Girl with a Pearl Earring การเปลี่ยนความหมายใหม่ ของร่างกายในภาพศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
Girl with a Pearl Earring, 2020 และ Piss, Grandma Old Style (เนียงละออ) (2016-2020)

Girl with a Pearl Earring
การเปลี่ยนความหมายใหม่
ของร่างกายในภาพศิลปะ

เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปดูนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจมางานหนึ่ง เลยเอามาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย

นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า
Girl with a Pearl Earring โดยธเนศ อ่าวสินธุ์ศิริ ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะมาอย่างจริงจังและต่อเนื่องยาวนาน

ในนิทรรศการประกอบด้วยผลงานศิลปะจัดวางในรูปแบบของการหยิบฉวยเอาสิ่งที่มีอยู่แล้วมาใช้ในบริบทใหม่ (appropiation) ด้วยการนำ “ภาพ” ที่มีอยู่ในผลผลิตทางศิลปวัฒนธรรมและระบบการค้า มาปรับเปลี่ยนรูปแบบ สภาพแวดล้อม และวิธีคิดในการเล่นกับความเป็นไปได้ของสื่อศิลปะเพื่อสร้างการสื่อสารความหมายใหม่ๆ ที่แตกต่างออกไป

ผลงานศิลปะจัดวางทั้งสามชุดในนิทรรศการประกอบด้วยงานจิตรกรรม ประติมากรรม และวิดีโอจัดวาง

ไม่ว่าจะเป็นผลงาน Girl with a Pearl Earring ที่ธเนศหยิบเอาผลงานจิตรกรรมอันโด่งดังระดับโลกของโยฮันเนส เวอร์เมียร์ (Johannes Vermeer) อย่าง Girl with a Pearl Earring (1665) หรือ “หญิงสาวกับต่างหูมุก” มานำเสนอใหม่ในรูปของประติมากรรมจัดวาง

โดยเขาทำการจำลองภาพวาดสีน้ำมันชิ้นเอกของเวอร์เมียร์ออกมาเป็นงานประติมากรรมที่ทำจากเรซิ่นหล่อ ทั้งตัวภาพอันงดงามละมุนละไมภายใน และกรอบสลักเสลาลวดลายวิจิตรบรรจงด้านนอก
ธเนศเปลี่ยนภาพวาดเดิมที่มีลักษณะเป็นสองมิติให้กลายเป็นประติมากรรมนูนต่ำสามมิติ จนเราเห็นรายละเอียดและความตื้นลึกหนาบางของภาพ

ในขณะเดียวกัน เขาก็เปลี่ยนภาพสีน้ำมันหลากสีสัน ให้กลายเป็นประติมากรรมเรซิ่นโทนสีเดียว คือสีขาวนวลคล้ายกับสีของมุกที่อยู่บนต่างหูของหญิงสาวในภาพ

ยิ่งไปกว่านั้น เขายังจำลอง “Museum Label” หรือป้ายบอกรายละเอียดผลงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์ขึ้นมาใหม่โดยใช้วัสดุและสีสันเดียวกันกับตัวประติมากรรม

“ที่มาของการเลือกภาพนี้มาใช้ก็เพราะผมชอบงานศิลปะที่เป็นผู้หญิง และภาพวาดชิ้นนี้ก็เป็นภาพหนึ่งที่สวยมากๆ ก่อนหน้านี้ผมดูแค่ความสวยโดยไม่รู้เบื้องหลังของภาพมาก่อน แต่พอไปศึกษาก็พบว่าภาพนี้น่ามหัศจรรย์มาก เพราะในช่วงที่เขายังมีชีวิตอยู่ เวอร์เมียร์ไม่เป็นที่รู้จักมากนักนอกเมืองเดลฟต์ (Delft) บ้านเกิดของเขา หรืออีกสองร้อยปีหลังจากที่เขาตายไปแล้ว จนกระทั่งมีนักวิจารณ์ศิลปะชาวฝรั่งเศสในยุคศตวรรษที่ 19 อย่าง ตอเร-เบือร์เกอร์ (Théophile Thoré-Bürger) ค้นพบและทำการประเมินคุณค่างานของเขาใหม่จนทำให้เวอร์เมียร์มีชื่อเสียงอันโด่งดังมากขึ้น”

