ผมพยายามพูดถึงสองสิ่งที่เป็นขั้วตรงข้ามกันอย่าง น้ำกับไฟ, สีแดงกับสีน้ำเงิน ผมมองสีแดง (ไฟ) เป็นตัวแทนของพ่อของผม ที่เป็นคนอารมณ์ร้อน ส่วนสีน้ำเงิน (น้ำ) เป็นตัวแทนของแม่ของผม ที่เป็นคนอารมณ์เย็นกว่า ปกติสีแดงกับสีน้ำเงินจะเป็นสีคู่แข่งกัน เช่น ในกีฬาอย่างมวย”

“สำหรับผม สีแดงกับน้ำเงิน ยังเป็นสัญลักษณ์ของการเกิดและการตาย การสร้างสรรค์และการทำลาย”

“พ่อกับแม่ของผมเองก็มีมุมมองเกี่ยวกับการเกิดและการตายที่แตกต่างกันตามศาสนาของพวกเขา”

“แม่ของผมเชื่อในการเวียนว่ายตายเกิด เรื่องชาตินี้ชาติหน้า แต่พ่อของผมไม่เชื่อ เขาเชื่อว่าเมื่อคนตายไปแล้วก็ตายไปเลย ไม่มีการกลับชาติมาเกิดใหม่”

“ตั้งแต่เด็กๆ ผมไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนของที่ไหนเลย ทั้งไทยหรือฟิลิปปินส์ เหมือนเราลอยอยู่ตรงกลางระหว่างอะไรก็ไม่รู้ ผมเคยคุยกับเพื่อนที่เป็นลูกครึ่ง เขาก็มีความคิดแบบนี้เหมือนกัน เวลาเราต้องใช้หลายภาษาสลับกันที่บ้าน เราจะมีความงุนงง เพราะเวลาเราเปลี่ยนภาษา ความคิดของเราก็จะเปลี่ยนไปด้วย”

“อย่างตอนไปฟิลิปปินส์ครั้งแรก ผมไปงานวันเกิดของคุณย่าที่จัดในโบสถ์คริสต์ ในอาทิตย์เดียวกัน ผมต้องกลับมางานศพของคุณตาในวัดไทย เหตุการณ์นั้นทำให้ผมได้สัมผัสกับการเกิดและการตาย ศาสนาคริสต์และศาสนาพุทธ ในเวลาใกล้เคียงกัน”

ประเด็นเหล่านี้ถูกนำเสนอผ่านผลงานวิดีโอจัดวางในนิทรรศการ ที่ประกอบด้วยเสียงสัมภาษณ์พ่อและแม่ของศิลปินคนละช่วงเวลา ถูกตัดต่อทับซ้อนจนเป็นเหมือนบทสนทนาโต้ตอบกันทางความคิด ความเชื่อ และทัศนคติของทั้งคู่ คลอเคลียไปกับภาพที่บันทึกประสบการณ์ของศิลปินในพิธีกรรมทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของสองเชื้อชาติ และภาพเคลื่อนไหวของศิลปะแสดงสด ที่ศิลปินสวมบทบาทเป็นตัวละครที่เป็นสัญลักษณ์แทนสองสี, สองขั้วพลังงาน และสองจิตสำนึกที่อยู่ขั้วตรงข้ามกัน

“ในงานของผมทุกชิ้น มักจะมีตัวละครที่ผมสร้างขึ้นมา เพราะผมรู้สึกว่าคนแต่ละคนมีตัวตนหลายด้านอยู่ในตัว อย่างตัวผมเองจะรู้สึกว่าตัวเองมีตัวตนที่ไม่เหมือนกันในแต่ละวัน ผมจึงหยิบเอาตัวในแต่ละด้านของตัวเองมาสร้างเป็นตัวละครต่างๆ โดยใช้สีเป็นสัญลักษณ์แทนตัวตนเหล่านั้นของผม”

“งานในแต่ละนิทรรศการของผมก็จะเชื่อมโยงกับตัวละครและตัวตนเหล่านี้ ซึ่งในหลายนิทรรศการผมก็จะมีการทำ Performance (ศิลปะแสดงสด) เป็นตัวละครเหล่านี้”

องค์ประกอบอีกอย่างที่น่าสนใจในนิทรรศการครั้งนี้คือผลงานจิตรกรรมและประติมากรรมสื่อผสมที่ศิลปินใช้วัสดุที่เราไม่ค่อยพบเห็นใครเอามาทำงานศิลปะเท่าไหร่นักอย่าง ปืนยิงกาวไฟฟ้า ที่ศิลปินใช้กาวร้อนสีแดงและน้ำเงิน สร้างเป็นผลงานศิลปะอันแปลกตา น่าพิศวงออกมา

“ผมเลือกใช้ปืนกาวเพราะมันทำอะไรได้เยอะดี มีหลายสี แดง, น้ำเงิน, เหลือง, เขียว, ส้ม, ฟ้า, ม่วง สามารถยิงเข้ากับวัตถุอะไรก็ได้ และยังแกะออกมาได้ด้วย ตอนเด็กๆ เรามักจะเอาปืนกาวมายิ่งเล่นเป็นใยแมงมุม ผมก็เลยลองเอามาทำเป็นพื้นผิวของงานจิตรกรรมและประติมากรรม”

“ด้วยความที่ปืนกาวเป็นวัสดุที่หลอมละลายเข้าหากัน เหมือนที่ผมรู้สึกว่าตัวเองมีจิตสำนึกซ้อนอยู่สองอัน ทั้ง Alpha กับ Omega หรือความเป็นพ่อกับแม่ในตัวของผมที่สลับกันไปมา บางครั้งก็หลอมรวมเข้าด้วยกัน และสร้างตัวตนใหม่ขึ้นมา ผมจึงใช้ปืนกาวเป็นวัสดุเพื่อที่จะสื่อมวลความรู้สึกเหล่านี้ออกมาในงานศิลปะของผม”

เรียกได้ว่าเป็นศิลปินรุ่นใหม่ที่มีผลงานน่าจับตาและน่าสนใจอย่างยิ่งอีกคน ที่เราไม่อยากให้พลาดชมผลงานของเขากัน

นิทรรศการ Alpha/Omega – The one between fire and water โดยรุกข์ โฟล์โร และภัณฑารักษ์ นิ่ม นิยมศิลป์, จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน-20 ธันวาคม 2563 ที่ WTF Gallery & Cafe, เลขที่ 7 ซอยสุขุมวิท 51 (สถานีรถไฟฟ้า BTS ทองหล่อ)

เปิดให้เข้าชมทุกวันพฤหัสบดี-วันอาทิตย์ เวลา 16.00-22.00น. (ไม่เสียค่าใช้จ่าย)

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร 0-2662-6246

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก WTF Gallery, ภัณฑารักษ์ นิ่ม นิยมศิลป์