“หรือภาพวาด Girl with a Pearl Earring เอง สมัยก่อนก็เป็นงานในลักษณะที่เรียกว่า ‘tronie’ หรืองานภาพเหมือนธรรมดาดาดๆ ที่พบเห็นได้ทั่วๆ ไป แต่ภาพนี้ก็พลิกกลับมามีชื่อเสียงในช่วงการเปลี่ยนเข้าศตวรรษ 21 เมื่อมันถูกยืมไปจัดแสดงที่หอศิลป์แห่งชาติ (วอชิงตัน ดี.ซี.) ในปี 1995 (ประจวบกับการตีพิมพ์นวนิยาย Girl with a Pearl Earring โดยเทรซี เชวาเลียร์ ซึ่งถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันในปี 2003) รวมถึงในช่วงที่พิพิธภัณฑ์เมาริทเฮาส์ (Mauritshuis) กำลังซ่อมบำรุงอาคาร ทำให้ภาพวาดนี้ถูกนำไปจัดแสดงที่โตเกียว, อิตาลี และสหรัฐอเมริกา จนทำให้ภาพนี้ดังระเบิดในที่สุด”

“ก่อนหน้านี้ผมเองก็หยิบเอาภาพวาด The Origin of the World ของกุสตาฟว์ กูร์แบ และภาพวาด Gabrielle d’Estrees and one of her sisters (1594) มาทำเป็นงานประติมากรรมจัดแสดงในนิทรรศการที่ 100 ต้นสน แกลเลอรี่ ปี 2018 และเทศกาลศิลปะ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 ซึ่งเป็นการทำงานที่มีแนวคิดต่อเนื่องที่ผมต้องการสำรวจว่ามีความเป็นไปได้มากแค่ไหน”

ตามมาด้วยผลงาน Piss, Grandma Old Style งานศิลปะจัดวางที่พัฒนามาจากงานจิตรกรรมสามชิ้น ซึ่งมีที่มาจากภาพเปลือยในหนังสือสำหรับผู้ใหญ่ ที่นำมาปรับเปลี่ยนบริบทใหม่ผ่านสุนทรียะของงานจิตรกรรม เพื่อสื่อความหมายถึง “ท่านั่งปัสสาวะ” ของผู้หญิงต่างจังหวัดในอดีต

จากประสบการณ์ตรงและความทรงจำในวัยเด็กของศิลปิน ที่พบเห็นว่าผู้หญิงและผู้ชายมีท่วงท่าในการนั่งปัสสาวะแตกต่างกัน

Piss, Grandma Old Style (Splash) (2015-2020)

ธเนศเคยพบเห็นสิ่งเหล่านี้บ่อยครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรถโดยสารแบบเก่าที่เดินทางระยะไกลหรือข้ามจังหวัด จะมีการจอดรถเพื่อให้บรรดาแม่ พี่ ป้า น้า อา หรือสาวๆ และหญิงชราที่อั้นปัสสาวะไม่ไหวลงจากรถไปหาสุมทุมพุ่มไม้และจัดการกับ “กิจจำเป็นตามธรรมชาติ” ของตน

ธเนศยังปรับเปลี่ยนวิธีการจัดแสดงงานจิตรกรรม คือแทนที่จะแขวนภาพวาดบนผนังตามขนบของงานจิตรกรรมแบบปกติ เขากลับวางภาพวาดเหล่านี้บนแท่นคอนกรีตปูกระเบื้องสีขาว ที่ทำให้เรานึกไปถึงส้วมซึมหรือส้วมนั่งยองในห้องน้ำของปั๊มน้ำมันตามต่างจังหวัดขึ้นมาตงิดๆ

“ภาพวาดชุดนี้มีที่มาจากภาพตามสื่อต่างๆ พูดง่ายๆ ก็คือภาพโป๊ (Pornography) นั่นแหละ ทั้งจากหนังสือและอินเตอร์เน็ต เราเอาภาพเหล่านี้มาเล่นกับความหมายใหม่ โดยนำเสนอเรื่องราวตอนที่เรายังเด็กๆ ที่คุณแม่ คุณป้า คุณย่าเขานั่งเยี่ยวในโถส้วมนั่งยอง พอมีโถส้วมชักโครกเกิดขึ้นมา วิธีเยี่ยวแบบนี้ก็หายไป ผมต้องการบันทึกเรื่องราวเหล่านี้เอาไว้ในงานจิตรกรรม”

Piss, Grandma Old Style (Gold) (2015-2020)

“ส่วนรูปแบบการจัดแสดง แทนที่จะแขวนแบบงานจิตรกรรม เราก็คิดวิธีติดตั้งให้เป็นงานประติมากรรมหรือศิลปะจัดวาง ด้วยการวางภาพวาดลงบนแท่นวาง และเล่นกับความหมายด้วยการปูกระเบื้องห้องน้ำลงไปบนแท่น เพื่อให้รู้สึกเหมือนผู้หญิงในภาพกำลังนั่งเยี่ยวอยู่ในห้องน้ำ”

และท้ายสุด กับผลงาน The River วิดีโอจัดวางที่แสดงความคารวะต่อผู้กำกับภาพยนตร์ร่วมสมัยชื่อดังชาวมาเลเซีย-ไต้หวัน ไฉ้หมิงเลี่ยง (Tsai Ming-liang) โดยตัดต่อฉากเหตุการณ์ตอนหนึ่งของภาพยนตร์เรื่อง The River (1997) ของเขา ซึ่งมีเรื่องราวเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ในสายเลือด (Incest) ที่ผู้เป็นพ่อใช้มือสำเร็จความใคร่ให้ลูกชายของตัวเองในคลับแห่งหนึ่ง โดยต่างฝ่ายต่างไม่รู้ว่าอีกฝ่ายเป็นใคร

ฉากดังกล่าวถูกหยิบมานำเสนอใหม่ในรูปของวิดีโอจัดวาง ด้วยการฉายภาพเหตุการณ์ในหนังลงบนจอสเตนเลสที่ติดตั้งให้ขอบด้านล่างของจออยู่ในระดับความสูง 170 ซ.ม.

โดยมีบทเพลงหนึ่งจากอัลบั้ม The River ของอาลี ฟาร์กา ทูเร่ (Ali Farka Tour?) นักดนตรีชาวมาลีผู้ล่วงลับคลอประกอบไปตลอดความยาวของวิดีโอ (เพื่อเป็นการแสดงความคารวะต่อนักดนตรีผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้อีกด้วย)

“ก่อนหน้านี้ผมเคยแสดงผลงานชุดนี้ที่ Gallery VER แต่ที่นี่ผมเปลี่ยนความสูงของจอให้เป็นความสูงโดยเฉลี่ยของคนไทยเพื่อแสดงนัยยะถึงประเด็นทางชนชั้นในสังคม ส่วนเนื้อหาในวิดีโอเรื่องพ่อสำเร็จความใคร่ให้ลูก ผมสนใจว่ามันท้าทายเรื่องต้องห้ามในสังคมมนุษย์มาตั้งแต่สมัยโบราณ เรื่องการมีเพศสัมพันธ์ทางสายเลือด ซึ่งหนังของไฉ้หมิงเลี่ยงเรื่องนี้ยิ่งท้าทายขึ้นไปอีก ด้วยการที่นอกจากจะเป็นเรื่องเพศสัมพันธ์ทางสายเลือดแล้ว ยังใส่ประเด็นของ LGBT เข้าไปด้วย ผมคิดว่าเรามีสิทธิที่จะตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องต้องห้ามเหล่านี้เช่นเดียวกับเรื่องการเมือง”

The River (2016)

“ผมสนใจ ‘ร่างกายมนุษย์’ ในแง่ของการสื่อความหมาย ทั้งในรูปของภาษา หรือการสื่อความหมายทางอารมณ์ความรู้สึกผ่านภาษากายตามสัญชาตญาณ หรือทางวัฒนธรรมอย่างการแต่งกาย แต่งหน้า หรือการใช้เครื่องประดับเพื่อบ่งบอกถึงอัตลักษณ์บางอย่าง ที่แตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม แต่พอถึงระดับหนึ่ง ร่างกายถูกพัฒนาไปกลายเป็น ‘ภาพ’ (image) หรือกลายเป็นเครื่องมือทางภาษาที่เป็นทางการอย่างการเป็น ‘ภาพตัวแทน’ (representation) ในการสื่อสารความคิด ทั้งในรูปแบบของภาพวาด ประติมากรรม ภาพนิ่ง หรือภาพเคลื่อนไหวในสื่อต่างๆ”

“นอกจากนี้ผมยังสนใจใน ‘สื่อศิลปะ’ แขนงต่างๆ ในโลกร่วมสมัย ที่การจําแนกหมวดหมู่เริ่มเลือนราง สื่อศิลปะชนิดต่างๆ เหล่านี้จะคงอยู่ ปรับตัว หรือเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร? ผมสนุกกับการปรับเปลี่ยน ล้อเล่นกับเส้นแบ่งนิยามของสื่อแบบต่างๆ ด้วยการเปลี่ยนสื่อหนึ่งไปสู่อีกสื่อหนึ่ง หรือเปลี่ยนวัตถุเดิมๆ ให้มีหน้าตาและความหมายใหม่ขึ้นมา”

 

นิทรรศการ Girl with a Pearl Earring โดยธเนศ อ่าวสินธุ์ศิริ จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 – 16 มกราคม 2564 ณ CASE Space Revolution ชั้น 2 ร้าน Broccoli Revolution (หัวมุมซอยสุขุมวิท 49)
สอบถามข้อมูลได้ที่ โทร 0-2662-5002 หรืออีเมล [email protected]
ขอบคุณข้อมูลจาก CASE Space Revolution และบทความประกอบนิทรรศการ